รถไฟฟ้า ไม่มีเงินไปหานะเธอ

‘ราคาค่าบริการรถไฟฟ้า’ การสละ เวลา vs. รายได้

เปรียบเทียบง่าย ๆ ว่าถ้าบ้านเราอยู่สถานีเคหะแต่งานในฝันอยู่ไกลออกถึงสถานีคูคตล่ะ 

เราต้องตัดสินใจ – เช่าหออยู่เพราะค่าโดยสารรถไฟฟ้ากำลังจะมากขึ้นกว่าเดิม ไปไกลถึงสูงสุด 104 บาทต่อเที่ยวรึเปล่า? 

ในยุคที่รายรับลดลงเพราะวิกฤตไวรัสโควิด-19 แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างนี้ มันไม่มีหนทางอื่นเลย ได้แต่ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมไป?

แม้ว่าในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ทางกทม.จะกลับมาทบทวนเรื่องราคารถไฟฟ้าอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าข้อสรุปจะเป็นยังไง

วันที่ 26 มกราคม ผมตื่นเช้าไปทำงาน

การตื่นเช้าคงไม่ใช่อะไรที่แปลกนักสำหรับคนที่มีงานประจำแล้วออฟฟิศเรียกเข้าทำงานตั้งแต่เช้า แต่มันแปลก

สำหรับผมที่ร้างลาการทำงานประจำมาเกือบปีแถมย้ายที่อยู่จากตัวเมืองมาชานเมืองแล้ว การเดินทางเลยขึ้นอยู่กับระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าเป็นหลักเพื่อขจัดความยุ่งยาก 

การทำงานวันนี้เช้ากว่าเวลาเข้าออฟฟิศประมาณสองชั่วโมงวันนี้เลยมีโอกาสได้มาดูบรรยากาศยามเช้าที่ไม่ค่อยได้เห็นนัก

เอาจริง ๆ ก็เพิ่งได้มานั่งคำนวณค่าเดินทางแล้วพบว่าถึงจะใช้บัตรเที่ยว ค่าโดยสารก็สูงถึง 2,200 บาท/เดือน คิดเป็น 9.57% ของเงินเดือนแต่ละเดือนเลยทีเดียว

การเริ่มต้นแต่ละเดือนด้วยการที่เงินหายไปเกือบ 1 ส่วนจาก 10 ส่วนนี่เป็นอะไรที่บ้าบอมาก ๆ

2,200 บาทสามารถซื้อการ์ตูนราคาเล่มละ 80 บาทได้ 27 เล่ม 

ซื้อการ์ตูนบิ๊กบุ๊กเล่มละ 250 บาทได้ 8 เล่ม

ซื้อเกม PS4 ที่เพิ่งออกได้สบาย ๆ หนึ่งเกม

หรือจะซื้อหนังสือชุดสยามพากษ์ปกอ่อนของฟ้าเดียวกันได้ทั้งชุดแถมยังเหลือเงินไว้กินข้าวได้อีก

แน่นอนว่าถ้าเดินทางระยะไกลแล้วอยากลดค่าใช้จ่ายมันก็มีบริการที่เรียกว่าเติมเที่ยวเหมือนกัน แต่มันไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินพร้อมเติมรวดเดียว 

บางคนก็ไม่ได้ใช้รถไฟฟ้าบ่อยถึงขนาดใช้ครบเที่ยว ยิ่งคนที่อาศัยอยู่นอกเมืองแล้วต้องจ่ายค่าส่วนต่อขยายอีก รถไฟฟ้าเพิ่มสายออกนอกเมืองแทนที่จะนำพาความรวดเร็วในการเดินทางมาให้ แต่มันก็นำพารายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นเหมือนกัน

ลาก่อนแบงก์เทา แปรสภาพเป็นแบงก์เขียวเพราะนอกจากค่าเที่ยวแล้วต้องจ่ายค่าส่วนต่อขยายอีก

“เติมเงินเรียบร้อย ขอบคุณที่ใช้บริการ”
“Value added. Have a nice day.”

