‘น้องโรส’ นักมวยที่ยังเรียกตัวเองว่า “สาวประเภทสอง” เชื่อว่าเราต้องเก่งซะก่อน และไม่ใช่ดังเพราะเพศสภาพตัวเอง
ถึงแม้ในปัจจุบันสังคมจะยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น… แต่บางเพศสภาพก็ยังถูกมองว่าแตกต่างจากปกติอยู่ดี ไม่ว่าจะ ตลก แปลกตา หรืออื่นๆ
แม้จะมีการเคลื่อนไหวเรื่องเพศเกิดขึ้นมากมาย แต่ความเป็นจริงการก้าวหน้าในชีวิต ขนาดจะชกกันก็ยังมีเส้นแบ่งอยู่ดี!
โรส เป็นวัยรุ่นอายุ 25 ร่างกำยำสมกับเป็นนักกีฬาอาชีพ เธอยิ้มหวาน พูดกับเราเสียงเบา ผมยาว และกำลังแต่งหน้า โดยมีแอมเบียนต์เป็นเสียงนักมวยคนอื่นกำลังซ้อมเตะเป้าอยู่ห่าง ๆ
“ต้องแต่งหน้าขึ้นชกทุกครั้งเลยไหม?”
“แต่งค่ะ บางทีก็แต่งเอง บางทีแม่เจเน็ตก็แต่งให้” โรสหมายถึงผู้จัดการส่วนตัวที่เธอเรียกว่า “แม่” หากใครเป็นแฟนมวยยุคเก่าอาจจะเคยเห็นเธอผ่านหูผ่านตามาบ้างในชื่อ “เจเน็ต พยัคฆ์ลำพอง” บนเวทีศึกเจ้ามวยไทย ไทยทีวีสีช่องสาม
น้องโรส บ้านเจริญสุข หรือ “สมรส ผลเจริญ” เริ่มซ้อมมวยตั้งแต่อนุบาล 2 เพราะน้าเห็นว่าเธอไม่ใช่เด็กผู้ชาย และอยากให้โรสเป็นเด็กผู้ชาย
ความหวังดีของน้าในวันนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “กุหลาบอาบยาพิษ” ยี่สิบปีผ่านไป เพื่อน ๆ ที่ซ้อมมวยมาพร้อม ๆ กันต่างแยกย้ายไปมีลูกมีเมียหมด เหลือแค่โรสที่ยังคงเอาจริงเอาจังด้านการเป็นนักมวยอาชีพ และแน่นอนว่าเธอก็ยังคงไม่ไขว้เขวในเพศสภาพของตัวเอง ทฤษฎีที่ว่าพาลูกหลานไปชกมวยแล้วจะได้ “กลับ” ไปเป็นชายแท้จึงไม่น่าจะเป็นจริง
“หนูอยากให้จำว่าหนูเป็นนักมวยสาวสอง คนที่สาม”
คำว่า ‘คนที่สาม’ ในมุมมองของโรส คือเธอหมายถึงคนที่สองคือ เจเน็ต พยัคลำพอง และคนที่หนึ่งคือ ปริญญา เจริญผล หรือที่คนทั้งประเทศรู้จักกันในชื่อ ‘น้องตุ้ม Beautiful Boxer’
“ตอนนั้นหนูอยู่ประมาณ ป.5-ป.6 ค่ะ ที่แม่ตุ้มแสดง Beautiful boxer หนูไปต่อยมวยพอดี เขามีโรงหนังหนูก็เลยได้ไปนั่งดู
“หนูก็ไม่รู้จักแม่ตุ้มเลยตอนนั้น เพราะหนูไม่เคยเห็น หนูคิดว่าเรื่องปลอม คิดว่าเป็นเรื่องแต่ง แต่ตอนจบมันก็มีบอกว่าถ่ายทอดชีวิตจริงจากแม่ตุ้ม”
ตอนนั้นดูจบแล้วรู้สึกยังไง
“หนูก็อยากเป็นเลย!”
