ถึงเสี่ยง ก็ต้องฉลอง “วันชาติ”

ในวันนี้เมื่อ 89 ปีที่แล้วไม่มีไวรัสโควิท-19 แต่เคยมี “วันชาติ”

เคยมีความฝันถึงการมี “ประชาธิปไตย”

สิ่งที่วัน ๆ นี้ให้ความหมายเชิงสัญลักษณ์ถึงความฝันของความเท่าเทียม วันๆ นี้จึงเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของประเทศไทย ถึงขั้นที่จะยอมเสี่ยงออกจากบ้านในวิกฤตโรคระบาด… หลายคนก็ระวังกันเต็มที่และยังออกมาสู้เผื่อ “ประชาธิปไตยที่แท้จริง”…

นี่คือเรื่องราวของพวกเค้า ก่อนจะไปรวมตัวกันอีกทีที่ สกายวอร์ค แยกปทุมวัน 17.00 น.

เทียบกับบรรยากาศเมื่อปีที่แล้ว คราวนี้คนมาเยอะขึ้นชัดเจน ถึงจะเป็นวันธรรมดาก็เถอะอาจจะเป็นเพราะ “ประชาธิปไตย” ในตัวที่เพิ่มมากขึ้นก็ได้

เดิมวันที่ 24 มิถุนายน เคยถูกเรียกว่า “วันชาติ” แต่ปัจจุบันกลายเป็นแค่วันธรรมดาวันหนึ่ง แต่ไม่แน่ว่าด้วยสำนึกประชาธิปไตยอันร้อนแรง “วันชาติ” อาจกลายเป็น “วันประท้วงแห่งชาติ” แทนก็ได้นะ

ผมรู้สึกว่าวันนี้บริเวณที่จัดใหญ่ขึ้น(เพราะมาจัดกลางถนน) มีความเป็นกันเองมากขึ้น (เห็นได้จากการที่มีเก้าอี้ให้นั่ง) ของกินอุดมสมบูรณ์ขึ้น (มีปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้มาแจกจ่าย)

เรียกว่าทุกอย่างดีขึ้น ยกเว้นคนที่อยากให้ออกไปอ่ะแหละ

ระหว่างที่ตัวแทนแกนนำแถลงการณ์คณะราษฎร ผมเหลือบไปเห็นไมค์ที่กำลังถ่ายรูปอยู่เลยนึกขึ้นได้ว่าไม่ได้เจอกันนานเหมือนกันนะ

“ไมค์รู้สึกว่าสถานการณ์ตอนนี้มันเสี่ยงไปที่จะออกมาจัดชุมนุมมั้ย?”

“ผมมองว่าโควิดมันไม่ได้เพิ่งมามี ประชาชนเนี่ยจากที่เราเห็น ๆ กันทุกคนป้องกันตัวเองระดับนึงแล้ว มีการใส่แมสก์ มีแอลกอฮอล์พกพา”

“จริงๆ ทุกวันนี้เราพึ่งพาตัวเองอยู่แล้วเพราะรัฐบาลไม่มีการแก้ไขปัญหาใด ๆ เลยนะครับที่ผ่านมา ตั้งแต่แรกมันก็เป็นประชาชนเองที่ต้องดูแลตัวเองเพราะรัฐบาลทำอะไรไม่ได้”

“เห็นความแตกต่างชัดเจนมั้ยครับ ระหว่าง 24 มิถุนาปีนี้กับปีที่แล้ว”

“ชัดเจนขึ้นนะครับ คนตื่นรู้มากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงอะไรหลาย ๆ อย่างเช่นฝ่ายนักเรียนเองที่มีการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิบนร่างกายหรือสิทธิเรื่องเสื้อผ้า หลาย ๆ อย่างที่มันต้องผลักดันกันไปเรื่อย ๆ แต่ทุกอย่างมันต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อนครับ”

“ไมค์รู้สึกยังไงกับการที่วันนี้ในอดีตเคยเป็นวันชาติไทย ความสำคัญของมันถูกลดค่าลงมั้ย?”

“ผมคิดว่ามันเป็นเพราะผู้มีอำนาจเขาพยายามจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ แต่เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่เขาศึกษาเรื่องการเมืองมากขึ้น”

“ผมเลยคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะลบวันชาติออกไปนะครับ วันนี้มันก็ยังเป็นวันชาติของใครหลาย ๆ คนรวมถึงตัวพวกเราด้วย มันไม่มีอะไรมาสามารถลบล้างสิ่งที่เคยเกิดขึ้นได้”

วันนี้ครูใหญ่ อรรถพล บัวพัฒน์ ยังเอาขันมาแจกด้วย แถมยังมีคนต่อคิวขอลายเซ็นต์กันอย่างต่อเนื่องยังกะงานพบปะดารา

“คือยังไงนะครับ ที่เขียนบนขันเนี่ย?”

