Rap against Dictatorship กับท่อนแร็พที่คนไม่ได้ยิน
‘นักร้อง’ ‘นักแต่งเพลง’ ‘คนทำเพลง’ ‘ศิลปิน’ คือนิยามที่คนอื่นมักใช้เรียกคุณอาร์ท Jacoboi

ตัวเขาเองบอกว่าจะเรียกอะไรก็ได้ เพราะเขาเป็นมาแล้วหลายอย่าง แต่จะให้เพิ่มเติมก็คือไม่ประสบความสำเร็จซักอย่าง

ชื่อของเขาได้รับความสนใจขึ้นมาในฐานะศิลปินกลุ่ม RAD (Rap Against Dictatorship) หรือจะอธิบายให้สั้นก็คือคนหนึ่งที่ทำเพลง ‘ประเทศกูมี’ ได้รับหน้าที่เป็นตัวแทนกลุ่มขึ้นไปรับรางวัล Václav Havel Prize for Creative Dissent และกล่าวสุนทรพจน์ในงาน Oslo Freedom Forum 2019 ที่จัดขึ้นโดย Human Right Foundation ที่ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่ารู้สึกดีที่ได้รับรางวัล แต่นั่นเป็นแค่ปลายทางเท่านั้น

“โชคดีที่เราทำเพลง ถ้ามันเป็นงานศิลปะอย่างอื่นก็ไม่น่าจะมาได้ขนาดนี้ เพราะคนไม่ได้เข้าใจได้ทันที พอเป็นเพลงที่เนื้อเพลงตรงไปตรงมามาก เนื้อหาตรงกับสิ่งที่คนคิดอยู่ ก็เลยกลายเป็นไวรัลได้ง่าย

“เราทำเพลงพวกนี้เพราะสนใจการเมือง คนที่มาร่วมกันร้องก็มีทิศทางการเมืองที่ตรงกัน เราไม่ได้มองเป้าหมายทางการเมือง แต่เชื่อว่าเพลงมันสามารถเข้าไปกระทบความรู้สึกคนได้บ้าง สำหรับเรา คนทำงานเพลงเราต้องการความดังอยู่แล้ว ทั้งในด้านธุรกิจและการส่งข้อความ เราทำเพลงเพราะอยากให้คนได้ยิน รู้สึกดีขึ้นว่ากูมีเพื่อนว่ะ แล้วบางคนที่ไม่เคยคิดเรื่องนี้อาจจะตระหนักขึ้นก็ได้ เพลงเป็นอาวุธในแง่ที่เป็นสิ่งที่ย่อยง่าย สามสี่นาที รวบรัด มีท่วงทำนอง มันเป็นอาวุธได้ในแง่นี้ เพราะผมไม่คิดว่าทุกคนจะมีเวลาขยันมานั่งอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ ตอนแรกเราคิดว่าเพลงน่าจะดังในระดับ underground ได้ซักล้านวิวก็พอ

“เราว่าด้วยความที่เพลงประเทศกูมีเนื้อหามันตร๊งตรง ไม่ต้องตีความอะไร เวลาเจอคนที่บอกว่าเพลงนี้พูดแทนเค้า พูดตรงใจ ดีใจที่เราพูดเรื่องนี้แทนจะรู้สึกว่าโห…. นี่ประเทศโครตปิดอ่ะ คนรู้สึกเพราะเป็นประเทศที่ถูกสั่งห้ามในการพูดเรื่องง่ายๆแบบนี้ ซึ่งเราไม่รู้ตัวมาก่อนเพราะพูดกับเพื่อนอยู่ทุกวัน เพื่อนทุกคนปากไม่ดีอยู่แล้ว เป็นคนประเภทเดียวกัน เรามารู้ตอนเพลงมันออกไปแล้วว่าคนฮือฮากัน_หาย แต่ในกรณีของนานาชาติ เค้าน่าจะมองจากอิมแพ็คของมัน ถ้าเพลงนี้ไม่ได้ออกมาในบริบทนี้เค้าก็อาจจะไม่ได้สนใจก็ได้”

