ขันลายไทย: ธุรกิจ ประเพณี สงกรานต์
ข่าวการเมืองล่าสุดที่ผมสนใจก็คือข่าวของการ แจกขันที่พิมพ์ข้อความ สุขสันต์วันสงกรานต์ ปีใหม่ไทย ของบิ๊กป้อม พล.. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ว่ากันว่ามีต้นแบบแนวความคิดมาจากการแจกขันของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย

ตอนแรกที่เห็นข่าวก็ขำว่าแค่ขันยังเป็นเรื่องอะไรกันได้อีก!!!

แต่พอลองมานั่งคิดดูดีๆ คนไทยเราก็ผูกพันกับขันอยู่มากพอสมควรนะ จะทำอะไรด้วยกันก็ต้องใช้คำว่า ลงขันจะทำบุญกรวดน้ำก็ใส่ลงขัน หรือสมัยก่อนเราไปบ้านใครก็ใช้ขันมาตักน้ำล้างเท้า ไปจนถึงตักน้ำล้างหน้าแปรงฟัน

แล้วสมัยนี้มันหายไปไหนกันหมดล่ะ?  

อย่าว่างั้นงี้เลย เราไปนัดเจอคนที่เค้าผลิตกันเลยดีกว่า

เราคิดว่าเจ้าของโรงงานตอนนี้น่าจะต้องเป็นคุณลุง คุณตา หรือคุณปู่ แต่ภาพที่เห็นคือชายหนุ่มในชุดโปโลสีขาวทันสมัย

อ้าว .. เดาผิดอีกแล้ว

พอลงจากรถ คุณเอิร์ธหนึ่งในทายาทรุ่นที่สามของโรงงานสุชัยโลหะการ ผู้ผลิตและส่งออกเครื่องครัวอลูมิเนียมลายไทยที่คุยกันปลายสายเมื่อกี๊พาเราไปนั่งคุยกับคุณพ่อด้านในโรงงาน

คุณพ่อของคุณเอิร์ธบอกว่าที่นี่เปิดมาแล้ว 60 กว่าปี ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ เริ่มต้นจากการเห็นร้านทำผมสมัยก่อนเอาอลูมิเนียมมาย่างไฟดัดผม พอเห็นช่องทางก็เริ่มทำสินค้าแล้วเสนอขาย แล้วก็ต่อยอดมาเป็นสินค้าอื่น ๆ

คุณพ่อบอกว่าสมัยก่อนเครื่องครัวทั้งหมดเป็นเหล็กเคลือบเป็นส่วนใหญ่ พออลูมิเนียมเข้ามาก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะความเบา แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ถ้าเอาไปต้มอะไรที่เป็นกรดด่าง อย่างเช่นแกงส้ม หรือพวกของเปรี้ยวๆ มันจะกัดผิวให้เห็นเป็นสีดำ ต่อมาคนถึงหันไปใช้สแตนเลสมากกว่า แต่ก็ยังไม่เยอะมากเพราะแพง จนกระทั่งมีสินค้าจีนราคาถูกมาบุกตลาด

พลาสติกแรกๆไม่กระทบ หลังๆ ช่างเก่งขึ้น ก๊อบปี้สินค้า อย่างพานแว่นฟ้า พานรัฐธรรมนูฐ ไปเป็นพลาสติก มันหลายๆทาง ถ้าเป็นสมัยก่อนมันใช้ตามบ้าน พอของทดแทนเยอะ มันก็ไปที่อย่างอื่นหมด

ฟังแล้วรู้สึกว่าการอยู่รอดของโรงงานผลิตสินค้าลายไทยแบบนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวเจ้าของแค่อย่างเดียว แต่ธุรกิจก็ต้องปรับตัวไปตามเวลาและความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกด้วย

คำพูดของคุณพ่อทำให้ผมนึกได้ว่าเมื่อก่อนเราใช้ขันพวกนี้ในชีวิตประจำวันกันจนไม่ได้รู้สึกว่ามันพิเศษ

กลับบ้านมาก็เจอลอยอยู่ในโอ่งมังกรหน้าทางเข้าไว้ล้างเท้า ตื่นเช้ามาก็มีวางไว้ให้แปรงฟัน ค่ำลงบางบ้านใช้ใส่ข้าวสวยมาเตรียมไว้แบ่งลงจาน ตกดึกก็ตักน้ำอาบก่อนนอน มาเดี๋ยวนี้วิถีชีวิตพวกนี้ก็หายไปพร้อมๆกับขันเหมือนกัน

