การสร้างเขื่อนมีผลกระทบในบริเวณกว้าง จมบ้านเรือน ผืนป่ามากมาย แต่ทำไมการตัดสินใจโครงระดับภูมิภาคหรือระดับชาติถึงเป็นการตัดสินใจของคนเมือง และเหลือไว้เพียงความรู้สึกตกค้างของคนท้องถิ่น
ในป่าเขา ธรรมชาติเป็นผู้จัดสรรน้ำ มากบ้างน้อยบ้างแต่เพียงพอและอยู่ได้ตามฤดูกาล ความหมายของน้ำคือชีวิตและวิถี
แต่ในเมืองกรุง คนเป็นผู้จัดสรรน้ำ ปริมาณและมูลค่าสำคัญกว่าความหมาย การเข้าถึงต้องแลกด้วยเงินและผลประโยชน์เสมอไปเหรอ?
เสียงน้อย ๆ จากชาวบ้านน้ำยวมบอกเราว่า “ผันน้ำยวมไม่ได้สูบแค่สายน้ำ แต่จะสูบเลือดเนื้อและจิตวิญญาณผู้คนให้แตกสลายไปด้วย
ผันน้ำยวมไม่ได้สูบแค่สายน้ำ แต่จะสูบแผ่นดินและลมฟ้าอากาศให้มลายไปด้วย”
เราลองไปฟังมุมมองของคนในท้องที่กัน ว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับการที่ต้องพลัดถิ่นกำเนิดเผื่อผลประโยชน์ของ “ส่วนรวม”
ก้าวย่างการชิงน้ำแถบสาละวินมาในร่างผันน้ำยวม หรือโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โครงการเก่าปัดฝุ่นใหม่ที่กำลังจ้องสูบลุ่มน้ำสาละวินในปัจจุบัน โดยบอกเหตุผลอยากผันน้ำข้ามลุ่มจากสาละวินให้เจ้าพระยา แต่ผมว่านี่มันขี้โกงชัด ๆ แค่อ้าง “การพัฒนา” เลยเหมือนชอบธรรม และกดดันคนท้องถิ่นให้สละเพื่อคนส่วนใหญ่ที่อยู่ศูนย์กลาง
มีการสรุปตัวเลขค่าลงทุนล่าสุด (วันที่ 31 มีนาคม 2565) ว่าอยู่ที่ 88,000 กว่าล้านบาท และค่าดำเนินการกับบำรุงรักษา 25 ปี อีก 82,000 กว่าล้านบาท เท่ากับว่ารวมมูลค่าการลงทุนโครงการสูงกว่า 170,000 ล้านบาท เพื่อแลกกับการผันน้ำยวมปีละ 1,834 ล้านลูกบาศก์เมตร
นี่เราไม่มีทางเลือกอื่นแล้วใช่ไหม? แทนที่จะใช้ทุนมหาศาลเริ่มใหม่ ทำไมเราไม่แก้ไขการจัดการน้ำเดิมของเราให้ดีขึ้น อย่าลืมนะว่าฤดูน้ำหลากที่ผ่านมาพื้นราบเจอปัญหาน้ำท่วมไม่น้อย เราขาดน้ำจริงหรือเปล่า หรือแค่เราใช้น้ำไม่เป็น
เราคนส่วนน้อย เสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมได้ไหม?