คุณอาร์ทบอกว่าเรื่องบางเรื่องเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าพูดถึงไม่ได้มาโดยตลอด เพราะมีพื้นฐานจากความสงสัย เมื่อสงสัยแล้วไม่ได้คำตอบ ต้องอยู่ตรงนั้น การต่อต้านเลยตามมา เขาตอบไม่ได้ว่าคนที่มองแบบนั้นคือเสียงส่วนใหญ่หรือส่วนน้อย แต่บอกได้แค่ว่ายังมี ‘คนจำนวนมาก’ ที่ไม่พอใจและไม่ยอมถูกกดขี่ทางความคิด เขาเชื่อว่ามันน่าจะขยายตัว โดยสถานการณ์ทางการเมืองจะค่อยๆลากให้คนพวกนี้ออกมาปรากฏตัวให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลนิรนาม หรือคนที่มีตัวตนในสังคม ซึ่งเราไม่มีทางคาดเดาได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปนี้

“จริงๆแล้วเราเป็นคนไม่ค่อยให้น้ำหนักกับคำจำกัดความอะไรมากมายนัก เราคุยด้วยเหตุผลดีกว่า เพราะถ้าเราหมกมุ่นอยู่ตรงนั้น เราปวดหัว คุณอยู่ตรงไหน หรือคุณเป็นอะไรก็ช่าง จริงๆก็คนเหมือนกัน แต่ถือหลักการคนละแบบ ไม่งั้นก็กลายเป็นคนหลักลอย อะไรก็ได้น่ะ เราว่าทุกคนแม่งอนุรักษ์นิยมหมด เรากอดรัดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ เราไม่ได้มองว่าแย่นะ เรามองว่าเป็นเรื่องจำเป็นด้วยซ้ำ คือกอดรัดหลักการบางอย่างไว้อย่างเต็มที่”

นอกจากการให้คำจำกัดความแล้ว ประเด็นที่ค่อนข้างเป็นนามธรรมอย่าง ‘เสรีภาพ’ ก็เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่เริ่มกันหนาหู แต่มันก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เราไม่ได้ยินใครออกมาพูดเรื่องนี้กันอย่างจริงๆจังๆซักที

“ถ้าถามว่าบ้านเรามีสิทธิเสรีภาพมั้ย ตอบเท่ๆก็ต้องบอกว่าไม่มีเลย เพราะคนแสดงความคิดเห็นก็ต้องปกปิด แต่เอาเข้าจริงมันก็ทำได้นะ บ้านเราก็จะมีเกรียนในอินเตอร์เน็ตเต็มไปหมด เราไม่รู้ว่าเป็นใครบ้าง ลองให้คนในทวิตเตอร์เปิดเผยตัวสิ แต่มันก็ไม่กล้าบอกว่าตัวจริงเป็นใครเหมือนกันอ่ะ อย่างนี้เรียกว่ามีเสรีภาพมั้ยล่ะ ? ผมเลยรู้สึกว่าบ้านเราเป็นประเทศครึ่งๆกลางๆ ตอบไม่ได้ว่าเสรีภาพหรือไม่ใช่ แต่โดยส่วนตัวก็เห็นว่าบ้านเราไม่ได้มีเสรีภาพขนาดนั้นอยู่แล้ว เมืองไทยเป็นประเทศที่ไม่มีหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ มันเป็นอิสรภาพที่ขึ้นอยู่กับกระแสสังคม ณ ขณะนั้นมากกว่า ถ้าเราคิดถึงความพิเศษตรงนี้ เราจะเข้าใจว่ามันจะเป็นได้แบบไหน ในทางปฏิบัติก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกทั้งหมด แต่ยังไม่ถึงขั้นจีน เพราะที่นั่นปิดทุกอย่าง

