“ส้วม” ก็คือส้วม ไม่ใช่ “ถังขยะ”
“สิ่งปฏิกูล” “มูล” “อุจจาระ” หรือ เรียกกันง่าย ๆ ว่า “ขี้” (ขออภัยครับอดไม่ได้ด้วยความชิน) คือสิ่งที่ต้องทิ้งลงไปในส้วม
แต่ถ้าทุกคนยังเห็นส้วมเป็นถังขยะอยู่ ยังไงส้วมก็ยังตัน
นี่คือปลายทางของ “ขี้” ที่มีขยะเข้ามาผสม ทั้ง ๆ ที่ปลายทางของ “ขยะ” ควรจะอยู่ที่โรงกำจัดขยะ
นี้คือเรื่องราวการเดินทางของทุกครั้งที่คุณ “กดชักโครก”
[End Of The Line | ปลายทางของ… ] เป็นซีรีส์ที่จะพาพวกเราไปพบปลายทางของสิ่งธรรมดา ๆ รอบตัวเรา แต่เมื่อเราไม่เห็น ‘ปลายทาง’ ของสิ่งเหล่านี้ เราอาจจะลืมอะไรบางอย่างไปได้
สายน้ำสีน้ำตาลเข้มที่ข้นคลั่กไหลออกมาด้วยความแรง เมื่อกระทบกับตะแกรงที่เอากรองเศษขยะออก สายน้ำก็กระจายออก กระเซ็นไปทั่วบริเวณ และแน่นอนเมื่อเราก้มหน้าลงมอง ก็เลอะขากางเกงเราด้วย
แม้แต่เราที่ปกติไม่กลัวเลอะ ก็ยังแอบรู้สึกแหยง ๆ กับภาพตรงหน้า ส่วนกลิ่น ถ้าเทียบกับโรงกำจัดขยะ กลิ่นที่นั่นจะเหม็นแหลม ๆ เหม็นแทง ๆ ทะลุจมูก ส่วนกลิ่นที่อยู่รอบ ๆ คือกลิ่นที่เหม็นแบบลุ่มลึก ไม่กระแทกจมูกแต่เหม็นนาน และคลุ้งไปทั่ว
แต่ที่เราต้องมาดูอะไรเหม็น ๆ พวกนี้ก็เพราะหลายครั้งที่ส้วมตันมักเกิดจากการใช้งานที่ผิดวิธีไม่ว่าจะเป็นเพราะการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเพราะความขี้เกียจก็เถอะ
สิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราตอนนี้คือภาพของรถขนถ่ายสิ่งปฎิกูล (ที่หลังจากนี้จะขอเรียกว่ารถดูดส้วม) กำลังระบายสิ่งปฎิกูลออกมาที่โรงงานกำจัดสิ่งปฏิกูล เพื่อจะนำสิ่งปฏิกูลเข้าไปบำบัด… เห็นแบบนี้ ตอนหลังน้ำที่บำบัดเสร็จนี่ใสแจ๋วเลยนะ
อ่านเรื่องโรงกำจัดขยะต่อที่นี่:
ย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า เรานัดกับทีมรถดูดส้วมที่มาดูดส้วมในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ทันทีที่รถถอยเข้ามา พี่ ๆ ทีมงานก็จัดแจงลากสายยางออกจากรถไปยังบ่อเก็บสิ่งปฏิกูล พี่ ๆ เล่าให้ฟังว่ารอบนี้เป็นงานง่าย เพราะรถเข้าไปใกล้บ่อได้ ทำให้ไม่ต่อสายยางที่เส้นนึงยาว 30 เมตร แถมบ่อยังอยู่ด้านล่างอีกด้วย
“ที่นี่ง่ายสุด” พี่ทีมงานคนนึงบอกเราบนโต๊ะอาหารหลังจากจบภารกิจ
“อ้าวเหรอ นี่คือง่ายสุดแล้วใช่มั้ย”
“ยาก ๆ ขอบอก ต้องบนตึกนู่น ต้องลากสายยาว”
“บนตึกเลยอะนะพี่ คือหลายชั้นอย่างงี้เหรอ?”
