/แอมมี่ สาดสี /สังคม สาดความเห็น | ประชาธิปไตยที่เบ่งบานไม่รู้จบ?
จากกิจกรรม นอนแคมป์ไม่นอนคุก ที่จัดไปเมื่อคืนวันที่ 27 สิงคาคม 2563 เราก็พอจะเห็นได้ว่าธีม (Theme) ของงานเป็นไปในลักษณะของงานพบปะสังสรรค์รื่นเริงมากกว่าการจะมาตั้งม็อบแบบเครียด ๆ ที่ผู้ร่วมงานจะพกพาความหวาดกลัวติดตัวมาด้วย

ด้วยความใหม่ของรูปแบบการจัดม็อบเพื่อไปมอบตัวที่ สน. เราจึงคาดหวังว่างานนี้จะต้องมีอะไรให้เราเซอร์ไพรซ์จนต้องร้องว้าวแน่ ๆ 

และทีมงานก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง

ในหลักการประชาธิปไตยเรามีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นกันได้อย่างอิสระ แม้เราจะเป็นฝ่ายเดียวกันก็สามารถถกเถียงกันได้ เลยอยากทราบ ความคิดเห็นของการที่พี่เป็นนักข่าว ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองไปในทางเดียวกันกับม็อบ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคนโดนลูกหลงจากการแสดงออกทางศิลปะนี้ด้วย

“มันเป็นจังหวะชุลมุนอะ ซึ่งเข้าใจว่าจริง ๆ มันมีการดีลมาก่อนแล้วว่าจะมีการเปิดทางสวย ๆ แต่คือคนมันคุมกันไม่ได้แล้วก็ไม่รู้ว่าใครเตรียมอะไรมา ปัญหาคือมันคุมอะไรไม่ได้ จังหวะมันชุลมุนกัน จังหวะมันปะทะกัน ซึ่งตรงนี้มันเป็นอะไรที่เสี่ยงอันตรายมาก  แล้วก็ทุกคนตรงนี้ไม่ได้รับมือมาก่อนเพราะเชื่อว่าการดีลระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจมันจบแล้ว มันไม่มีอะไรแล้ว มันมีแค่หนึ่งสองสามสี่ห้า แต่มวลชนคนอื่นที่มาแล้วหัวร้อนเนี่ยมันเลยทำให้การชุมนุมมันดูรุนแรงขึ้น”

 

พี่โกรธมั้ยที่สีโดนกระเป๋า?

“ก็โกรธแหละ เพราะว่าทุกคนก็โกรธ ตำรวจก็โกรธ นักข่าวก็โกรธ คือเราเข้าใจว่ามันเป็นการปาสีเพื่อเปิดทาง แต่เราก็ไม่ได้ตั้งตัวว่าสุดท้ายแล้วมันจะมีเซอร์ไพร้สแบบนี้มาด้วย คือมันอาจจะล้างออกแหละ  แต่ในความรู้สึกเรา เรารู้สึกโกรธที่เราโดนอะไรแบบนี้”

อยากทราบคำแนะนำถ้าจะมีคนแสดงเชิงสัญลักษณ์ด้วยวิธีแบบนี้อีกในอนาคต

“ก็ไม่มีคำแนะนำ เพราะทุกอย่างมันคือสิ่งที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ ไม่สามารถแนะนำใครได้ ไม่มีใครรู้ว่าใครเตรียมอะไรมา และไม่มีใครห้ามใครด้วย” 

พอรู้ความหมายของการแสดงออกผ่านสัญญะด้วยวิธีการนี้มันทำให้พี่โกรธน้อยลงมั้ย?

“ไม่ สีคือสี”  

ไม่ได้เป็นศิลปะ?

