ตีหม้อต้านเผด็จการทหาร การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ได้ผลจริง ๆ เหรอ?

“เห็นประท้วงไทย ฮ่องกง ไต้หวัน เป็นตัวอย่าง”

เรื่องเล่าด้วยเสียงที่เต็มไปด้วยความหวังจาก Zoom Call กับ จอนนี่ โปรดิวเซอร์โฆษณาชาวเมียนมา ที่ตอนนี้ตกงานอยู่ในย่างกุ้งเพราะรัฐประหาร

แต่เดี๋ยวนะ… คนไทยประท้วงต้านรัฐบาลมาเกือบปีแล้ว… ทหารก็ยังอยู่เหมือนเดิม!

ว่าแต่ การประท้วงเชิงสัญลักษณ์จะสามารถเปลี่ยนอะไรได้จริง ๆ เหรอ?

หลายวันที่ผ่านมา การตีหม้อและส่งเสียงตลอดวัน โดยเฉพาะตอนเวลาสองทุ่ม (curfew) กลายเป็นเรื่องปกติของกรุงย่างกุ้ง – การต่อต้านรัฐประหาร ตามแบบฉบับ #CivilDisobedienceMovement #HearTheVoiceOfMyanmar และ #SaveMyanmar

ถ้าถามว่ากลัวไหม จอนนี่บอกได้เลยว่ากลัว แต่ถ้าไม่ออกมาต้านรัฐประหาร ก็คงจะไม่ได้ 

รัฐบาลรู้แต่ไม่ฟังประชาชน เราจะช่วยกันส่งเสียงยังไงให้มีการเปลี่ยนแปลง ?

คืนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา- ผู้คนทั่วเมืองยังคงนัดกันออกมาตีหม้อต้านรัฐประหารบริเวณหน้าบ้านของตัวเอง 

จอนนี่ โปรดิวเซอร์โฆษณาชาวเมียนมา อาศัยอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง อาสาเดินสำรวจเก็บภาพ และโทรมาเล่าเรื่องราวให้เราฟังเกี่ยวกับการเรียกร้องในครั้งนี้ 

“เราคิดว่าฝันร้ายกำลังจะจบ ผมคิดว่าคนออกมาเพราะความโกรธว่าความเลวร้ายจะกลับมาอีกครั้ง มันกำลังจะกลับไปสู่ยุคที่เราไม่สามารถพูดอะไรได้เลยเกี่ยวกับรัฐบาล เสียงของพวกเรากำลังจะไม่มีใครรับฟัง พวกโฆษณาชวนเชื่อกำลังจะกลับมาอีกครั้ง เราไม่อยากลับไปสู่จุดนั้นอีกแล้ว” จอนนี่อธิบายให้เราฟังว่าทำไมหลายคนที่ออกมาประท้วงถึงต้องเสียน้ำตา และครั้งนี้ถือเป็นการประท้วงที่เค้าและชาวเมียนมารู้สึกอ่อนไหวมากกว่าการประท้วงในการปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ (Saffron Revolution) เมื่อปี 2008  

การออกมาตีหม้อ บีบแตร ร้องเพลง ส่งเสียงกันกลางถนน ทำให้เรานึกถึงครั้งแรกที่เราออกมาประท้วงต่อต้านรัฐประหารของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ปีพ.ศ. 2557 จากวันนั้นจนถึงวันนี้เราส่งเสียงกันจนคอแทบแตก แต่รัฐบาลก็ยังไม่ค่อยฟังเสียงของประชาชนกลุ่มนี้เท่าไหร่ 

เราออกไปต่อต้านรัฐบาลทหารเกือบทุกครั้ง และเชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ไปประท้วงก็เกิดคำถามเดียวกันว่าแล้วยังไงต่อ? ออกไปประท้วงแล้วได้อะไรขึ้นมา​? การแสดงออกของประชาชนได้แค่ทำให้รัฐบาลรู้ว่าเราไม่พอใจ แต่เสียงเหล่านี้ยังไม่แรงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ตอนนี้กลุ่มผู้ประท้วงชาวเมียนมายังมีความหวังว่าต่างชาติจะคว่ำบาตร และรอให้มีการปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี

“เราจะลงถนนแน่นอนถ้ารัฐบาลไม่ปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี ตอนนี้เค้าไม่ได้แค่กักตัวเธอ แต่เค้ายัดข้อหาไร้สาระให้กับเธอ” 

เราแทรกกลางขึ้นมา “ได้ยินว่าถูกยัดข้อหาครอบครองวิทยุสื่อสารเถื่อน” [หัวเราะ] 

“ใช่ครับ ไร้สาระมาก ผมว่ามันแย่อะ” จอนนี่บอกกับเราด้วยความเบื่อหน่าย 

เรื่องนี้ฟังแล้วคล้ายคดีอิลลูมินาตี (Illuminati) ของพรรคอนาคตใหม่ยังไงชอบกลนะ

จอนนี่บอกกับเราว่าที่น่าแปลกใจคือบริษัทใหญ่และดารา เข้ามาร่วมเปล่งเสียงกับประชาชนในครั้งนี้ รวมถึงเครื่อข่ายโทรศัพท์ Telenor ถึงกับส่งข้อความมาขอโทษลูกค้าที่ต้องตัดสัญญาณในวันทำรัฐประหาร 

“เครือข่ายโทรศัพท์ Telenor ที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ยังส่งข้อความมาบอกกับเราว่าบริษัทต้องขออภัยที่ต้องตัดสัญญาณโทรศัพท์ของลูกค้า การตัดสินใจนี้ไม่ใช่ความตั้งใจของบริษัท แต่เป็นคำสั่งที่ได้รับมา”

กว่าเราจะนัดเวลาคุยกันได้ เราเฝ้ารอเค้าพิมพ์ตอบมาแบบมา ๆ หาย ๆ บนหน้าแชท Facebook จอนนี่พิมพ์มาบอกว่าช่วงนี้สัญญาณไม่ค่อยดี เหมือนจะโดนตัดตลอดเวลา “นี่ผมใช้ VPN คุยกับคุณอยู่” 

สุดท้ายเราเลยตัดสินใจรีบโทรคุยกันตั้งแต่ห้าทุ่มคืนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ก่อนรัฐบาลจะทำการตัดการสื่อสารอีกครั้ง 

เมื่อเช้าวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา กลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติอีกครั้ง เขาออกเดินสำรวจพื้นที่ในเมือง ผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยกันปกติ แต่กลุ่มผู้ประท้วงก็ยังยืนยันว่าจะดำเนินการทางสันติวิธีอยู่ 

ประท้วงประเทศเมียนมาไม่มีแกนนำ ตอนนี้มีเพียงกลุ่มใน Facebook และ Telegram ที่น่าแปลกใจคือยังไม่มีเสียงจากกลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐประหาร จอนนี่บอกกับเราว่าวันแรกที่ทำรัฐประหารก็มีคนออกมาโห่ร้องยินดีบนถนน แต่ยังไม่มีการโต้เถียงกันกับผู้ต่อต้านรัฐประหารในโลกออนไลน์ 

“พ่อของผมเขาเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลให้ได้ เค้ามีวิถีทางการเอาตัวรอดในแบบของเขา แล้วคนรุ่นเราก็เรียนรู้เรื่องเหล่านี้มาจากคนรุ่นพ่อเหมือนกัน แต่พ่อก็บอกว่าเค้าไม่อยากให้ประเทศต้องกลับไปเป็นแบบนั้นอีก 

เค้าเกลียดเวลาที่รัฐบาลทหารกดขี่ประชาชนและไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น 