…ครับ

“ไปสถานี… นี่อะค่ะ สยามอะ เพราะว่าต้องลงเพื่อไปทำงานที่นั่น” แม่บ้านหญิงประจำห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งเงยหน้าขึ้นมาตอบขณะกำลังเล่นโทรศัพท์

“แล้วพี่ใช้บัตรเที่ยวมั้ยครับ?”

“ไม่ ๆ พี่ไม่ได้ใช้บัตรเที่ยว ก็เสีย 59 บาท แต่พี่ไม่ค่อยได้ดูข่าวหรอกว่าเขาจะเพิ่มค่าโดยสาร ปกติพี่จะเล่นแต่โทรศัพท์เลยไม่ค่อยได้ดูข่าวสาร ถ้าเป็นพี่ ๆ ช็อก เพราะพี่ถือว่าราคามันสูงเพราะเงินเดือนเรามันไม่ได้สูงถึงขั้นที่จะต้องมานั่งจ่ายค่าโดยสารเที่ยวนึงมากขนาดนั้น”

“ปกติพี่ไม่ได้มานั่งรวมค่าโดยสารนะว่าต่อเดือนมันเท่าไหร่ ส่วนมากพี่ก็ไป-กลับอะ เดือนหนึ่งก็ 24 วัน เงินเดือนพี่ตอนนี้ก็ประมาณหมื่นต้น ๆ เพราะเพิ่งเริ่มต้นทำงานได้ไม่เท่าไหร่ แต่เมื่อก่อนพี่ขายเสื้อผ้าแล้วต้องนั่งไปสยามประจำเพื่อไปประตูน้ำ แพลตตินั่มเพื่อทำเสื้อผ้าให้ลูกค้าอยู่แล้ว”

“เพราะผลกระทบจากโควิดเลยต้องหางานประจำสินะครับ?”

“ใช่ ๆ พอโควิดมาปุ๊บรายได้ตรงนี้คือหายไปหมดเลย จากปกติเราได้วัน ๆ หนึ่งนี่เยอะมากแต่กลับกลายเป็นว่าตอนนี้คือไม่ได้เลย”

บอกตามตรงว่าชีวิตตอนนี้อยู่ได้ด้วยบัตรเที่ยว ยิ่งขึ้นค่าโดยสาร บัตรเที่ยวยิ่งคุ้มมันก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ว่าเขาจะยกเลิกระบบบัตรเที่ยว ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงผมก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน

ลองคำนวณคร่าว ๆ ค่าเดินทางต่อเดือนของพี่เขาจะประมาณ 1,416 บาทต่อเดือน คิดเป็น 11.8% เมื่อหักออกจากเงินเดือนหมื่นต้น ๆ ตีเป็นประมาณ 12,000 เดือนนึงก็จะเหลือ 10,584 บาท

“นอกจากเวลากับเงินแล้ว รถไฟฟ้าเอาอะไรไปจากชีวิตพี่อีกบ้าง?”

“นอกจากเวลาใช่มั้ย?”

“แบบพวกความสัมพันธ์ในครอบครัวอะครับ มันลดน้อยลงมั้ยเพราะเราต้องไป ๆ มา ๆ”

“ก็น้อยลงนะ… เพราะว่า… พี่ตอบไม่ถูกอะแต่มันลดน้อยลง”

บทสนทนาเงียบไปชั่วคราว

“ตอนที่พี่ขายเสื้อผ้ามันยังมีเวลาเป็นของตัวเองใช่มั้ยครับ?”

“ใช่ ๆ ๆ มันมีเวลาเป็นของตัวเอง เวลาของตัวเองมีเยอะเลยแหละตอนขายเสื้อผ้า แต่พอมาเป็นพนักงานประจำอะเงินเราน้อยลง

แล้วก็… หนึ่งเลยครอบครัวก็ต้องมีปัญหาอยู่แล้วเรื่องการเงินถูกมั้ย? เพราะเราเคยได้เท่านี้แต่อยู่ดี ๆ มันเหลือเท่านี้มันเลยต้องมีปัญหาอยู่แล้ว 

แล้วถ้ารถไฟฟ้ามาเพิ่มค่าโดยสารอีกมันก็ต้องมีปัญหา งานมันหายาก พอหาได้เงินก็ไม่ใช่ว่าจะเยอะ”

บทสนทนาผ่านไปเรื่อย ๆ ในขณะที่ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เลือนหายไป ท้องฟ้าเริ่มมืดลง ผู้โดยสารบนสถานีเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามบรรยากาศทั่วไปของวันศุกร์ตอนเย็น

“ตอนนี้พี่ทำงานครบเดือนแล้วยังครับ?”