“ไม่ สีคือสี เหมือนน้องโดนปาไข่เน่าอะ มันคือสิ่งที่ทำให้ร่างกายเราสกปรกแค่นั้นเอง” 

 

หลังจากได้ยินพี่นักข่าวคนดังกล่าวคุยกับเพื่อนถึงเรื่องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านการ “สาดสี”  ด้วยที่เราเป็นสื่อที่เลือกข้างอยู่ฝั่งเดียวกันกับผู้ชุมนุม เราเลยถามพี่เค้าไปแบบโต้ง ๆ เลยว่า งั้นเราควรนำเสนอไปเลยมั้ยว่าสีที่สาดออกมานั้นมาจากผู้ชุมนุม?  “บอกได้สิ  ก็มันเป็นข้อเท็จจริง”  พี่เค้าให้ความมั่นใจกับเราในฐานะของการนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา

หลังจากนั้นไม่นานในบริเวณเดียวกัน แอมมี่ The Bottom Blues ศิลปินผู้สร้างงานศิลปะชิ้นนี้ก็ได้ออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงความหมายของงานศิลปะชิ้นนี้

ตลอดสายไปจนถึงค่ำของวัน  เราไม่ได้เปิดเฟซบุ๊กรึว่าทวิตเตอร์เช็คความเคลื่อนไหวของคอนเท้นต์ที่คนพูดถึงกันจนเป็นกระแสเด่นของวันเลย   ในใจตอนนั้นคิดแค่ว่าต้องสัมภาษณ์พี่นักข่าวคนนั้นให้ได้ เพราะลึก ๆ เราก็ยอมรับว่าเราเห็นด้วยกับเหตุผลของพี่เค้า ถ้าถามว่าทำไม ก็คงต้องย้อนกลับไปยังประโยคเดิม “บอกได้สิ  ก็มันเป็นข้อเท็จจริง” 

รึจริง ๆ เราก็อาจจะเป็นคนหลงประเด็นที่โฟกัสแค่เรื่องที่เค้าไม่ได้บอกให้เราเตรียมตัวก่อนว่าจะมีการทำงานศิลปะนี้เกิดขึ้น   เพราะถ้าจะเทียบกันแล้ว  การถูกคุกคามก็เกิดขึ้นโดยไม่มีการบอกกล่าวกันก่อนล่วงหน้าเช่นกัน 

เช้านี้อาจจะเป็นเช้าที่เด็กตื่นมาเพื่อไปโรงเรียน

เป็นเช้าที่พนักงานออฟฟิซต้องรีบตื่นไปให้ทันตอกบัตร

ซึ่งก็เป็นเช้าเดียวกันกับเช้าของนักกิจกรรมที่ต้องออกมาจากที่นอน ในที่ ๆ ไม่คุ้นเคยเพื่อตื่นไปมอบตัวตามหมายเรียกที่สถานีตำรวจ   

ฟังดูแปลกพิลึกในประเทศที่เค้าบอกว่าเป็นประชาธิปไตยแต่มีการไล่จับกุมคนเห็นต่างกันเป็นว่าเล่น

เหมือนชื่องานก็บอกชัดถึงความมั่นใจของแกนนำแล้วว่าวันนี้ทุกคนจะได้กลับไปนอนบ้านแน่ ๆ 

แล้วอะไรที่ทำให้คิดอย่างนั้น?

ภาพของคนที่มีชื่อในหมายเรียก กำลังเดินขึ้น สน. ด้วยท่าทีที่ยิ้มแย้มเพื่อไปพบตำรวจ ภาพนี้น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงความบริสุทธิ์ใจในการมารายงานตัวเพราะลึก ๆ ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่ทำไปนั้นไม่ได้ขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพที่พึงมีเลย

เป็นอีกหนึ่งเช้าเดียวกันของป้าเสื้อแดงที่ถึงแม้กิจการจะได้รับผลกระทบอย่างหนักตั้งแต่การเข้ามาของคสช.ทำให้เป็นหนี้หลักล้าน  แต่ป้าก็ยังเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อการณ์นี้โดยเฉพาะ