“………”
เครื่องยนต์เงียบเสียงลง หัวเรือจอดเทียบฝั่ง ลุงโยชน์ หรือประโยชน์ เขื่อนแก้ว ก้าวลงจากเรือเดินเลียบฝั่งตรงไปหาลำห้วยขนาดเล็กที่ไหลบรรจบน้ำยวม ห่างจุดเรือจอดสิบเมตรได้
ลุงโยชน์เทกุ้งออกจากไซไม้ไผ่ พร้อมกับเล่าว่า กุ้งที่นี่มีสองลักษณะคือหลังหัวออกสีชมพูและอีกกลุ่มสีเขียว สามารถวางไซดักได้ตลอดปีสามฤดู และสำคัญสุดคือเป็นกุ้งท้องถิ่นมีเฉพาะในลำห้วยสาขาสายนี้ เป็นที่มาของชื่อลำห้วย ‘ห้วยกุ้ง’ และชาวบ้านเรียกกุ้งที่นี่ว่า “กุ้งห้วยกุ้ง”
อยากรู้เหมือนกันนะว่าห้วยกุ้งกับกุ้งห้วยกุ้ง อะไรเกิดก่อนกัน เหมือนไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนหรือเปล่า
ห้วยกุ้งเป็นหนึ่งในหลายสิบลำห้วยสาขาของน้ำยวม เกิดจากตาน้ำสองจุด จุดแรกน้ำออกจากรูใต้หินผาห่างน้ำยวมประมาณ 50 เมตร ไหลเฉพาะฤดูฝน พิเศษตรงน้ำผุดไหลออกมาเหมือนหลังหินผาในภูเขาอีกฟากเป็นแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่คอยส่งน้ำให้ลำน้ำยวม ส่วนจุดที่สองเป็นน้ำที่ออกจากรูธรรมดา ห่างน้ำยวมประมาณ 30 เมตร มีน้ำไหลตลอดปี
เครื่องยนต์ดังขึ้นอีกครั้ง เรือยาวขนาดเล็กพาล่องน้ำยวมที่ปลายทางบรรจบน้ำเมย ก่อนไหลลงสาละวินแล้วเดินทางออกสู่ทะเลที่อ่าวเมาะตะมะ
ทางที่ผ่าน ซ้ายคือตากส่วนขวาแม่ฮ่องสอน ทั้งสองฝั่งมีโขดหิน พืชพรรณ ป่าไม้เหมือนกัน ใกล้น้ำส่วนใหญ่เป็นไม้พุ่ม ติดดอยมักเป็นไม้ไผ่และไม้ยืนต้น ส่วนที่ดูเหมือนมีมากพิเศษหลายจุดคือต้นสัก
“ไอพุ่ม ๆ เป็นกอที่อยู่ริมน้ำและบนตลิ่งนั่นเราเรียก ‘ต้นไคร้’ ที่ขึ้นด้านข้างยอดสีเขียวอ่อนเรียก ‘ผักกุ่ม’ พวกนี้มันทนน้ำ น้ำท่วมก็อยู่ได้ น้ำแล้งก็ไม่ตาย รากมันช่วยยึดหน้าดินใต้น้ำและตลิ่งไม่ให้พังทลาย…”
ชายวัย 59 สิงห์คาร เรือนหอม หรือลุงสิงห์ เล่าเรื่องราวน้ำยวมตามจุดต่าง ๆ ที่ผ่านด้วยใบหน้าสดใสมีรอยยิ้ม ชี้กลุ่มไม้พุ่มริมฝั่งให้ดูตาม ด้านข้างมีผักกูดขึ้นเป็นแผงขนานน้ำ มีผักโขมและผักอื่นแทรกเป็นหย่อม ๆ ถ้ามองต่ำลงบนผิวน้ำติดฝั่งจะมีผักแว่นใบเขียวคล้ายทุ่งราบขนาดเล็ก และขณะที่เรือเข้าใกล้ฝั่ง นกตัวเล็กสามสี่ตัวหลังน้ำเงินอกสีเหลืองที่ลุงเรียก ‘นกกระเต็น’ กระพือปีกบินหนีเราไปทางด้านหลัง
มากกว่าแมกไม้และชีวิตที่ธรรมชาติจัดเรียงแล้ว ริมน้ำสองฝั่งยังมีรอย ‘วิถีผู้คน’ ฝากไว้เป็นจุด ๆ บ้างก็เป็นสิ่งปลูกสร้าง กระท่อมไร่สวน จุดค้างแรมนักจับปลา และบ้างก็เป็นอุปกรณ์ของวิถี โดยเฉพาะจุดบรรจบน้ำสาขาที่มักมีให้เห็นทั้้งเบ็ด ข่ายดักปลา และไซดักกุ้ง