“ครบแล้วค่ะ”

“ถ้าอย่างนั้นพอมาทำงานประจำเนี่ย ด้วยเงินเดือนพี่อยู่ได้มั้ย?”

“ไม่ได้ค่ะ… ไม่ได้”

“หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือน้อยเหรอครับ?”

“… ตอนนี้มันมีแต่เหลือน้อยหรือไม่เหลือ เพราะปกติเราเคยทำได้เดือนนึงอย่างน้อยก็สามหมื่น แต่ว่าตอนนี้พอเรามาทำงานประจำแล้วมันไม่ใช่ไง หมื่นนึงอย่างงี้ 

รายจ่ายที่เราเคยให้ครอบครัวสบายกว่านี้พอตอนนี้มันก็ไม่ใช่ไง แล้วถ้าจะมาเพิ่มค่าใช้จ่ายอีกครอบครัวก็คงต้องมีปัญหา”

ซักพักรถไฟก็เข้าสู่ชานชาลา ผมไหว้ขอบคุณที่เขาให้สัมภาษณ์ พี่เขายิ้มรับให้ก่อนที่จะก้มหน้าเล่นมือถือต่อไปโดยที่ยังไม่ขึ้นรถ

เท่าที่ฟังมาถึงเขาจะไม่พอใจเรื่องราคาค่ารถที่ขึ้นแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ถ้า BTS จะขึ้นค่ารถ โดยเฉพาะคนที่ต้องเดินทางไกลยิ่งบีบให้อยู่ในสภาวะจำยอม ก็ย้อนแย้งดีกับความเป็นเมืองหลวงที่รวมความเจริญทุกอย่างไว้ด้วยกัน

“พี่ได้อ่านข่าวมั้ยครับเรื่องที่รถไฟฟ้าจะขึ้นราคาในวันที่ 16 นี้?” 

ผมชักชวนชายคนหนึ่งแลกเปลี่ยนบทสนทนา ไหน ๆ ก็เขียนบทความเรื่องรถไฟฟ้าแล้วเลยอยากลองสัมภาษณ์คนในรถไฟฟ้าดูบ้าง… ด้วยความที่บนขบวนรถไฟฟ้าเขาห้ามไม่ให้พูดคุยกันเลยได้แต่พูดโดยใช้เสียงเบา

“โอ้ไม่ดีนะ… ค่าใช้จ่ายตอนนี้มันไม่ดีด้วย ที่บ้านผมก็ตกงานกันเยอะด้วยแล้วก็ค่าใช้จ่ายสูง รถไฟฟ้าที่ผมนั่งระยะสั้นเนี่ย 15 บาทก็ว่าค่าใช้จ่ายสูงแล้วนะ” 

พี่เขาหันมาตอบด้วยระดับเสียงที่เบาตาม บวกกับการที่เสียงถูกกรองผ่านผ้าปิดปากอีกทีหนึ่งแล้วทำให้ยิ่งเบาไปใหญ่

“รถไฟฟ้านี่มันก็ตรงเวลาดีนะ แต่บางครั้งก็มีระบบขัดข้องมันก็เป็นปัญหาเหมือนกัน แต่ถ้าราคาขึ้นเรื่อย ๆ อย่างนี้ผมคงต้องเปลี่ยนไปขึ้นรถอื่นแทน” พี่เขากล่าวเสริม

โชคยังดีที่วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2564) มีประกาศออกมาว่าชะลอการขึ้นราคาค่าโดยสาร ไม่งั้นลงบทความนี้ไปคงได้หน้าเจื่อนแน่ ๆ 