“อย่างเช่นใบหยก”
“อ๋อ… บ่ออยู่ชั้นไหนอะพี่”
“ชั้นที่ 12”
“โห เรารถจอดอยู่ข้างล่างแล้วก็ลากสายขึ้นไป ขึ้นไปทางบันไดหนีไฟงี้เหรอพี่?”
“ไม่ครับขึ้นหน้าต่างเลย” พี่เขาตอบกลับมาด้วยท่าทีภูมิใจ
ความยากของงานนี้นอกจากจะเป็นการพารถคันใหญ่ที่สูง 2.5 เมตร เข้าไปให้ใกล้บ่อที่สุดแล้ว ยังต้องเจอกับความข้นของสิ่งปฏิกูลในบ่อ
ในกรณีที่มันทับถมกันมานาน และยังต้องเจอกับสิ่งแปลกปลอมทั้งขยะต่าง ๆ และก้อนไขมันที่นอกจากจะทำให้ส้วมตันแล้ว ยังทำให้สายยางตันอีกด้วย ทำให้ทางทีมงานต้องคอยยกปลายสายขึ้นมาดูบ่อย ๆ ว่าอะไรเข้ามาอุด
นี่คือขยะที่เหลืออยู่บนตะแกรงหลังจากเทน้ำสิ่งปฏิกูลลงบ่อเพื่อเตรียมบำบัดไปแล้ว ขยะพวกนี้เลอะมาก ๆ เเค่เห็นก็สงสารคนที่ต้องรีไซเคิลขยะพวกนี้แล้ว
ถ้าลองมองดี ๆ เหมือนว่าตรงกลางจะเป็นผ้าอนามัยหรือไม่ก็แพมเพิร์ส เราก็ไม่มั่นใจ เพราะทำได้แค่สังเกตอยู่ห่าง ๆ คงไม่อาจหาญหยิบขึ้นมาพิจารณาดู
ส่วนบนโต๊ะอาหารตอนนี้ พี่ ๆ เล่าว่าเจอทั้งกางเกง ผ้าห่ม แม้แต่กระดูกไก่ก็เคยเจอ
“กระดูกคนมีมั้ยพี่” เรานึกสนุก เลยลองถาม
“มี ๆๆๆ” พี่วิชาญและสมาชิกในทีมดูจะตื่นเต้นที่ได้เล่าเรื่องนี้ สังเกตได้จากน้ำเสียงที่เปลี่ยนไป
“ด้วยขนาด มันดูออกเลยมั้ยว่าเป็นกระดูกคน” เราถาม
“ไม่รู้อยู่ในแผนงานตัวนี้รึเปล่า” พี่วิชาญก็กลัวตัวเองจะพูดนอกเรื่อง แต่ก็เล่าต่อเสริมมาว่าตัวเองเคยไปช่วยทำคดีแนว ๆ ฆ่าแล้วหมกศพไว้ในส้วม โดยใช้รถดูดส้วมของที่นี่ไปช่อยทำ โดยดูดส้วมขึ้นมาแล้วมากรองสิ่งแปลกปลอมออกจนเจอกระดูก เห็นว่าเป็นคดีดังราว ๆ ปีพ.ศ. 2537 2538
“เค้าก็จะบอกว่าห้องน้ำเต็ม แต่จริง ๆ แล้วมันไม่เต็มหรอกมันตัน” พี่วิชาญหันมาพูดกับเราอีกครั้งบนโต๊ะอาหาร
เราเข้าใจมาตลอดชีวิตเกือบ 30 ปี ว่าที่ต้องมาดูดส้วมเพราะว่าส้วมเต็มบ่อ จนกระทั่งพี่วิชาญบอกว่า บ่อไม่ได้เต็ม “แต่มันตัน” เลยต้องมาสูบออก แถมยังบอกว่าถ้าระบบดี 20-30ปี ก็ไม่ต้องมาดูด
ซึ่งส่วนมากก็มักจะตันจากขยะต่าง ๆ ที่ถูกทิ้งลงมาจากส้วม ให้จินตนาการว่ามีบ่อพักสิ่งปฏิกูล ซึ่งมีทั้งท่อที่ลงมาจากโถส้วม และท่อที่ปล่อยออกจากบ่อเพื่อเข้าไปยังระบบบำบัด บางทีท่อลงมันจะลงได้ แต่ท่อออกมันตัน เพราะการทิ้งแบบไม่เลือก บางคนอาจจะคิดว่าเมื่อกดชักโครกไปแล้ว ทุกอย่างที่กดลงไปจะหายไป แต่จริง ๆ มันก็เข้าไปกองรวมกันอยู่ใต้พื้นบ้านนั่นแหละครับ ถ้าไม่ตันก็โชคดีไป แต่ซักวันนึงก็คงจะตัน
