ทบทวนเหตุการณ์กราดยิง ครั้งแรกของประเทศไทย จากมุมมองของหน่วยกู้ภัยในโคราช
คดีสะเทือนขวัญคนไทยล่าสุดในรอบเดือนที่ผ่านมาคงไม่มีอะไรเกินไปกว่าคดีจ่าคลั่งกราดยิงที่โคราช ซึ่งระหว่างที่เหตุการณ์เป็นข่าวใหญ่ทั่วประเทศ คงได้เห็นกันว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องต่างก็ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งแทบทุกข่าวที่ออกสู่สายตาประชาชนนั้นเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ ทหาร และผู้เสียหาย แต่ไม่มีใครเลยที่พูดถึง ‘หน่วยกู้ภัย’ ที่วิ่งเข้าไปถึงพื้นที่เป็นคนแรกๆ และทำหน้าที่เสี่ยงตายไม่น้อยไปกว่าใคร

ด้วยความสงสัย ผมจึงติดต่อเข้าไปที่มูลนิธิสว่างเมตาธรรมสถาน จังหวัดนครราชสีมา หรือ ‘กู้ภัยสว่าง’ ของชาวโคราช เจ้าของพื้นที่ที่รับผิดชอบ ณ จุดเกิดเหตุ เพราะอยากพูดคุยถึงประเด็นต่างๆที่เกิดขึ้น จากมุมมองของผู้ปฏิบัติหน้าที่จริงๆ บ่ายวันนั้น พี่ๆอนุญาตให้ผมเข้าไปหาที่ทำการของมูลนิธิ และเปิดโอกาสให้เราได้ถามในเรื่องที่อยากรู้

หลังจากเหตุการณ์สงบลงได้เกือบหนึ่งอาทิตย์ คุณนพพร สมจิตร คือเจ้าหน้าที่กู้ภัยของมูลนิธิฯคนแรกที่ผมได้คุยด้วย คุณลุงบอกว่าถ้าจะให้พูดถึงเหตุการณ์ในวันนั้น คงต้องย้อนกลับไปช่วงก่อนสี่โมงเย็น ของวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นเวลาที่เขานั่งทำงานกันอยู่ในห้องวิทยุที่นี่ และได้ยินข่าวนี้มาตั้งแต่ได้ตัวคนร้ายเพิ่งก่อเหตุแรกๆ มีการต่อสู้ รวมทั้งปล้นอาวุธ ก่อนจะได้รับรายงานมาเรื่อยๆว่าคนร้ายหลบหนีไปทางไหน แต่งกายอย่างไร จนกระทั่งหนีมาที่วัดป่า ก่อนจะยิงปะทะกันทำให้ประชาชนถูกลูกหลงได้รับบาดเจ็บ เมื่อได้ยินดังนั้นเขาจึงส่งสัญญาณให้รถพยาบาลวิ่งออกไปยังที่เกิดเหตุเพื่อรับคนเจ็บทันที

16:00.

‘พี่กอล์ฟ’ จักรพันธ์ หมู่โยธา คือเจ้าหน้าที่คนที่สองที่รับช่วงเล่าเหตุการณ์ต่อจากคุณนพพร

เขาบอกว่าเขาตรงไปที่บริเวณหลังวัดป่าศรัทธารวมทันทีที่ได้รับแจ้ง ในขณะนั้นยังได้ยินเสียงปืนดังอยู่เรื่อยๆ เมื่อพบคนเจ็บซึ่งเป็นเพศหญิง และถูกยิงที่สะโพกไปส่งที่โรงพยาบาล ในขณะกำลังจะกลับมาที่จุดเกิดเหตุ กลับได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีคนถูกยิงที่ห้างเทอมินอล21 เมื่อไปถึงก็พบคนเจ็บสี่คน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือคนที่ปรากฏอยู่ในคลิปวิดีโอที่ต่อมากลายเป็นไวรัลบนโลกอินเตอร์เน็ตพร้อมกับหน้าของเขาที่อยู่ในนั้นด้วย

“ผมไม่เคยเห็นคลิปนี้ เพิ่งมาเห็นวันนี้นี่แหละ” พี่กอล์ฟมีสีหน้าแปลกใจเมื่อเราให้ดูคลิปดังกล่าว

