“อาตมาไม่ได้ศรัทธาในปาฏิหาริย์”

“พระมหาไพรวัลย์ครับ — ทำไมศาสนาพุทธต้องยาก และคอยทำให้เรากลัวบาปกรรมอยู่เสมอ?​ ทั้งนรกสวรรค์ เวรกรรม ผมก็ไม่เคยเห็นจริงๆ นะครับ”

คำถามง่ายๆ ที่เรามีต่อ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ เมื่ออาทิตย์ก่อน ขณะที่วันนี้มีข่าวท่านจะได้ลาสิกขาสึกจากผ้าเหลืองในเร็วๆ นี้กลายเป็นชาวพุทธธรรมดาอย่างเราๆ ในชื่อเดิม ไพรวัลย์ วรรณบุตร

มาย้อนรอยไปกับเราที่ได้มีโอกาสไปสนทนาธรรมกับพระมหาไพรวัลย์ — ว่าทำไมคนรุ่นเราไม่ค่อยกลัวเวรกรรมจริงหรือ และมุมมองธรรมะของพระมหาไพรวัลย์กับกุศโลบายต่างๆ ว่าจริงๆแล้วคืออะไร

ภาพ: ไลลา ตาเฮ

ถึงจะเคยตามย่าไปฟังเทศน์ในวัดหรือตื่นแต่เช้ามาตักบาตรกับย่า ผมกลับโตมาเป็นคนที่นับถือศาสนาพุทธแค่ในบัตรประชาชน บวกกับการเรียนหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาในลักษณะที่เหมือนท่องจำและสอนเรื่องซ้ำ ๆ ทุกปีแต่วนอยู่กับเรื่องพุทธประวัติ วันสำคัญทางพุทธศาสนา ไปจนถึงบทลงโทษโหด ๆ หากตายไปแล้วตกนรก ทำให้มีคำถามอยู่ในหัวผมเต็มไปหมด

ด้วยความสงสัยพวกนี้มั้งที่ทำให้อยากเป็นคนสัมภาษณ์พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ แห่งวัดสร้อยทองด้วยตัวเอง ซึ่งขณะที่เขียนนี้ก็ตกใจเหมือนกันพอเห็นข่าวว่าท่านกำลังจะสึก

นี่เป็นครั้งแรกจริง ๆ ที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับพระแถมเป็นเรื่องที่จริงจังด้วย ผมเลยคิดซะว่าชวนท่านคุยในสิ่งที่เราสงสัยด้วยความสุภาพนอบน้อมที่สุดก็แล้วกันน่ะนะ

“มันต้องดูบริบทด้วยนะว่าคำสอนเรื่องนรกสวรรค์เนี่ย มันถือกำเนิดขึ้นตอนไหนและเกิดขึ้นได้ยังไง” พระมหาไพรวัลย์เริ่มบทสนทนาในช่วงบ่ายแก่ ๆ วันหนึ่งภายในเจดีย์วัดสร้อยทอง

“ศาสนามักเกี่ยวข้องกับโลกหลังความตายเลยเกิดความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ คนเชื่อในศาสนาเพราะศาสนาสามารถอธิบายในสิ่งที่เขาหาคำอธิบายไม่ได้ ฉะนั้นมันจึงมีคุณค่าต่อคนกลุ่มหนึ่งที่เขายังมองว่าชีวิตเขาไม่ได้จบไปพร้อมกับความตาย ชีวิตเขายังมีอะไรอยู่หลังจากผ่านความตายไปอีก

ส่วนเรื่องบทลงโทษเนี่ยถ้าพูดแบบให้เป็นธรรมกับศาสนาหน่อยก็คือในสมัยก่อน สิ่งที่ทำให้คนยุคนั้นเข้าใจง่ายที่สุดในเรื่องบาปบุญก็คือการทำโทษ ศาสนาพุทธเกิดมาในยุคที่ยังมีการกดขี่ ข่มเหง หรือใช้ความรุนแรงในการลงโทษลงทัณฑ์ วิธีการลงโทษในนรกมันก็ฉายภาพมาจากการลงโทษบนโลกมนุษย์นี่แหละ”

“ก็คือวิธีการทำโทษในนรกพวกนี้ล้วนยึดโยงกับการทำโทษสมัยนั้นเหรอครับ?”