เมื่อสิ่งปฏิกูลในบ่อมีความข้นเกินไปจนดูดไม่ขึ้น ทีมงานจะต้องฉีดน้ำเข้าไป และเอาไม้มากวนเพื่อให้ผสมกันและมีความเหลวมากขึ้น
ในภาพนี้คือก้อนไขมันที่จับตัวมาจากการล้างจานและการทำอาหาร โดยเฉพาะ ครีม เนย และน้ำมัน เมื่อนานวันเข้าก็จะจับตัวกลายเป็นก้อนแข็ง ๆ เป็นอีกหนึ่งปัญหาในการอุดตันของท่อ ซึ่งพี่ ๆ ก็บอกว่า เรื่องนี้ดูเป็นปัญหาที่เกินจะแก้ไข เพราะทุกคนก็ต้องกินต้องมีการทำอาหาร เพียงแต่ในระบบบ้านสมัยใหม่ จะต่อท่อแยกระหว่างถังบำบัดสิ่งปฏิกูลจากชักโครก และถังดักไขมันจากซิงค์ล้างจาน
“ก็คือ คือตอนนี้จากเดิมตั้งแต่ 10 ปีก่อนเนี่ยปริมาณสิ่งปฏิกูลที่เข้ามาเนี่ยมัน มันมีปริมาณค่อนข้างเยอะกว่า กว่าตอนนี้นะคะ เพราะว่าแต่ตอนนี้ปริมาณเหลือประมาณ 200 200 กว่าคิวต่อวันเอง ซึ่งจริงๆแล้วซึ่งจริงๆแล้ว ซึ่งจริงๆแล้วเนี่ยสมัยก่อนนั้นน่ะมันอยู่ถึง 350 400 คิวต่อวันเลย” พี่อ๋อ หนึ่งในทีมงานดูแลโรงงานบำบัดสิ่งปฏิกูลบอกกับเรา
* 1 คิว (คิวบิกเมตร) = 1 ลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 1 ตัน
สายยางสำหรับสูบสิ่งปฏิกูลที่แต่ละเส้นยาว 30 เมตร กำลังถูกใช้สูบสิ่งปฏิกูลขึ้นมา ในภาพคือทีมงานฉีดน้ำเข้าไปผสมในถังเพื่อทำให้มีความข้นน้อยลง ก่อนจะสูบขึ้นมาใส่รถ
ทุกคนทำงานกันอย่างใจเย็น ภายใต้แสงแดดที่เริ่มแรงในเวลาสายใกล้เที่ยง อากาศร้อนอบอ้าวกับกลิ่นเหม็นดูเหมือนจะทำให้งานนี้ยิ่งน่าอภิรมย์น้อยลงไปอีก
ทางต้นทางมีการยกปลายสายขึ้นมาดูเรื่อย ๆ เพราะมักจะมีอะไรเข้ามาอุดอยู่บ่อย ๆ ส่วนปลายสายก็ถูกแหย่ลงไปในถังจากด้านบน เอาฝาปิด และมีคนนั่งทับฝาเอาไว้อีกที เพราะรอบนี้เป็นบ่อเล็ก กระบวนการทั้งหมดเลยไม่นานมาก แค่ประมาณ 2 ชั่วโมงก็เสร็จสิ้น แต่เห็นว่าบางที่นี่ต้องดูดกันจนบ่ายจนเย็น
โถส้วมคือโถส้วม ไม่ใช่ถังขยะ ถ้าเราทำเหมือนกับโถส้วมเป็นถังขยะ ยังไงส้วมก็ตัน
บรรยากาศในโต๊ะอาหารดูเหมือนจะเป็นการคุยเล่นมากกว่าการนั่งสัมภาษณ์กันไปมาอย่างทางการ ทุกคนก็ดูสนิทสนม พูดคุยหยอกล้อกันดี
“รสชาติมันเป็นยังไงนนท์ รสชาติเป็นไง?”