… ว่าแต่ทำไมต้องใช้คำว่า “โชคดี” กับสิ่งที่ควรจะราคาถูกอย่างค่าโดยสารก็ไม่รู้เหมือนกัน *

“พี่ว่ารถไฟฟ้ามันเสียงดังไปมั้ย? ผมยังไม่รู้เลยว่าอัดเสียงพี่ไปแล้วจะฟังรู้เรื่องมั้ย” 

ตัวผมกล่าวหลังจากคิดขึ้นได้ว่าบนรถไฟฟ้าเต็มไปด้วยเสียงต่าง ๆ นา ๆ โดยเฉพาะเสียงจากโฆษณา มันจะเป็นการเริ่มวันที่เซ็งมาก ๆ ถ้าวันไหนลืมพกหูฟังไป

“ผมว่านะ… บริษัทเขาได้เงินเยอะแล้วน่าจะลดเสียงให้เบาลงหน่อย ค่าโฆษณานี่เห็นเขาว่าได้เยอะนะ”

“ปุณณวิถี โปรดใช้ความระมัดระวังขณะก้าวออกจากรถ” เสียงตามสายประกาศเมื่อรถไฟฟ้าจอดเทียบท่าที่สถานี

ยังไม่ทันได้ถามถึงอาชีพที่ทำเลย รถไฟฟ้าก็วิ่งมาถึงจุดหมายปลายทางของพี่เขาเสียแล้ว

ถึงจะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่บรรยากาศสถานีรถไฟที่อยู่นอกเมืองก็ไม่ได้เต็มไปด้วยผู้คนที่ต้องการโดยสารเข้าเมืองอย่างที่คิด ส่วนใหญ่จะใช้โดยสารในระยะทางไม่กี่ป้ายเท่านั้น

“ลุงเป็นข้าราชการบำนาญเรื่องค่าโดยสารนี่ไม่เป็นปัญหาอะไรหรอก ลุงขึ้นไม่บ่อยด้วย ไปหาหมอเดือนละครั้งที่แถวอนุเสาวรีย์ชัยฯน่ะ” ชายชรากล่าวขณะกำลังยืนรอรถไฟอยู่ที่สถานี

“แต่ลุงก็เสีย 59 บาทใช่มั้ย?”

“ผมเสียครึ่งราคาน่ะ บัตรสูงอายุ”

“ผมไปก่อนนะ” คุณลุงพูดตัดบทเพราะรถไฟฟ้ามาถึงแล้ว

น่าจะอารมณ์เดียวกับคนที่ได้สิทธิ์คนละครึ่งล่ะมั้ง ว่าแต่ทำไมโครงการคนละครึ่งถึงใช้กับรถไฟฟ้าไม่ได้ล่ะ?

“นาน ๆ ทีเราจะขึ้นรถไฟฟ้า แต่แฟนเราอะจะขึ้นจากที่นี่ไปหมอชิต” สุภาพสตรีท่านหนึ่งกล่าวหลังจากเดินขึ้นมารอรถไฟฟ้าได้ซักพัก

“ไปหมอชิต?”

“ช่าย แฟนเราทำอาชีพเป็นพนักงานขายอยู่ เงินเดือนของเขาถ้ารวมค่าคอมฯประมาณสองหมื่นบาทได้ถ้าเฉลี่ยแต่ละเดือนนะ ถ้ามองในมุมมองของคนทำงานอะเราว่ามันแพงเพราะว่าถ้าใช้ทุกวันก็ต้องเอาเงินตรงนี้มาเป็นค่ารถอย่างเดียวเลย”

คุยไปได้สักพักรถไฟฟ้าก็เข้าเทียบท่า พร้อมเปิดประตูรับผู้โดยสารไปยังสถานีต่อไป

“รีบมั้ยครับ?” ผมถามทั้ง ๆ ที่ในใจก็รู้อยู่แล้วว่ายังไงเขาก็ต้องไป ความยากอย่างหนึ่งของการสัมภาษณ์นี้คือแต่ละคนก็อยากจะไปถึงที่หมายปลายทางได้โดยเร็วนี่แหละ