การมีอยู่ของนักมวยที่เป็นกะเทย หรือกะเทยที่เป็นนักมวย ไม่เหมือนนักมวยชายหญิง (หรือกระทั่งนักมวยทอม – ตามคำบอกของเจเน็ตและโรส) เราเดาเอาด้วยสายตาเหมารวมเพื่อให้เข้าใจมุมมองบางแบบ ว่ากีฬามวยคงมีภาพลักษณ์ของความเป็นผู้ชายอย่างเต็มเปี่ยม คนที่ไม่เป็นผู้ชาย ไม่แสดงออกถึงความเป็นชายอย่างห้าวหาญแบบโรสจึงเป็นเหมือนจุดก้ำกึ่งที่สังคมมวยยอมรับได้ยาก
จนกว่าเธอจะผ่านการ ‘พิสูจน์ตัวเอง’ เสียก่อน
“ถ้าเราชนะไปแล้วไฟต์นี้ ไฟต์ต่อไปเราก็ต้องชนะให้ได้ ทำยังไงก็ได้ให้เราชนะได้เรื่อย ถ้าเราแพ้ เราจะกลับมาชนะยาก มันเสียสถิติสมมติว่าเพิ่งชกเสร็จ แล้วรู้ว่าเดือนหน้ามีชกต่อ ก็กดดันแล้ว เราก็นั่งดูนอนดูวิธีการชกของคู่ต่อสู้ว่าเขาชกแบบไหน แล้วก็ต้องไปบอกเทรนเนอร์ให้แก้ทางมวยให้
“นักมวยผู้ชายจะชนะหรือแพ้เขาก็อาจจะปล่อยผ่านไป แต่ถ้าหนูแพ้ครั้งหนึ่ง หนูกลับมาคิดมากเลย ว่าจะทำยังไงในไฟต์ต่อไป จะขอแก้มือจะทำยังไง ต้องเตรียมตัว ต้องถามเทรนเนอร์ แพ้ครั้งหนึ่งเราก็เสียใจค่ะ เสียใจมาก”
ความกดดันที่โรสได้รับอาจหนักกว่าเดิมเป็นสองเท่า เพราะในขณะที่เธอต้องแบกรับความเป็น ‘นักมวยอาชีพ’ เธอก็ยังต้องแบกรับคำครหาและถ้อยคำไม่รื่นหูไม่สบายใจที่จะเกิดขึ้นเพราะ ‘เพศสภาพ’ ของเธอด้วยเช่นกัน
“ถ้าเกิดเราไม่เก่งพอ หนึ่งเลยเราจะโดนดูถูก ดูถูกเราสารพัดเลย ตอนนั้นที่หนูยังไม่เก่ง หนูก็เคยเจอมา ตอนที่เราเดินไปมุมเขา เขาก็อาจจะแซวเล่น แต่ด้วยความที่เราไม่ชอบคำพูดเขา เขาพูดว่า อีนักมวยกระเทย มึงโดนแน่ มันทำให้เราโมโห เรายิ่งต้องระวัง เพราะการชกด้วยอารมณ์มันจะทำให้เราพลาด ตามต่างจังหวัดที่หนูเดินสายนี่ ก็นักมวยด้วยกันนี่แหละที่ชอบดูถูกหนู”
หนังสือท่องเที่ยวสำหรับ LGBT ชื่อ Gay Guide 1980 : Thailand as a vagaytion ให้ฉายาว่าประเทศไทยเป็น “สรวงสวรรค์ของเกย์” ไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2523* ด้วยว่าเราเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องแสงสีและ Night Life แต่หากมองกันโดยไม่อคติ ประเทศไทยยังนับได้ว่าเป็นประเทศย้อนแย้ง ค่าที่ว่าสิทธิของ LGBTQIA+ ยังไม่ได้ครอบคลุมอย่างที่ควรจะเป็น กระทั่งว่าในศตวรรษที่ 21 ที่เส้นแบ่งทางเพศเลือนลางและลื่นไหลไปกว่าเดิมมากแล้ว ประเทศที่เป็นสรวงสวรรค์ของเกย์ก็ยังเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่ว่าด้วยการกำหนดสถานสมรสตามกฎหมายได้เฉพาะชาย-หญิง ก็ยังถูกวินิจฉัยว่าไม่ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ
ภายใต้รอยยิ้มอาบลิปสติกของโรส (หรือของใครต่อใครที่ต้องการจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไปตามเพศสภาพของตน) จึงยังมีคำถามซ่อนอยู่เสมอ