ขณะเรือเลียบฝั่งตาก สักพักลุงสิงห์ที่นั่งหัวเรือก็ชี้นิ้วไปทางซ้าย “นี่เรียกวังน้ำหยาด เมื่อก่อนมีน้ำไหลหยาดลงจากด้านบนแผ่นหินนี้ตลอดปี แต่เดี๋ยวนี้หยาดแค่หน้าฝน”
พื้นที่ใต้น้ำที่มีระดับความลึกมากกว่าพื้นที่อื่นคือความหมายของ ‘วัง’ ที่ลุงสิงห์พูดถึง แกบอก “วังเป็นที่อยู่และหลบอันตรายของปลา โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่น้ำน้อย ปลาหลักที่มาอยู่ประจำก็เช่น ‘ปลาสะแงะ’ เป็นปลาสองน้ำ ภาษากะเหรี่ยงเรียก ‘หย่าที’”
“ปลาสะแงะเป็นปลาเฉพาะถิ่นที่มีเฉพาะในน้ำยวม ชอบอยู่ในวังตามซอกและรูหิน ถ้าน้ำถูกกั้นไม่ไหลปกติ ปลาชนิดนี้จะค่อย ๆ ลดลงและหายไปจากลำน้ำยวมและเงา…” ลุงโยชน์เสริม
เรือล่องลงใต้ต่ออีกพักหนึ่ง ‘ห้วยทีช้ะ’ คือลำห้วยสาขาอีกสายที่เจอ อยู่ทางขวามือเหมือนห้วยกุ้งที่ผ่านมา ลุงสิงห์บอกตรงข้ามอีกฝั่งมีถ้ำชื่อ ‘ถ้ำห้วยทีช้ะ’ เป็นแถบที่ลุงสิงห์บอกเจอของเก่าเยอะ
‘ของเก่า’ ที่ลุงสิงห์พูดถึงคืออุปกรณ์ของใช้ยุคหิน เสียมตุ่น หินกะเทาะ รวมถึงขวานหินขัด พบกระจายตลอดลำน้ำยวมและเงา เป็นรอยอดีตบอกเรื่องราวพื้นที่และยืนยันการมีอยู่ของผู้คนในพื้นที่แถบนี้ว่ามีนาน และอาจเป็นหนึ่งในพื้นที่ประวัติศาสตร์ของแม่ฮ่องสอนเลยก็ว่าได้ แค่ยังไม่มีใครศึกษาจริงจัง
นอกจากนี้ ลำห้วยสาขาที่กระจายริมน้ำสองฝั่งทุกสายยังเป็นแหล่งรวมวัตถุดิบท้องถิ่น โดยเฉพาะฤดูน้ำลดชาวบ้านมักนำสวิงมาตักหาลูกอ๊อด ปลาเล็กสัตว์น้อย รวมถึงกบเขียดที่อยู่ในลำห้วย พร้อมกับเก็บผักของป่าเฉพาะถิ่นที่ขึ้นตามริมน้ำ ทั้งที่เป็นอาหารและสมุนไพร
นอกจากความสวยงามสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเจอคือร่องรอยภัยพิบัติจากธรรมชาติ โดยเฉพาะการสไลด์ของหน้าดินตามหุบดอยที่ลงมาหาน้ำยวม
ร่องรอยความรุนแรงทำให้ผมเดาได้ไม่ยากว่าดอยริมน้ำมีความแข็งแรงน้อย ส่วนหนึ่งคงเพราะพื้นที่ลาดชัน แต่สาเหตุสำคัญลุงสิงห์คาดมาจากภูมิหลังพื้นที่ที่เคยเป็นเหมือง และยังอยู่บนรอยเลื่อนแม่ฮ่อนสอนอีกด้วย ถึงสไลด์รุนแรงกว่านี้ก็ไม่น่าแปลก
ออกเรือต่ออีกพัก พื้นที่ริมน้ำก็ปรากฏไม้ผล ทั้งมะพร้าวต้นสูงและมะม่วงต้นใหญ่
ไม้ผลที่เห็นคือพิกัดที่ตั้งชุมชนยุคเหมืองแร่ในอดีต แม้โดยรอบดูเป็นป่ามากกว่าเหมือง แต่กว่าจะเป็นอย่างที่เห็นก็ใช้เวลาฟื้นตัวหลายสิบปี และหากต้องจมหายกับเขื่อนอีกครั้งเจ้าป่าเจ้าเขาคงสลดใจน่าดู
