พี่โน้ต Dudesweet ปาร์ตี้เต็มที่สุดเหวี่ยงต่อเนื่องมา 20 ปี กว่าปี…
พอได้นั่งคุยกัน ดูเหมือนคำว่า introvert extrovert หรืออะไรหลาย ๆ อย่าง มันไม่อยู่ในพจนานุกรมของชีวิต พังก์ ๆ 90s ของเค้าด้วยซ้ำ
2022 จะเป็นปีสุดท้ายของ Dudesweet เพราะเด็กที่เกิดปีตอนจัดปาร์ตี้ปีแรกกำลังจะเข้าผับได้แล้ว โลกมันเปลี่ยนไปแล้วแต่…
millenials ทั้งหลายจ๊ะ เราเรียนรู้อะไรบ้างจากการใช้ชีวิตในแบบฉบับ พังก์ ๆ ในยุค 90s?
สิ่งที่เราค้นพบระหว่างสนทนากับพี่โน้ตคือความแตกต่างระหว่าง generation ขณะที่วัยรุ่น 90s ไม่มีเน็ตให้เล่น เลยขยันออกจากบ้าน ใครอยากหาแฟนก็ต้องออกมาเที่ยว ส่วนเด็กรุ่นใหม่โตมากับจอโทรศัพท์ และ ชอบอยู่บ้าน
“ถ้าให้เทียบ energy ของยุคตอนผมเป็นวัยรุ่นกับยุคนี้ ก็คงเป็นสีแดงกับสีเทา”
พี่โน้ตอธิบายต่อ ว่าสีแดงหมายถึงความโวยวาย เกรี้ยวกราด ส่วนสีเทาหมายถึงความเรียบง่าย รอบคอบ อย่างการแต่งตัวก็จะไปทางมินิมอลกันมากขึ้น ประโยคนี้มีความหมายดีมากนะ มันสะท้อนความแตกต่างของวัยได้ชัดดี ทำให้เรานึกย้อนไปถึงชีวิตตัวเองที่เกิดในยุค 90s ที่โตมากับการไม่มีสมาร์ทโฟนไม่มีเน็ตให้เล่น อยากรู้จักใครหรือเรียนรู้อะไรก็ออกไปข้างนอกเพื่อไปทดลองเองให้ได้รู้คำตอบ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมคนรุ่นก่อนจะเป็นสีแดง เพราะมันหมายถึงความกล้าทำทุกอย่างนั่นเอง
แบบนี้ Dudesweet เป็นปาร์ตี้สำหรับ Extrovert ไหม ?
“เบื่อคำหมวดนี้มากเลยว่ะ ไอ้ introvert, extrovert อะไรเนี่ย”
โอเค เปลี่ยนคำถามก็ได้ งั้นพี่โน้ตคิดว่าคนรุ่นนี้กับรุ่นพี่ต่างกันยังไง ?
“ผมรู้สึกว่าคนยุคนี้คออ่อน วันก่อนมีน้องนักเขียนส่งบทความมา ท่อนนึงเขาเขียนว่า ‘…ถึงตอนนั้นผมก็เมาแล้ว เพราะกินเบียร์ไปสามกระป๋อง’ ผมก็คิดว่า เชี่ย…มันแดกสามกระป๋องมันเมาแล้วว่ะ ผมนี่ปกติสามกระป๋องคือกินระหว่างรอ Grab นะ”
เออ ก็จริง ช่วงหลังเพื่อนๆ เราก็เป็น (หรือบางทีตัวเองก็เป็น) ดื่มเหล้าน้อยลง เพราะเทร็นด์รักษาสุขภาพมันมาแรง
บริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป: คนสนใจวัตถุนิยมกันมากขึ้น
ปาร์ตี้ต่างประเทศก็กำลังประสบกับปัญหาเดียวกัน บทความของ The Guardian กล่าวว่ากระแสปาร์ตี้กำลังลดลง เพราะการเข้ามาของ Tinder และ Spotify วัยรุ่นอังกฤษบางคนยังบอกว่าจะไปปาร์ตี้มืดๆ ทำไม Selfie ออกมาก็ไม่สวย*
อย่าง Dudesweet เองก็เผชิญกับเรื่องราวที่คล้ายกันคือคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยออกนอกบ้าน กับ มีปาร์ตี้อื่นที่วัยรุ่นอยากไปมากกว่า เพราะคนจัดเป็นวัยเดียวกันมากกว่า
