“อีB กูบอกให้มึงเลิกกับแม่งให้จบๆ ไปได้แล้ว ปัญหานี้กูฟังมาร้อยรอบแล้วนะเว้ย”
“ถ้ากูเลิกกับมันแล้วกูจะไปคบใครล่ะ”
“ก็พวกูนี่ไง ผู้ชายเ_ยๆ ไม่ต้องมีอยู่ในชีวิตหรอก”
นี่คือบทสนทนาของสองสาวเพื่อนซี้ในซีรีย์เรื่องหนึ่งซึ่งผมเปิดดูขณะนั่งกินข้าวกับครอบครัว
“เด็กสาวๆ สมัยนี้เขาพูดกันแบบนี้แล้วนะ” แม่เอ่ยแบบปลงๆ
“โอ้ย เดี๋ยวนี้เขาพูดกันแบบนี้เป็นปกติแล้ว” พ่อกล่าวเสริม ก่อนจะเล่าความหลังสมัยยังทำงานว่า พวกเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงานมักคุยกันด้วยภาษาแบบนี้ บางทีก็คุยเสียงดังทั้งที่มีผู้บริหารอยู่ในลิฟต์ด้วยจนต้องเรียกไปตักเตือน
แม้พ่อกับแม่จะรู้สึกว่าคำพวกนี้มันช่างระคายหู แต่ก็ดูจะเข้าใจและยอมรับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้ดี
มันไม่ใช่ว่ายุคสมัยพ่อแม่เราจะไม่พูดคำหยาบกันเลยเสียเมื่อไหร่ การพูดกู/มึงกันในหมู่เพื่อนผู้ชายดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว ในขณะที่ฝั่งผู้หญิงอย่างมากก็ใช้แก/ฉัน และคำด่ายอดนิยมคงมีแค่ ไอ้บ้า ทุเรศ ฯลฯ อะไรทำนองนี้
แหม ฟังอย่างกับในละคร
ส่วนคำที่หยาบยิ่งกว่าอย่าง ไอ้เ_ย ไอ้_า ดูเหมือนจะถูกสงวนไว้สำหรับสถานการณ์ที่เหมาะสมหรือจำเป็นจริงๆ
เช่นคุณเดินมาตามถนนแล้วมีคนเข้ามาลวนลาม หรือคุณขับรถอยู่ดีๆ แล้วมีรถอีกคันฝ่าไฟแดงมาชน การจะด่าอีกฝ่ายว่าเหี้ยก็ไม่ได้ผิดความหมายอะไร และบางทีคุณอาจไม่จำเป็นต้องแคร์ว่าคนอื่นจะมองยังไงด้วย
ก็ในเมื่อเหตุการณ์มันเหี้ยจริงๆ และคุณก็อยากจะด่าให้สะใจสักครั้ง เผื่ออีกฝ่ายจะสำนึกในการกระทำอันเลวร้ายของตัวเองบ้าง
พูดง่ายๆ ว่า ถ้าเวลา สถานที่ และอารมณ์มันใช่ การใช้คำว่า ‘เ_ย’ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
ก็คนมันกำลังโกรธนี่เนอะ ถ้าคุณถูกลวนลามแล้วยังยืนยิ้มใจเย็นอยู่ได้นี่สิแปลก แปลว่าคุณน่าจะมีอะไรผิดปกติแล้วละ
แต่ที่พูดแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้คำหยาบกันสนุกปากทุกครั้งที่อยากพูดได้นะ บางคนก็ปากไวนึกจะพูดอะไรก็พูดไม่คิด
“ไอ้เ_ยเอ้ย คนที่ยืนข้างกูเมื่อกี้ไม่รู้เป็นห่าอะไรนักหนา แม่งขยับยุกยิกอยู่ได้ อยู่เฉยๆ พ_มันจะตายมั้ง”
โอ้โห จะเยอะไปไหน!