“วิธีการจับปล่อย ๆ ที่รัฐใช้นี้ จริง ๆ คนส่วนใหญ่ก็รู้เป้าหมายของรัฐนะ 

เค้าจะไม่ให้คนสนใจนะ แต่พี่คิดว่าให้มวลชนออกมาต่อต้านกันจนเหนื่อยอ่ะแล้วก็ค่อย ๆ เหนื่อยไปเรื่อยๆไปจนถึงวันชุมนุมใหญ่จริง ๆ อะ  ก็เหมือนหมดแรง ผ่อนแรงเราไปอย่างเงี้ย ที่จับแต่ละวันก็….ไม่ยอมจับทีเดียวอ่ะ  ไม่ยอมออกมาเรียกในวันเดียวกัน แกล้งจะจับทีละคนให้มวลชนที่ออกมาช่วยอะอ่อนแรง ”

งานศิลปะเป็นสิ่งที่สามารถวิจารณ์กันได้ ไม่ได้รู้ว่าการที่รัฐสั่งจับกุมศิลปินเช่นนี้ รัฐเค้าคิดว่านี่เป็นการวิจารณ์งานศิลปะในอีกรูปแบบหนึ่งรึเปล่า

ในฐานะที่พี่เป็นศิลปิน เลยอยากให้พี่ HOCKHACKER (คิลปิน, Rap Against Dictatorship) อธิบายวิชาการวิจารณ์ศิลปะ101 ให้กับรัฐหน่อย?

 “โหหห ตอบยังไงดีอะ คือ ผมว่าเค้าอาจจะไม่ได้มองการแสดงออกแบบเราว่าเป็นศิลปะ หมายถึงว่าเค้าอาจจะมองว่ามันเป็นการ….อะแค่ผมขึ้นไปร้องเพลงอะผมโดนจับ  โอเค เนื้อหาผมอาจจะเป็นเพลงการเมือง แต่ว่าผมขึ้นไปร้องเพลงโดยที่ผมไม่ได้ชักนำเชิงของปราศรัยหรืออะไรเลยอะนะ แต่ว่าผมโดนมาตรา116 ผมก็งงว่าตอนนี้ผมโดนได้ไง ผมว่ารัฐคงไม่ได้มีมุมอะไรด้านศิลปะ ผมว่าไม่ว่าจะทำงานศิลปะอะไรออกมาถ้าเค้ามองว่าเป็นการวิจารณ์รัฐบาล เค้าก็คงรับไม่ได้ ก็คงไล่จับอะ”

พอรู้ว่าเป็นคนในหมายเรียก เราก็ต้องมีการเตรียมพร้อมแหละ

“รู้แค่ว่ามีชื่อ 31 คนในลิสต์นั้นด้วย แต่ผมไม่แน่ใจว่าตัวเองอยู่ในหมายจับหรือหมายเรียก จนก่อนหน้าวันที่โดนจับซักประมาณ 2 วัน เริ่มมีคนที่เค้าได้รับหมายเรียกกันบ้างบางคนแล้ว แต่ผมไม่ได้ ก็เลยเอะใจแล้วว่าอาจจะโดนหมายจับด้วย ก็เลยเตรียมตัวประมาณนึง”

“ตั้งแต่วันที่ขึ้นเวทีเมื่อ 18 กรกฎา เราก็คุยกันแล้วว่ามีโอกาสจะโดน เพราะวันนั้นมันไม่ได้มีการขอใช้สถานที่ตั้งแต่แรก ก็เตรียมตัวแล้วว่าโดนแน่ แต่ก็ไม่คิดว่าจะโดนคดีแรงขนาดนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีการออกหมายเรียกก่อน จริง ๆ เราก็ไม่ได้มีพฤติกรรมจะหนีไปไหนอยู่แล้วอะ แล้วโดนตำรวจตามจนรู้ว่าผมอยู่ไหน รู้ว่าพฤติกรรมมันเป็นยังไงแล้วดักจับอย่างเงี้ย  การมาจับเลยผมก็ว่ามันแรงไปหน่อย”

ความรู้สึกตอนตื่นนอนเปลี่ยนไป…?

