ถ้าชื่อมหา’ลัยจะเป็นนามสกุลติดตัวไปทั้งชีวิต – พูดได้มั้ยว่าสังคมเลือกที่จะให้คุณค่าคนจากสิ่งเหล่านี้ก่อนเป็นอย่างแรก?
แล้วทำไมนักศึกษาจากหลายมหาลัยเช่น ราชภัฎ หรือรามคำแหง หรืออาชีวะต่างๆ ถึงรู้สึกถูกกีดกันตั้งแต่ไม่ได้เข้าทำงาน?
จริงมั้ยที่คำว่า “เรียนมหาวิทยาลัยไหนก็เหมือนกัน” เป็นคำที่ไม่เคยใช้ได้จริงเลย เราลองไปถามคนที่จบมหาลัยเหล่านี้มา
สมัยจบมัธยมฯ ฉันตั้งเป้ากับตัวเองว่าจะเรียนนิเทศ คนรอบตัวเชียร์ให้เข้าจุฬาฯ เพราะดีที่สุด ถึงฉันจะไม่ได้เลือก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคน(ส่วนใหญ่) มองจุฬาฯ เป็นเบอร์หนึ่ง
แต่ ‘อุ๊’ เด็กราชภัฎที่เรียนจบรุ่นเดียวกับฉันกลับบอกว่าสำหรับเธอแล้วที่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เธอคิดเอาไว้
“คนพูดกับเราเยอะว่านิเทศจุฬาฯ ดีที่สุด แต่เราไม่มีในหัวเลย เพราะพ่อแม่หาเช้ากินค่ำ เลี้ยงลูก 2 คน
ถ้าคิดจะไปต้องใช้เงินเยอะ ถ้าเขามีให้ขอทุนเราอาจจะไปได้ แต่ค่าใช้ชีวิต ค่าหอ ค่ากิน เราคงไม่พอจ่าย พ่อมีเงินให้วันละ 200 ต้องใช้ทุกบาทอย่างประหยัด เลยคิดว่าเรียนจบออกมาก่อน ค่อยส่งน้องเรียนจุฬาฯ ถ้าน้องอยากเรียน”
“เราเลือกราชภัฎเพราะว่าได้ไป Open House ที่นครปฐม เราเห็นว่า เฮ้ย เขามีสตูดิโอ อุปกรณ์ครบ ไม่ได้แย่ เพราะตอนเรียนปวช เราเลือกเรียนสาขาที่ต้องทำหนังสั้น ถ่ายโฆษณา หรือทำกราฟิก แล้วหลักสูตรของที่นี่ตอบโจทย์และต่อยอดสิ่งที่เราชอบได้ แถมใกล้บ้านอีก งั้นเรียนที่นี่เลยละกัน”
“พ่อแม่ไม่มีปัญหาอะไร เรียนที่ไหนก็ได้ แต่ญาติที่เขาส่งลูกเรียนที่ธรรมศาสตร์ หรือพระจอม เขาพูดข่มว่านี่เป็นตัวเลือกสุดท้ายที่ป้าจะให้ลูกไปเรียนเลยนะ แล้วก็ลามไปถามพ่อแม่ว่าทำไมส่งลูกไปเรียน จนบางครั้งเราก็รู้สึกผิดว่า เลือกผิดป่ะวะ หรือจริง ๆ ควรไปเรียนมหา’ลัยอื่นในกรุงเทพฯ?”
