ปลุกผีไทย ให้ฟื้นจากหลุม

กระสือ กระหัง เปรต และ ผีไทยต่าง ๆ อีกมากมายหายไปไหน หรือ ผีไทยกำลังค่อย ๆ เลือนหายไปกับป็อปคัลเจอร์แล้ว ?

เช่นเดียวกับที่อยู่อาศัยของเหล่าผีไทย อย่างการ์ตูนผีเล่มละบาท ที่เลือนหายตายจากไปจากแผงหนังสือไม่ต่างกัน แม้ว่าจะเคยถึงขั้นวางตามร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ทั่วประเทศก็ยังไม่รอดเลย

เราจะทำยังไงให้ผีไทยน่าเกรงขามเท่าผี​ประเทศอื่น ๆ กันดี… ก็เลยชวนอาจารย์ “โต้ด โกสุมพิสัย” นักวาดการ์ตูนผี ที่กำลังร่วมงานทำ ทั้ง Fashion Colaboration และ NFT ต่าง ๆ ด้วยสไตล์ดั้งเดิม

มาคุยกันว่า ผีไทยจะน่ากลัวโด่งดังขึ้นอีกได้ยังไง ในเมื่อโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว

ภาพ: ไลลา ตาเฮ

“แล้ว ‘โต้ด โกสุมพิสัย’ คือใคร?”

คิดว่าหลาย ๆ คนคงเคยเห็นการ์ตูนผีเล่มละบาทที่เคยวางขายตั้งแต่ตามแผงหนังสือทั่วไปยันแผงหนังสือในเซเว่นอีเลฟเว่น อาจารย์โต้ดเป็นหนึ่งในนักวาดมือฉมังของหนังสือแนวนี้แหละ ด้วยความที่อุทิศชีวิตให้กับการวาดการ์ตูนผี ผมเลยคิดว่าแกน่าจะให้คำตอบเรื่องนี้ได้ดี

ผมถึงบ้านอาจารย์โต้ดตอนช่วงเที่ยงของวันอาทิตย์ที่อากาศร้อนแต่แห้งตามประสาเริ่มเข้าหน้าหนาว พอเข้าตัวบ้านมาก็จะพบกับผีกระสือ – ซึ่งเป็นงานเปเปอร์มาเช่ฝีมืออาจารย์เอง บรรยากาศบ้านไม้ย่านชานเมืองที่ข้างในเต็มไปด้วยงานปั้นแนวหลอน ๆ เป็นส่วนผสมที่ลงตัวแบบแปลก ๆ

“อ้าว มาแล้วเหรอ ขอผมใส่เสื้อก่อนนะ” อาจารย์โต้ดกล่าวบอกก่อนที่ผมกับช่างภาพจะเดินขึ้นไปชั้นบนซึ่งเป็นบริเวณที่ทำงานของแก

พอขึ้นผ่านบันไดไม้ที่ส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าดเมื่อก้าวเหยียบ ผมก็พบกับศิลปินเจ้าของบ้านที่เพิ่งใส่เสื้อลายผลงานตัวเองเสร็จพร้อมให้สัมภาษณ์และบันทึกภาพ กลิ่นยาสูบอบอวลจาง ๆ คละคลุ้งไปกับฝุ่นผงในอากาศท่ามกลางผลงานมากมายที่ติดตามผนังและวางไว้เต็มห้องให้บรรยากาศชวนขลังและหลอนแบบแปลก ๆ

แค่เป็นบ้านไม้ก็น่ากลัวแล้ว ยิ่งเป็นบ้านไม้ที่เต็มไปด้วยงานปั้นผี ๆ เต็มไปหมดแบบนี้ ยังกะกำลังเดินเข้าบ้านผีสิงเลย… ลืมถามเหมือนกันว่าอาจารย์เคยเจอผีที่บ้านมั้ย?