“แล้วที่พี่ถุย ถุยออกมา…” ทุกคนรวมทั้งพี่วิชาญ บนโต๊ะหันไปแซวลูกทีมคนที่พูดน้อยที่สุดในโต๊ะ หัวเราะกันดังลั่นก่อนี่พี่วิชาญจะตัดบทหันมาบอกเราว่า
“ใช่ สายใหญ่ที่คุณขึ้นไปถ่ายรูปน่ะ มันสะบัดแรงนะ วันนั้นหลุดกระจายหมดเลย ถึงต้องนั่งทับและผูกไว้ไง เพราะเวลาพ่นออกไปแล้วแรงมันมหาศาล แรงมันประมาณ 4 เท่าตัวของการสูบนะครับ ถ้ากระเด็นขึ้นมาบางทีก็เข้าจมูก เข้าหน้า เข้าปากเราถ้าเราไม่เซฟตี้ แล้วถามว่าพอเข้าปากเนี่ยมันก็ต้องมีรสชาติอยู่แล้วปะ คนเราอะ…. รสชาติมันเป็นยังไง?” พี่วิชาญยังไม่วายหันไปคุยต่อ
“โดนลิ้นเปล่า? โดนลิ้นไงพี่ โดนเปล่า ๆ ?” เสียงอีกคนบนโต๊ะอาหารแทรกขึ้นมา
“… ไม่โดน ไม่ได้… ไม่ได้ ไม่ได้เข้าลิ้นโดนหน้าเฉย ๆ แต่ไม่ได้ ไม่ได้…” พี่ที่พูดน้อยที่สุดตอบมาอย่างอึกอัก
หนึ่งในทีมงานกำลังเก็บไม้ที่ดูเหมือนพลั่วยาว ๆ ที่ข้างรถ หลังจากถูกใช้เป็นที่แซะและกระทุ้งอะไรก็ตามที่ติดกันเป็นก้อนภายในบ่อเก็บสิ่งปฏิกูล ก่อนจะขับรถเอาสิ่งที่สูบขึ้นมาได้ไปปล่อยออกที่โรงกำจัดสิ่งปฏิกูล
หลังระบายน้ำสิ่งปฏิกูลออก ด้านบนของตะแกรงกรองขยะก็เหลือเพียงเศษขยะและคราบสิ่งปฏิกูลที่ปนเปื้อน ซิ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ส้วมตัน
เมื่อไม่กี่วันก่อนพี่ ๆ ไปดูดส้วมมาที่แฟลตแถวบ่อนไก่ คือนอกจากสิ่งปฎิกูลแล้วก็ยังเจอขยะอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น เส้นผม คัดตอนบัด ซองมาม่า ซองขนม ถุงแกง กระดูก และอีกมากมาย
“มันไม่ใช่สิ่งปฏิกูลมันคือขยะ ถุงพลาสติกอะไรหยั่งงี้เต็มไปหมด หูวว สกปรกมาก”
“ทิ้งเศษอาหารทิ้งอะไรลงไปในนั้นหมดเลย ถือว่าเป็นถังขยะของเค้าเลยแหละ” ทุกคนบนโต๊ะอาหารพยักหน้า ลงมติเห็นด้วย ว่าขยะควรอยู่ส่วนขยะ สิ่งปฏิกูลควรอยู่ส่วนสิ่งปฏิกูล ไม่ควรเอามารวมกัน เพราะนอกจากจะทำให้ส้วมตันแล้ว ยังทำให้การบำบัดสิ่งปฏิกูลและการรีไซเคิลขยะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
“ส้วม” ก็คือส้วม ไม่ใช่ “ถังขยะ”
ในภาพนี้จะเห็นได้ว่าบางอย่างก็ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนทิ้งลงไปในโถส้วมจริง ๆ พี่วิชาญ หนึ่งในทีมงานเล่าว่าทุกวันนี้ก็ยังเจอขยะ เช่น ผ้าอนามัย ถุงยางอนามัย ทิชชู่เปียก ผ้าไม้ม็อบ