“แต่พ่อแม่พยายามตอบกลับทุกคนว่า เชื่อมั่นว่าอุ๊เก่ง เราเลยมุ่งมั่นในทางของเรา”
อุ๊เคยโดนอาจารย์ที่จบจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ พูดใส่ว่า จบราชภัฎจะทำงานอะไรได้ ไม่มีใครเขารับเข้าทำงานหรอก เพื่อนรอบตัวก็บอกว่าทำไมไม่ไปมหาวิทยาลัยที่ดีกว่านี้ แต่อุ๊ยังเชื่อว่าถ้าทำออกมาดี ยังไงก็ต้องมีคนมองเห็นฝืมือ
ระหว่างโทรคุยกับอุ๊ ฉันลองเสิร์ชคีย์เวิร์ด “เรียนราชภัฎ” คำว่าตกงาน โดนดูถูก หางานยาก ขึ้นมาเป็นลิสต์แรก ๆ ในขณะที่สื่อยังมีการจัดอันดับว่ามหาวิทยาลัยไหนดีที่สุดในประเทศอยู่ นี่คงสะท้อนได้ว่าการศึกษาไม่ได้สร้างมหาวิทยาลัยมาให้เท่ากัน อย่างน้อย ๆ ก็ในความรู้สึกของคน
“ครั้งหนึ่งเราผ่านเข้ารอบการประกวดพล็อตหนังสั้นที่แข่งกันหลายมหาวิทยาลัย ได้ไปเวิร์กช็อปด้ยกัน เหตุการณ์ที่เจอเหมือนละคร เราได้ยินเด็กคนอื่นนินทาว่า เด็กราชภัฎมาว่ะ แล้วอาจารย์ที่มาดูก็พูดกับเราว่า อุ๊ย แน่ใจเหรอว่าจะมาแข่งกับมหาวิทยาลัยอื่น เราก็งง”
“อีกครั้งคือตอนฝึกงาน หัวหน้างานไม่เข้ามาสอนงานอะไรเลย สิ่งที่ให้ทำคือใช้ไปซื้อกาแฟกับล้างถ้วยทุกวัน ในขณะที่เด็กอีกมอไม่เคยต้องออกไปซื้อของ มีพี่คอยสอนงาน ซึ่งก็เคยถามเหมือนกันนะว่าทำไมใช้เราคนเดียว เขาตอบมาว่าใช้นิดหน่อยเอง เดี๋ยวไม่ให้ผ่านฝึกงานนะ เลยต้องก้มหน้าทำต่อไป”
“ช่วงจบใหม่ตอนหางานทำ มีบริษัทเรียกเราหลังดูผลงานจากพอร์ตโฟลิโอ แต่ไม่แน่ใจว่าพอถึงวันสัมภาษณ์แล้วเป็นคนละคนกับคนกับตอนแรกรึเปล่า เขาถามว่า เอ้า เรียนจบราชภัฎมาหรอ คุยกับเราเร็วมาก เหมือนไม่ค่อยสนใจ ก็คิดในใจแล้วแหละว่าคงไม่ได้งาน แล้วก็ไม่ได้จริง ๆ”
“สมัครงานไป 5 บริษัท สุดท้ายได้งานแรกเป็นกราฟิก แต่เขาโยนงานอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ตกลงกันมาให้เยอะมาก จนเราทำไม่ทัน เวลาหัวหน้าไม่ถูกใจ ก็จะด่าแล้วตบท้ายว่าราชภัฎเขาสอนกันแบบนี้นี่เอง”
“แทนที่จะบอกปัญหา ชี้ข้อบกพร่องว่าเราผิดอะไร เขากลับเลือกเหยียดมหาวิทยาลัยเรา และชอบเอางานของเราไปเทียบกับเด็กมหาวิทยาลัยอื่นในตำแหน่งเดียวกัน โดยบอกว่างานอีกคนดีมาก แต่ของเราไม่สร้างสรรค์ พูดกับหลายคนในบริษัทว่า อีกคนจบอะไรมาล่ะ? มันเพื่ออะไร? ในเมื่อก็รู้อยู่แล้ว”
“อีกคนทำผิดไม่โดนว่า หัวหน้างานอธิบายอย่างละเอียดว่าอยากให้แก้ตรงไหน แต่ของเราโดนสั่งรื้อตลอด วันที่เราตัดสินใจลาออกคือวันที่โดนพูดว่า จบราชภัฎทำได้แค่นี้หรอ รู้ตัวไหมว่าทำอะไรผิด”
“เราจะรู้ได้ไง? ในเมื่อคุณไม่คิดจะบอกเรา”
อุ๊ลาออกมาสมัครข้าราชการเพื่อหาทางรอดจากการดูถูก เพราะความตลกร้ายของสังคมไทยที่ผู้ใหญ่ปลูกฝังกันมา คือการเชิดชูข้าราชการเป็นพลเมืองชั้นสูง แต่คำถามที่ฉันอยากชวนคิดคือ สังคมดี ๆ ที่ไหนเขาแบ่งชนชั้นกัน ?
.
“มาทำราชการไม่ได้โดนเหยียดตรงๆ แต่หนีไม่พ้นระบบอุปถัมภ์ค่ะ”
.
“สมมติเราทำงานไปสักพักแล้วอยากเลื่อนขั้นจากข้าราชการ ถ้าใบปริญญายังเป็นราชภัฎก็เลื่อนไม่ได้นะคะ ต้องเป็นปริญญาโทเฉพาะบางมหาวิทยาลัยที่เขารองรับ เช่น ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ เกษตร ซึ่งไม่มีราชภัฎ”
.
“มันกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่สืบต่อกันมา แม้จะไม่ใช่ทุกคนที่อยากเข้ามหา’ลัยดัง ๆ แต่ใครที่อยากเลื่อนชั้นก็ต้องทำ เพราะเรามีรุ่นพี่ที่รู้จัก เขาไม่ยอมก็ได้เลื่อนเป็นข้าราชการชำนาญการตอนอายุ 40 เลย”
.
(*) ตามข้อมูลในระเบียบข้าราชการ ระบุว่าหากจะเลื่อนขั้นเป็นข้าราชการชำนาญการต้องดำรงตำแหน่งตามวุฒิการศึกษา คือปริญญาตรี 6 ปี หรือปริญญาโท 4 ปี เพียงเท่านั้น
.
ความเข้าใจผิดของข้าราชการชั้นผู้น้อยที่เข้าใจผิดในระเบียบการเลื่อนขั้นในหน้าที่การงาน สะท้อนให้เห็นความกลัวการเหลื่อมล้ำในสังคมที่อาจจะทำให้เสียโอกาสในชีวิตไป
.
จากความไม่มั่นใจในสถาบันการศึกษาของตัวเขาเอง สู่สังคมที่ชมเชยสถาบันหลักเท่านั้นในสายตาของอุ๊ กลายเป็นมุมมองอย่างที่เขาพูดกับเรา
.
* หมายเหตุจากบรรณาธิการ (editor’s note) : การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นเพียงประสบการณ์ที่ส่วนตัวของแหล่งข่าวเพื่อสะท้อนปัญหาสังคม นำเสนอเพื่อสร้างการพูดคุยในเชิงสร้างรรค์ต่อเนื่องไปครับ
“ตอนนี้เราเงินเดือนหมื่นหก เสียค่าเช่า ค่าอยู่ เดือนชนเดือน ไม่เคยมีเงินเก็บ เป้าหมายต่อไปคือต้องสอบเป็นพนักงานข้าราชการเพื่อให้ได้หมื่นแปด ซึ่งก็น้อยอยู่ดี ถ้าเทียบกับเนื้องานที่เราทำล่วงเวลาตลอด แล้วก็คงต้องกลับมาคำนวนค่าใช้จ่ายกันอีกรอบเพื่อใช้ในการเรียนป.โท”
“แต่ถ้าสังคมมันดี ไม่มีการวัดคุณค่าของนักศึกษาผ่านมหาวิทยาลัย เลือกคนเข้าทำงานจากความสามารถจริง ๆ เราก็คงไม่ต้องลำบากขวนขวายขนาดนี้หรอกค่ะ”
จริงแบบที่อุ๊ว่า เพราะถ้าสังคมที่เรายืนอยู่มันดี คนมองเด็กทุกมหาวิทยาลัยเท่ากัน ก็คงไม่เห็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ย้อนถามสื่อมวลชนว่า “คุณจบอะไร คุณจบมหาวิทยาลัยราชภัฏหรือ”
นอกจากเด็กราชภัฎแล้ว ฉันมีโอกาสคุยกับ ‘แบม’ เด็กปี 4 มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่โดนดูถูก เหยียดสถาบันจนซึมเศร้า
“หนูเป็นคนขอนแก่นที่โดนครูเหยียดมาตั้งแต่มัธยมฯ ไม่ว่าหนูจะเรียนเก่ง หรือสอบได้คะแนนดี ครูก็จะบอกว่าหนูโง่ อวดฉลาด ตอนเลือกมหา’ลัย หนูอยากเป็นพยาบาล แต่ก็ไม่กล้าหวังถึงมหิดล แค่ได้เข้าวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีก็โอเคแล้ว สุดท้ายหนูได้โควต้านักศึกษาเพราะเกรดถึง แต่พ่อเราทำงานโรงงาน ไม่มีเงินส่งเราเรียน เลยต้องสละสิทธิ์ไป”
“พอจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยอื่น เสียค่าธรรมเนียมการสอบค่อนข้างเยอะ ศูนย์สอบไกลบ้าน ต้องเช่าห้องอยู่ มีค่ารถไปกลับอีก บ้านเราไม่มีเงินมากขนาดนั้น ก็เลยตัดสินใจไม่ไปสอบ เรียนรามคำแหงแทนเพราะค่าเรียนหน่วยกิตละ 25 บาท”