การพูดกันเรื่องความหลากหลายและลื่นไหลทางเพศในบ้านเรายังไม่กว้างและลึกเท่าประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศฝั่งตะวันตกที่เป็นภูมิลำเนาของแนวคิดเรื่อง LGBTQIA+ Rights ที่เด็ก ๆ วัยรุ่นสามารถ ‘Come Out’ กันอย่างเปิดเผยราวกับเป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านหนึ่งในชีวิต แต่กับโรสแต่เติบโตมาในพื้นที่ชายขอบ เธอเลือกระบุเพศสภาพของตัวเองว่าเป็น ‘สาวสอง’ และมีวิธีการ Come Out ที่น่าสนใจ
“ตอนนั้นตอนม.2 หนูขับรถไปกับพี่ชาย แล้วรถไปลงคลอง หน้าหนูนี่เละหมดเลย กระดูกก็หัก ขาก็หัก หนูไม่รู้จะทำยังไงให้หน้ามันหายหนูก็เลยแต่งหน้าค่ะ เขาก็เริ่มคิดว่าหนูบ้าแน่ ๆ คิดว่าหนูรถล้มแล้วบ้าหรือเปล่า พอหลังจากนั่งแผลเริ่มหาย แต่หนูก็ยังแต่งหน้าอยู่ หนูแต่งหน้าไปโรงเรียนคนเขาก็เริ่มงงว่าหนูเป็นกะเทยได้ยังไง เพราะหนูไม่เคยบอกใครว่าหนูเป็นกะเทย
ตอนรอยเตอร์มาถ่าย เขาใช้สรรพนามอะไร He หรือ She อยากให้เขาใช้คำไหนมากกว่ากัน
“She ค่ะ (ยิ้ม) เราแต่งหน้า ผมยาว ก็อยากให้เขาใช้คำว่า She มากกว่า”
โรสอาจจะไม่ได้เติบโตและใช้ชีวิตอยู่กับกลุ่มนักกิจกรรมเรื่องความหลากหลายทางเพศ เธอไม่ติดขัดอะไรกับคำว่ากะเทย แม้เธอจะชอบเรียกตัวเองว่าสาวสองหรือสาวประเภทสองมากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นโรสก็ยังอยากเปลี่ยนคำนำหน้าเป็นนางสาว และอยากศัลยกรรม
“หนูเคยไปทำงานที่เกาหลี อยากเก็บเงินมาแปลงเพศ ตอนนั้นยังอยากแปลงเพศอยู่ เพราะยังไม่รู้ว่ามันจะส่งผลอะไร สุดท้ายเราก็ยังต้องไปสู้กับผู้ชาย แปลงเพศแล้วความแข็งแรงของเราคงไม่เหมือนเดิม หนูเลยอยากทำหน้าอก แล้วก็อยากทำหน้า แค่นั้น”
เรานึกสนุกถามเธอว่า หรือควรจัดโปรแกรมเฉพาะนักมวยสาวสอง (หรือนักมวยกะเทย หรือนักมวย Trans-woman ฯลฯ สุดแท้แต่คนจะเรียก) เธออยากลงแข่งขันในโปรแกรมนั้นไหม
“ไม่ ถ้าเขาเป็นเหมือนหนูหนูจะไม่ชกด้วย เพราะหนูคิดว่าเราเป็นเพื่อนกันดีกว่า หนูขอชกกับผู้ชายดีกว่า
“ที่จริงก็เคยนะ ครั้งเดียว ตอนนั้นหนูไม่รู้ เพราะตอนเขาประกบมวยมาเขาจะไม่ให้เห็นหน้ากันเลย แล้วพอมาเจอกันวันชก ตอนแรกหนูก็ไม่ยอมชก เขาก็ไม่ยอมชก แต่สุดท้ายก็ต้องยอมชกเพราะมันจะเสียรายการเขา เขาขึ้นป้ายไว้แล้วเพราะเราชกเป็นคู่เอก ตอนนั้นหนูชนะน็อก เขาก็ลงมา ก็บอกว่าเขาไม่มีแรงเพราะเขากินยาคุมมาเยอะ หนูก็บอกไปว่าหนูไม่มีแรงเหมือนกัน เพราะตอนนั้นหนูก็เทคยาเยอะ หนูยังไม่รู้ว่ามันมีผลข้างเคียง ตอนนี้คือต้องงดไปเลย”
ความอบอุ่นและมิตรภาพบางในคำตอบของเธอกำลังบอกเราว่านักมวยสาวสองก็มีชุมชนที่อบอุ่น และมีมิตรภาพบางอย่างซึ่งมีเฉพาะพวกเธอเท่านั้นที่จะเข้าใจ
การ Come Out ว่าเธอไม่ใช่เด็กผู้ชายและไม่เคยอยากเป็นผู้ชายเกิดขึ้นตอนมัธยมต้น ซึ่งแน่นอนว่าเธอเป็นนักมวยมาก่อนที่จะแสดงออกว่าเป็น ‘สาวสอง’ โรสเทคยาคุมเช่นเดียวกับเพื่อนคนอื่น ๆ เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้ผิวพรรณดี มีความ ‘ละมุนนี’ มากกว่าเดิม นั่นทำให้ร่างกายบางส่วนเปลี่ยนไป เธอจึงตัดสินใจว่าจะขึ้นชกเมื่อได้ใส่เสื้อกล้ามและได้แต่งหน้าสวยเท่านั้น ไม่บอกก็รู้กว่าต้องมีรีแอคชั่นตามมา