กลายเป็นว่ากลับบ้านมาก็ถอดรองเท้าใส่ตู้ ถอดถุงเท้าลงตะกร้า ตื่นเช้ามาก็ใช้แก้วบ้วนปาก ค่ำลงสั่งดิลิเวอรี่ที่อยากกินตอนไหนก็ได้ ตกดึกเดินเข้าห้องน้ำเปิดฝักบัวแสนจะสบาย

ยิ่งมาเจอโควิด พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ยิ่งชัด อย่างที่เขาบอกว่ามันจะกลายมาเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ หรือ ‘New Normal’ ซึ่งก็ไม่เกินความเป็นจริง

แล้วกับเทศกาลที่เคยมีทุกปี เราจะต้องเป็น ‘New normal’ ที่จะเปลี่ยนทุกอย่างไปตลอดกาลด้วยหรือเปล่า?

คุณเอิร์ธหันมาถามผมว่า เอ้า คุณคิดว่าของที่มีลายไทย ๆ กับไม่มีลาย อันไหนขายดีกว่ากัน?

ก็ต้องแบบไม่มีลายอยู่แล้ว วางตรงไหนก็ได้

ผิด คำตอบคือแบบมีลายขายดีกว่า คุณเอิร์ธตอบยิ้ม ๆ หยิบแผ่นที่ปั๊มตรานูนขึ้นมาเฉลย

อันที่มีลายขายดีกว่า เพราะถ้าไม่มีลายเค้าไปใช้พลาสติกก็ได้ ส่วนสแตนเลสมันปั๊มลายลำบาก ไม่ค่อยมีคนทำ กลายเป็นว่ายุคนี้ต้องใช้ไปทางวัฒนธรรม ร้านอาหารไทยอะไรแบบนี้ วันก่อนผมไปกินร้านกลางห้างที่มีหลายสาขา เขาก็ยังใช้ของเรานะ

ต้องยอมรับว่าผมไม่เคยคิดในมุมนี้มาก่อ

สมัยก่อนคนไทยซื้อของพวกนี้โดยไม่ต้องรอให้ถึงช่วงเทศกาลด้วยซ้ำ  ถ้าไม่เอาไว้ใช้ ก็เอาไว้ใส่ตู้โชว์ โดยเฉพาะพวกของลายไทยที่ทำจากวัสดุแปลกๆใหม่ๆ เพราะถือว่ามันเป็นของมีราคา ทันสมัย มีแล้วโก้ไม่ซ้ำใคร

แต่ยุคนี้ความคิดของคนเปลี่ยนไป กลายเป็นว่าใครที่ใช้ลายแบบนี้เชย ตกยุค คงเหลือพื้นที่เล็กๆ ให้แสดงถึงรากเหง้า เฉพาะในงานบุญ ร้านอาหาร หรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว

จะว่าแปลกก็แปลก

แต่ถ้ามองให้ลึกเข้าไปถึงสิ่งที่สะท้อนออกมาในสังคมมันก็คงไม่แปลกอะไร

เพราะในเมื่อผู้ใหญ่ในสังคมยังคิดจะเอาของพวกนี้เป็นแค่ ‘สินค้า’ ที่ ‘ขาย’ ฝรั่งต่างชาติได้และมีราคา ส่วนตัวเองก็ไม่ได้ใช้และไม่เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้อีกเเล้ว 

อ้าว ถ้าไปทางนั้น ช่วงสงกรานต์ก็ต้องมีปัญหาสิครับ? ช่วงขายดีเลย” ผมถามต่อ

ก็มีบ้างครับ.. ถูกครึ่งหนึ่ง แต่ความจริงคือลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อของเราไปเตรียมเอาไว้ตั้งแต่ช่วงมกราแล้ว ไล่มาเรื่อยๆจนถึงมีนา ส่วนเมษานี่จะได้เพิ่มอีกแค่ตอนช่วงอาทิตย์ก่อนสงกรานต์เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นถ้าโควิทมาช่วงนี้ จะไปแย่ที่คนขาย ส่วนเราส่งของออกไปแล้วตั้งแต่ต้น  แต่ต้องยอมรับว่ายอดมันตกลงไปเยอะมาก