“เราจอดรถบนถนนทางขึ้นห้าง ใจหนึ่งก็กลัวอยู่ แต่จุดหมายคือต้องช่วยคนออกมาให้เร็วที่สุด คนแรกคือคนที่อยู่ทางขึ้นห้างที่ปั๊มหัวใจ ส่งต่อให้ลูกน้องดูแล้วก็วิ่งเข้าไปช่วยน้องคนทีขับบิ๊กไบค์ต่อ ผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนถ่ายคลิป นี่ก็เพิ่งเห็นวันนี้นี่แหละ แต่ที่แน่ๆคือต้องรู้จักเรา เพราะว่าเค้าเป็นคนเรียกชื่อให้หมอบลงตอนได้ยินเสียงปืน ตอนนั้นผมเจอสารวัตรทหารที่เคยเป็นครูฝึกตอนผมเป็นทหารเกณฑ์พอดี เขาจำเราไม่ได้หรอก แต่ก็ยืนหลบหลังป้ายแล้วช่วยคุ้มกันให้ พอกำลังจะออกรถไปส่งโรงพยาบาลก็มีชาวบ้านช่วยกันพยุงคุณป้าที่ถูกยิงช่วงสะโพกมาส่งเพิ่มอีกราย สรุปชุดนั้นช่วยได้ประมาณสามคน”

“น้องกู้ภัยอีกคนมาเล่าให้ฟังตอนหลังว่าตอนที่ช่วยก็มีเสียงปืนดังตลอดเวลา โดยที่ไม่สามารถเข้าพื้นที่ลึกๆได้ พอนำคนเจ็บขึ้นเบาะปุ๊บ เสียงปืนก็ดังใกล้ขึ้นเรื่อยๆ ต้องวิ่งหนีลูกกระสุนกันหัวซุกหัวซุน โชคดีที่ถูกอบรมมาว่าถ้าเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ให้เคลื่อนย้ายคนออกมาให้เร็วที่สุด ก็คงเป็นเพราะโชคดีด้วย ถ้าอยู่ตรงนั้นนานกว่านี้อีกแค่นิดเดียวก็โดนยิงไปแล้ว”

ราว 16:00 .

พี่แป๊บเจษฏา กล้ากลาง เจ้าหน้าที่กู้ภัยประจำมูลนิธิสว่างฯ บอกว่าเขาประจำอยู่ที่จุดจอดบริเวณป่าช้าจีนอยู่แล้ว เมื่อได้รับแจ้งจากคุณนพพรว่ามีเหตุยิงกันแถววัดป่าศรัทธารวมที่อยู่ห่างกันไม่เกินหนึ่งกิโลเมตรก็รีบวิ่งไปทางนั้นทันที โดยตีรถคู่ไปกับคันของพี่กอล์ฟ

“ตอนแรกผมเจอตำรวจสองนายโดนยิงที่ขาก็เลยรีบนำไปส่งโรงพยาบาล พอกลับมารอบสองผมเจอพี่ตำรวจอีกนายที่น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่สายตรวจมาจอดรถคุยที่ตรงทางแยก แกบอกว่าเดี๋ยวแกอ้อมไปเข้ารับคนเจ็บที่เหลือให้ ปรากฏว่ายังไม่ทันจะถอดเข็มขัดลงจากรถก็โดนยิงที่หัวก่อน ลูกน้องเปิดประตูวิ่งหนีก็โดนตามอีกคน

“ผมว่ามันน่ากลัวครับ ปกติเราก็เคยได้ยินว่ามีคนใช้ปืน .38 หรือ .22 กันมาบ้าง แต่นี่มันเป็นอาวุธสงครามอย่าง M60  ถามว่ากลัวไหมก็กลัว อันตรายมั้ยก็อันตราย เราก็ไม่รู้ว่าข้างหน้ามีอะไรรอเราอยู่ แต่ใจมันไปช่วยเค้าแล้ว หลังจากนั้นผมไปที่หน้าเทอมินัลเป็นคันที่สาม โดยที่ไม่รู้ว่าคนร้ายกำลังยิงอยู่และมีอาวุธอะไรมาบ้าง ตอนนั้นกอล์ฟอยู่ตรงนี้ก่อนแล้ว พอเราไปถึงหน้างานก็ต้องรีบช่วยคนเจ็บ อยู่ดีๆก็มีคนตะโกนว่ามันออกมาแล้วพร้อมกับเสียงปืน ผมต้องรีบปล่อยคนเจ็บแล้วมาหาที่ซุกฝั่งตรงข้าม พร้อมๆกับเสียงเป๊งงง… ที่น่าจะเป็นลูกปืนกระทบเหล็ก โชคดีที่ไม่มีเจ้าหน้าที่กู้ภัยคนไหนได้รับบาดเจ็บ แล้วรอจังหวะดีๆค่อยพุ่งตัวไปช่วยคนใหม่อีกครั้ง

