ไม่ว่าจะเรียนวิชาเปิดใหม่อย่างดีไซน์เว็บไซต์ ภาษาจีน หรือ กัญชาศาสตร์ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ ‘ความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต’ เมื่อเราจบมา
หรือการกะเกณฑ์วิชาเรียนเพื่อทำอาชีพในอนาคตที่ไม่แน่นอนรึเปล่า ? เราควรเลือกเรียน กฎหมาย แพทย์ บัญชี ดีกว่า ?
ไปถามนักศึกษาในห้องเรียนวิชากัญชาศาสร์ กัญญญ…
ผลสำรวจอัตราการว่างงานของเด็กจบใหม่ปี 2563 พบว่ายังมีการว่างงานสูงเนื่องจากการแข่งขันของตลาดแรงงานสูงขึ้น เด็กจบใหม่จากเว็บไซต์สมัครงานออนไลน์จ๊อบไทย (Job Thai) จำนวน 1,496 คน พบว่ากว่า 44% ใช้เวลาหางานเป็นเวลา 1-3 เดือน ขณะที่ 9.8% ใช้เวลาหางานน้อยกว่าหนึ่งเดือน*
ขณะที่บนชั้นดาดฟ้าของคณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดสอนวิชากัญชาศาสตร์มาได้หนึ่งรุ่นเพื่อรองรับความต้องการในตลาดด้านกัญชาทั้งงานวิจัย การให้คำปรึกษาด้านกัญชา (Consulting) และพัฒนาระบบการปลูกกัญชาในโรงเรือน เราสามารถได้กลิ่นความเขียวสุกงอมของดอกกัญชาได้ตั้งแต่หน้าประตูก่อนจะเปลี่ยนชุดกาวน์เข้าไปทักทายอาจารย์และนักศึกษาในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต
ภายในสามปีข้างหน้าการปลูกกัญชาจะเพิ่มขึ้นทั่วโลก อย่างตอนนี้มีการรายงานอัตราการส่งออกกัญชาจากจาไมก้า และ อุรุกวัยให้กับบริษัทยาในอเมริกา และ อังกฤษเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่รัฐบาลปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดเมื่อปี 2556**
รศ. ดร. บัญญัติ เศรษฐฐิติ คณบดีคณะนวัตกรรมเกษตรอธิบายให้เราฟังเกี่ยวกับความพิเศษของโรงเรือนกัญชาที่คณะนวัตกรรมเกษตรว่ามีความทันสมัยมากเท่ากับที่ต่างประเทศ
“เราต้องการเอาเด็กจบไปเนี่ยเป็น start up มันจะแตกต่างจากวิชาเกษตรที่อื่น ที่เค้าจะสอนให้มีความรู้เรื่องดิน เรื่องน้ำ เจาะจงไปทางใดทางหนึ่ง
แต่เกษตรที่นี่จะได้ความรู้แบบรวมทั้งหมดเกี่ยวกับการเกษตร คือบูรณาการความรู้ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน แล้วเอาเทคโนโลยีเข้าไปใส่ เพราะฉะนั้นกัญชาเนี่ยที่เห็นในโรงเรือนปลูกจะเป็น smart farm การคุมอุณหภูมิ น้ำ ความชื้น ไฟเนี่ยเป็นอัตโนมัติหมด เพราะฉะนั้นเด็กเค้าก็จะมาชอบส่วนนี้ก็ได้”
การทำธุรกิจกัญชาในไทยต่างจากประเทศแคนนาดา และ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เนื่องจากประเทศไทยยังจำกัดให้มีการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์เท่านั้น ขณะที่ต่างประเทศเปิดให้มีการบริโภคกัญชาอย่างเสรีทั้งการแพทย์และสันทนาการ***
“อนาคตข้างหน้าจะเป็นยังไง ? คือผมไม่ค่อยห่วงว่าเด็กจะได้งานกัญชาหรือไม่เพราะผมมีความรู้ทางด้านอื่นให้ด้วย
ถ้าคุณไม่ทำกัญชาก็ไปทำอย่างอื่นก็ได้ จะไปปลูกทุเรียนก็ได้ ได้หมดไง เพราะฉะนั้นเราไม่ค่อยกลัวเรื่องตลาดแรงงานเท่าไหร่ ถ้าตลาดงานกัญชามีก็โอเคเราก็ทำได้” คณบดีอธิบายไปพร้อมการพาไปชมห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกัญชาสำหรับการวิจัย
เราได้มีโอกาสพูดคุยกับนักศึกษาที่กำลังปฏิบัติการเก็บเกี่ยวดอกกัญชา ที่อาจารย์ประณต มนีอินทร์ เป็นผู้ดูแลบนดาดฟ้าของอาคารเรียนคณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต พรีม อายุ 25 ปี นักศึกษาวิชากัญชาศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 คุยกับเราด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น เกี่ยวกับเหตุผลที่กลับมาสมัครเรียนปริญญาตรีอีกใบ
“ผมเรียนแพทย์แผนไทยมา ก็อยากทำยาแผนไทย ทำเสื้อผ้าจากใยกัญชง จริง ๆ แล้วการผลิตกางเกงยีนส์ใช้น้ำเยอะมาก ผมก็ว่าจะทำกางเกงยีนส์จากใยกัญชง เพราะมันดีใช้น้ำน้อยกว่า กับอยากทำอาหารจากกัญชา”
กังวลไหมว่าจบไปจะไม่มีงานทำ ?