“ผมก็เห็นปาร์ตี้สมัยใหม่เค้าก็สนุกสุดเหวี่ยงกันนะ แต่ไม่ใช่กับเพลง [อินดี้ร็อก] แบบเราแล้ว คือถ้าเมื่อไหร่ที่ได้ยินคำว่า ‘ร็อกไม่มีวันตาย’ บ่อยๆ แสดงว่าร็อกยังไม่ตาย แต่โคม่าเต็มที”
คิดมาได้สักพักหนึ่งเหมือนกันว่าวงร็อกกำลังจะตาย หมายถึงมันอาจจะไม่ใช่กระแสหลักอีกต่อไป ตอนนี้มันคงเป็นยุคของ Lo-fi Hip-hop Pop เพลงฟังง่าย ๆ ปาร์ตี้เพลงร็อกแบบ Dudesweet ก็คงจะไม่ใช่แนวที่คนรุ่นใหม่อยากจะมาสักเท่าไหร่
อีกเรื่องที่เรามองเห็นผ่านคำพูดของพี่โน้ต คือเรื่องความสุขของคนส่วนใหญ่ที่เกิดจากการได้ซื้อของ ความเป็น วัตถุนิยม มันชักจะเริ่มกลืนกินทุกคนมากขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วมันก็ตรงกันข้ามกับ message ของ ปาร์ตี้ Dudesweet ที่เราคิดว่าผู้จัดต้องการจะเป็นกบฏต่อโลกแบบทุนนิยม มาถึงวันนี้ก็คงต้องยอมรับว่า Dudesweet ไม่บูมเท่าแต่ก่อนแล้ว
“ผมให้คุณค่าความล้มเหลวกับความสำเร็จเท่ากัน ผมไม่เคยอายจะพูดว่าปาร์ตี้เราถึงขาลง ห้าปีที่ผ่านมาก็พูดบ่อยๆ คือถ้าอยากให้มันขึ้น ก็ต้องรู้ว่าตัวเรากำลังลงก่อน เหมือนถ้าอยากจะหายป่วยก็ต้องยอมรับว่าตัวเองป่วยก่อนถึงจะรักษากันได้ แล้วผมก็ไม่เคยคิดแม้สักครั้งว่าปาร์ตี้ Dudesweet คือปาร์ตี้ที่ประสบความสำเร็จที่สุด”
ปาร์ตี้ครั้งแรก vs ปาร์ตี้ครั้งล่าสุด
ขณะที่พี่โน้ตบอกกับเราว่าปาร์ตี้สมัยก่อนจัดแบบ loser คือจัดเพราะความอยากเมาล้วน ๆ อย่างชีวิตสมัยก่อนจะมีความพังก์กว่านี้ ไม่ได้หมายถึงแนวเพลง แต่หมายถึง lifestyle ที่ค่อนข้างจะเป็นกบฏต่อกระแสสังคม
“คิดว่าเป็น D.I.Y (Do-It-Yourself) Aesthetic มันจะอยู่ตรงข้ามกับทุนนิยม หรือ establishment การไม่สนใจกรอบ กฎเกณฑ์ ผมก็ไม่รู้ว่าตอนนั้นพวกเราเป็นพังก์เปล่า รู้แต่ว่าตอนนั้นไม่ค่อยมีตังค์ ตอนนั้นคิดแค่ว่าอยากได้อะไรดั่งใจต้องทำเอง อยากได้เสื้อผ้าสวยๆ ก็ต้องโมเอง เพ้นต์เอง อยากไปปาร์ตี้ที่ไม่ต้องบ่นเรื่องเพลงไม่ถูกใจก็ต้องจัดเอง”
“แค่เริ่มจากความอยากทำปาร์ตี้ที่เปิดเพลงแบบที่ตัวเองและเพื่อนๆ ชอบ ตอนนี้เราจะเปิดเพลงอินดี้ อัลเทอร์เนทีฟมากกว่า แต่สมัยแรกๆ เราจะเปิดพวกพังก์บ่อย
ตอนนั้นเปิดเพลงยังใช้เทปกับซีดี จัดปาร์ตี้ทีต้องขนไปเต็มท้ายแท็กซี่ แต่เดี๋ยวนี้บางทีพก USB ใส่กระเป๋ากางเกงไปอันเดียวก็จัดปาร์ตี้ได้แล้ว บางทีเปิดจาก Spotify ยังมี แล้วไอ้เรื่องการเปิดเพลงต่อบีตให้เรียบเนียนก็ไม่ใช่เรื่องที่เราเห็นเป็นสาระสำคัญเท่าการทำให้ energy ของเพลงมันต่อเนื่อง
