Disposable Me / (กล้อง)ใช้แล้วทิ้ง: เด็กคลองเตย
[Disposable Me / (กล้อง)ใช้แล้วทิ้ง] เป็นซีรีย์ที่เอากล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้งไปฝากให้คนแปลกหน้าถ่าย เพื่อเล่าเรื่องผ่านมุมมองของเขา ที่แม้แต่เราเองก็อาจจะนึกไม่ถึง

Roll #3: [เด็กคลองเตย]
“คลองเตยกับทองหล่อ ห่างกันแค่ไม่กี่นาที แต่ไม่รู้ทำไมความเหลื่อมล้ำมันถึงเราให้เราห่างไกลกันขนาดนี้นะพี่”

นี่คือเสียงของคนที่เกิด และโตในคลองเตย หนึ่งในชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภายหลังจากที่เราฝากกล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้งไปให้ช่วยกันถ่ายเล่าเรื่องคลองเตย

จากเรื่องเล่าภายในจากวงสนทนาเล็ก ๆ ที่คนรอบตัว “บุ๊ค” ธนายุทธ ณ อยุธยา (Eleven Finger) พากันล้อมวงในห้องนอนที่ถูกกั้นขึ้นมาอย่างแคบ ๆ แต่คลุ้งไปด้วยควันบุหรี่จนผมแสบตา และอับทึบจนไม่สามารถจะรู้ได้เวลาเวลาตอนนี้คือกลางวันหรือกลางคืน…ทุกคนเล่าเรื่องของตัวเองอยากออกรสชาติ ราวกับว่านี่คือครั้งแรกที่เคยมีคนเข้ามาถาม

“ผมอยู่ในคลองเตยมาตั้งแต่เกิดครับ ไม่ได้รู้สึกน้อยใจนะ ผมว่าดี ดีมาก รักคลองเตย คลองเตยให้อิสระกับผม ไม่ต้องไปอยู่ในกฎ เพราะมันไม่มีกฎ อะไรก็ได้ เสรีจัดเลย ทำอะไรก็ได้ขอแค่ไม่ลำบากคนอื่นก็พอ

แต่ก่อนผมจะชอบไปอยู่แถวไฟแดง ชอบเดินไปขอตังค์เค้า ก็เดินขอไปเรื่อย ๆ ยังเคยเจอ Twopee เลย แต่เค้าคงจำผมไม่ได้ ครั้งนั้น Twopee ให้ผมมาร้อยนึงมั้ง จำได้แม่นเลย เคยเจอดาราหลายคนเพราะเลยไปหน่อยมันเป็นช่อง 3

ตอนนั้นผมรู้จักเค้าอยู่แล้วนะ แต่ยังไม่ได้หัดแร็ปเลย มาย้อนคิดดูมันก็เหมือนแบบเป็นความรู้สึกอะไรบางอย่างที่อธิบายไม่ได้ เหมือนเป็นพรหมลิขิต คือตอนนั้นชีวิตเราเหมือนอยู่ต่ำสุดอะ แต่ตอนนี้…ผมได้มาทำเพลงกับเค้าอะพี่”

บุ๊ค ธนายุทธ ณ อยุธยา A.K.A. Eleven Finger แรปเปอร์หนุ่มจากคลองเตยเล่าให้ผมฟัง

“คลองเตยมันอับ ก็อย่างที่เห็นจากภาพครับพี่ คือคนที่นี่เค้ามีพื้นที่น้อย แต่ก็ต้องใช้พื้นที่ให้คุ้มครับ

ผมก็เคยคิดนะที่ผู้ใหญ่เค้าบอกว่าถ้าห้อยพระแล้วเดินลอดราวตากผ้า พระจะเสื่อมใช่ปะ แล้วแบบนี้คนคลองเตยจะทำยังไง? เช่าพระมาวันแรก เดินเข้าซอยบ้านก็คงเสื่อมเลย ซึ่งการใช้ชีวิตที่นี่กับความเชื่อคนมันไม่ได้สอดคล้องกันเท่าไหร่“ (หัวเราะ)