ในอดีตแถบนี้มีเหมือง คนท้องถิ่นเลี้ยงชีพด้วยการพึ่งของป่าและลำน้ำยวมกับเงาเป็น และจำนวนหนึ่งเป็นแรงงานในเหมือง มีเรือก็รับจ้างขนแร่ แต่ส่วนมากเป็นด่านหน้าเสี่ยงภัยในเหมือง ส่วนคนที่เป็นหัวหน้างานสบายมักเป็นคนเมืองถิ่นอื่น จะว่าไปแล้วสังคมในอดีตจากคำบอกเล่าหลายฉากตอนก็คลับคล้ายภาพในหนังมหาวิทยาลัยเหมืองแร่ แต่จะต่างตรงคนเป็นนายที่ในหนังเป็นฝรั่ง แต่ที่นี่เป็นคนจีน
เรือเคลื่อนผ่านและจากผาแล หน้าผาบนยอดดอยที่โน้มตัวลงมาหาน้ำยวม เหมือนคอยแลมองคนที่ผ่านไปมา จากผาแลลงใต้ไม่กี่ร้อยเมตร เรือก็จอดเทียบตลิ่งฝั่งขวา แล้วลุงโยชน์เดินนำไปหาลำห้วยสาขาสายหนึ่ง
“นี่เรียก ‘ห้วยน้ำแดง’ นานสิบยี่สิบปีจะแดงครั้งหนึ่ง แดงเหมือนสีน้ำหมากเลย ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเกิดจากอะไร” ลุงสิงค์ที่เคยเห็นเหตุการณ์เล่าก่อนจะแสดงความเห็นว่า “ส่วนตัวคิดคงเป็นเพราะด้านในภูเขาที่เป็นทางผ่านน้ำคงมีแร่บางอย่างเปลี่ยนสีน้ำ”
เราเดินต่อสักพักก็เจอน้ำตกขนาดใหญ่ มีหลายชั้นซ้อนกันเรียงสูงขึ้นไปทางต้นน้ำ ที่นี่ชาวบ้านเรียก ‘ตาดห้วยน้ำแดง’
พืชพรรณและต้นไม้ละแวกนี้ดูสดชื่น มีละอองน้ำคลุมให้ชุ่มฉ่ำอยู่ตลอด หินแต่ละก้อนเป็นที่เกาะตะไคร่น้ำ มีมอสและเฟิร์นขึ้นแซมหลายจุด
จากนั้นเราข้ามน้ำยวมไปตากแล้วเดินเท้าไปทางปลายน้ำ ตั้งแต่จุดนี้เรือไปต่อไม่ได้ เพราะลักษณะลำน้ำยวมต่างจากที่ผ่านมา พื้นที่ค่อนข้างเอียง บวกกับหินและโขดหินที่เรียงขวางทางน้ำ ทำให้ลำน้ำแถบนี้กลายเป็น ‘แก่ง’ แต่คนที่นี่เรียก ‘หาด’ มากกว่า จุดนี้ชื่อ ‘หาดน้ำแดง’
บริเวณหาดมีหินขนาดใหญ่เรียงเป็นกรอบให้น้ำผ่าน เหมือนธรรมชาติตั้งใจวางหินไว้แบบนั้น เพื่อกันแรงน้ำกัดเซาะที่อาจทำดอยด้านข้างทรุดถล่มลงเมื่อใดก็ได้
หาดเป็นที่อยู่ของปลาที่ชอบน้ำไหล ต้องการออกซิเจนมาก เช่น ปลาคัง ปลาแค้ ปลาเวียน ฯลฯ โดยเฉพาะ ‘ปลาแค้’ จะพบเฉพาะบริเวณแก่ง
จากหาดน้ำแดงหรือแก่งน้ำแดงเดินเลาะน้ำยวมต่อจะเจอ ‘แก่งเสือเต้น’ แก่งที่ได้ชื่อมาเพราะพื้นที่ฝั่งสองข้างห่างกันไม่มาก ในอดีตชาวบ้านเห็นเสือกระโดดข้ามคล้ายเต้นข้ามน้ำจึงเรียกแก่งเสือเต้น
ลุงที่มาด้วยกันบอกนานแล้วที่ไม่มีใครได้เห็นเสือเต้น แต่ช่วงหลังกลับมามีหวังอีกครั้งเพราะมีคนพบรอยเท้าของมัน รวมทั้งสัตว์ใหญ่อื่น เลียงผา หมี กระทิง หมูป่า ฯลฯ
“วันก่อนยังมีกระทิงหลงมาเดินข้างบ้านชาวท่าเรือ… ที่สัตว์ใหญ่เริ่มกลับมาส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะสงครามในพม่า สัตว์จำนวนมากอพยพโยกย้ายเข้ามา”
ตอนนี้บ่ายแก่มากแล้ว แดดยังจ้าและฟ้ายังใส เรานั่งพักเอาแรงบนโขดหินริมน้ำยวม
ขณะนั่งพักมองน้ำยวมไหลอย่างอิสระ อยู่ ๆ ก็ใจหายเมื่อนึกบางอย่างขึ้นมาได้