“เมื่อก่อนการ์ตูนผีดังขนาดไหนครับ?” ผมเริ่มบทสนทนาตามประสาคนแปลกหน้าถึงจุดกำเนิดของการ์ตูนผี วรรณกรรมสั้นความยาวสิบหกหน้าราคาถูกที่เป็นที่นิยมในช่วงปี 2520 ถึงปี 2540 ก่อนที่จะอำลาแผงหนังสือไปในช่วงปี 2560 พร้อมกับสื่อสิ่งพิมพ์หลาย ๆ หัว

“ยุคทองจริง ๆ นี่ เอาเข้าจริงคือเจ้าของโรงพิมพ์สั่งให้เขียนแนวไหนก็ต้องเป็นแนวนั้นนะ บางที่เค้าให้เขียนแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ หรือไม่ก็เขียนเรื่องจากความเชื่อหรือจากข่าวมาแต่งเป็นเรื่องเป็นราว แต่เรื่องผีนี่เยอะสุด ประมาณห้าสิบเปอร์เซ็นต์ได้” ชายสูงวัยผมสีดอกเลากล่าวรำลึกความหลัง

“แต่มันก็ไม่ง่ายนะที่ต้องให้เรื่องสลับซับซ้อน ไม่ใช่ว่าให้ผีมาบีบคอมาล้างแค้นแล้วจบ มันต้องมีคติสอนใจในนั้นด้วย

พวกการ์ตูนเล่มละบาทนี่มันก็ส่งเสริมให้คนชอบอ่านนะเพราะราคามันถูก ถูกที่ว่านี่คือสมัยที่ก๋วยเตี๋ยวชามละสิบ-สิบห้าบาทนะครับ”

ถูกขนาดนี้แสดงว่าคนไทยสมัยก่อนน่าจะรักการอ่านน่าดูสิ

อาจารย์โต้ดเล่าให้ฟังว่าช่วงที่มาอยู่กรุงเทพฯใหม่ ๆ ต้องอดมื้อกินมื้อ บ้างก็อาศัยซื้อน้ำแกงเหลือ ๆ ถุงละบาทมาคลุกข้าวกินประทังความหิว ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นนักเขียนการ์ตูนผี ซึ่งเป็นอาชีพแรกเริ่มของนักเขียนหลาย ๆ คน

“ผมลาออกจากเดลินิวส์มาเขียนการ์ตูนผีโดยตรงเพราะว่าต้องมาเลี้ยงลูกน่ะ เอาจริง ๆ นักเขียนการ์ตูนในไทยมันไม่ได้มีเยอะแบบตลกคาเฟ่นะ ก็มีจับกลุ่มกันตามแนวที่ตัวเองเขียน แต่เขียนเรื่องผีนี่ไม่ค่อยได้เจอกันเท่าไหร่ ตายไปบ้าง เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นบ้าง

มีผมคนเดียวเขียนมาตลอดเพราะทำอะไรไม่เป็น อย่างดีก็ไปตีกลองงานบวชน่ะ”

“ตีกลองเหรอครับ?” ผมถามด้วยความประหลาดใจ

“เอ้อ! ตกงานไง การ์ตูนเล่มละบาทเขาไม่รับแล้วเพราะโรงพิมพ์เจ๊ง ขนาดขายในเซเว่นได้นะนั่นน่ะ ผมก็ไปตีกลองตามวัดแถว ๆ นี้แหละ ดีที่ได้ป๋าเอ็กซ์มาค้ำชูไม่งั้นผมก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะไปอีท่าไหนดี”

ขอขยายความนิดหนึ่ง จริง ๆ แล้วอาจารย์โต้ดแกเป็นคนไม่ทันเทคโนโลยีมาก ๆ การติดต่อสัมภาษณ์เลยได้ป๋าเอ๊กซ์ เจ้าของร้าน Atakito’s Shop ที่โตมากับการ์ตูนผีเล่มละบาทเลยเป็นทั้งนักสะสมและเป็นผู้อุปถัมภ์งานศิลป์ คือช่วยสนับสนุนด้านเงินทุน ประชาสัมพันธ์ ช่วยประสานงานแถมยังช่วยเขียนเรื่องให้อีกด้วย

ระหว่างคุยกันอาจารย์โต้ดก็หยิบต้นฉบับหุ่นพลังเวทย์เล่มที่สามที่กำลังเขียนร่วมกับป๋าเอ็กซ์ให้ดู เพิ่งเคยเห็นเหมือนกันว่าต้นฉบับงานการ์ตูนมันเป็นยังไง

“มันเป็นชุดการ์ตูนที่ผมภาคภูมิใจนะ ตั้งใจเขียนจริง ๆ มีช่องเล็กช่องน้อย ตัวหนังสือก็เยอะ เดี๋ยวนี้ผมวาดได้มากสุดก็วันละหน้า ผิดกับสมัยเฟื่องฟูนี่ต้องคิดเลยว่าอาทิตย์หนึ่งต้องได้สองเรื่อง ๆ ละสิบหกหน้า”