“อย่างนั้นเลย การทำโทษยุคนั้นทารุณกว่าอีกด้วยซ้ำ ถ้าเราไปดูบริบทดี ๆ เราจะเห็นว่ามันมีความเชื่อมโยงกัน มันเป็นรูปแบบการทำโทษ การลงทัณฑ์ การทรมานในแบบที่ในสมัยนั้นเขาใช้กันเป็นปกติ

ไม่ต้องย้อนไปไกลหรอก อย่างกฏหมายตราสามดวงในไทยเนี่ย เราจะเห็นวิธีการลงโทษที่มันรุนแรงมาก ๆ เช่นจับโจรใส่ตะกร้อเอาไปให้ช้างเหยียบ เอาหลาวแทงหรือในจีนที่ลงโทษด้วยการเฉือนพันชิ้นอะไรแบบนี้

ศาสนาก็เลยถูกอธิบายแบบนั้นแหละ มันไม่ใช่แค่ว่าคุณทำผิดแล้วจะโดนลงโทษตอนยังมีชีวิต คุณตายไปแล้วคุณก็จะเจอแบบนี้แถมยังรุนแรงกว่าอีก”

“ถ้าอย่างนั้นการที่เราทำความดีเพราะจริง ๆ แล้วกลัวต่อบาปนี่ถือว่าเป็นเรื่องดีมั้ยครับ?”

“ความคิดจำพวกนี้มันก็อาจจะใช้ได้แค่กับคนในยุคสมัยหนึ่งเท่านั้นแหละไม่งั้นเราก็คงไม่เห็นรูปภาพเรื่องนรก สวรรค์ตามวัดตามวาหรอก พอกลัวก็เลยไม่ทำบาป แต่คนยุคปัจจุบันไม่ได้กลัวอะไรแบบนั้นแล้วหนิแถมไม่เชื่อเรื่องโลกหลังความตายด้วยซ้ำ

พอไม่เชื่อเขาเลยรู้สึกว่าช่างมันเหอะ อยู่ในโลกนี้ใช้ชีวิตอย่างสุดสวิงริงโก้ไปเลย ใช้ชีวิตให้เต็มที่ไม่ต้องไปสนเรื่องบาปบุญคุณโทษอะไรตายแล้วก็จบกัน ความคิดเรื่องกลัวต่อบาปเลยใช้ไม่ได้

ส่วนหนึ่งก็เพราะศาสนาไปอธิบายเรื่องผลของความดีความเลวเป็นสิ่งที่จะได้รับในโลกหน้า คนก็เลยรู้สึกว่าแนวคิดแบบนี้ไม่เชื่อมโยงกับชีวิตเขาด้วยแหละ”

ด้วยความที่ประเทศไทยยึดโยงกับหลักความเชื่อหนักมาก ‘กรรมเก่า’ มักจะเป็นสิ่งที่ใช้ตอบในสิ่งที่อธิบายไม่ได้ แต่ถ้าตายไปคือการชดใช้กรรม ทำไมคนถึงยังโทษกรรมเก่าอยู่ล่ะครับ?

“เพราะคนที่เชื่ออย่างนั้นเขายังมองแค่ส่วนเดียวไง พุทธศาสนาไม่ได้สอนแค่หลักการในลักษณะที่มันเป็นเรื่องอดีตชาติทั้งหมด พระพุทธเจ้าปฏิเสธลัทธิอย่างหนึ่งที่เรียกว่า‘ลัทธิปุพเพกตเหตุวาท’ ก็คือลัทธิกรรมเก่า โทษทุกอย่างว่าสิ่งที่มันเกิดกับเรามันเป็นเพราะกรรมเก่าหมดเลยซึ่งมันไม่ถูก”

พระมหาไพรวัลย์ขยายความว่าในความเป็นจริงแล้ว พระพุทธศาสนาสอนกรรมในลักษณะที่เป็นผลของการกระทำมากกว่าเสียอีก แต่คนดันไม่สนใจในด้านนี้

“คนไปสนใจแต่กรรมที่เป็นอดีตชาติเพราะว่าเรื่องพวกนี้มันขายได้ไง มันมาพร้อมกับการสะเดาะเคราะห์ การแก้กรรม การทำบุญ การนู่นนี่นั่นไง มันขายได้