เพราะเพลงร็อกมันเป็นเรื่องของ energy มากกว่า BPM เพลงช้าบางเพลงก็มีพลังเยอะเท่าเพลงเร็ว อย่างเพลง Space Oddity ของโบวี่ก็เล่นต่อจาก Smells Like Teen Spirit ได้โดยไม่ทำให้ energy แผ่ว แล้วเรื่อง dead air นี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมากในปาร์ตี้ Dudesweet ก็แหม บางทีมันเมา บางทีก็มัวแต่คุยกับเพื่อนตรงบู้ธดีเจแล้วไม่รู้ว่าเพลงดับ มารู้ก็ตอนที่คนในงานเขาตะโกนด่า แล้วเราก็ด่าเขากลับและเสียงดังกว่าเพราะเรามีไมค์”
“ปาร์ตี้ครั้งล่าสุดที่ว่าจะจัด คือปาร์ตี้เค้าท์ดาวน์แต่ต้องยกเลิกไปเพราะโควิด ทีแรกเราจองคิว แม่สิตางศุ์ ส้มหยุด มานำเค้าท์ดาวน์ และ ประทานพรปีใหม่ แล้วก็มี พี่ติ๊ก ชิโร่ มาแล่น แต่ทั้งหมดนี้ต้องแคนเซิล น่าเสียดาย”
แม่สิตางศุ์ ส้มหยุดและพี่โต้ชีริก ติ๊กชีโร่…แปลกใจว่าทำไมต้องเป็นสองคนนี้?
“ผมชอบพี่ติ๊ก ผมชอบคิดว่าเขาเป็น Rick Ashley เมืองไทย ส่วนแม่สิตางศุ์ผมก็เห็นเป็นบุคคลแห่งปีของไทยเมื่อปีที่แล้วเลยนะ ในฐานะที่เขาสร้างความสุข สร้างเสียงหัวเราะให้คนไทยในปีที่ยากลำบาก ก็เลยไปอัญเชิญแม่เค้าให้มาอวยพรปีใหม่ทุกคน แล้วก็ให้มานำเค้าท์ดาวน์”
พอได้ฟังคำตอบแล้วเราก็ถึงกับยิ้มออกมา เพราะ combination ระหว่างสองคนนี้มันไม่มีอะไรเข้ากันเลย (ไม่รู้มีใครคิดเหมือนเราไหม ฮ่า ๆ ) แล้วมันก็ยิ่งทำให้เราเข้าใจความคิดของพี่โน้ตมากขึ้นว่ามันไม่เห็นจำเป็นจะต้องมีมาด คลุมโทน อะไรเลย การจัดปาร์ตี้มันเป็นสัญชาตญาณ และ ความกวนตี*ของพี่ล้วน ๆ
จากปาร์ตี้ที่เริ่มจากการไม่มีสปอนเซอร์ ไม่มีธีม ไม่มีอะไรเลย ในปี 2002 มาสู่ปาร์ตี้ที่ถูกพูดถึงมากตั้งแต่ต้นปี 2004 จนถึงตอนนี้ Dudesweet มีเงินจ้างวงดนตรีดังๆ มาเล่น มีกิจกรรมแปลกๆ ให้ทำในงาน ไม่ว่าจะวาดภาพเปลือย ด่ารัฐบาล หรือปลูกข้าวในงาน
“มีคนเคยบอกผมว่า Dudesweet เป็นปาร์ตี้ไม่มี attitude เหมือนปาร์ตี้วันเกิดที่จัดตลอดเวลา”
อยู่ดีๆ ปาร์ตี้ธรรมดาอันนี้ก็ได้กลายเป็นจุดศูนย์รวมของคนดังมากมาย ทั้งศิลปิน ดารา นาง/นายแบบ และ คนในวงการแฟชั่น ถ้าไม่จัดปาร์ตี้ก็คงไม่มีโอกาสได้เจอกับคนพวกนี้
“มันก็ตลกดีที่เราเริ่มกันแบบแก๊งเด็ก loser จนๆ จบใหม่ ไม่มีงานทำ แต่ถึงจุดนึงเหมือนทุกคนอยากเป็นเพื่อนกับเราหมด ทั้งที่พวกเราก็ไม่ได้เเฟชั่นอะไรกันเลย กลายเป็นคนแฟชั่นมาปาร์ตี้เราเต็มไปหมด”
