เขาเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ว่ารุกข์เป็นลูกครึ่งไทย–ฟิลิปปินส์ เรียนจบด้านมัลติมีเดียจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และไปต่อปริญญาโทที่เบอร์มิงแฮม สกูล ออฟ อาร์ต (Birmingham school of art) ที่ประเทศอังกฤษ พอเรียนจบมาแล้วก็ไปทำโฆษณาในบริษัทใหญ่อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะลาออกมาเป็นศิลปิน และกลับไปทำงานโฆษณาใหม่ควบคู่ไปกับการทำงานศิลปะ
ความน่าสนใจอยู่ที่ศิลปินส่วนใหญ่มักจะเลือกไปทำตามความฝันแบบไม่ดังก็ไม่เลิก แต่รุกข์กลับแตกต่างออกไปชนิดคนละขั้ว ฟังแค่นี้ก็อยากจะไปถามว่ามีวิธีคิดยังไง?
โชคดีที่รุกข์เองก็อยากคุยกับผมเหมือนกัน
รุกข์ทักทายสั้น ๆ ก่อนพาผมเดินลัดไปในสวนจนถึงสตูดิโอเล็ก ๆ หลังบ้านที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางต้นไม้มากมาย ข้างในเต็มไปด้วยงานศิลปะทั้งเก่าแหละใหม่ บางทีที่นี่ก็คงเหมือนกับชิ้นงานของเขาที่อยู่ลึกและไกล รอวันให้คนที่ใช่เดินทางมาพบ แต่ในขณะเดียวกัน คุณภาพของมันก็ไม่ได้ลดน้อยลงแต่อย่างใด
“ผมชอบทำงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก โตมาก็อยากเรียนไฟน์อาร์ตที่เมืองนอก แต่แม่บอกให้ลองของที่นี่ จบแล้วเลยตามใจตัวเองด้วยการไปอังกฤษ จับพลัดจับผลูไปแสดงงานที่นั่นครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นดันหางานต่อไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจกลับ”
รุกข์เป็นฝ่ายเริ่มเล่าก่อน เหมือนกับว่าเขารู้ว่าผมจะถามอะไร ซึ่งก็ไม่ปฏิเสธว่ามันคือสิ่งที่ผมกำลังจะพูด แต่ผมก็เชื่อว่านั่นคือสิ่งที่รุกข์อยากจะเล่า
“ใจอยากจะทำด้านไฟน์อาร์ตไปเรื่อย ๆ แต่ตอนนั้นเด็กมาก ผมหางานไม่ได้ แค่จะแสดงงานอะไรมันก็ยาก มีงานอยู่แค่สองชิ้น ก็ส่งอีเมลล์ไปตามแกลเลอรี่ เมื่อไม่มีใครตอบกลับก็ต้องกลับบ้าน มาถึงก็ทำเหมือนเดิม ส่งอีเมล์ไปตามแกลเลอรี่ ซึ่งมีแกลเลอรี่หนึ่งสนใจ สุดท้ายพอจัดแสดงแล้วขายไม่ได้
‘อาร์ตไดเร็คเตอร์’ คือตำแหน่งใหม่ที่ได้รับหลังจากฝึกงานอยู่หนึ่งเดือนเต็ม เขาบอกว่าระยะเวลาสั้น ๆ นั้นเป็นระยะเวลาที่ต้องดิ้นรน อดทน เรียนรู้ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาไว้ให้เร็วที่สุด เพราะเข้าไปแบบไม่มีพื้นฐานใด ๆ ทั้งสิ้น
“เรารู้สึกหดหู่มากกับการทำโฆษณา เกลียดคนโฆษณามากเลย ขี้เก๊ก ขายของ ตอนนั้นไม่เข้าใจไง เวลาไปเจอลูกค้าแล้วไม่ซื้องานคือเกลียดมาก เกลียดเหี้ย ๆ ไปเจอแล้วไม่ซื้องาน คือทำเพื่อรองรับใครบางคน ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเลย มันดื้ออะ กูอยากทำศิลปะ อยากพูด ทำอะไรก็ได้ที่มีความหมายมากกว่านี้ รู้สึกว่ายังไม่ได้เป็นศิลปินเต็มที่ตามที่ฝันเลยซักครั้ง เมื่อไหร่จะได้กลับออกไปซักที”
“คือมันเจ๋งมากสำหรับศิลปิน ดีลของเค้าคือ เค้าเลือกเรามา เค้าจ่ายทุกอย่าง แล้วเค้าจะเลือกเก็บงานของเราไว้ชิ้นนึง เสร็จจากนี้จะช่วยเราหาที่แสดง แต่ถ้าขายได้ เค้าก็ไปแบ่งกับแกลเลอรี่อีกที ซึ่งขั้นต่ำส่วนใหญ่ต้องอยู่อย่างน้อยสามเดือน ถ้าเราจะไป เราก็ต้องออกจากงานก็เลยต้องไปคุยกับที่บ้าน ซึ่งเป็นด่านสำคัญ แต่ไม่มีใครสนับสนุน ถามว่าพอใจมั้ย ไม่พอใจหรอก แต่เอาเข้าจริง ๆ เค้าก็พร้อมจะซัพพอร์ตเราแหละ เพราะอยากให้เราทำในสิ่งที่อยากทำ แต่ก็อยากให้มีเงินใช้ด้วย