“มันมีความหมาย ขันติแรกเนี่ย ‘ติ’ เป็นภาษาอีสานเหมือนคำลงท้ายคำถามว่า ‘ใช่เหรอ?’ ขันติที่ตามด้วยเครื่องหมายตกใจคือ ‘ติเตือน’ แล้วขันติสุดท้ายนี่คือคำว่า ‘อดทน’ คำเดียวรวมกันแล้วเท่ากับตั้งคำถาม ติเตือน แล้วก็อดทนครับ”

“พลังประชารัฐแจกขัน ครูใหญ่ก็เลยแจกบ้างเหรอครับ?”

“ใช่ ๆ”

“เศรษฐกิจแบบนี้นะ เราก็ต้องมีอาชีพอื่นสำรองไว้” ครูใหญ่กล่าวติดตลกกับเหล่าแฟนคลับ

หลังจากกิจกรรมในช่วงเช้า ต่างคนต่างแยกย้ายชั่วคราวก่อนกลับมาตั้งแถวใหม่ประมาณสิบนาฬิกา ดูเหมือนว่าอากาศที่ร้อนจะสู้จิตใจใฝ่ประชาธิปไตยของผู้ชุมนุมไม่ได้เลย

“เทียบกับปีที่แล้ว ตอนนี้ผมว่ามันก็เปลี่ยนไปเยอะนะ” ผู้ชุมนุมคนหนึ่งกล่าวในระหว่างที่เข้าร่วมขบวน

“ความหวังมีมากขึ้น ถึงตอนนี้สามข้อเรียกร้องจะยังไม่เป็นจริง แต่ในทางอ้อมคือมันเปลี่ยนไปเยอะเลย อย่างน้อย ๆ ที่เห็นได้ชัดคือคนกล้าวิจารณ์สถาบันมากขึ้น กลัว 112 น้อยลง”

“ช่วงเช้านี่ก็เห็นได้เลยว่าคนเยอะขึ้นถ้าเทียบกับปีก่อนทั้ง ๆ ที่มีโควิดด้วย แต่คนก็ไม่ได้กังวลเพราะแต่ละคนก็รู้วิธีการป้องกันตัว เพราะฉะนั้นโควิดเลยไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการมาม็อบ”

“รู้สึกเสี่ยงขนาดไหนที่มาเข้าร่วม?”

“เสี่ยงขนาดไหนเหรอ? เขารู้กันหมดแล้วว่าต้องปฏิบัติตัวยังไงบ้างอ่ะ แถมยังฝึกมากันเป็นปีแล้ว”

ส่วนตัวผมรู้สึกเซอร์ไพรส์เหมือนกันนะที่นอกจากจะโควิดแล้ว ตอนนี้แดดเปรี้ยงคนก็ยังออกมาเยอะ ตอนแรกผมกลัวว่ากระแสมันจะแผ่วด้วยซ้ำ

“คุณป้าไม่กลัวโควิดกันเหรอครับ?” ผมถามไปยังป้า ๆ ที่นั่งอยู่บนรถตุ๊ก ๆ ในขณะที่ขบวนเตรียมพร้อมที่จะออกเดินทาง เสียงกลองและเสียงป่าวประกาศของแกนนำที่อยู่ไม่ไกลนักสอดแทรกเข้ามาให้ได้ยินอย่างชัดเจน

“ไม่กลัวโควิด กลัวอดตายค่ะ ป้ามาทุกนัด… มาทุกนัดที่เขารวมตัว สู้ตลอด สู้ทุกนัด สู้จนจบ สู้ให้ลูกหลาน ลูกหลานเราจะอยู่ยังไงถ้าประเทศยังเป็นแบบนี้”

“ถึงติดโควิดก็ยอมเพราะเราอยู่อย่างนี้เราก็จะตายเหมือนกัน มาแต่ละครั้งก็ไม่เห็นมีติดโรคอะไร เราก็แข็งแรงเหมือนเดิม ไม่มีโควิดสำหรับพวกเราเพราะเรามาต่อสู้”

“ด้วยการที่ระยะเวลาการต่อสู้มันยาวนาน คุณป้ารู้สึกว่า…”

“ถึงยาวนานเราก็สู้” คุณป้าตอบกลับทันควัน

“การต่อสู้กับเผด็จการเนี่ยมันน่ากลัวยิ่งกว่าโควิดอีก การที่เราต้องทรมานอยู่กับระบบเผด็จการ ปล่อยให้ทำรัฐประหารมาตลอดแปดสิบกว่าปีเนี่ยเรารับไม่ได้ มันน่ากลัวกว่าโควิด ก็เลยยอมเสี่ยงมา”

“สภาพอย่างนี้จะให้เราอยู่กับรัฐบาลแบบนี้เราก็… อยู่ไม่ได้!! ไม่รู้จะทำอะไรกินแล้วตอนนี้”

“ไอ้หนูเอาขาขึ้นมา ๆ นั่นแหละ ไปด้วยกันนี่แหละเอ้อ” ในที่สุดขบวนก็เริ่มเดิน ผมที่นั่งสัมภาษณ์ป้าในรถตุ๊ก ๆ เลยพลอยได้นั่งร่วมทางไปด้วยจนกว่าจะชวนคุยเสร็จ

“รู้สึกว่ามันย้อนแย้งมั้ยครับ 89 ปีแล้วเราก็ยังสู้เพื่อประชาธิปไตยกันอยู่?”