จริง ๆ ตัวศาสนาไม่ได้ลึกลับ แต่คนที่หาประโยชน์จากคำสอนต่างหากที่ทำให้ศาสนาเป็นเรื่องของสิ่งที่ซับซ้อนและอธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ อย่างเรื่องกรรมเวร ก็อธิบายเป็นเจ้ากรรมนายเวร ภูติผีวิญญาณ ทำให้มันดูมีมิติเข้าไว้ก็จะหาประโยชน์จากความเชื่ออะไรพวกนี้ได้”

คำว่า “กรรมเก่า” นี่แหละเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ผมเลิกเชื่อในพุทธศาสนา ผมมองว่านอกจากมันจะเป็นคำที่ใช้ตอบในสิ่งที่อธิบายไม่ได้แล้วมันยังทำให้คนมองอะไร ๆ ง่ายลงด้วย เอะอะก็โทษแต่กรรมเก่า ไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นให้ลึกกว่านี้ แต่ก็มองข้ามไปเลยว่ามันเกี่ยวข้องกับ product แก้กรรมต่าง ๆ

จะว่าไปเรื่องพวกนี้มันยึดติดอยู่กับสังคมได้จนไม่ทันได้รู้สึกเลยว่ามันเกี่ยวข้องกัน… นี่สินะ พุทธพาณิชย์ที่เขาพูดถึงกัน ศาสนาก็ต้องพึ่งมาร์เก็ตติ้งเหมือนกันสินะ

“แสดงว่าการสั่งสอนในเรื่องบาปบุญคุณโทษมันก็ต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัยใช่มั้ยครับหลวงพี่?”

“ใช่ มันอยู่ที่บริบทของสังคมด้วยในส่วนหนึ่งว่าตอนนี้เขามองเรื่องเหล่านี้ยังไง ซึ่งหลาย ๆ อย่างมันก็ใช้ไม่ได้แล้ว อย่างเรื่องบุญบาปอาตมามองว่ามันเป็นเรื่องมักง่ายไปอะ มันเป็นการพิพากษาโดยที่ไม่มีการให้เหตุผล

สังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบตัดสินเลยกลายเป็นว่าคนไม่อยากนับถือศาสนา เขารู้สึกว่าศาสนามันลดทอนอะไรบางอย่าง ศาสนาไม่ร่วมทุกข์ไปกับเขา ไม่เห็นอกเห็นใจเขา คนจำนวนไม่น้อยเลยรู้สึกว่าประมาณว่า‘เอ้อ! งั้นเป็นคนบาปก็แล้วกัน’ ยอมเป็นคนบาปในสายตาของศาสนาเพื่อที่จะเลือกอะไรที่มันดีกว่าสำหรับชีวิตเขา”

“ศาสนาพุทธถูกยึดโยงกับความเหนือธรรมชาติตั้งแต่เมื่อไหร่เหรอครับ ทั้ง ๆ ที่ว่ากันว่าเป็นศาสนามีความเป็นวิทยาศาสตร์มาก ๆ ?”

“จริง ๆ ตัวคำสอนมันมีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้นะ ในพระไตรปิฎกก็มีหลักฐานเรื่องนรกสวรรค์ หรือเรื่องอะไรที่อยู่นอกเหนือจากเรื่องที่เป็นเชิงประจักษนิยมน่ะ มันก็เลยถูกอธิบายไว้แล้วถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา

ยิ่งคัมภีร์ในยุคหลัง ๆ นี่อธิบายแบบพิศดารไปกันใหญ่เลย เช่นคัมภีร์อรรถกถาเนี่ยอธิบายเรื่องผลของการทำบุญที่มันวิจิตรพิศดารมาก เรื่องปาฏิหารย์เต็มไปหมด ทำบุญให้ทานแล้วมีสวรรค์มีวิมานลอยอยู่บนสวรรค์ มีวิมานทองรองรับเมื่อตายไปแล้วอะไรแบบนี้

แต่ก็มีบางคนนะที่ยังคงยึดมั่นในเรื่องของการทำความดีเพราะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่สมควรทำ ไม่ได้ทำเพราะกลัวตกนรก หรือมีใครเอาเรื่องตกนรกมาขู่เขา มันก็แล้วแต่คนน่ะ”

“แบบนี้มันคือการตีความรึเปล่าครับ?”