“หลังจากคนร้ายเข้าไปในห้าง สถานการณ์ด้านนอกก็ตึงเครียดมาก ใจมันหวิวเพราะทั้งเมืองตกอยู่ในความเงียบ ภายในรัศมีทั้งสองกิโลที่แทบไม่มีรถวิ่ง เงียบจนขนาดผมอยู่ห่างออกมายังได้ยินเสียงอาวุธยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่เป็นระยะ ตัวผมเองนั่งรอสแตนด์บายอยู่หน้ารถทั้งคืน เราไปไหนไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก บางครั้งก็เผลอหลับไปไม่เกินห้านาที แล้วก็ตื่น สลับกันอยู่อย่างนี้ รอฟังว่าจะมีใครรายงานอะไรมาบ้าง ต้องเตรียมพร้อมเอาไว้ตลอดเวลา”

09:00 . วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563

“ผมอยู่ตั้งแต่สี่โมงตั้งแต่เริ่มจนถึงห้าโมงหกโมงเย็นของอีกวันหนึ่ง ระหว่างที่เกิดเหตุ มีคนหลบหนีออกมาได้บ้าง ส่วนใหญ่ก็ตกใจ หวาดกลัว สติหลุด เอะอะโวยวาย ก็นำส่งโรงพยาบาล มีหกล้มบ้าง เป็นลมก็เยอะ”

คุณทศพล ศรีเปรื่อง เจ้าหน้าที่กู้ภัยฯอีกท่านหนึ่งบอกกับผมว่าเรื่องทั้งหมดจบลงหลังเสียงกระสุนปะทะกันชุดใหญ่ตอนช่วงเช้าของวันอาทิตย์

“เจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้าเหตุการณ์ประกาศว่าเคลียร์ได้ตอนประมาณเก้าโมง ซึ่งผมออกมาติดต่อที่นิติเวชพอดี หลังจากนั้นทางการก็ส่งหน่วย EOD เข้าไปดูระเบิด กว่าจะได้กลับไปก็ช่วยก็ประมาณบ่ายโมง ซึ่งเค้าเคลียร์พื้นที่กันได้เรียบร้อย ผมเป็นเจ้าหน้าที่ชุดที่สองที่เข้ามาช่วยเคลียร์ชั้นล่างสุด โดยทำหน้าที่ชันสูตรร่วมกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เราก็ทยอยยกศพผู้เสียชีวิตออกมาวางไว้ตรงจุดรวบรวมเพื่อรอลำเลียงออกไปพร้อมกัน ตอนเดินเข้าไปก็เห็นศพคนร้ายอยู่ตรงนั้น รับส่งต่อ เสร็จแล้วก็ตำรวจสั่งให้ออกไปเป็นขบวน และเช็คประวัติของผู้เสียชีวิตแต่ละคนต่อที่โรงพยาบาล เข้าไปนี่ยอมรับเลยว่ากลัวจะมีคนรู้จักอยู่ในนั้น เป็นความเศร้าที่สุดท้ายแล้วเราก็ต้องผ่านมันไปให้ได้  

“โคราชปกติเป็นเมืองสงบ ไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้ มากสุดก็แค่รถทัวร์ลงข้างทาง เชื่อไหมว่าขนาดเหตุการณ์ผ่านมาแล้ว แต่ลึกๆ ผมก็ยังมีความกลัวว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอยอีก ทุกครั้งที่ผมผ่านห้างหลังเลิกงาน มันจะรู้สึกว่ามันหวิวๆ มีภาพติดหน้าติดตาอยู่ เป็นความรู้สึกสลดใจที่อธิบายออกมาไม่ถูกเหมือนกัน”

….