ส่วนถ้าจะทิ้งทิชชู่ก็ต้องเป็นแบบ Toilet Tissue ซึ่งจะผลิตด้วยเส้นใยสั้น ๆ ทำให้แตกตัวเมื่อโดนน้ำ จะไม่เหมือน Facial Tissue ที่ใช้สำหรับเช็ดหน้า และ Paper Towel สำหรับใช้ในครัว เพื่อซับน้ำมันจากอาหาร เพราะพวกนี้จะมีเส้นใยที่เหนียวกว่า ทำให้ท่ออุดตันได้ *
เราได้มีโอกาสเข้าไปดูภายในโรงงาน โดยมีพี่อ๋อ ที่เป็นผู้ควบคุมและดูแลโรงงานพาเข้าไป พร้อมกับอธิบายกระบวนการให้ฟัง
พี่อ๋อเล่าว่าหลังเทน้ำสิ่งปฏิกูลผ่นตะแกรงไปแล้ว น้ำสิ่งปฏิกูลก็จะเข้าไปอยู่ในบ่อเก็บน้ำใต้โรงงาน ที่มีความจุประมาณ 900 คิว หลังจากนั้นจะถูกแยกกากให้เหลือแต่น้ำเหลว ๆ และนำกากมาแยกต่อ เพราะมักจะมีเศษหินเศษปูนจากบ่อสูบปนมาด้วย นอกจากนั้นสิ่งที่เป็นปัญหาหลักสำหรับการบำบัดคือเมล็ดพริก ซึ่งเมล็ดพริกนี่ก็จะต้องผ่านเครื่องแยกเมล็ดพริกโดยเฉพาะ
เมื่อแยกทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยน้ำก็จะถูกส่งไปยังบ่อบำบัด ส่วนพวกกากใยต่าง ๆ ก็จะถูกนำไปฝังกลบ
กากใยและเมล็ดพริกกำลังไหลไปตามสายพานที่ปลายทางคือกระบะหลังรถขยะที่จะออกเดินทางไปโรงขยะในช่วง 5 โมงเย็น ของทุก ๆ วัน
“เมล็ดพริกนี่มันเป็นปัญหาบ้างมั้ยครับ ทำไมถึงต้องเอาเมล็ดพริกออก โดยเฉพาะเลย
“เมล็ดพริกเนี่ย เวลามัน…เข้าไปอยู่ในระบบบำบัดน้ำเสียแล้วอ่ะมันลอย มันลอยหน้า พอมันลอยหน้าแล้วเนี่ยต่อให้ผ่านขบวนการบำบัดยังไงแล้วมันก็เอาออกไม่หมด สุดท้ายในการบำบัดน้ำเสียเสร็จแล้วเนี่ยมีเมล็ดพริกลอยออกไปเนี่ย มันก็ ไม่..ไม่ทำให้เค้าเรียกอะไร คุณภาพมันไม่ ไม่สวยงามด้วย
“สมมติถ้ามันเป็นบ่ออย่างนี้ ในต่างประเทศที่เค้าไม่ค่อยกินเผ็ดกันก็จะไม่มีปัญหานี้หรือเปล่าครับ”
“มันก็อาจ เอ่อใช่ เขาอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเครื่องจักรที่เรามีไว้สำหรับแยกเม็ดพริก อันนั้นน่ะ”
ประเทศไทย ดินแดนที่คนส่วนมากรักในรสเผ็ดก็จะเป็นจะต้องมีเครื่องจักรเฉพาะในการกรองเมล็ดพริกออกมา ซึ่งจะมีลักษณะเป็นสายพานคอยตักเมล็ดพริกขึ้นมาจากน้ำสิ่งปฎิกูล