“เคยครั้งหนึ่ง คู่ชกก็งง (หัวเราะ) ตอนนั้นหนูไปชกทางขอนแก่น อีกฝ่ายเขาเคยชกกับหนูหนูยังแต่งตัวเป็นผู้ชาย พอหลังจากที่หนูแต่งตัวเป็นกะเทย เขาก็ไม่กล้าขึ้นชกด้วย เขาอาย เขาจะไม่ยอมชก แต่หนูก็ไม่ยอมชกเหมือนกันถ้าเขาไม่ให้หนูใส่เสื้อกล้ามขึ้นชก เขาก็เลยต้องยอม”
“ตอนที่อยู่ที่บ้าน ชกงานวัด ก็เคยโดน ตอนแรกเขาก็คงไม่รู้ว่าเขาต้องมาชกกับหนู เพราะว่าเขาเปลี่ยนตัวมา พอเจอกันตอนจะชกเขาได้แต่หัวเราะหนูนะ เขามองมาแล้วเขาก็หัวเราะหนู
“ตอนนั้นมีเพื่อนหนูคนหนึ่ง เป็นนักมวยสาวสองเหมือนกัน ขึ้นชกรอบใกล้ ๆ กับหนู เพื่อนก็บอกว่าเราต้องชนะให้ได้นะ วันนั้นเพื่อนชนะน็อก หนูก็ชนะน็อก ตอนหนูชนะหนูก็เข้าไปหาคู่ชก เขาไปขอโทษ แต่มันก็ไม่ได้พูดอะไร มันก็ไม่มองหน้านะ มันก็ได้แต่ก้มแล้วก็ร้อง อาจจะเพราะเขาขาหัก หนูไปเตะขาเขาหัก” – โรสพูดเหมือนการเตะคนจนขาหักเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในวิชาชีพของตัวเอง
“ตอนที่มาชกอยู่กรุงเทพก็เหมือนกัน มีช่วงหนึ่งที่หาคู่ชกยากมาก เปลี่ยนคู่ชก 5 คน 6 คนก็เคยมาแล้ว เขาไม่ยอมชกกับเราเพราะว่าเขาไม่อยากอาย ถ้าแพ้กะเทย ก็อาย ถ้าชนะกะเทย ก็อาย” – ก็คนเหมือนกันปะนะ ชนะได้ก็ควรภูมิใจสิ
เดี๋ยวจะหาว่ามาขอความเห็นใจให้จนเกินงาม จริง ๆ ไม่ว่าเราในฐานะคนเล่าเรื่อง หรือไม่ว่าโรสในฐานะเจ้าของเรื่อง ก็ไม่ได้คุยกันเพื่อร้องขอความเห็นใจอะไรทั้งนั้น เราคิดว่าแชมเปี้ยนทุกคนก็คงจะมีทางเดินของตัวเอง มีความลำบากในแบบของตัวเองกันหมด เรื่องของโรสก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจว่า การบิดออกไปจาก ‘มาตรฐาน’ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครกำหนด) ไม่ได้มีแค่ผลกระทบด้านลบอย่างเดียว
“เราต้องขยันกว่าเพื่อนในค่ายค่ะตอนนั้น คิดแค่ว่าเราต้องเก่งพอจะไปสู้กับคนอื่นได้ จนวันหนึ่งเราสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ที่เก่งกว่าคนในค่ายได้ ตอนนั้นเราถึงจะได้รับการยอมรับ คนก็ถึงจะเริ่มมีส่วนร่วมกับการผลักดันหรือการสนับสนุนเรามากขึ้น”
เราถือโอกาสถามคำถามที่ดูละลาบละล้วงไปหน่อย เธอคิดว่าการเป็นนักมวยสาวสองของเธอมี ‘ผลดี’ ไหม และมีส่วนที่ทำให้เธอโดดเด่นออกมาจากนักมวยคนอื่นหรือเปล่า น่ายินดีที่เธอเข้าใจวัตถุประสงค์ของคำถามนี้
“มากกว่านักมวยผู้ชายเหรอ ก็อาจจะใช่ค่ะ พี่สังเกตไหมว่านักมวยชาย กว่าเขาจะได้ดังได้ เขาต้องผ่านอะไรมาเยอะกว่าหนู ผู้ชายทุกคนที่เขาจะดังเขาต้องชกอีกเยอะ ต้องมีสถิติเยอะกว่านี้ แต่หนูชกสองสามไฟต์หนูก็เริ่มดังแล้ว ช่วงที่ดัง ๆ ขึ้นมาก็มีแต่คนอยากสนับสนุน แต่พอคิดกลับกัน ตอนเรายังไม่ดัง ไม่เห็นมีคนมาสนับสนุนอะไรเราอย่างตอนนี้เลย”
คิดว่าสาวสองที่เป็นอาชีพอื่นต้องผ่านสิ่งนี้ไหม – เราถามส่งท้ายก่อนเธอจะต้องไปซ้อม
“หนูก็ไม่รู้ เพราะหนูไม่เคยผ่านอาชีพอื่นขนาดนั้น หนูเป็นนักมวย” – โรสตอบ
ก็จริงของเธอ!
อ้างอิงจาก