“บ้านเราเป็นโลกที่ไม่.. ไม่ใช่แค่ในสถาบันนะ โรงเรียนหรืออะไรก็ตามแต่ ครอบครัวด้วย เราเป็นสังคมที่ไม่ชอบพูดความจริงแบบง่ายๆ เราต้องหาเรื่องอะไรอ้อมๆ จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็เรื่องของมึง ซึ่งพอฟังแล้ว.. อิหยังวะ? สมัยก่อนมันอิสระกว่าในเชิงบรรยากาศเพราะยังไม่มีประเด็นที่ล่อแหลมขึ้นมาในสังคม เรื่องที่ไม่ให้พูดอยู่ในกล่อง การเมืองก็อยู่ในสภา เราก็ด่ากันวนๆ คนที่ต่อสู้กับประเด็นภายนอกก็อยู่แค่นี้ ทุกวันนี้เสรีภาพเนี่ยเท่าเดิม แต่กล่องมันใหญ่ขึ้น สิ่งที่เคยถูกห้ามอยู่แล้วแต่ไม่มีใครสนใจ มันโผล่ออกมา แต่ก่อนมึงไม่ได้สนใจเรื่องนั้นไง ถ้าเกิดเรื่องก็มีเส้นประเด็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“สำหรับเราถ้าพูดเฉพาะประเด็นการเมือง คุณทำให้ผู้มีอำนาจสะดุ้งได้แค่ไหน ถ้าสะดุ้งมากก็มีปัญหาไง มันไม่มีหลักการพื้นฐานที่แน่ชัด เค้าต้องประเมินว่ามันคุ้มมั้ยที่จะออกมามีบทบาท เราว่าผู้มีอำนาจจำเป็นต้องอ่อนลงนะ ด้วยความที่เค้ารับบทใหม่เป็นนักการเมือง ไม่ใช่รัฐบาลทหารที่มีอำนาจเด็ดขาดแล้ว เพราะในที่สุดแล้วเค้าก็ต้องการความยอมรับจาก ประชาชนอยู่ดี คนที่เข้ามาปกครองลึกๆรู้ตัวแหละ ว่ากดไม่ได้ตลอดเวลา สุดท้ายก็ต้องปล่อย เราเชื่อว่าคนจะแสดงออกมากขึ้นเรื่อยๆ พูดในประเด็นที่แหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่รัฐบาลก็ยังอยู่เหมือนเดิม มันก็เลยฟูทั้งสองด้าน รัฐแข็งขึ้น ประชาชนแข็งขึ้น แต่จะไปจบแบบไหนเราบอกไม่ได้”

เมื่อถามต่อว่าสิ่งที่พูดถึงกันวันนี้แรงไปไหม คุณอาร์ทหัวเราะแล้วบอกว่า

“โลกนี้มันไม่มีสีเทาหรอก เราเชื่อว่ามันมีแต่สีดำ สีขาว ขึ้นอยู่กับว่ามันทับซ้อนหรือเป็นเฉดไหน เราไม่คิดว่าโลกนี้มีอะไรแรงไป นอกจากการฆ่าใครซักคน การแสดงออกที่เป็นการสื่อสารก็เหมือนกัน มันไม่มีอะไรแรงไป แต่ไม่ได้แปลว่าทุกอันโอเคนะ บางอันไร้เหตุผล งี่เง่า อยู่ที่คุณสนใจมันหรือเปล่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ถามว่าจะเอามือไปอุดปากคนที่พูดไร้สาระมั้ย เราว่ามันก็ไม่ใช่เรื่อง”

คุณอาร์ทย้ำกับเราหลายครั้งตลอดการพูดคุย “ไม่รู้ว่าพวกคุณได้งานมั้ย แต่ผมหวังว่าคนอ่านจะได้อะไรกลับไปบ้าง”

 

Loading next article...