“ไม่ใช่การตีความหรอก มันก็มาจากคอนเซปต์ที่ว่าจะทำยังไงที่จะให้ศาสนาอยู่ได้ในยุคที่คนยังเชื่อแบบนั้นน่ะ คือพระพุทธเจ้าท่านไม่สุดโต่งนะ”

พระมหาไพรวัลย์อธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่าความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์มีมาก่อนที่ศาสนาพุทธจะเกิดขึ้น เพียงแต่ว่าศาสนาพุทธนำแนวคิดนี้มาอธิบายในแง่ของการทำดี-ทำชั่วมากกว่าการที่มาจากความพึงพอใจของเทพ ตามความเชื่อก่อนหน้า

“ถ้าไม่พูดเรื่องนรกสวรรค์หรือการทำทานคนก็จะไม่สนใจที่จะปฏิบัติตามน่ะ พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้สอนในเรื่องการปฏิบัติธรรมในลักษณะที่มันจะได้สวรรค์หรือวิมาน เรื่องนี้อาจารย์พุทธทาสพูดบ่อยนะ แต่มันเหมือนว่าคนกลุ่มหนึ่งก็ยังพึงพอใจอยู่ที่จะเชื่อแบบเดิม นับถือศาสนาก็เพื่อหวังสวรรค์วิมาน หวังในสิ่งที่จะต้องได้เมื่อตายไป” พระมหาไพรวัลย์เสริมขึ้นมา

“ส่วนตัวแล้วหลวงพี่คิดว่าพระพุทธเจ้ามีปาฏิหารย์มั้ยครับ?”

“อาตมาไม่ได้ศรัทธาพระพุทธเจ้าในแบบที่มีปาฏิหารย์นะ อาตมาศรัทธาท่านในฐานะที่เป็นมหาบุรุษคนหนึ่งในการที่ท่านสามารถเอาชนะความทุกข์ และเอาประสบการณ์จากการเอาชนะความทุกข์โดยตัวของท่านมาสอนคนอย่างแจ่มแจ้งได้ เพราะฉะนั้นธรรมะของท่านมันเป็นจริง มันเป็นของจริง มันเป็นสัจจะ

พระพุทธเจ้าเองท่านก็พูดชัดว่าท่านไม่สรรเสริญอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ ท่านสรรเสริญ‘อนุสาสนีปาฏิหาริย์’ คือปาฏิหารย์ที่เปลี่ยนคนได้ด้วยคำสอน เปลี่ยนใจคนด้วยธรรมะต่างหาก”

“หลวงพี่เคยฟังพวกรายการเล่าเรื่องผีมั้ยครับ?”

“ไม่ชอบฟังอะ อาตมารู้สึกว่ามันเป็นการตอกย้ำเรื่องที่มันไม่จริงก็เลยไม่อิน เหมือนเรื่อง ‘ร่างทรง’ เนี่ยอาตมาก็ไม่อินเพราะเราเห็นร่างทรงในภาพความเป็นจริงกับในหนังมันคนละเรื่องกันเลย

ร่างทรงในชีวิตจริงมันเป็นร่างทรงที่ไปหลอกเงินเขา ไปต้มตุ๋นเงินเขา เอาความเชื่อมาหาผลประโยชน์และทำร้ายเพื่อนร่วมสังคมด้วยกัน ปอบก็เหมือนกันอาตมาไปทำงานกับหมอปลามานี่เจอว่ามันเป็นเรื่องของคนที่ถูกรังแก… ปัญหามันเยอะน่ะ”

พระมหาไพรวัลย์บอกว่าพอคนนับถือศาสนาในรูปแบบของความเชื่อ มันเลยกลายเป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยปาฏิหารย์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปฏิบัติธรรมแล้วเห็นผีไปจนถึงเห็นพญานาค

“พระพุทธเจ้าเลยสอนเรื่องกาลามสูตรไงว่า ‘อย่าเชื่อเพราะว่าตามอาตมา’ ‘อย่าเชื่อเพราะเขาว่า’ ‘อย่าเชื่อเพราะอ้างว่า’ มันต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง ไม่ใช่แต่จะเชื่อคนอื่นอย่างเดียว”

เคยได้ยินว่าพระกับผีเป็นของคู่กัน แล้วสำหรับหลวงพี่ที่ไม่เชื่อเรื่องผีล่ะ เคยเจอผีหรือสิ่งที่หาคำอธิบายไม่ได้มั้ยครับ?