จริง ๆ แล้วคนรุ่นพ่อเค้าก็ไม่ค่อยชอบออง ซาน กันเท่าไหร่ เพราะจริง ๆ แล้วมีอะไรหลายอย่างที่รัฐบาลออง ซาน ควรแก้แต่กลับไม่ทำ อย่างเรื่องการตรากฎหมายห้ามการทำรัฐประหาร ควรจะทำตั้งนานแล้วแต่ดันไม่ทำ” 

ขณะที่ประท้วงไทยเรายังทะเลาะกับผู้ใหญ่กันอยู่เลยเรื่องการสนับสนุนรัฐประหาร ขณะที่เรื่องนี้ในประเทศเมียนมาไม่ใช่ศึกระหว่างวัย แต่เป็นศึกระหว่างทหารกับประชาชน

การงดออกเสียง เท่ากับสนับสนุนการรัฐประหาร ผู้ประท้วงเมียนมายืนยันจะใช้สันติวิธีเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ทุกคืนผู้ประท้วงยืนยันว่าจะออกมาตีหม้อต่อไป 

ฟังแล้วทุกอย่างเหมือนจะเดินตามประท้วงไทยเห็น ๆ เรากลับยังหาคำตอบไม่ได้ว่าการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แบบนี้ จะนำพามาสู่การเปลี่ยนแปลงได้ไหม สิ่งที่คนเมียนมาเรียกร้องในตอนนี้อาจเป็นเพียงการขอให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี และ เรียกร้องให้รัฐบาลเดิมกลับมา 

การทำรัฐประหารยังเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่เป็นครั้งที่ 3 ของการเมืองเมียนมา แต่เป็นครั้งที่ 13 ของประเทศไทย สันติวิธีดูแล้วจะทำอะไรกับคนเหล่านี้ไม่ได้เลย 

“คราวก่อนก็มีพระปลอม นักเรียนปลอม แฝงเข้ามาอยู่ในกลุ่มผู้ประท้วงปี 2008 มันล่อให้เราก่อความรุนแรงเพื่อจะได้ยิงเราเพื่อสลายการชุมนุม” จอนนี่บอกกับเราเรื่องการสลายการชุมนุมสมัยปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ 

สรุปแล้วเราจะแสดงออกทางการเมืองได้มากแค่ไหน การใช้กำลังคือทางเดียวที่จะทำให้เกิดความสงบหรือ​? ไม่มีใครเคยขีดเส้นแบ่งเรื่องนี้เอาไว้สักที

กลายเป็นว่าผู้ประท้วงไทยและเมียนมาคิดไปในทางเดียวกันว่ายืนยันที่จะประท้วงอย่างสันติวิธี เราไม่กล้าทำอะไรเพราะทหารมีปืนและมีอำนาจเหนือกว่า 

คุณกลัวไหมที่มาให้ความเห็นเรื่องนี้กับเรา 

“พอคุณถามผมก็ชักกลัวขึ้นมาแล้วนะ ฮ่า ๆ นี่ผมพูดความเห็นตัวเองไปเต็ม ๆ เลย จริง ๆ ผมกลัวและเป็นห่วงคนที่บ้านมากกว่า กลัวว่าจะมีใครมาทำร้ายคนในครอบครัวผม”

บทเรียนหนึ่งที่เขาได้รับคือการใช้แก๊สน้ำตาในการสลายการชุมนุม ความกังวลเรื่องนี้ยังมีอยู่มากเพราะเขาเชื่อว่าเร็ว ๆ นี้ผู้ประท้วงจะมีการนัดลงถนนกันอย่างแน่นอน 

หนังเรื่องนี้กำลังจะถูกฉายซ้ำ รัฐประหาร ประท้วงต่อต้าน สลายการชุมนุม มีคนบาดเจ็บล้มตาย 

หลายคนทำไปเพื่อชาติ ปกป้องประเทศเพื่อชาติ แต่อาจลืมไปว่าชาติเคยให้อะไรคืนมาบ้าง?

Loading next article...