แบมตัดสินใจเรียนรัฐศาสตร์ตามที่พ่อเลือกให้จากเกรดสายสังคมที่ได้ 4 และเป็นที่หนึ่งของชั้นมาโดยตลอด ตอนฉันแอดมิชชั่นไม่ติดอันดับหนึ่งที่หวังไว้ ฉันยังร้องไห้แทบตาย แล้วเธอล่ะ คงเหมือนถูกกระชากความฝันเลย
“ฝันหนูล่มไปแล้ว หนูคิดแค่ว่าเรียนอะไรก็ได้ แต่ขอให้ได้เรียนก็พอ เพราะเราอยากมีความรู้เยอะ ๆ”
“โรงเรียนขึ้นป้ายไวนิล ชื่นชมเด็กมหาวิทยาลัยดัง แต่ไม่มีรูปหนูเพราะหนูเรียนราม ถึงงั้นครูแนะแนวยังบอกว่า ‘เธอเรียนรามไม่ได้หรอก’ จะเรียนสักกี่ปี? 8 ปีจะจบไหมก็ไม่รู้”
แบมร้องไห้ออกมาขณะที่พูดอยู่ เธอบอกว่าทำไมการที่ครอบครัวไม่รวยถึงต้องโดนเหยียด
“หนูพยายามช่วยพ่อหาเงินด้วยการทำพาร์ตไทม์ เพื่อจ่ายค่าเทอมเอง แต่เราก็โดนเจ้าของบริษัทบอกว่า เรียนรามแบบนี้ ไม่มีอนาคตหรอกนะ ทำไมพ่อแม่ไม่มีเงินส่งล่ะ กลายเป็นว่านอกจากจะเหยียดสถาบันแล้วยังเหยียดคนจนต่ออีก”
ถ้านับจากจำนวนคนสอบปลัด ในสายเด็กรัฐศาสตร์ รามคำแหง กับ ธรรมศาสตร์ ตีคู่กันมาเสมอ นั่นแปลว่าเด็กรามก็เก่งไม่น้อยหน้าใคร งั้นที่โดนดูถูกอยู่ตลอด ก็เพราะขึ้นชื่อว่า ‘ราม’ ?
“แต่ที่หนักสุดในชีวิตคือการที่อาแท้ๆ ตบตีหนูเพราะคุยกับลูกเขาว่าให้มาเรียนปริญญาอีกใบที่ราม เขาชี้หน้าด่าว่า พ่อมึงมีปัญญาส่งเรียนแค่นั้น อย่าชักจูงลูกกูให้มาอยู่มหาวิทยาลัยต่ำ ๆ ด่าไปตีไป แม้เราจะพยายามเรียนได้ A ได้ B ตลอด”
“เขาก็จะพูดว่าเก่งแค่ไหนก็เทียบมหาวิทยาลัยดังไม่ได้หนูโดนแบบนั้นหลายครั้ง จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า”
“หลังเข้ารับการรักษา หนูต้องปรับความคิดตัวเอง พยายามปลงกับการโดนด่า ชมตัวเองบ่อย ๆ แต่จะดีกว่าไหม ถ้าพวกเขาไม่ทำเหมือนเราเป็นขยะตั้งแต่แรก”
ทั้งสองเคสนี้บอกอะไรกับเราได้บ้าง?
ทั้งคู่ไม่มีความหวังที่จะได้เรียนมหาวิทยาลัยดัง เพราะฐานะทางบ้านไม่เอื้อ ?
ความเก่ง ความดี วัดจากจำนวนเงินที่เสียไปจากการสอบเข้า และชื่อมหาวิทยาลัยดัง?
คนเราจะดูถูก หรือทำกับคนที่ไม่ได้อยู่ในลิสต์อันดับมหาวิทยาลัยที่ดีบนอินเทอร์เน็ตยังไงก็ได้?
ฉันคงพูดได้ไม่เต็มปากว่าเด็กจากสถาบันอื่นจะโดนเหยียดตลอด อาจมีคนเจอ หรือไม่เจอก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องราวของทั้งคู่ทำให้รู้ว่าเรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นจริง ๆ
หรือตอนนี้สังคมกำลังมีปัญหา เพราะการศึกษาไทยไม่เคยสร้างคนให้เท่ากัน และอนาคตของชาติในความหมายของไทย มีไว้ให้เฉพาะเด็กบางมหาวิทยาลัยเท่านั้น