‘โห! ถ้าสร้างเขื่อนเพื่อผันน้ำขึ้นมาจริง ภาพที่เจอมาตั้งแต่เช้าทั้งหมดจมหายหมดแน่’
เพราะส่วนแรกของโครงการผันน้ำยวมคือเขื่อนขวางทางน้ำยวมที่มีความสูง 69.50 เมตร เทียบเท่าเขื่อนแก่งเสือเต้นที่จังหวัดแพร่ สามารถทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาด 2,075 ไร่ ยาว 22 กิโลเมตร พื้นที่ริมฝั่งจะจมหายมากถึง 1,362.5 ไร่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1เอ และ 1บี รวมถึงนิเวศย่อยของน้ำยวมทั้งหาด วัง ลำห้วยสาขา อย่างห้วยกุ้ง ห้วยทีช้ะ และน้ำตกห้วยน้ำแดง
แม้อ้างจะสร้างบันไดปลาให้ปลาขึ้นลงได้ดังเดิม แต่หลายคนเกรงจะซ้ำรอยบันไดปลาโจนเขื่อนปากมูลที่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามภาพสวยงามที่คนวาดคิดไว้ ส่วนมุมนักวิชาการที่เกี่ยวข้องห่วงใยเรื่องสายพันธุ์สัตว์น้ำ เพราะลุ่มน้ำต่างกัน สัตว์น้ำก็ต่างสปีชีส์ด้วย การผันน้ำเสี่ยงที่จะเกิดการกลายพันธุ์และทำให้สัตว์บางสปีชีส์สูญหายไปจากระบบนิเวศได้
และที่น่าใจหายกว่าคือ หากเขื่อนน้ำยวมเกิดขึ้น ก็จะกลายเป็นเขื่อนแห่งแรกในลุ่มน้ำสาละวิน สายน้ำนานาชาติยาวที่สุดสายสุดท้ายของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไร้เขื่อนกั้นในปัจจุบัน โดยส่วนตัวผมที่เป็นลูกสาละวินคนหนึ่ง ไม่ต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้นแม้แต่น้อย เพราะในวันปกติพื้นที่บ้านเกิดเราก็มีความซับซ้อนอ่อนไหวจากเรื่องสงครามและชายแดนมากพออยู่แล้ว
ผันน้ำยวมวางแผนว่าจากหัวเขื่อนขึ้นทางเหนือกิโลเมตรที่ 13 จะเป็นพิกัดวางเครื่องสูบน้ำขนาด 58.69 เมกะวัตต์ 6 เครื่องที่ทำงานด้วยไฟฟ้าซึ่งต่อตรงจากลำพูนพาดผ่านป่าสงวน 6 แห่ง ทำหน้าที่สูบน้ำเข้าถังพักน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 34 เมตร สูง 25.6 เมตร ก่อนส่งลงอุโมงค์คอนกรีตที่อยู่ลึกลงใต้ดิน 600 เมตร ความกว้างมากพอให้รถบรรทุกสองคันสวนทางได้ โดยยาว 63.46 กิโลเมตร สิ้นสุดที่บ้านแม่งูด อำเภอฮอด จังหวัดเชีงใหม่ ไหลลงแม่น้ำปิงก่อนเข้าเขื่อนภูมิพลที่จังหวัดตาก
แม้เหล่าผู้รู้ยืนยันการขุดเจาะอุโมงค์ไม่กระทบชีวิตและสิ่งใด แต่ชาวบ้านสงสัยกองดินมหาศาลที่เกิดล่ะจะจัดการอย่างไร พื้นที่กว่า 443 ไร่สำหรับทิ้งดินจะรบกวนผืนป่าและที่อยู่ที่กินชาวบ้านขนาดไหน และตามประสาชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง ผมสงสัยซะเหลือเกินว่าใครจะรับผิดชอบค่าไฟที่เกิดจากการสูบน้ำ 2,985 ล้านบาทในแต่ละปี ตลอด 25 ปีตามอายุโครงการ