“พอเริ่มมีคนเห็นในข่าวว่ามีชื่อเราด้วย เค้าก็ทักมาเพราะเป็นห่วง ตัวผมเองก็คิดถึงคนอื่นมากที่สุด เพราะลูกยังเล็กอยู่ ก็ห่วงลูกห่วงเมียซึ่งมันก็ทำให้เราคิดถึงการแสดงออกทุกอย่างเพิ่มขึ้น แต่เราก็ยังงงว่าเราทำอะไรไปแรงขนาดนั้นเลยหรอทำไมถึงต้องมานั่งกังวลตัวเองแบบนี้ ซึ่งมันก็เกิดขึ้นจริง”

ผิดมั้ยที่ศิลปินออกมาพูดผ่านงานตัวเองแล้วโดนจับ ?

“เอ่อ ผมว่ามันเกินไป โอเคผมยอมรับนะวันที่ผมขึ้นเวทีอะ เพราะไม่ได้ขอสถานที่ก่อน โอเคผิดก็คือผิด เพราะว่าปกติมันต้องขออนุญาตชุมนุมก่อน แต่ว่ามาตรา116 อันนี้ผมว่าแรงเกินกับม็อบทุกคนที่จะโดน  เพราะว่าเรามีเจตนาดีต่อประเทศ ไม่มีใครซักคนที่อยากให้เกิดความรุนแรง”

จะตีนตบแดง หรือว่าโบว์ขาว เราต่างก็มีเป้าหมายและความฝันเดียวกัน
ผู้คนบางส่วนที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงกับ สน. สำราญราษฎร์ ออกมายืนต้อนรับการมาถึงของขบวนแกนนำและผู้ชุมนุมในกิจกรรมนอนแคมป์ไม่นอนคุกด้วยความตื่นเต้น   อาจเพราะตื่นเต้นที่ได้เจอคนในกระแส   ตื่นเต้นเพราะเป็นครั้งแรกที่ได้อยู่ร่วมกิจกรรมนี้  หรือตื่นเต้นเพราะได้เจอกับกลุ่มบุคคลที่ชื่นชอบ  

ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกไม่น้อยเหมือนกันที่ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับกิจกรรมนี้   

เธอโฉบออกมายืนดูริมฟุตพาตเพียงแค่ไม่ถึงหนึ่งนาที  จากนั้นก็เดินกลับเข้าไปในร้านพร้อมกับบ่นพึมพรำว่า “อย่าไปยุ่งเลย”

ถ้าการเดินขบวนของแกนนำคือมิติใหม่ของการเข้าพบตำรวจตามหมายเรียก 

ถ้างั้นการร้องหมอลำก็คงเป็นมิติใหม่ในการขึ้นเวทีปราศรัยของทนายอานนท์เหมือนกัน

เมื่อก่อนนี้เป็นนักร้องที่ค่ายอาร์สยาม ชื่อในวงการคืออาเล็ก อาร์สยาม (หมดสัญญากับค่ายไปสี่ปีแล้ว) แต่ว่าพอเจอเหตุการณ์การเมืองช่วงปี 51 – 53 เนี่ย พี่ก็เข้าร่วมด้วย ก็แต่งเพลงการเมือง ทิ้งเพลงตลาดทั้งหมด ”

ตอนที่พี่แสดงตัวว่าเป็นเสื้อแดง งานของพี่ลดน้อยลงมั้ย 

“แทบจะสิ้นหวังกับงานที่เล่นต่างจังหวัดเลยนะครับ เพราะเราเจอปฏิกิริยารอบด้าน ยิ่งช่วงปี 53 นี่ไปใต้ไม่ได้เลย ไปอีสานนี่สบายมากนะครับ คือเป็นวิบากกรรมอะครับแต่ว่าผมว่าผมเลือกแล้ว ยิ่งมาเหตุการณ์วันนี้นะครับยิ่งต้องเคียงข้างนักศึกษา”