ความฝันของรุกข์คือการได้ออกแสดงงานไปทั่วโลก มีงานโชว์อยู่ในมิวเซียม ซึ่งระยะเวลาห้าปีที่ได้ทดลองใช้ชีวิตในเส้นทางที่ฝันก็ยังไม่พอสำหรับการเดินทางไปถึงตรงนั้น ยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และในด้านรายได้ก็ล้มเหลว เพราะไม่สามารถทำให้แม้แต่คนในครอบครัวเชื่อได้ว่าเขาจะดูแลตัวเองได้ ถ้าหากยังทำตัวต่อไปแบบนี้
ผมว่าคนที่เลือกเดินทางตามฝันมาแล้วยังไม่สำเร็จ แทบทั้งหมดต้องอยากลองที่จะสู้ต่อไปจนสุดทาง บางคนก็รอให้ต้องไปถึงจุดตกต่ำที่สุดของชีวิตซะก่อน แต่รุกข์เป็นข้อยกเว้น เพราะเมื่อเพื่อนชวนให้กลับไปเป็นฟรีแลนซ์ทำงานโฆษณา เขาไม่ลังเลที่จะกระโดดเข้าไปทำงานที่ครั้งหนึ่งเคยเบื่อหน่าย
“พูดกันตรง ๆ เรากลับไปทำเพราะเงิน เพราะห้าปีที่ผ่านมาคือจนมาก แสดงงานปีละครั้งสองครั้ง แล้วพอขายงานได้ กว่าแกลเลอรี่จะจ่ายเงินก็ใช้เวลาหลายเดือน หักอีกครึ่งนึง เงินมันหมุนไม่ทัน มันไม่มีทางที่จะใช้ชีวิตธรรมดา ๆ ได้เลย ตั้งแต่เรากลับมาทำโฆษณารอบที่สอง เราไม่ได้ไปงานเปิดตัวโชว์ศิลปะอีกเลยเกือบสองปี
“พอกลับมาทำแล้วเข้าใจมากขึ้น เรากลับรู้สึกว่าโฆษณากับไฟน์อาร์ตมันตอบสนองกัน ตอนนี้ก็เลยมี Mindset ใหม่ที่เรามีงานประจำก็ทำเลี้ยงชีวิต แล้วเราก็จะทำศิลปะเพื่อตัวเองเท่านั้น แล้วถ้ามันไม่มีที่แสดงก็ไม่เป็นไร จะไม่ทำเพื่อวงการหรือเอาใจใครอีกแล้ว กลับไปเหมือนตอนเด็ก ๆ ที่ไม่ได้คิดว่าจะต้องยิ่งใหญ่ ทุกอย่างที่เราเจอมาทำให้เราเปลี่ยน แต่ก็ยังรักการทำงานศิลปะ แต่ไม่ได้ชอบ Process ของการเป็นศิลปินเท่านั้นเอง
“โห…งั้นก็ดีมากดิ แบบนี้ที่บ้านก็สบายใจสิครับ แล้วกับที่บ้านนี่ยังไงต่อ” ผมถาม
รุกข์ไม่ได้ตอบในทันที แต่ชะงักไปพักใหญ่ ก่อนจะคิดแล้วตอบ
“ตอนเด็ก ๆ มันดื้อ ไม่ต้องเป็นพนักงานประจำดิวะ มันต้องเป็นศิลปิน คิดว่าเงินไม่สำคัญ พ่อก็จะบอกว่าเงินสำคัญมาก แต่ไม่เคยเชื่อ ตอนเด็กก็จะบอกว่าแค่ได้เป็นศิลปินก็โอเคเว้ย แต่ความเป็นจริงมันต้องมีเงิน การเป็นศิลปินก็ต้องมีเงินเข้ามาตลอดเวลา เราจะทำยังไงให้เงินเข้าโดยที่เป็นศิลปินไปด้วย พอแก่ขึ้นก็คิดว่ามีวิธีแหละ อาจจะไม่ใช่ภาพที่วาดไว้ตอนเด็ก อาจจะไม่ได้เงินเป็นล้าน แต่ก็มีวิธี อย่างตอนนี้มันก็ดี ทำงาน ได้เงิน ได้โอกาส ไปแสดงงาน แต่ก็ต้องยอมรับความจริงก่อนว่ามันต้องทำยังงี้ ไม่งั้นมันก็อยู่ไม่ได้”
“ตอนนี้ที่บ้านโอเค แฮปปี้มาก เราว่าเค้ารู้สึกแบบนี้เพราะเค้าเห็นเราบาลานซ์ชีวิตได้ น่าจะเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนเห็นว่าลูกคิดเป็น นั่นก็น่าจะโอเคแล้ว
“เมื่อก่อนคิดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นตลอดเวลา โดยเฉพาะคนรุ่นเดียวกับเราที่ดังแล้วได้เงินเยอะมาก เราเศร้าทุกครั้ง ทำไมไม่เป็นอย่างนั้นบ้างวะ แต่ตอนนี้รู้สึกว่าข้อดีของการเป็นศิลปิน คือมันแต่ละคนมีเวลาไม่เหมือนกัน การทำศิลปะหรือเป็นศิลปิน จะดังตอนไหนก็ได้ เด็ก แก่ ทุกคนมีเวลาของตัวเอง ก็เลยไม่เครียดเท่าเมื่อก่อน ไม่พยายามเปรียบเทียบว่าเราก็มีเวลาของเรา ขอแค่อย่างเดียวว่าทำมันต่อไปเรื่อย ๆ จะดังเมื่อไหร่ก็ช่างมัน จะตอนแก่ หรือหลังตายก็ได้ แต่สำคัญที่สุดคือได้ทำ