ส่วนชาวบ้านลุ่มน้ำยวม/สาละวินเองเริ่มรู้ตัวไม่นานว่าชีวิตจะเปลี่ยนหากมีการผันน้ำ ครอบครัวลุงทองกับป้าเพ็ญ สองสามีภรรยาบ้านท่าเรือที่อยู่และกินกับน้ำยวมมาตั้งแต่ยุคเหมือง บอกมีพื้นที่อยู่และที่กินซึ่งเจ้าหน้าป่าจับพิกัดให้รวมหกไร่ แต่อีไอเอระบุเพียงสองไร่กว่านิด ๆ ความกังวลไม่มั่นใจการทำงานของเจ้าหน้าที่โครงการผันน้ำยวมฯ จึงเกิดขึ้น เกรงจะเป็นแผลทำร้ายชาวบ้านโดยไม่รับผิดชอบ
โครงการผันน้ำฯ บอกจำนวนทรัพย์สินที่ดินที่จะได้รับความเสียหายว่ามีเพียง 34 แปลง มีผู้ได้รับผลกระทบแค่ 29 คน หากไม่มีเอกสารสิทธิ์ให้พิสูจน์สิทธิ์ตามกฎหมายก่อนจึงจะรับค่าชดเชยได้
…มันเหมือนถูกให้ออกจากบ้าน แล้วต้องดิ้นพล่านพิสูจน์ตัวเองเพื่อรับค่าเสียหาย นอกจากทำอะไรไม่ได้แล้ว ก็ยังไม่มีสิทธิ์อยู่เฉย ๆ อีกด้วย
ที่หนักหนาและซับซ้อนกว่า คือคนไร้สัญชาติที่ต้องพิสูจน์สถานะให้ได้รับสัญชาติไทยก่อน จึงจะพิสูจน์สิทธิ์ขอรับค่าชดเชยได้ ตรงนี้ผมในฐานะคนที่เคยไร้รัฐไร้สัญชาติมาก่อน แม้ลืมตาและเติบโตบนแผ่นดินไทย แต่กว่าจะพิสูจน์ขอสัญชาติได้ก็กินเวลามากกว่า 20 ปี แล้วตาสีตาสาทั้งหลายจะพิสูจน์ตัวเองอย่างไร ต้องใช้เวลากี่เดือนกี่ปี ดีไม่ดีคงล้มหายตายจากก่อนที่จะได้รับความเป็นธรรม
นอกจากบ้านท่าเรือที่จะลงไปอยู่ใต้น้ำ ชุมชนเล็กที่ดูเหมือนจะกระทบมากสุดอีกชุมชนบริเวณแม่น้ำสองสี จุดแม่น้ำเงากับยวมสบกัน และเป็นที่ตั้งบ้านแม่เงาหรือบ้านสบเงา ชุมชนเล็กที่อยู่ในพื้นที่ปากอุโมงค์ของโครงการผันน้ำยวม ที่ต้องแบกรับทั้งอ่างเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำ ถังพักน้ำ จุดกองดินจุดแรก ยังไม่นับรวมส่วนประกอบย่อยอื่นอย่างถนนที่จะตัดผ่านใหม่ สถานีไฟฟ้าแรงสูง รวมถึงการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ต่าง ๆ ที่ล้วนจะเปลี่ยนทุกชีวิตแถบลุ่มน้ำเงาและยวมไปตลอดกาล
เราคนส่วนน้อย เสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมได้ไหม? คำถามของผมถึงชาวบ้านแม่เงาหลังได้สัมผัสนิเวศน้ำยวมตลอดทั้งวัน
“…”
หญิงวัย 50 ให้ความเงียบเป็นคำตอบแรกพักหนึ่ง ก่อนจะถอนหายใจยาวมองไปนอกบ้านแล้วกล่าวว่า “ถ้าคนอื่นปล่อยมือ เราก็คงต้องปลอ่ยไป… แต่ถามว่าสบายใจไหมมันก็ไม่หรอก กว่าจะมาอยู่ตรงนี้ได้เราก็เหนื่อยมามาก”
แม้จะเป็นชาวบ้านท้องถิ่นอยู่ในพื้นที่ แต่ทุกคนต่างรู้ไม่ใช่เจ้าของน้ำยวมและโลกใบนี้ ชีวิตแค่เกิดมาใช้ประโยชน์ช่วงหนึ่ง ไม่นานก็จากไปและส่งต่อให้คนรุ่นอื่น ใครจะใช้สิทธิ์อะไรในการบอกว่าจะเสียสละหรือไม่เสียสละ?