ได้ยินจากรุ่นพี่หลายคนที่บอกว่าไปงาน Dudesweet เพราะไปแล้วมันรู้สึกเท่ห์ ถึงแม้ปาร์ตี้จะไม่เน้นเปิดแบบเพลงต่อเพลง อย่างกลุ่มปาร์ตี้ดีเจกลุ่มอื่น แต่มันสนุกเพราะคนส่วนใหญ่กลายเป็นเพื่อนกันเฉยเลย
ทั้งๆ ที่เพิ่งเจอกันนี่แหละ ตลกดี สมัยนี้เราไม่ค่อยเจอกับบรรยากาศแบบนี้เท่าไหร่ เพราะการรู้จักกันสมัยนี้น่าจะแค่เห็นหน้ากันทาง Instagram ผ่าน IG Story ว่าคนนี้ตลก คนนี้หน้าตาดี คนนี้เป็นแบบนั้นแบบนี้
ได้ยินมาจากพี่ตุ๋ย (เจ้าของคลับที่ปิดไปแล้วชื่อ Club Culture กับ Club Astra) ว่างาน Dudesweet ที่เคยจัดที่ Club Astra RCA มีคนมารอยืนเข้างานเป็น 3,000 กว่าคน นั่นคือสมัยสี่ปีหลังจากเริ่มจัดงานครั้งแรก พี่โน้ตอธิบายกับเราว่าที่คนมาก็น่าจะเพราะแนวเพลง แล้วก็บรรยากาศที่พี่โน้ตสร้างขึ้น
บรรยากาศงาน Dudesweet สร้างขึ้นจาก ความรู้สึก และ layout ของงานที่จะมี Center Piece 1 อัน เวลาคนเดินเข้ามาก็จะได้แปลกใจกัน อย่างงาน Dudesweet 90s Art School ก็เอานายแบบเปลือยมาให้วาดกัน ส่วนอีกห้องก็เปิดไมค์ให้ด่าอะไรก็ได้ที่อยากด่า ช่วงนี้ก็จะเป็นด่ารัฐบาล คนก็จะจำความรู้สึกวันนั้นได้ว่าเออ..มันสนุกดี อยากมาอีก
“คนสมัยก่อนถ้าถามว่าชอบเพลงอะไรเค้าจะตอบ ชอบ Punk Pop ไม่ก็ Rock ส่วนสมัยนี้ จะบอกชอบทุกแนว”
ถ้าให้เปรียบเทียบกัน คนสมัยนี้ดูเหมือนจะรักสุขภาพ ดูแลตัวเอง นอนเร็ว ฟังเพลงใส ๆ และ ที่สำคัญ ‘คออ่อน’ เรื่องเพลงก็ดูเหมือนจะคลุมเครือไม่ชัดเจนเท่าคนในยุคที่พีคที่สุดของ Dudesweet ที่ทุกคนจะตอบได้เลยว่า connect กันเพราะชอบแนวเพลงเดียวกัน ส่วนสมัยนี้กลายเป็นว่าเราได้เพื่อนใหม่จากแนวคิดทางการเมืองที่ตรงกัน
เราจำได้ดีว่าที่งานครบรอบสักปีหนึ่งของ Dudesweet ทำเอาเราเมาหัวทิ่มอยู่นะ เพราะงานมันเปิดเพลงชาติอย่าง Beautiful Ones- Suede พอฟังในงานแล้วทำไมมันฮึกเหิมต้องไปเติมเบียร์ต่อก็ไม่รู้ ทำให้นึกถึงว่าพอไปงานอื่นที่เปิด Honne มันไม่ปลุกใจเราขนาดนั้น
Third World Magazine: สื่อที่ตั้งใจเสียดสีสังคม
นอกจากปาร์ตี้ ทุกวันนี้พี่โน้ตก็กลับมาเขียนคอลัมน์ใน Third World Magazine (www.thirdworldtoday.com) มากขึ้น เป็นนิตยสารออนไลน์ที่สร้างขึ้นมาเพื่ออยากจะบอกอะไรกับสังคมผ่านมุมมองของพี่โน้ต
“มันเป็นเว็บเสียดสี ไอเดียแรกเริ่มมาจากอยากเสียดสีความไม่ยุติธรรมในสังคม ความน่าตลกของคนรวย เช่นความอยากอินดี้ อยากดูติดดิน แล้วก็เสียดสีพวกคนจนที่ต้องทุกข์ทรมานกับการหลอกตัวเองเพราะอยากให้คนอื่นคิดว่าหรูหราร่ำรวย
แล้วอนาคตของ Third World จะเป็นยังไงต่อ ?