น้องถามว่าคุกคามใช่มั้ย “เอ่อ คือ เคยโดนสามคดี  คดีคนอยากเลือกตั้ง โดนพร้อมทั้งคณะ สี่สิบห้าสิบกว่าคน ก็… ก็…ก็ชินชาครับ”

พี่ว่าศิลปะมันวิจารณ์ได้ใช่มั้ยคะ  อยากให้พี่สอนการวิจารณ์งานศิลปะ101 (ที่ไม่ใช่การไล่จับศิลปินที่เห็นต่าง) ให้กับรัฐหน่อย

“พี่ว่าอันนี้มันไม่ได้ใช้กฎหมาย มันใช้อารมณ์มากกว่าครับ ศิลปินสร้างงานศิลปะนี่เค้าสร้างด้วยความละมุนละม่อม ใช้ถ้อยคำที่เป็นศิลปะ แล้วก็พูดถึงการเมืองอะนะ แต่ถ้าการดำเนินคดีกับศิลปินล่ะก็เป็นเรื่องของอารมณ์ของผู้ปกครอง มันไม่ใช่เรื่องกฎหมายแท้แล้วเพราะว่า นักร้องเสื้อเหลืองไม่ปรากฏว่าใครถูกดำเนินคดี นอกจากคุณตั้ว ศรัณยู คนเดียวที่โดนคดี ที่เหลืออีกห้าหกสิบคนไม่มีใครโดนคดีครับ แต่อย่างฝั่งเสื้อแดง มีผมกับเพื่อน ๆ อีกหลายคนโดนคุกคาม โดนตำรวจตามทุกวันแหละครับ มันชินชาแล้วครับ ไม่กลัวครับ”

ขนุน ตั้งใจจะชมทุกอย่างในทุกม็อบที่ขนุนไปเลยรึเปล่า ?

“คือถ้าเกิดว่างก็ทำ ถ้ามีอินเทอร์เน็ตก็ทำ คือทำไปพลาง ๆ เป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องปกติแหละ  รวมถึงความอยุติธรรมที่ตำรวจทำกับพวกเรา ตำรวจคุกคามประชาชน”

ทำไมถึงต้องเป็นการชม “คือคิดอย่างอื่นไม่ออก ไม่เชิงง่ายที่สุดแต่แค่หยิบมือถือมาก็ทำได้เลย”

ถ้าเกิดวันนึงมันจะมีหมายจับจากการ “ชม” ?

“ก็ยินดีครับ ยินดีเลย จริง ๆ อยากโดนด้วยซ้ำเพราะว่าจะได้เห็นกระบวนการความไร้สาระของกฎหมายไทยที่ไม่มีความชอบธรรม  เราก็จะต่อต้านมัน อะไรที่ไม่ชอบธรรม”

เตรียมตัวไว้แล้วยังถ้าเกิดวันนึงต้องโดนหมายเรียก ?

“เตรียมแล้ว เตรียมใจไว้แล้ว เตรียมตัวไว้หมดแล้วว่าถ้าโดนต้องทำยังไง อะไรยังไง”

“เค้าพยายามทำให้เราท้อ ทั้งต่อแกนนำแล้วก็ประชาชนที่มาร่วมกัน save  ร่วมกันปกป้อง เค้าใช้กระบวนการแบบนี้อะพี่มันน่าเกลียด น่าเกลียดมาก ๆ ที่ทำกับประชาชนเช่นนี้ อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ยืนอยู่ข้างหลังหยุดการกระทำแบบนี้”

อันนี้เป็นสัญญะอะไรมั้ยคะ  ?