“ก็เลยตกปีละเล่ม” ป๋าเอ็กซ์อธิบายเพิ่มเติม “เพราะว่าวาดเดือนละตอน เราเอามาทำเป็นพ็อคเก็ตบุ๊กเล่มละสิบตอนจะได้อ่านแบบต่อเนื่อง ไม่ต้องจบในตอนแบบเมื่อก่อนด้วย”

พอได้เห็นงานแกมีตัวอักษรเยอะ ๆ ก็แอบทำให้นึกถึงงานเขียนแบบ Graphic Novel เหมือนกันนะ ผมว่างานของอาจารย์โต้ดหรือนักวาดหลาย ๆ คนในไทยสามารถโกอินเตอร์ได้สบาย ๆ เพียงแต่ว่าประเทศเราไม่ได้ผลักดัน soft power พวกนี้ วงการการ์ตูนไทยก็เลยอยู่แค่นี้แหละ

“อาจารย์ชอบผีไทยตัวไหนสุดครับ?”

“ผมชอบผีกระสือ คือมันก็มีตำนานมาตั้งแต่เด็ก ๆ น่ะครับว่าผีกระสือมีแต่ไส้ มันลากไก่ไปกิน ปัจจุบันนี้ก็ยังมีข่าวแนว ๆ นี้ผมก็เลยกลัวมันมาก ๆ … แต่แถวบ้านผมที่มหาสารคามนี่ไม่มีนะ หนักไปทางผีปอบน่ะ เป็นแนววิชาอาคม ผมเคยเห็นกับตามาแล้วด้วยในอำเภอผมเนี่ย”

“อย่างตัวที่ห้อยไว้ข้างล่างนี่เปิดไฟได้ด้วยนะ ใครมาหาผมเขาก็ถ่ายรูปกับผีกระสือผมน่ะครับ”

“จริง ๆ ผมชอบเขียนผีแบบเวอร์ ๆ อย่างพวกผีป่าอย่างนี้ ตัวใหญ่ ๆ โหด ๆ หน้าตาสยอง ๆ อิทธิฤทธิ์เยอะ ๆ อะไรอย่างนี้นะ” อาจารย์โต้ดเล่าถึงผีที่ตัวเองชอบเขียน

“แต่ถ้าจะเขียนแบบเป็นเงาดำ ๆ แล้วน่ากลัวได้นี่ต้องระดับเหม เวชกร ผมอ่านแล้วยังกลัวตามเลยขนาดแกไม่ได้เขียนผีแนวเหวอะ ๆ นะ แต่สมัยผมมันเป็นสมัยผีแหวกอกน่ะ แหวกอกหน้ามีหนอนขึ้นเต็ม เถ้าแก่เจ้าของโรงพิมพ์แกชอบ (หัวเราะ)”

“สมัยก่อนนี่แค่เรื่องแม่นากอย่างเดียวก็น่ากลัวแล้วนา” อาจารย์โต้ดเล่าความน่ากลัวของผีไทยให้ฟัง

“เมื่อก่อนนี่ถ้าเป็นหนัง เวลาไปฉายโรงไหนต้องทำเครื่องเซ่นไหว้หน้าโรงไม่งั้นจะมีอันเป็นไปอะไรอย่างนี้ โรงหนังที่อำเภอผมก็เคยมีไฟไหม้”

อาจารย์อธิบายให้ฟังว่าที่ผีไทยน่ากลัวก็เพราะมันมักจะเกี่ยวโยงกับความเชื่อ วิถีชีวิต “อย่างเรื่องปู่โสมเฝ้าทรัพย์ไง สมัยก่อนมันไม่มีธนาคารเวลาเกิดสงครามคนก็เอาสมบัติไปฝัง ตายไปหวงสมบัติก็กลายเป็นผีมาเฝ้าที่อีก ผีไทยที่ขี้หวงของนี่มีเยอะนะ”

ถ้าให้นึกเร็ว ๆ ก็คงจะมีแต่ “นางนาก(1999)” มั้งที่เป็นผีคลาสสิคที่ผมเคยดู พอเอากลับมาดูก็ไม่รู้สึกว่ามันน่ากลัวเท่าที่เคยดูตอนเด็กนะ แต่กลายเป็นว่าหนังผีอย่าง “ชัตเตอร์ฯ(2004)”, “The Eyes(2002)” กลายเป็นภาพจำที่ทำให้เรากลัวผีไทยมากกว่าเสียอย่างนั้น เพราะผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าผีไทยจะทำให้เวิร์คได้ยังไงถ้าต้องมาหลอกคนในเมืองกรุง

“อาจารย์ว่าผีไทยกลัวเมืองมั้ยครับ?”