“ไม่ได้วางอะไรไว้มาก คงจะทำแพ็คเกจไปขายโฆษณามั้ง เพราะทำสามปีแล้วยังไม่เคยมีกะเขาเลย แต่ตอนนี้คงต้องมีแล้ว เพราะไม่เคยคิดเรื่องหาเงินจนบริษัทขาดทุน”
5 ปีหลังจากนี้ ?
“ก็อยากทำให้ Third World ดีขึ้น ตั้งใจทำมากขึ้น อ่านหนังสือให้เยอะขึ้น เพราะผมคิดว่าตอนนี้ผู้คนต่างโหยหางานเขียนที่พิถีพิถัน พวกงานเขียนที่ต้อง research หนักๆ จะกลับมา เพราะสังคมสะอิดสะเอียนกับงาน click bait และเขียนงานฉาบฉวยเต็มที่แล้ว นักเขียนโง่ๆ จะหลอกคนอ่านไม่ได้อีกต่อไป แล้วผมก็ไม่อยากเป็นนักเขียนโง่ๆ”
พอพูดถึงเรื่องงานเขียน นํ้าเสียงพี่โน้ตก็ดูจริงจังขึ้นมา คงเป็นเพราะเจ้าตัวมีความเชี่ยวชาญด้านงานเขียนอยู่แล้วด้วย อาชีพในช่วง 7 ปีแรกหลังเรียนจบของพี่โน้ต คือเป็นนักเขียนประจำนิตยสารใหญ่ถึง 3 หัว ที่ต้องผ่านด่าน บรรณาธิการดัง ๆ มาหลายคน
“ผมถูกสอนเรื่องการเขียนมาแบบ old school มาจากยุคที่ บ.ก. ยังอ่านและแก้ต้นฉบับทุกชิ้นที่จะตีพิมพ์จนดึกดื่น อย่างหนึ่งที่ บ.ก. เคยบอกให้ผมจงจำฝังใจเอาไว้ทั้งชีวิตทุกครั้งที่คิดจะลักไก่ คือผู้อ่านฉลาดกว่าเราเสมอ การอ่านเป็นการลงทุนด้านเวลา
เค้าจะอยากอ่านสิ่งที่เห็นว่าคุ้มเวลาเขาจริงๆ มาตอนนี้ที่ชอบพูดกันว่างานคอนเท้นต์ออนไลน์ต้องสั้นคนถึงจะอ่าน แต่ผมไม่คิดอย่างนั้น เพราะอย่างของ Third World คอนเท้นต์ที่ถูกอ่านเยอะที่สุดจนถึงตอนนี้ ก็เป็นคอนเท้นต์ที่ยาวที่สุดในเว็บที่เขียนไปเมื่อสามปีก่อน แต่เมื่อปีที่แล้วเอามาลงใหม่คนก็ยังแชร์อยู่
มันก็เลยกลับมาที่ว่า เออ ถ้าเราตั้งใจทำเขาก็เห็นคุณค่านี่หว่า เอาจริงถึงทุกวันนี้ซึ่งยี่สิบปีแล้วจากวันแรกที่ทำงานนิตยสาร การเขียนก็ยังไม่เคยเป็นเรื่องง่ายสำหรับผมเลย เพราะผมกลัวว่าถ้าไม่ตั้งใจทำ เดี๋ยวคนอ่านจะจับได้ว่าผมโง่”
ที่มาของการจัดปาร์ตี้ครั้งสุดท้าย
ทันทีที่ได้ยินว่า Dudesweet จะเลิกจัดปาร์ตี้ปีหน้า ทำเอาเราตกใจและแปลกใจ อยู่เหมือนกัน เพราะเราคิดมาเสมอว่าการจัดปาร์ตี้น่าจะเป็นอาชีพที่สนุกที่สุด และ Dudesweet ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตใครหลายคนไปซะแล้ว เลยไม่แน่ใจว่าจะเลิกจัดปาร์ตี้แล้วจริง ๆ หรอ?