“สมัยผมนะ ของชิ้นแรกที่ผมเก็บเงินซื้อได้คือพิซซ่า แล้วตอนนั้นผมชอบไปเดินโลตัสไงพี่ ไปคนเดียวทุกวัน ไปเกาะกระจกดูเค้ากินพิซซ่า แต่ไม่มีเงินกินอะ เกาะดูเฉย ๆ แต่ผมคิดในใจว่าเราต้องกินให้ได้ แบบว่าอยากกินมั่ง เพราะผมเห็นคนกินแล้วดูเค้ารู้สึกดีอะ

พอดีช่วงนั้นเค้ามีโปรโมชั่น 1 แถม 1 วันนั้นผมเดินเก็บขวดทั้งคลองเตยเลย เก็บจนล้า เอาไปชั่งกิโลแล้วก็ได้เงินมาซื้อพิซซ่ากิน คือกัดเข้าไปคำแรกผมรู้สึกดีมาก เพราะนี่คือความพยายามเรา เราก็เอามากินที่บ้าน แบ่งย่ากิน คือผมว่าดีนะแต่ผมคิดว่าเอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า”

“ส่วนมากเวลาว่างของเด็กคลองเตย ซัก60-70% ก็จะช่วยที่บ้านขายของ คือคนเค้าจะใช้พื้นที่คุ้มมาก ถ้าดูหน้าบ้านเค้าก็จะทำเป็นร้านค้าบ้าง ขายนู่นขายนี่บ้าง เด็กแต่ละคนพอเลิกเรียนก็จะต้องรีบกลับบ้านเพื่อมาช่วยงาน

ผมหาเงินเองตั้งแต่เด็กอะพี่ คือที่บ้านผมก็พอมีเงินให้ใช้นะ (แม้จะไม่มากตามในมุมมองคนนอกชุมชน) แต่ผมไม่ชอบ ผมชอบหาเอง คือเราก็อยากทำในสิ่งที่เราอยากทำ อย่างบ้านผมเนี่ย เวลาเค้าให้เงินมาเค้าจะบอกว่าอย่าเอาไปเล่นเกมนะเพราะเปลืองมาก แต่ผมดันอยากเล่นอะ ก็เลยหาเอง จนผมเก็บเงินซื้อมือถือเครื่องแรกได้เพราะไปเช็ดกระจกตามสี่แยกอะครับ พวกโนเกีย ซัมซุงฮีโร่ คือผมซื้อมือถือเองหมดเลยพี่”

“ในคลองเตยมีคนเก็บของเก่าเยอะครับ แล้วก็มีร้านรับซื้อเยอะเหมือนกัน ทุกบ้านจะมีถุงหน้าบ้านเอาไว้ใส่ขวด แล้วพอเต็มก็จะเอาไปขาย”
“เด็กชุมชนก็ดมกาว เด็กรวยก็ดมโค้ก (โคเคน) ผมว่ามันไม่ต่างกัน ต่างกันแค่ต้นทุน คือใครมีเยอะก็ดมของแพงกว่า ใครมีน้อยก็ดมของถูก

เหมือนมันเป็นไปตามยุคอะเมื่อก่อนตอนผมเด็ก ๆ เป็นยุคยาบ้า ยุคกาว ตอนนี้มันก็เป็นยุคพวกกัญชา ยาเค ยาอี อะไรแบบนี้ครับ

คนดมกาวมันน้อยลงจากที่เมื่อก่อนนี่มีแทบทุกซอย นั่งดมหน้าเซเว่นบ้าง บางคนถึงกับเข้าไปดมในเซเว่น คนก็ไม่ค่อยกล้าไล่เพราะกลัวมีเรื่อง ตอนนี้มีน้อยลงถึงขั้นว่าถ้าพูดถึงคนดมกาวเราจะนึกหน้าออกเลยว่าใคร”

บทสนทนายังคงลื่นไหลในความมืดโดยมีบุ๊คเป็นต้นเสียง ท่ามกลางควันบุหรี่และเสียงพูดหยอกล้อกันเบา ๆ ในกลุ่มเพื่อน