โชคดีที่ปีนี้ดีขึ้นมาอยู่ช่วงนึง ลูกค้าก็มีออร์เดอร์ เราได้ระบายของสต๊อกปีที่แล้ว  เพราะก่อนหน้านี้มันจมไปกับสต๊อกแล้วก็ค่าแรงที่ต้องจ่ายไป ปกติเราทำงานกันตั้งแต่เจ็ดโมงถึงสี่โมง วันจันทร์ถึงวันเสาร์ แล้วมีโอทีทุกวัน แต่ตอนนี้ต้องคุยว่าโอทีไม่มีแล้วต้องของหยุด พนักงานก็เข้าใจ เพราะเราอยู่กันเป็นเหมือนครอบครัว แต่ละคนก็อยู่มายี่สิบสามสิบปี ถ้าเค้าอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน”
ช่วงประมาณสิบปีหลังมามันจะขายดีเป็นช่วง ๆ แต่ก่อนหน้านี้ไม่มี ขายดีตลอด ของเก่าทำไม่ทัน พอสถานการณ์มันเริ่มเปลี่ยน ผู้ใหญ่ก็เริ่มให้ทำของใหม่ ๆ ทุกครั้งที่เราหาออร์เดอร์ได้ก็เหมือนเพิ่มความน่าเชื่อถือให้เราเองในสายตาเค้า นี่เป็นเหตุผลที่เราต้องเข้ามาช่วยงานตรงนี้ด้วย รับงานที่บ้านมาทำในด้านที่เราถนัดแล้วทำให้มันดีกว่าเดิม

คุณเอิร์ทพาเดินชมโรงงานที่มีทุกคนกำลังทำงานอย่างเต็มที่ เสียงเครื่องจักรดังสลับกันไปมาทุกวินาที เหมือนกับจะตอกย้ำหนักแน่นถึงสิ่งที่ตั้งใจ

ตอนนี้อยากไปต่างประเทศ เราลองขายในเว็บต่างชาติอย่างพวก Etsy ก็พอมีออร์เดอร์อยู่บ้างนะ ถึงจะไม่ได้มาก แต่ก็ถือว่าเป็นการเปิดตลาดโดยที่เราไม่ต้องลงทุนมาก 

ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ต้องไปออกงานพวกเทรดแฟร์ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่าย ยุคที่อากงทำนี่มีคนเอาไปเสนอตะวันออกกลาง ขายดีมากเลย ด้วยขนบทางนั้นเค้าก็ชอบลวดลาย ชอบดีไซน์ แต่พอเจอสงครามก็หยุดไปแล้วเราก็ไม่ได้ทำตลาดต่อเอง แต่เท่าที่ผมรู้ทุกวันนี้ก็ยังนิยมอยู่ อย่างทางเอเชีย ลาว เขมร พม่า งานบุญเค้ายังมีอยู่เยอะ ด้วยเทคโนโลยีที่มีในมือก็ทำให้คิดว่าไปได้นะ

การมาคุยกับคุณเอิร์ธวันนี้ทำให้ผมมองสินค้าพวกนี้เปลี่ยนไปจากเดิม

ถ้าสินค้าพวกนี้เป็นสินค้าลายไทย เคยถูกผลิตมาเพื่อคนไทย และใช้ในประเทศเป็นหลัก ถึงขนาดที่ว่าทำไม่ทันขายโดยไม่ต้องพูดถึงหน้าเทศกาล แต่ทุกวันนี้กลับขายได้น้อยลง 

ช่วงสงกรานต์ซึ่งควรจะเป็นเวลาของการเพิ่มยอดขายกลับกลายเป็นความเงียบเหงา และต้องคอยลุ้นกันเฉพาะหน้า จนต้องหวังพึ่งการสั่งซื้อจากประเทศรอบข้างทียังใช้ของเหล่านี้ในงานบุญ รวมไปถึงเทศกาลใกล้เคียงกับสงกรานต์ของบ้านเราซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมร่วมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างในพม่า ลาว เขมร ที่จัดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันและคงประเพณีดั้งเดิมเอาไว้  

ถ้าขันคือตัวแทนของวัฒนธรรมที่กำลังหายใจแผ่วๆ แทนที่จะปล่อยให้มันค่อยๆหมดลมหายใจไปเอง หรือรอให้คนอื่นมาช่วยใส่เครื่องอ๊อกซิเจนเมื่อเปิดประเทศ 

เราลองกลับมาออกกำลังกาย แล้วสูดอากาศให้เต็มปอด เปลี่ยนพฤติกรรม ‘New Normal’ แบบใหม่ โดยการกลับไปซื้อและใช้ขันแบบเดิมโดยที่ไม่ต้องรอให้ใครแจกกันไหมครับ? 

Loading next article...