“ก็มันมีไฟนีออนเนาะ ผีมันกลัวแสงไฟน่ะ ถ้าอยู่ในที่มืด ๆ มันก็มีบรรยากาศให้คนกลัวผีมันก็หลอกได้ไง มืดแล้วมันมีพื้นที่ให้มีจินตนาการไง”

“แสดงว่าผีพวกนี้ก็อาศัยอยู่ในเมืองเหมือนเรา?”

“อยู่ในเมืองนี่แหละ แต่ให้ผีอยู่ในชนบทมันเขียนง่ายกว่า”

เอ้อ นึกขึ้นได้ว่ามีอีกเรื่องหนึ่งที่เคยดูคือ “ปอบหวีดสยอง (2001)” ที่ผมว่าเป็นการเอาผีดั้งเดิมมาดัดแปลงที่สนุกดีนะ แต่คงจะเอามาดัดแปลงยากแบบที่อาจารย์ว่าแหละ เราเลยไม่ค่อยได้เห็นผีดั้งเดิมของไทยออกมาวาดลวดลายในเมืองกรุง

“การคอลแลบฯกับแบรนด์เสื้อผ้ามันช่วยให้คนรู้จักผีไทยหรือนักวาดการ์ตูนผีมากขึ้นมั้ยครับ?”

“เอาเข้าจริงผมก็ยังงงจนถึงทุกวันนี้นะว่าเขาคิดยังไงมาให้ผมเขียน (หัวเราะ)”

“มันเป็นโปรเจ็กต์ที่ให้ศิลปินไทยได้โชว์ผลงานให้ต่างประเทศได้เห็นบ้างน่ะ” ป๋าเอ็กซ์ขยายความ “จริง ๆ ก็เคยมีสถานทูตเบลเยี่ยมเคยเชิญให้แกไปวาดรูปร่วมกับตัวการ์ตูนของประเทศเขาเหมือนกันนะ เอาจริง ๆ แล้วชาวต่างชาติให้ความสนใจในการ์ตูนผีไทยมากกว่าคนไทยด้วยกันซะอีก”

“ผมยังทึ่งเลยตอนได้เห็นผลงานของตัวเองมาอยู่บนกระเป๋าตังค์” อาจารย์โต้ดพูดแล้วก็โชว์กระเป๋าตังค์ของตัวเองให้ดู

“อาจารย์ปั้นผมรึเปล่าเนี่ย?” ป๋าเอ็กซ์ถามอาจารย์โต้ดหลังจากหยิบงานเปเปอร์มาเช่ขึ้นมาดู งานอดิเรกอย่างหนึ่งที่อาจารย์โต้ดมักจะทำยามว่างหรือคิดงานไม่ออกคือการทำเปเปอร์มาเช่มาจากตัวละครที่แกเขียนนั่นแหละ

“นอกจากทำหนังสือร่วมกันเราก็หันไปทางอื่นเช่นพวก NFT งานคอลแลบฯ ไปถึงรับจ้างวาดรูปให้คนอื่นนั่นแหละ เขาอยากให้อาจารย์วาดเลียนแบบหน้าปกแล้วมีเขาเป็นพระเอกอะไรทำนองนี้ ก็ขายเป็นชิ้น ๆ ไป” ป๋าเอ็กซ์เล่าให้ฟังถึงการพาอาจารย์โต้ดขยับจากการเป็นนักเขียนการ์ตูนผี ไปสู่การเป็นศิลปินในวงกว้างขึ้น

“มือถือผมยังใช้ไม่เป็นเลย กดไลน์ตอบเป็นอย่างเดียว เรื่องเทคโนโลยีนี่ผมทำไม่เป็นเลย” อาจารย์โต้ดกล่าวทิ้งท้าย

ลองคิดดูว่าถ้าวงการการ์ตูนไทยได้รับการผลักดันและสนับสนุนให้เป็น soft power เราอาจจะเห็นผีไทยถูกตีความให้เข้ากับบริบทปัจจุบันเหมือนมังงะญี่ปุ่นหลาย ๆ เรื่องก็ได้ ศิลปินจะได้ยืนด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดเหมือนกับอาจารย์ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุค NFT ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ทันเรื่องเทคโนโลยีเลย

Loading next article...