“ผมมีคนมาดึงตัวให้ไปทำงานเพียบเลย ผมเรียนด้านแพทย์แผนไทย เค้ามาดึงให้ผมไปอยู่ลาว” พรีมบอกกับเราด้วยความภูมิใจ
“ของผมเค้าก็จะดึงไปทำ consulting ด้านกัญชา” ภูมิตอบ
ในขณะที่นักศึกษาอีกส่วนไม่กังวลกับปัญหานี้ เนื่องจากมีโรงเรือนเอกชนร่วมทุนกับโรงพยาบาลมาเรียกตัวให้ไปช่วยงานอยู่บ้างแล้ว พลอย อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 พูดไปขณะกำลังแสดงวิธีการทำ tissue culture คือกรรมวิธีเตรียมเพาะต้นกล้า ซึ่งเป็นวิธีการที่ต้องใช้ความระมัดระวัง
“จริง ๆ จบมาหนูไม่ได้ตั้งใจจะทำงานไม่ตรงสายอยู่แล้ว กะว่าจะไปค้าขาย
หนูคิดว่าจะซิ่วอยู่หลายรอบมาก แต่คนอื่นบอกว่าอย่าไปเลยมันเสียเวลา แต่พอเข้ามาเรียนก็รู้สึกดีเพราะอาจารย์และเพื่อน ๆ ที่นี่ดี เราก็เลยไม่มีปัญหาอะไรค่ะ”
“ผม fight พ่อแม่ก่อนมาเรียนครับ ตั้งแต่สมัยมัธยมพ่อแม่ไม่ค่อยเข้าใจผม เห็นว่าผมไม่ค่อยตั้งใจเรียน เค้าเข้าใจว่าผมเป็นเด็กเกเร เลยบังคับให้ผมเรียนในสิ่งที่ผมไม่ชอบ ผมก็เลยยอมเรียนบริหารให้เค้าใบนึงก่อน แล้วคณะนี้เปิดตอนผมเรียนจบใบแรกพอดีผมเลยรีบมาสมัคร เพราะวิชานี้มันเป็นสิ่งที่ผมสนใจจริง ๆ”
แน่นอนว่าวิชานี้ไม่ใช่วิชาที่ผู้ปกครองจะแนะนำ ถ้าไม่ใช่แพทย์ ทนายความ นักบัญชี วิศวกร คงยากที่ผู้ใหญ่จะยอมรับ เพราะเป็นห่วงอนาคตลูกกันทั้งนั้น
แต่จากการรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สคอ.) พบว่าอีกสามปีจะมีความความต้องการแรงงานด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพอีกมากถึง 2.28 แสนราย****
เราถามนักศึกษาว่าถ้าอีกหน่อยประเทศไทยไม่เปิดเสรีกัญชาแบบแคนนาดา หรือ โคโลราโด จะทำยังไงต่อ?
“อาจจะทำแบบพวกคราฟต์เบียร์ แต่เป็นผลิตกัญชาที่มีฐานผลิตอยู่เมืองนอกแล้วนำส่งเข้ามาในไทยให้ถูกกฎหมาย
ถ้าสมมติเค้าไม่ให้เราทำในประเทศไทยแล้ว หรืออนุญาตให้ใช้แค่ทางการแพทย์ ยังไงก็ตามเราก็จะหาทางให้ได้ทำในสิ่งที่เราชอบให้ได้” เนตร ผู้ศึกษาเรื่องกัญชามานานกว่า 5 ปีก่อนตัดสินใจสมัครเข้าเรียนคณะนวัตกรรมเกษตร ภาควิชากัญชาศาสตร์
“อย่างในสังคมเรา เหล้า เบียร์ บุหรี่ มันไม่ดีต่อร่างกายถึงวันนึงเราก็ต้องเลิกไปเพราะมันไม่ดีใช่ไหม”
ฟังแล้วรู้เลยว่านักศึกษาจะพูดว่าอะไรต่อ เราเลยรีบเสริมขึ้นมาก่อนนักศึกษาจะแย่งตอบว่า ‘เพราะกัญชามันดี มันเป็นยา’ เลยถามต่อว่า ยังไงทุกคนก็ยังจะไม่เลิกสนใจเรื่องนี้กันง่าย ๆ ใช่ไหม ?