“ไม่เคยคิดว่าปาร์ตี้จะเป็นอาชีพนะ แต่พอมาดูอีกทีมันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว เพื่อนหลายคนก็ได้มาจากปาร์ตี้ ตอนนี้มีเพื่อนจากปาร์ตี้เยอะกว่าสมัยมหาลัยอีก”
ปีหน้าเป็นปีที่เด็กเกิดปี 2002 จะอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งปี 2002 เป็นปีแรกที่พี่โน้ตเริ่มจัดปาร์ตี้ Dudesweet เขาเลยบอกกับเราว่าอยากเห็นเด็กที่เกิดตอนปีแรกของปาร์ตี้เข้าผับได้ (อย่างถูกต้องตามกฎหมาย) แล้วก็จะขออำลาวงการปาร์ตี้ไปจัดแค่ปีละครั้งพอ
“ความตื่นเต้นมันไม่รุนแรงเท่าแรกเริ่ม เมื่อก่อนตอนยังทำงานออฟฟิศไปด้วย ทำปาร์ตี้ไปด้วย ถ้าอาทิตย์ไหนจะมีปาร์ตี้จะไม่เป็นอันทำงานทำการตั้งแต่วันจันทร์ ใจผมจะไม่เป็นอันทำอะไร จินตนาการไปถึงวันปาร์ตี้แล้ว”
ตอนปาร์ตี้ Dudesweet ครั้งแรกมันเป็นยังไง ?
ปาร์ตี้ครั้งแรกของ Dudesweet จัดแบบไปหลอกเจ้าของร้านว่าเป็นงานเลี้ยงรุ่นเด็กศิลปากร (การเป็นนักศึกษาก็มีประโยชน์แบบนี้เองเนอะ แต่ไม่ควรทำตามนะจ๊ะ วิ้งค์ตาขวาให้หนึ่งที) แต่เอาเป็นว่าปาร์ตี้ครั้งแรกมีคนมาประมาณ 80 คน ส่วนใหญ่ได้กระแสตอบรับที่ดีมากจากเพื่อน ๆ ที่มากินเหล้ากันเป็นประจำที่บ้านอยู่แล้ว
“ชงค็อกเทลล์ก็ไม่เป็น ตอนนั้นไปซื้อหนังสือสูตรค็อกเทลล์เล่มละ 20 บาทมาทำตามอันที่ง่ายๆ ตอนขายก็ใช้วิธีกรอกค็อกเทลล์ที่เราทำใส่ถุงแกงให้เขาไป ส่วนน้ำแข็งอยู่ตรงโน้น ไปตักเอาเอง ใครจะกินอะไรนอกจากเบียร์ก็ยื่นถุงแกงให้ ถุงนึงเป็น vodka อีกถุง เป็น mixer”
ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้เราคิดว่าคงโดนเพื่อนรังเกียจนะ หาว่าปาร์ตี้ไม่ลงทุน ยิ่งเพื่อนสมัยนี้ชอบไปเที่ยวที่สวย ๆ ถ่ายรูปลงได้ มามัดถุงแกงอะไร เดี๋ยวคนใน IG เค้ารู้หมดว่าไม่มีเงิน
พี่โน้ตเล่าว่า การโปรโมทปาร์ตี้ยุคนั้นที่ต้องทำโปสเตอร์หรือใบปลิวซิลค์สกรีนมือกันเองเพราะมันถูกกว่าสั่งพิมพ์หลายเท่า โปสเตอร์ก็ช่วยกันทำที่บ้านนี้ อย่างที่เอามาให้ดูชิ้นนี้คือแบบของโปสเตอร์งานแรกของ Dudesweet ที่เอาไปแปะตามผนังในกรุงเทพ กับใบเล็ก ๆ ไว้แจกผู้คนตามถนนหลังเลิกงาน
พี่โน้ตบอกว่า เพราะตอนนั้นเป็นเด็กเพิ่งเรียนจบ และเพื่อนยังไม่มีงานทำกันหลายคน เลยมารวมตัวกันใช้ชีวิตกันแบบจนๆ แบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ที่บ้านหลังนี้ บางทีเบียร์แค่ขวดเดียวแบ่งกันสามคน แล้วอยู่ดีๆ ความคิดที่เริ่มอยากจัดปาร์ตี้ก็เริ่มที่บ้านหลังนี้
พี่ว่าที่คนกลับมาปาร์ตี้ Dudesweet นี่เพราะคนเค้ารู้สึกได้รับ experience อะไรใหม่ ๆ ใช่ไหมคะ ?