คุณอาจจะคิดว่า อ้าว ก็ฉันพูดกับเพื่อน ไม่ได้พูดกับแกสักหน่อย แต่อย่าลืมว่าหากคุณไม่ได้อยู่กับเพื่อนตามลำพังหรือคุณอยู่ในที่สาธารณะ คนอื่นก็อาจจะได้ยินคำพูดเหล่านี้ไปด้วย
คุณก็อาจจะเถียงอีกว่า ก็ฉันพูดกับเพื่อนไง แกมาสาระแนฟังเองแล้วจะบ่นทำไม แกจะมาเดือดร้อนอะไรด้วย
ถ้าอย่างนั้นผมก็อยากให้คุณย้อนกลับไปอ่านเรื่องเล่าของพ่อผมอีกรอบ เรื่องที่พนักงานโดนผู้บริหารเรียกไปตักเตือนเพราะอีกฝ่ายขึ้นลิฟต์มาด้วยกันและบังเอิญได้ยินนั่นแหละ ในมุมมองของผู้บริหาร การที่พนักงานพูดเล่นหยาบคายกันในลิฟต์ ถ้ามีลูกค้าหรือบุคคลภายนอกที่เขามาติดต่องานเกิดได้ยินเข้าล่ะ ภาพลักษณ์ขององค์กรในสายตาเขาจะเป็นยังไง จะเสียหายขนาดไหน
เห็นไหม บางทีคำหยาบคายของคุณก็อาจทำให้คนอื่นเดือดร้อนจริงๆ ก็ได้
ยังไม่นับว่าหากคุณสบถคำหยาบออกมาลอยๆ แล้วมีคนคิดว่าคุณไปด่าเขาละ
จะกลายเป็นมีเรื่องมีราวกันเปล่าๆ
อีกปัญหาหนึ่งของการใช้คำหยาบพร่ำเพรื่อก็คือ มันจะทำให้คำหยาบนั้นหมดความขลัง
ผมนึกถึงคลิปรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งที่คนแห่แชร์กันเมื่อไม่นานมานี้ พิธีกรให้ดาราที่มาแข่งขันทายคำภาษาสวีเดนที่แปลว่าวันนี้ ดาราท่านนั้นก็ตอบด้วยจริตจะก้านเกินจริงว่า “อีด_ก” (ซึ่งเป็นคำว่าที่แปลว่าวันนี้ในภาษาสวีดิชจริงๆ) จากนั้นคนทั้งสตูดิโอก็หัวเราะกันยกใหญ่
ดูสิ ไม่ใช่แค่หมดความขลังนะ แต่กลายเป็นคำตลกไปอีกต่างหาก
ที่ไปไกลกว่านั้นคือ คำหยาบถูกคนในยุคนี้นำมาใช้แทนความหมายอื่นไปซะอย่างนั้น เช่น คำว่าอีด_กก็ถูกสาวแท้สาวเทียมหลายคนเอามาใช้เป็นคำทักทายเพื่อน ส่วนคำหยาบอีกหลายคำก็ถูกนำไปใช้เป็นคำขยายหรือเน้นความหมายของประโยคให้หนักแน่นยิ่งขึ้น
“อีด_ก เป็นไงบ้างวะมึง”
“เ_ย โคตรน่ารักเลย”
“แม่งวิ่งเร็ว_ดๆ อะ”
ลองนึกถึงเพื่อนสักคนที่ติดพูดคำหยาบจนเป็นนิสัยสิ มองในแง่ดีคือเราจะรู้สีกว่าคำหยาบที่ออกมาจากปากเพื่อนคนนี้มันช่างฟังดูธรรมดา แต่ถ้ามองอีกแง่ เวลาคนแบบนี้อยากจะออกปากด่าใครขึ้นมาจริงๆ จะน่าเห็นใจมาก เพราะด้วยความที่ใช้คำหยาบบ่อยจนเหมือนเป็นคำธรรมดา เวลาจะด่าใครเลยต้องสรรหาคำด่าให้มันแปลกใหม่อยู่เสมอ ไม่อย่างเดี๋ยวคนฟังจะไม่เจ็บ
อีเส้นเลือดในสมองแตก อีข้อศอกหมา ไอ้หน้ากระเพาะแพะ…
ถามจริง ลำบากมั้ยเนี่ย!
แบบนี้แหละสาแก่ใจคนดูนัก
เผลอๆ อาจติดเทรนด์ทวิตเตอร์เลยก็ได้
แต่จะพูดก็พูดเถอะ สำหรับคนที่มี ‘สมบัติผู้ดี’ แล้ว การด่าโดยไม่ต้องใช้คำหยาบสักคำ อาจทำให้คนฟังเจ็บปวดรวดร้าวยิ่งกว่าก็ได้ เพราะลำพังสีหน้า แววตา และน้ำเสียงอันแสนจะธรรมดาแต่ดูราวกับจะเหยียดอีกฝ่ายให้จมดินนั้น มันสุดที่เหล่าคนหยาบจะเลียนแบบได้จริงๆ
“พูดแบบนี้คงเข้าใจนะ อย่าให้ต้องสอนเยอะ”
เพราะงั้นทริกของการใช้คำหยาบจึงไม่ใช่การพูดพล่อยไปเรื่อย แต่เป็นการพูดคำเดียวแล้วเจ็บช้ำถึงทรวงเลยต่างหาก
เหมือนนักมวยที่คอยจ้องจับจังหวะคู่ต่อสู้แล้วสวนหมัดเดียวน็อกนั่นแหละ
ผมยอมรับนะว่าการฝึกตัวเองให้ทำแบบนั้นได้มันยาก เพราะบางครั้งการได้สบถคำหยาบออกมาบ้างมันก็ทำให้เรารู้สึกดีเหมือนกัน เหมือนได้ระบายความอัดอั้นตันใจบางอย่าง แต่ถ้าคุณไม่รู้จักควบคุมตัวเอง คุณก็อาจจะกลายเป็นแค่คนปากพล่อยในสายตาคนอื่น เราจึงต้องเรียนรู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนไม่ควร
หรือถ้าอดใจไม่ได้จริงๆ คุณอาจจะเลี่ยงมาใช้คำที่มันฟังน่ารักขึ้นก็ได้ อย่าง ห่านจิก สัส อีดวก ฯลฯ
รอให้เวลา สถานที่ และอารมณ์มันใช่ก่อน ถึงตอนนั้นแค่ “เ_ย” คำเดียวก็เอาอยู่
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเอียนกับคำหยาบในบทความนี้จนบ่นว่าเมื่อไหร่จะจบ
โอเคๆ ไปก็ได้
ดวก!