 “ ถ้าจะมองว่าเป็น มันก็เป็นอะ ”  

ลุงคลายมือที่ประสานออกจากกัน

ลุงกำมือ

ลุงทำมือไขว้

ลุงขยับมือไปยังจุดต่าง ๆ ตามร่างกาย

แต่ทุกท่าทางที่ลุงแสดงออกนั้นล้วนเป็นสัญญะของการ “ถูกจำกัดเสรีภาพ” หมดทั้งสิ้น

ถ้าจะเอาหมายเรียกหรือหมายจับเป็นมาตรวัด “การถูกจำกัดเสรีภาพ” นั่นอาจจะเป็นเพียงมาตรวัดหนึ่งในหลาย ๆ มาตรวัดก็ได้ เพราะทุกวันนี้แค่เราจะโพสต์ข้อความลงไปในพื้นที่โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กของตัวเอง

เราก็ต้องคิดแล้วคิดอีก คิดอยู่นั่นอะว่าโพสต์ไปแล้วจะปลอดภัยกับชีวิตตัวเองรึเปล่า คิดมากจนลืมคิดไปว่าจริง ๆ แล้วข้อความที่เราต้องการสื่อนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ก็ไม่ใช่ Hate Speech แต่เพราะเราถูกจำกัดเสรีภาพจนลืมไปว่าจริง ๆ แล้วเราทุกคนมีเสรีภาพต่างหากที่เป็นมาตรวัดที่เราทุกฝ่ายควรใช้ร่วมกัน

เมื่อดันเพดานจนสุด และการพูดถึง “ 1 ความฝัน ในข้อเรียกร้องของคณะประชาชนปลดแอก ” ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามที่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ฉะนั้นการพูดเกี่ยวกับหัวข้อนี้บนเวทีปราศรัยในสถานีตำรวจก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอีกต่อไปแล้ว

อยากให้พี่ Jacoboi (ศิลปิน, Rap Against Dictatorship) สอนวิชาวิจารณ์งานศิลปะ101 ให้รัฐหน่อยได้มั้ย

“ผมไม่มองแค่เจ้าหน้าที่ตำรวจนะ เอาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐโดยรวมแล้วกันกับการตัดสินใจดำเนินคดีอะเนอะ  ก็คือถ้าคุณไม่เห็นด้วย แต่คุณต้องการที่จะวิจารณ์งานผม คิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปะหรอก เป็นอะไรก็ได้ที่เป็นการแสดงออกอะ เพราะว่ารัฐธรรมนูญมันรองรับเสรีภาพในการแสดงออก ผมก็ต้องตอบโต้กลับด้วยการแสดงออก ผมว่ามันไม่เป็นปัญหาอะไรเพราะผมเชื่อว่าประชาธิปไตยมันไม่ใช่โลกที่คนสามัคคีที่สุดอยู่แล้ว แต่มันเป็นโลกที่คนด่ากันไปมาเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเป็นแบบนั้น”

หลังจากโดนหมายเรียกแล้ว มีแผนอะไรในการใช้ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไปมั้ย

“ผมเสียเวลาที่ต้องใช้ทำงานไปเยอะ ผมมีเพลงที่กำลังจะเกือบเสร็จก็ต้องเบรคไป จะบอกว่าไม่มีเวลาเลยก็ไม่ใช่ เวลาที่ไม่เกี่ยวกับดำเนินคดีมันก็มี แต่คือว่าต้องเอาไปนอนมั้ยล่ะ อือแค่นั้นแหละ เราก็เลยไม่เหลือเวลาที่เอาไปจัดการพวกงานที่เราคั่งค้างเอาไว้ ถามว่าเสียโอกาสมั้ย ผมว่าใช่ เพราะว่าอย่างที่รู้ว่างานสื่อในเชิง Production ยิ่งออกช้ามันก็ยิ่งเสียโอกาสที่จะทำงานตรงนั้นไป”

“พอเป็นคนในหมายเรียกแล้วความรู้สึกตอนตื่นขึ้นมาก็ไม่ได้เปลี่ยนนะ ถ้าจะเปลี่ยนก็คือว่านอนน้อย  ตื่นขึ้นมาแล้วเหนื่อยเพราะนอนไม่เต็มอิ่ม” 

ผิดมั้ยที่ศิลปินสร้างงานออกมาแล้วรัฐก็จับกุมศิลปิน?