“อ๋อ… ไม่ได้รีบค่ะ” จะว่าไปมันก็แปลกดีที่ผมถ่อมาสถานีที่ไม่เคยมาอย่างแพรกษาเพื่อมาสัมภาษณ์คนที่มีเวลาคุยได้อย่างพี่คนนี้

“แฟนพี่ไม่ได้ใช้บัตรเที่ยวนะ เพราะว่าไม่ได้เข้าบริษัททุกวัน อาทิตย์นึงเข้าครั้งสองครั้งอะไรอย่างนี้ มันไม่จำเป็นต้องใช้บัตรเที่ยว”

“คือไม่ได้ไปบ่อยถึงขนาดต้องซื้อบัตรเที่ยว แต่ว่าไปทีนึงก็เสียเยอะใช่มั้ยครับ?”

“ใช่ ก็คือตอนนี้ไป-กลับก็สองร้อยกว่า ไหนจะไปต่อ MRT ต่อมอไซค์เข้าบริษัทอีก มันน้อยคนอะที่ขึ้นรถต่อเดียวแล้วถึงบริษัทเลย ส่วนมากก็ขึ้นสองต่อกันอยู่แล้ว”

“แฟนพี่ได้เคยรีวิวมั้ยครับว่าต่อเดือนเสียค่าเดินทางเท่าไหร่?”

“ยังไม่เคยนะ เพิ่งจะมาคำนวณเมื่อเช้าตอนเขาประกาศจะขึ้นค่ารถนี่แหละ น่าจะประมาณเกือบสองพันได้มั้ง ซึ่งมันก็เยอะนะสำหรับการเดินทาง”

“ก็คิดอยู่ว่าจะซื้อรถยนต์ดีมั้ย เพราะคำนวณค่ารถไฟฟ้าที่อัพราคานี่ผ่อนรถยนต์ได้เลยนะ ทีนี้ปัญหาที่จะตามมาก็เปลี่ยนไปอยู่บนท้องถนนแทนละ”

“ผมว่าหนักกว่าอีกนะน่ะ”

“ใช่ ๆ มันจะหนักกว่านี้(หัวเราะ) เพราะทุกวันนี้รถก็ติดอยู่แล้ว แต่เอาเงินจ่ายค่ารถไฟฟ้าไปผ่อนรถดีกว่าเพราะราคาไล่เลี่ยกันเลย คือรถมันมีค่าซ่อมเข้ามาแต่มันเป็นทรัพย์สินของเราเลย แต่ถ้าเราเอาเงินไปเสียกับรถไฟฟ้าเราไม่ได้อะไรเลย”

หลังจากจบบทสนทนาได้ไม่นานรถไฟฟ้าก็เข้ามาเทียบท่าเป็นคันที่สามได้แล้วมั้ง ได้เวลาปล่อยให้พี่เขาได้เป็นอิสระเสียที

หักลบเงินเดือนของแฟนเขากับค่าเดินทางก็จะได้ประมาณเกือบ ๆ สิบเปอร์เซ็นต์เหมือนที่ผมเสียเลย ผมมองว่าการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ก็อาจจะสะดวกกว่าก็ได้นะสำหรับคนที่มีแฟนและกำลังพยายามสร้างครอบครัว

เท่าที่ฟัง ๆ มารู้สึกว่าการเข้ามาขวนขวายในเมืองกรุงมันช่างมีต้นทุนที่ยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าคุณไม่ขึ้นรถไฟฟ้าที่ราคายิ่งแพงเอา ๆ 

คุณก็ต้องไปขึ้นรถเมล์ที่ขยันเสีย แออัด ไม่สะดวกและไม่เป็นส่วนตัว แต่ถ้าคุณตัดสินใจซื้อรถยนต์ก็ต้องเสียค่าอะไรต่าง ๆ ปลีกย่อยอีก ไหนจะยังไม่รวมการจราจรที่โคตรจะติดขัดในการเดินทางด้วยยานพาหนะมีล้อทุกชนิดอีก

สุดท้ายแล้วหลอกกันนี่นา ไหนบอกว่า “ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” ไง

 

 

อ้างอิง

* https://prachatai.com/journal/2021/02/91598

Loading next article...