เมล็ดพริก อีกหนึ่งปัญหาในการบำบัดสิ่งปฏิกูล
แต่ว่าขอโทษด้วยครับ เพราะเราชอบกินอาหารเผ็ดสุด ๆ เลย
หลังน้ำสิ่งปฏิกูลผ่านเครื่องแยกขยะเสร็จแล้วก็จะถูกส่งไปที่บ่อเพิ่มความเข้มข้น ซึ่งจำเป็นที่พักน้ำ ให้น้ำตกตะกอน เมื่อมีตะกอนข้น ๆ นอนก้นบ่อ ก็จะนำตะกอนกลับไปกำจัดที่เครื่องรีดตะกอน ซึ่งจะรีดตะกอนออกมาเป็นแผ่น ๆ และนำไปใช้เป็นปุ๋ยต่อไป
ส่วนน้ำด้านบนที่ไม่มีตะกอนก็จะส่งมาเติมสารเคมีในอีกบ่อ เพื่อทำการบำบัด (บ่อในภาพ) ก็จะมีทั้งการเติมสารส้ม ใช้ตัวกวนเร็ว กวนช้า เพื่อทำให้รวมกัน หลังเติมสารส้มก็จะเข้าไปที่บ่อเติมอากาศ ซึ่งคือการใช้ออกซิเจนในการเลี้ยงจุลินทรีย์ ซึ่งจุลินทรีพวกนี้ก็จะกินพวกสิ่งสกปรก หลังจากนั้นก็จะนำไปกำจัดสีกำจัดกลิ่น และเติมคลอรีน
“นี่คือพร้อมปล่อยแล้วเหรอครับ?” เราถาม เมื่อพี่อ๋อพาเดินมาจนสุดทาง
เอ่อ… ใสกว่าที่คิดเยอะเลย แทบไม่อยากจะเชื่อสายตาตัวเอง น้ำพวกนี้มาจากสายน้ำสีน้ำตาลเข้มตอนแรกเหรอเนี่ย… มะ… มันใสกว่าที่คิดเยอะเลยนะเนี่ย แต่มันมาจาก… ขี้ (ขอโทษครับ…) จะใช้ได้จริง ๆ ใช่มั้ยนะ แถมมีกลิ่นนิดนึงด้วยแต่อาจจะเป็นกลิ่นจากคลอรีน นี่คือสิ่งที่เราคิดในใจ
“ใช่ค่ะ ๆ น้ำพวกนี้ 70% จะถูกนำไปใช้หมุนเวียนล้างเครื่องจักรล้างถนนล้างอะไรพวกนี้เป็นน้ำ Reuse ของที่โรงงาน ส่วนที่เหลือก็คือเราจะปล่อยลงคลอง เราจะมีคลองสาธารณะอยู่ด้านข้างเนี้ยค่ะ ซึ่งก็ที่โรงงานก็จะมีเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ คอยเก็บน้ำไปวิเคราะห์ให้ผ่านคุณภาพ เพราะว่าทางกรุงเทพมหานครเขาจะมีมาตรฐานให้เราควบคุมปฏิบัติตาม” พี่อ๋อพูดปิดท้าย
สุดท้ายแล้วทางโรงบำบัดสิ่งปฏิกูลก็ดูจะทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่จะดีกว่ามั้ยที่การดูดส้วมจะเป็นไปตามวาระเมื่อครบกำหนดมากกว่าที่จะต้องให้พวกพี่ ๆ เค้าวิ่งดูดส้วมไปทั่วเพราะยังมีบางคนคิดว่า ส้วม = ถังขยะ ซึ่งจริง ๆ ส้วมก็คือส้วม และสิ่งแปลกปลอมที่ทิ้้งลงไปก็ไม่ได้หายไปไหน แต่มันกำลังรอผนึกกำลังกำให้ส้วมที่บ้านคุณ “ตัน” ในสักวันหนึ่ง
อ้างอิง
* https://today.line.me/th/v2/article/voGjB3