“เออ อันนี้ก็อีกคำนึง อี experience อะไรนี่ ไม่ค่อยเข้าใจความหมายของมันเท่าไหร่เลยอะ ทำไมใช้กันเยอะจัง
เวลาสปอนเซอร์มาถามว่างานคุณโน้ตจะมี experience อะไรบ้างคะ? จะให้เราตอบว่าไง ก็การไปปาร์ตี้มันก็เป็น experience ในตัวมันอยู่แล้วอะ เขาจะเอา experience อะไรอีกนักหนา งง”
(โอ้ย เอาอีกแล้ว โดนอีกละ ฮ่า ๆ) คำถามเราสร้างความไม่พอใจได้ตลอดเวลาจริง ๆ โอเคแสดงว่าแม้แต่การใช้คำศัพท์ของรุ่นเรากับรุ่นเค้ามันก็ต่างกันแล้ว
อันที่จริงจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยไปงาน Dudesweet (น่าจะปี 2014) รู้สึกเหมือนมันคือปาร์ตี้วันเกิดจริง ๆ ก็คือ มันเป็นงานที่ไปแล้วเพื่อนจะชอบเมาอะ แต่นี่คืองานที่ไปแล้วมีใครก็ไม่รู้ ทั้งดารา นักร้อง เพื่อน คนแปลกหน้า ก็เมากับเราไปด้วย
หลังจบสัมภาษณ์เราก็ได้สนทนากันต่ออีกเล็กน้อยเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน สังคมออนไลน์ และเด็กสมัยนี้
เรื่องการเป็น introvert ดูเหมือนจะมีปัญหาสำหรับพี่เค้าอยู่นะ แต่อย่างความกล้าแสดงออกในโลกออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ที่ขยันกันทำ YouTube channel ทำ Facebook Page หรือการทำเพลงเองที่บ้านก็เป็นเรื่องที่พี่โน้ตสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้
“สมัยก่อนถ้าอยากเป็นร็อกสตาร์ก็ต้องล็อคตัวเองอยู่ในห้องนอน ห้องซ้อมกีตาร์ท่ายากแบบไม่กินข้าวกินปลา เพื่อหวังว่าสักวันจะเทพได้เท่า Steve Vai หรือ Jimmy Page แล้วพอเริ่มเก่งหน่อยก็ต้องเก็บเงินค่าขนมไปจ่ายค่าห้องซ้อมห้องอัดอีก พออยากจะออกอัลบั้มก็ต้องแทบคลานเข่ากราบกรานขอค่ายเพลงให้ช่วยฟังเดโม่สักครึ่งนาทีก็ยังดี แต่ตอนนี้ คำที่ใช้ นิยามร็อคสตาร์มันเปลี่ยนไปแล้ว
ร็อกสตาร์ที่ดังที่สุดในโลกตอนนี้คือ Billie Eilish ผู้จบทุกอย่างทั้งอัลบั้มได้จากในห้องนอนและสร้างตัวเองจากยูทูบ ค่ายเพลงต้องคลานเข่ามาหานางแทน และเราว่านี่ล่ะคือความพังก์ร็อคของยุคที่แข่งกันรวยแบบยุคนี้ คือการทำอะไรแบบ minimum budget แต่ maximum creativity”
พี่คะ Billie Eilish ก็เป็นซึมเศร้าและเป็น introvert นะคะ
แน่นอนว่าพี่โน้ตกลับมาทำหน้าเบื่ออีกครั้ง ถอนใจหนึ่งที แล้วตอบว่า “งั้นเขียนไปว่าพี่โน้ตไม่พูดอะไร แต่หันไปจุดบุหรี่แทน”
พี่โน้ตไม่พูดอะไร แต่หันไปจุดบุหรี่แทน
อ้างอิงจาก
* https://www.theguardian.com/theobserver/2016/aug/14/young-people-night-time-social-activities-museums-running-tim-lewis