“ไม่เคยเลย บวชมานี่ไม่เคยเจอเลยแต่ถามว่ากลัวมั้ย? กลัว”

“… บางคนอาจจะสงสัยว่าไม่เคยเจอผีแล้วทำไมกลัวผี? คือเรากลัวผีไม่ใช่เพราะว่าเราเห็นว่าผีมันมีจริง แต่เรากลัวผีเพราะเราถูกสั่งสอนถูกปลูกฝังความเชื่อมาตั้งแต่เด็ก เคยท่องหนังสือแก้วกล้ามั้ยล่ะ?

มันจะมีเรื่อง ‘สองเกลอเจอผี’ อะ ‘สองเกลอเจอผี เจอที่ดงกล้วย พลบค่ำกลับบ้าน เดินผ่านต้นกล้วย’ มันเป็นการสอนให้เราเห็นเงาเห็นอะไรไปเรื่อยเป็นผี เพราะเราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กอย่างนี้ไง ปู่ย่าตายายพ่อแม่ก็เล่าแต่เรื่องนี้ ออกจากบ้านระวังผีนะ กลางค่ำกลางคืนออกไปไหนระวังผีหลอกนะ อย่างเงี้ย เราถูกผีที่พ่อแม่บอกว่ามีอะหลอก แต่ผีจริง ๆ จะมีรึเปล่าเราก็ไม่รู้”

“ก็คล้ายกับความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ใช่มั้ยครับ?”

“ก็ทั้งนั้นแหละ ใครพิสูจน์ได้ล่ะ เวลาใครถามอาตมาเกี่ยวกับคอนเซปต์เรื่องนรกสวรรค์เนี่ย อาตมาไม่ชอบที่จะสอนคนในแง่ที่มันเป็นภพภูมิเพราะอาตมาก็ยังไม่ตาย คนที่จะบอกได้ว่านรกสวรรค์หน้าตาเป็นยังไง มีจริงมั้ยก็มีแต่คนตายเท่านั้นแหละที่บอกได้ แล้วมีคนตายที่กลับมาบอกซักคนมั้ยก็ไม่เห็นมีหนิ

เพราะฉะนั้นอาตมาชอบนรกสวรรค์ในลักษณะที่เป็นความหมายในคำศัพท์ของมัน อย่างเช่นคำว่า ‘นรก’ เนี่ยในภาษาบาลีมันมาจากคำว่า ‘นิรยะ’ ‘นิ’ แปลว่าไม่มี ‘อริยะ’ แปลว่าความเจริญ เลยแปลรวมกันว่าที่ ๆ ไม่มีความเจริญ ไปอยู่ไหนแล้วมันไม่เจริญ มีแต่ความตกต่ำลง มีแต่ความคิดและการกระทำแย่ ๆ ที่นั่นแหละคือนรก

แทนที่จะกลัวนรกแบบนี้กลับไม่กลัว ดันไปกลัวนรกหลังความตาย กลัวนรกที่มันอยู่ในปัจจุบันนี่สิ ที่ ๆ ไหนก็ตามที่เราอยู่แล้วไม่มีความเจริญทางด้านจิตใจเนี่ย ที่นั่นแหละคือนรก ส่วนสวรรค์ ภาษาบาลีคือคำว่า ‘สัคคะ’ แปลว่าที่ ๆ มีความเจริญเบิกบานใจ ไม่มีความทุกข์เพราะได้ทำสิ่งที่ดี ดีต่อตัวเองและคนอื่นนั่นแหละคือสวรรค์

แล้วคุณจะไปหวังสวรรค์ที่มันอยู่บนฟ้ากันทำไม อาตมาไม่ได้บอกว่ามันไม่มีนะแต่อย่าเพิ่งไปหวังมันเล้ย หวังสวรรค์ที่มันอยู่ในปัจจุบันดีกว่า”

“ก็เหมือนที่เขาว่าสวรรค์ในอก นรกในใจสินะครับ?”