สำหรับชาวบ้าน ที่นี่ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเป็นชีวิตและลมหายใจ ไม่มีอะไรมากกว่านี้อีกแล้ว
“น้ำท่วมเสร็จก็ลด เป็นไปตามธรรมชาติ แต่ถ้าเป็นน้ำจากเขื่อนไม่ใช่ธรรมชาติ เราจะอยู่อย่างไร” หญิงวัย 37 ที่ผมเรียกพี่บัว หรือ บัวขาว ศิลาพิกทักษ์ กล่าวด้วยแววตาที่แฝงด้วยคำถามและความกังวล
ครอบครัวพี่บัวย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่แม่เงาเป็นกลุ่มแรก ๆ เธอเล่าวันที่ผ่านมาว่า โดยปรกติน้ำแม่เงากับแม่ยวมมักเอ่อท่วมอยู่แล้วในฤดูน้ำหลาก ทำให้คนแม่เงาส่วนหนึ่งขยับห่างย้ายขึ้นดอยไปสร้างหย่อมบ้านแม่เงาใหม่ที่อายุเข้าปีที่ 15 อยู่ห่างสบเงาประมาณกิโลได้ และเป็นจุดที่อยู่ติดจุดกองดินจุดแรกของโครงการผันน้ำยวม “เราไม่อยากย้ายไปไหนอีกแล้ว”
อีไอเอบอกน้ำจะไม่ท่วมสบเงา เพราะการคำนวนบนหน้ากระดาษบ้านสบเงาจะอยู่สูงกว่าระดับน้ำในอ่าง 2 เมตร แต่ไม่มีใครบอกชาวบ้านได้ว่าถ้าน้ำท่วมฉับพลันเพิ่มทุกข์ชาวบ้านเพราะน้ำยวมถูกกั้นจะรับผิดชอบอย่างไร
ขออย่างเดียวถ้าถึงวันนั้น ผู้มีความสามารถทั้งหลายโปรดอย่าโยนขี้ให้ธรรมชาติว่าเป็นภัยพิบัติ เพราะใครกันล่ะ ที่พิเรนทร์ไปฝืนธรรมชาติขวางน้ำยวมแต่แรก
แม้ชุมชนอยู่มานานกว่าเจ็ดทศวรรษ แต่ในเขตป่าการบุกเบิกที่อยู่ที่กินเป็นเรื่องยากขัดกฎหมาย โดยเฉพาะหลังประกาศพื้นที่เป็นเขตป่าสงวนในปี 2543 และกำลังเตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในปัจจุบัน แต่น่าแปลกกับการเข้ามาของโครงการผันน้ำยวม กลับมีการกันพื้นที่ไว้ให้อย่างถูกต้องตามกฎหมายง่ายดาย เสมือนปูเสื่อรอไว้อย่างดี
ตรงนี้ทำนึกถึง “คนรวยบุกเบิก คนจนบุกรุก” ข้อความตลกร้ายที่เคยได้ยินอย่างเลี่ยงไม่ได้
“เขาจะสร้างเขื่อนหรอ…ถ้าสร้างแล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน” ลุงจ่อ หนุ่มใหญ่วัย 83 ตั้งคำถามเมื่อได้ยินเรื่องราวของโครงการผันน้ำฯ
ลุงจ่อเป็นหนึ่งในคนเก่าคนแก่ที่ไม่ต่างจากคนอื่นในชุมชน ได้ยินชื่อโครงการผันน้ำฯ ใคร ๆ ก็ไม่คิดว่าจะมีการสร้างเขื่อน เข้าใจเพียงเป็นการเอาน้ำไปกรุงเทพฯ เท่านั้น กว่าเรื่องจะกระจ่างโครงการฯ ก็ใกล้เข้ามาเต็มที แม้บอกเอาเสียงส่วนใหญ่ว่าแต่เหมือนลุงก็อดกังวลไม่ได้ และบ่นลอย ๆ แต่แววตาจริงจังแต่แฝงความเศร้าว่า
“…ถ้าน้ำท่วมหมด ลูกหลานจะรู้ไหมว่ากุ้งห้วยกุ้งหน้าตาเป็นยังไง น้ำตกห้วยน้ำแดงงามแค่ไหน ธรรมชาติน้ำยวมมหัศจรรย์อย่างไร คือมันไม่ใช่แค่เอาน้ำไปไง”
“ถ้าผันน้ำเกิดขึ้น ทุกอย่างคงไม่เหมือนเดิม เผลอ ๆ อาจเก็บหอย จับปลา ดักกุ้งไม่ได้อีกเลย”
พื้นที่ 3,641.78 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก ที่เป็นทั้งป่าสงวนและอุทยาน และส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ที่นักอนุรักษ์ทั้งหลายชอบหวงกัน กำลังจะหายไปกับการเกิดขึ้นของโครงการแสนล้าน ที่ยังต้องใช้ไฟฟ้าลงทุนสร้างรายจ่ายทุกวัน
ชาวบ้านธรรมดาในพื้นที่ แม้ห่วงใยเรื่องธรรมชาติและระบบนิเวศแค่ไหนแต่ก็เหมือนทำอะไรไม่ได้เลย ขนาดเรื่องสำคัญอย่างชีวิตและความเป็นอยู่ที่กำลังจะสลายหายไปยังไม่มีใครให้ความอุ่นใจได้เลย ทุกวันมีแต่ความกังวลและไม่มั่นคง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชีวิตวันต่อไปจะเจออะไร ต้องอพยพไปที่ไหน