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้มาฟังใครซักคนพูดถึงเรื่องราวโศกนาฏกรรมที่เจอมาด้วยตัวเองแบบนี้ จัดเป็นช่วงเวลาหลายชั่วโมงที่ผมได้ค่อยๆซึมซับเรื่องราวและความรู้สึกของการเป็นหน่วยกู้ภัยที่โคราชผ่านเหตุการณ์สะเทือนขวัญระดับชาติ ด้วยสายตาและมุมมองของคนที่อยู่ในเหตุการณ์จริงๆ

คดีนี้อาจจะเป็นคดีที่ทำให้ผมสนใจหน่วยกู้ภัยแห่งนี้ แต่เมื่อได้ลงมาสัมผัสกับสถานที่และบุคคลจริง ผมคิดว่าคดีนี้คงเป็นแค่สะพานที่ทำให้ผมหันมามองชีวิตของคนกู้ภัยมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อถามว่าหน้าที่ที่แท้จริงของหน่วยกู้ภัยในประเทศนี้คืออะไร เพราะคำตอบที่ได้รับจากพี่และน้องในกลุ่มกู้ภัยสว่างฯก็ทำให้ผมนิ่งไปพักใหญ่

“หน้าที่ของพวกผมก็ง่ายๆ ตรงตัว นั่นคือที่ไหนมีภัยที่นั่นก็มีกู้ภัย ตั้งแต่ตัวเงินตัวทองเข้าบ้าน รถเสีย น้ำท่วม จับงู รถน้ำมันหมด ยางแตก เจออุบัติเหตุ คนป่วย เพลิงไหม้ ผัวเมียตีกัน ซึ่งถึงบางคนดูถูกว่าเป็นกุ๊ย จอดรถนอนข้างถนน แต่กุ๊ยคนนี้แหละที่คอยดูแลความปลอดภัยให้เขา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราชอบและภูมิใจ ใครจะว่ายังไงก็แล้วแต่”

เมื่อถามว่าทำไมถึงมาสมัครเป็นหน่วยกู้ภัย? ทั้งที่เงินเดือนก็ไม่ได้มาก แถมยังต้องเสี่ยงภัยในหน้าที่โดยที่ไม่มีหลักประกันใดๆในชีวิตอีกด้วยซ้ำ

เจ้าหน้าที่หลายคนที่ผมได้เข้าไปคุยในวันนั้นต่างก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่นี้ แม้ว่าจะได้เงินน้อย เพราะมันเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์และกำไร เงินทุกบาททุกสตางค์มาจากการบริจาคของประชาชน”

ผมหันไปมองห้องทำงานเล็กๆที่ไม่ได้ใหญ่โต หันไปดูรถและอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใหม่ มอเตอร์ไซค์คันเก่าที่เป็นของใช้ส่วนตัว แล้วไม่รู้ว่าคนอื่นจะว่ายังไง แต่ผมคิดว่าบางประโยคมันโกหกกันไม่ได้ หรือถ้าทำได้ ระยะเวลาหลายสิบปีที่พี่ๆบางคนทำงานแบบ ‘ปิดทองหลังพระ’ มาอย่างต่อเนื่องก็คงเป็นข้อพิสูจน์ได้ดีว่าที่นี่ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าใจคน

ข้อสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้รับรู้มาคือคนพวกนี้ไม่ใช่ทหาร ไม่ใช่ตำรวจ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐที่จำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะหน้าที่ แต่เป็นความสมัครใจที่พวกเขาอยากจะเข้าไปช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนจริงๆ ด้วยความสามารถทั้งหมดที่มี นั่นทำให้ผมยิ่งนับถือพวกพี่ๆกู้ภัยทั่วประเทศที่ทำหน้าที่เดียวกันนี้อยู่มากขึ้นไปอีก เพราะเชื่อว่าหากไม่รักจริงก็คงยากที่จะยอมมาทำงานในตำแหน่งนี้แน่ๆ

ในวันนั้นผมลาพี่ๆกลับบ้านด้วยความรู้สึกที่หลากหลาย ผมคิดว่าถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจแบบพี่ๆพวกนี้ก็คงจะดี

เพราะหากเป็นอย่างนั้น ประเทศนี้ก็คงจะ ‘สว่าง’ และ ‘วัฒนา’ ไม่แพ้ชื่อของมูลนิธิแห่งนี้เลย

Loading next article...