“ไม่ใช่แค่ศิลปินหรอกครับ ไม่ว่าใครทำออกมามันก็ไม่ควรจะผิดทั้งนั้นแหละครับ”

“ศิลปินไม่ใช่เทวดาที่เราต้องไปแยกแยะมันให้มันแบบว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษอะไรสำหรับผม”

“รู้ว่าวิธีการจับ ๆ ปล่อย ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ อย่างนี้จะทำให้คนชิน  แต่ต่อให้กองเชียร์จะชิน ผมก็ต้องทำในสิ่งที่ผมเชื่ออะ  สำหรับผม มนุษย์มันดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อ คือถ้าเราไม่มีความเชื่อหรือเป้าหมายบางอย่าง พอตื่นมาก็ไม่รู้แล้วว่าวันนี้จะทำไรดีวะ”  

“อย่าไปคิดว่าพอเราเคยชินแล้วจะเฉยกับมันไป  หรือไม่ยุ่งกับมัน นี่เป็นครั้งแรกที่ผมโดนดำเนินคดีนะ  แต่การที่อยู่ในแวดวงการเมืองมาสิบกว่าปีมันก็เคยชินกับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ผมก็ไม่ได้เลิก โอเค ผมอาจจะตื่นเต้นกับมันน้อยลง อาจจะไม่ได้ประหม่าอะไรมาก แต่ว่าผมก็ไม่ได้เลิกจากการเมืองหรอก   ผมว่าการเคยชินไม่ใช่เรื่องผิด แต่การเคยชินแล้วไม่ใส่ใจต่างหากที่ผิด คือเราอาจจะเคยชินกับมันในทางอารมณ์ความรู้สึก แต่ถ้าเราเห็นว่ามันไม่ถูก แปลว่าเรายังต้องจัดการอยู่ แม้ว่าบางทีความรู้สึกเราอาจจะเฉย ๆ ก็ตาม”

“มันเป็นไปได้ที่คนอาจจะชิน ผมถึงได้บอกว่าเราชินได้ครับ คนไม่ชินอะดิแปลก”

ถ้าในถังใบนั้นไม่ใช่สี  เราจะสาดอะไรแทนได้บ้าง
ถ้าคนที่ยืนอยู่ตรงนั้นไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เราจะสาดความเห็นกันมั้ย

จากกิจกรรมนอนแคมป์ไม่นอนคุกที่มีคำโปรยฟีลกู้ด
เราก็ไม่คิดเหมือนกันว่าจะจบกิจกรรมด้วยกระแสที่สวนทางกันคนละฟีลอย่างนี้

“ผมเชื่อว่าประชาธิปไตยมันไม่ใช่โลกที่คนสามัคคีที่สุดอยู่แล้ว แต่มันเป็นโลกที่คนด่ากันไปมาเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด” ประโยคนี้จากคำสัมภาษณ์ของพี่ Jacoboi หนึ่งในสมาชิก Rap Against Dictatorship น่าจะพออธิบายถึงกระแส “สาดสี” นี้ได้บ้าง

ถ้าทนายอานนท์คือคนทำลายกำแพงของการพูดถึง “ระบอบกษัตริย์”

แอมมี่ The Bottom Blues ก็อาจจะเป็นคนทำลายกำแพงของ “งานศิลปะจากผู้ที่ถูกคุกคาม” ในรูปแบบที่ต่างออกไปจากเดิมได้เหมือนกัน เพราะการถกเถียงกันจากกระแส “สาดสี” ทำให้ได้ไอเดียใหม่ ๆ ในการแสดงออกผ่านงานศิลปะรูปแบบนี้มากขึ้น นึก ๆ ไปก็คล้ายกับ #ไอเดียออกม็อบ อยู่เหมือนกัน

Loading next article...