“สัญชาติก็ไม่มี เอกสารอะไรก็ไม่มี เราไม่สามารถทำอะไรได้เลยนอกจากจำยอม…”
“ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ถ้าสร้างเขื่อนแล้วเราจะอยู่ที่ไหน”
“ชี้เลยได้ไหมว่าจะให้ไปอยู่ที่ไหน จะได้ไปเริ่มต้นแต่เนิ่น ๆ การเริ่มต้นใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ…”
“ถ้าชดใช้จริง หนึ่งล้านมันไม่พอหรอก แค่ซื้อที่ดินกับสร้างบ้านก็ไม่เหลือแล้ว แล้วเราจะเริ่มต้นใหม่อย่างไร”
ส่วนหนึ่งของเสียงท้องถิ่นที่สะท้อนเกี่ยวกับโครงการผันน้ำยวมฯ
ปัจจุบันรายงานอีไอเอของโครงการผันน้ำยวมฯ ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และกำลังเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี อีกไม่นานน้ำยวมที่เป็นแม่น้ำสาขาของสาละวินจะไม่เหมือนเดินอีกต่อไป พื้นที่หลายพันไร่กำลังจะจมน้ำหาย
หากถาม ‘แลกชุมชนเล็กเพื่อชุมชนใหญ่ ทำได้ไหม’ ถ้ามองปริมาณและตัวเลขคงทำได้และง่ายมาก ก็ดูสิ คนในพื้นที่มีจำนวนไม่มาก เสียงไม่ดัง เป็นชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงที่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษา อีกทั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนไม่มีเอกสารสิทธิ์ และมากกว่านั้นคือส่วนหนึ่งยังอยู่ในสถานะไร้รัฐไร้สัญชาติ จะตบหัวลูบหลังอีกกี่ครั้งก็คงไม่ใช่เรื่องยาก
แต่หากถามหาความคุ้มค่ามั่นคงและความเป็นธรรมที่คนควรกระทำต่อกัน อันนี้ผมไม่รู้ ผมไม่รู้ว่าถ้าลุ่มน้ำยวม/สาละวิน กั้นเขื่อนสละพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ให้จมอยู่ใต้น้ำและชีวิตคนท้องถิ่นยอมแตกสลายระหกระเหินไร้จุดหมายแล้ว เกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะได้รับประโยชน์ร่ำรวยอยู่ดีมีสุขจริงไหม น้ำที่กรุงเทพฯ จะสมบูรณ์มั่นคง ทุกคนเข้าถึงได้เท่าเทียมหรือเปล่า พื้นที่จะเขียวขจีคุ้มค่ากับความชิบหายของสิ่งแวดล้อมและชีวิตผู้คนลุ่มน้ำยวม/สาละวินอย่างไร
แม้พอเดาคำตอบได้บ้างจากบทเรียนอื่น แต่ผมก็คงไม่บังอาจตัดสินว่าใครควรเสียสละหรือไม่เสียสละอย่างไร เพราะผมไม่ใช่เจ้าของดิน น้ำ ป่า และอากาศ…เช่นเดียวกับคุณ
เราไม่ใช่เจ้าของโลกใบนี้ เป็นไปได้ไหมที่เราจะให้ธรรมชาติเป็นผู้จัดสรร? ผันน้ำยวม แลกชุมชนเล็กเพื่อชุมชนใหญ่ทำได้ไหม? หากไม่มีชุมชนเล็ก จะมีชุมชนใหญ่อย่างไร? ก็อย่างที่บอกแต่แรก
“ผันน้ำยวมไม่ได้สูบแค่สายน้ำ แต่จะสูบเลือดเนื้อและจิตวิญญาณผู้คนให้หายไปด้วย
ผันน้ำยวมไม่ได้สูบแค่สายน้ำ แต่จะสูบแผ่นดินและลมฟ้าอากาศให้มลายไปด้วย” ผมมั่นใจว่ามันจะเป็นอย่างนั้น
Special Thanks to ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา for sharing their intimate personal account.
เอกสารอ้างอิง
กรมชลประทาน. (2565). โครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล, 3-5.
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน. (2564). สรุปข้อมูลและข้อสังเกตโครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาม, 4-8.