“นั่นแหละ ที่พระพุทธศาสนามีความเป็นวิทยาศาสตร์ก็เพราะแบบนี้แหละ แต่ถ้าอธิบายว่านรกสวรรค์ต้องเป็นลักษณะที่เป็นภพภูมิมันก็ไม่เป็นวิทยาศาสตร์เพราะมันพิสูจน์ไม่ได้หนิ มันไม่เหมือนดวงจันทร์ที่จะสร้างยานอวกาศไปจอดได้ ถ้าอนาคตมันมีคนสร้างยานทะลุมิติไปนรกได้อาตมาก็จะเชื่ออยู่”

“แต่มันมีคนที่ตายแล้วฟื้นนะครับ”

“ไม่มี ตายแล้วไม่มีฟื้น มันมีแต่พวกที่สลบแล้วชีพจรอ่อนจนเครื่องจับไม่ได้แล้วเขาเข้าใจว่าตาย แต่จริง ๆ ในทางการแพทย์สรุปว่าผู้ป่วยยังไม่ตาย อาตมาก็เคยสงสัยเรื่องนี้จนไปถามหมอ หมอเลยบอกว่ามันเป็นอาการแบบที่บอกไปนั่นแหละ”

“ผมก็ไม่เคยเห็นใครที่ตาย ฉีดฟอร์มาลีนแล้วฟื้นเลยซักคน”

“เอ้อ ถ้าฉีดฟอร์มาลีนแล้วฟื้นขึ้นได้นี่จะเชื่อ (หัวเราะ) ว่าเอ้อ เห้ยเจ๋งจริงเว้ย ขนาดฉีดฟอร์มาลีนแล้วยังลุกขึ้นมาได้อยู่… มันเป็นไปไม่ได้อะ”

“มันมีคนที่บอกว่าตายแล้วฟื้นที่อ้างว่าเห็นนู่นนี่นั่นด้วยนะครับ”

“โอ๊ยยย มโนเพ้อฝันทั้งนั้นแหละ เพ้อเจ้อ (หัวเราะ) ในแง่ภพภูมินรกมันไม่ใช่เหมือนบ้านคนนะที่จะเข้าแล้วปล่อยตัวออกมาได้นะไม่งั้นคงวุ่นวายแย่ ยิ่งความเชื่อสมัยก่อนแบบในหนังเรื่อง ‘นรก’ อะ เวลาจะไปเกิดต้องให้กินยาเม็ดอะไรซักอย่างเพื่อลบความจำน่ะ โอ๊ยตลก (หัวเราะ)”

“มีคนชอบเล่าเรื่องยมบาลมารับผิดตัวด้วยครับหลวงพี่”

“ไม่มีหรอก ตลก (หัวเราะ) มันมีแบบนี้เหมือนกันที่ว่าเค้ามารับผิดตัวเลยปล่อยคืน ขนาดโลกมนุษย์ยังมีระบบบันทึกข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ตั้งนานแล้ว นรกยังใช้บัญชีหนังหมาอยู่เหรอ โอ๊ยย… ไม่ไหว”

พอได้คำตอบจากการสนทนาธรรมในแง่มุมที่เป็นปัจจุบันมาก ๆ เป็นเหตุผลมาก ๆ ก็ทำให้เรานึกเสียดายที่หลักคำสอนศาสนาพุทธในไทยยังเป็นในแง่มุมเก่า ๆ เดิม ๆ อยู่ทั้ง ๆ
ที่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปไกลแล้ว และรู้สึกเสียดายมาก ๆ ที่ได้เห็นข่าวว่าท่านจะสึกออกจากการเป็นพระ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม

แต่ก็ไม่แน่นะ ด้วยความที่หลักคำสอนมันสามารถเอามาเล่าในรูปแบบที่เป็นเหตุเป็นผลและสอดคล้องกับปัจจุบันได้ มันอาจจะทำให้คำสอนเหล่านี้ต้องการแค่คนอธิบายที่เก่ง ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับวัดและพระสงฆ์อย่างเดียวรึเปล่า?

กราบนมัสการลาครับหลวงพี่

Loading next article...