ทุกคนหัวเราะลั่นออกมาอีกครั้ง บรรยากาศการพูดคุยเริ่มเพิ่มระดับความครื้นเครงมากขึ้นเรื่อย ๆ เดาจากสายตาและน้ำเสียงแล้วดูเหมือนว่าจะไม่น่าจะเลิกสนใจเร็ว ๆ นี้แน่
ตอนนี้เราไม่รู้ว่าในอนาคตกฎหมายจะควบคุมกัญชาไปทางไหน จะรัดกุมกว่านี้หรือว่าจะเปิดเสรีถึงการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ (recreational use) เรื่องนี้ยังไม่เคยมีใครออกมาคุยกันอย่างเปิดเผย
สถานะทางกฎหมายปัจจุบันมีเงื่อนไขของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องข้อกำหนดการนำเข้ากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการรักษาผู้ป่วย
กำหนดให้นำเข้าได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์ และจำกัดให้ทำได้ภายในระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้ถูกใช้บังคับ ยกเว้นกรณีหน่วยงานของรัฐ ผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศ หรือผู้มีวัตถุประสงค์ดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยและพัฒนา
ไม่รู้ว่าหลังจาก 5 ปีนี้จะมีประกาศอะไรเพิ่มเติมบ้าง ทำให้ทุกคนต่างไม่รู้ว่าอนาคตกฎหมายกัญชาจะเป็นยังไง ผู้ประกอบการหลายรายที่สนใจปลูกกัญชาทำยารักษาโรคก็ต้องพับเอกสารกลับบ้านไปกันเป็นแถว
ถึงรู้ว่ามันเสี่ยง แต่นักศึกษาและบุคคลภายนอกที่สนใจกัญชาก็ยังขอต่อสู้เรื่องนี้ต่อไป เนตรบอกกับเราก่อนจากกันว่าอยากทำเรื่องกัญชาต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
เราอยากรู้ว่าอีกหน่อยรัฐบาลจะต่อยอดคนที่มีความรู้ด้านนี้ไหม เพราะเห็นว่าที่ประเทศแคนาดาเค้าผลิต THC Infused Drinks กันแล้ว บริษัท Coca Cola ยังมาสนใจผลิตน้ำโค้กผสมกัญชาเลย*****
ถ้าประเทศไทยเปิดเสรีกัญชาได้ถึงระดับสันทนาการ อีกหน่อยประเทศเราคงมีชานมไข่มุกกัญชา หรือไม่ก็จิ้มจุ่มน้ำซุปกัญชานะ
กัญชาจำเป็นสำหรับมนุษย์เราขนาดนั้นเลยหรอถึงกับต้องมาเรียน ? เราถามนักศึกษาด้วยความสงสัย
“มันไม่ใช่แค่กัญชา มันคือทุกอย่าง ร่างกายคนเราต้องการสารอะไรที่หลายหลาย เหมือนกันกับพวกวิตามิน แต่อย่างกฎหมายก็ออกมาเพื่อบังคับ เพื่อควบคุมพฤติกรรม มันก็อยู่ที่เค้ามองมันยังไง อย่างตอนนี้เค้าก็อาจจะมองมันไม่ดีกัญชามันเลยผิดกฎหมาย” ทุกคนพยักหน้าเห็นตรงกันกับคำพูดของเพื่อน
กลับเข้าสู่เรื่องกัญชาทีไร นักศึกษายิ่งอยากคุยต่อมากขึ้นทุกที ทุกคนมีสิ่งที่อยากจะเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับกัญชาเต็มไปหมด ถ้าหนีไม่พ้นก็คงเป็น…เรื่อง..นั้น..กัญ (ทำตาวิ้งขวาให้หนึ่งที)
ระหว่างทางกลับบ้านเราบังเอิญพบกับพรีมที่ใต้ตึกคณะ พรีมบอกกับเราว่าวิชากัญชาเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาอยากนอนเร็วและตื่นขึ้นมาให้ทันเรียนทุกครั้งที่อาจารย์สอน เค้าถึงกับวางแผนการนอนเพื่อให้ตื่นทันเวลาเรียนผ่าน Zoom
อาจารย์ประณต ผู้ดูแลโรงเรือนยังบอกกับเราอีกว่า “นี่เด็ก ๆ เค้าแย่งผมสอน แข่งกันพูด แข่งกันตอบ เค้าศึกษากันมาก่อนสมัครเข้ามาเรียนนานแล้วครับ ฮ่า ๆ” อาจารย์ยิ้มและพูดให้เราฟังด้วยความภูมิใจ
เราเดินจากไปพร้อมความสงสัย… ไม่น่าเชื่อเลยว่าวิชานี้จะมีความหมายกับคนรุ่นใหม่มากขนาดนี้
เมื่อได้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศห้องเรียนกัญชาทำให้เรานึกถึงตัวเองสมัยเรียนที่ไม่กล้าสอบเข้าคณะที่ไม่ใช่วิชาชีพ จึงเลือกเรียนกฎหมายทั้ง ๆ ที่รู้สึกเฉย ๆ แล้วพบว่าเราไม่เคยไฟแรงเท่ากับนักศึกษาวิชานี้เลย จะว่าไปมันก็ดีนะถ้าคนเราได้เรียนในสิ่งที่ชอบ ชีวิตการเป็นนักศึกษาคงจะมีความสุขมาก