“ก็นั่นนะสิ เพราะเราไม่มีประชาธิปไตยนิก็เลยต้องสู้ สู้จนเด็กรุ่นใหม่รู้ว่าเราต้องสู้เพื่ออนาคตของเขา การไม่มีประชาธิปไตยนี่มันทำอะไรก็ลำบากเพราะอำนาจไปอยู่กับคนกลุ่มเดียวเท่านั้น แล้วคนทั้งประเทศไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงมันไม่ใช่ มันยุคใหม่แล้วต้องเข้าใจว่ามันต้องเปลี่ยน”

“มันไม่ใช่ยุคทาสแล้ว มันยุคใหม่สมัยใหม่แล้ว เปลี่ยนไปหมดแล้ว”

“เด็ก ๆ เขาอ่านประวัติศาสตร์ละเอียดละออ อ่านชัดเจนกว่าพวกเราหมด เป็นพวกเราเองด้วยซ้ำที่ผ่านมากับประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกต้องเลยมีปัญหามาถึงทุกวันนี้ เราเลยต้องสนับสนุนให้เขามีอนาคตของเขาต่อไป”

โอเคนัมเบอร์วันเลยครับป้า

หลังจากขบวนเดินผ่านไปสักพักผมเลยเดินเข้าไปถ่ายกลุ่มตำรวจที่เข้ามาประจำหน้าที่ตรงที่ผู้ชุมนุมเดินผ่าน พอถ่ายไปเรื่อย ๆ พี่ ๆ ตำรวจดูทำท่าเป็นมิตรกว่าที่คิดเลยได้โอกาสเข้าไปถามสารทุกข์สุขดิบ

“พวกพี่มาตั้งแต่กี่โมงครับเนี่ย?”

“ผมเพิ่งจะนอนตอนห้าทุ่มแล้วออกมาตอนตีสองนี่แหละ จะประท้วงกี่ครั้งผมก็มาประจำแหละครับ ผมรอดูฟาส 9 มาตั้งปีกว่า ว่าจะดูวันนี้แต่ก็อด” นายตำรวจคนหนึ่งตัดพ้อ

“พี่ ตอนเย็นเขาจะมีม็อบอีกมั้ย?” นายตำรวจอีกคนถามผม

“น่าจะประมาณห้าหกโมงเย็นมั้งครับ แต่เป็นจุดอื่น”

“ถามว่าเลิกกี่โมงดีกว่าพี่ ผมมาตั้งแต่ตีสามแล้ว มานอนรออยู่แถวนี้แหละ” นายตำรวจอีกคนตอบ

พูดคุยได้สักพักตำรวจก็สั่งสลายแถว และเดินเข้าไปประชุมแผนการหลังลวดหนามอย่างพร้อมเพียง

“อีกสิบเอ็ดปีก็จะครบรอบร้อยปี พี่ว่าตอนนั้นเราจะยังประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยกันอยู่อีกมั้ย?” ผมถามหนึ่งในผู้ชุมนุมที่กำลังเคลื่อนพลไปยังรัฐสภา

“เดายากอยู่เหมือนกันนะ ถ้าพูดกันตามพฤติกรรมคนตอนนี้เราก็มีทั้งสลิ่ม ทั้ง ignorant หรืออยู่เป็น อะไรทำนองนี้ ผมว่ามันก็เป็นอุปสรรคกับพวกเราอยู่อ่ะ แบบเขายังคิดว่าการเพิกเฉยมันเป็นสิทธิ์ที่เขาทำได้อะไรแบบนี้…

ตอบยากนะ แต่ถ้าให้ยึดตามปัจจุบันเท่าที่เห็นแล้วว่าคนมันตาสว่างมากขึ้น คนกล้าพูดมากขึ้น บางคนอาจจะไม่เคยมาม็อบเลยแต่ก็มีพูดถึงเรื่องการเมือง…

คิดว่าก็ยังมีความหวัง มีแสงอยู่ที่ปลายอุโมงค์อยู่แหละ 11 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไงนี่ตอบไม่ได้จริง ๆ”

บางทีกลไกประชาธิปไตยไทยก็อาจจะเคลื่อนตัวไปเรื่อย ๆ เหมือนอย่างที่ม็อบเคลื่อนพลวันนี้ก็ได้นะ

Loading next article...