เพื่อนที่ตัวเล็กที่สุดในกลุ่มทำท่าจะพูดอะไร ผมจึงหันไปหา

“ผมเคยลองดมกาวทีนึงครับ แล้วก็เลิก วันนั้นเป็นวันเกิดของรุ่นพี่ แล้วผมเป็นเด็กในแก๊งจักรยา
แต่เป็นปลายแถวของแก๊งอะพี่ (หัวเราะ) ผมก็เห็นเค้าดมกันผมก็เลยขอลองซักที พี่ผมก็บอกว่าถ้ามึงอยากดมมึงก็ลองดม แต่แค่ครั้งเดียวนะ ผมก็เลยลอง เพราะปกติผมเป็นคนชอบดมกลิ่นสีอยู่แล้ว แต่แบบไกล ๆ นะ ถ้าอยู่ใกล้เกินก็จะเหม็น

ผมลองดมกาวไป ก็รู้สึกมึน ๆ นะ แต่ไม่ได้รู้สึกเหมือนเมาเหล้า มันจะแบบกล้าแสดงออกขึ้น อย่างเช่นแบบถ้าผมนั่งคุย ๆ กับพี่อยู่แล้วผมอยากด่าพี่ ผมก็ด่าเลย ความรู้สึกมันเป็นอย่างงั้นเลยพี่ เหมือนความยับยั้งชั่งใจมันหายไป

แล้วตอนที่ดมผมเห็นผีด้วยพี่ หลังจากนั้นผมเลยถามเพื่อนผมที่ดมกาวนะ ว่าทำไมมึงไม่เลิก มันบอกว่าดมกาวนี่มันรู้สึกเหมือนอยู่สวรรค์ มันบอกว่าถ้าเราดมกาวไปมาก ๆ มันจะสามารถจินตนาการได้ อยากได้อะไร อยากให้อะไรอยู่กับเรา ก็จินตนาการเอา

เคยมีรถไฟชนคมดมกาวด้วยพี่ เค้าบอกว่าเค้าเห็นผู้หญิงคนนึงมาบอกว่าไม่ให้เค้าลุกจากรางรถไฟ แล้วรถไฟมาพอดี ก็ลากไปเลย แต่เค้าไม่เป็นอะไร เหมือนในหนังเลย แล้วเค้าก็ลุกขึ้นมาดมต่อ”

“อาหารหรูสุดที่อยากกินสุดคงเป็นข้าวหน้าเนื้อญี่ปุ่นครับ ที่เป็นเนื้อแผ่น ๆ แล้วมีไข่โปะ แล้วผมไปดูวิธีทำมาแล้วด้วยพี่ วันเกิดแม่ผมอยากทำให้แม่กินเพราะมันดูหรูมาก”

เพื่อนที่ตัวเล็กที่สุดยังคงเสริมต่อด้วยแววตามีความหวังแม้จะเป็นแววตาที่สะท้อนแสงจากหลอดไฟดวงเล็ก ๆ ในความมืด

 

“ของกินในนี้ก็จะถูกกว่าข้างนอกนิดหน่อย ด้วยความที่อยู่ในคลองเตย และไม่ต้องเดินทางไกลไปซื้อวัตถุดิบ เพราะของสดมันเข้าถึงง่าย

เวลาออกไปข้างนอกคือรู้สึกว่าทุกอย่างมันแพงกว่าหมดเลย คือสมมติว่าอยู่ทองหล่อก็ต้องขับรถมาซื้อตลาดคลองเตย ก็ต้องคิดค่ารถไปอีก

เวลาผมออกไปข้างนอก แล้วใกล้กลับบ้าน ถ้าผมหิว ผมยอมทนแล้วกลับมากินในคลองเตยดีกว่า”

แชะ! เด็กหนุ่มชาวเมียนมาร์อีกคนจุดบุหรี่ท่ามกลางความเงียบหลังพูดจบด้วยน้ำเสียงราบเรียบ
เพียงชั่วอึดใจแสงอ่อน ๆ สีส้มจากไฟแช็กก็อาบไปทั่วใบหน้าก่อนจะดับไปในความมืด ห้องที่อากาศเริ่มจะระบายก็ถูกแทนที่ด้วยกลิ่นควันบุหรี่อีกครั้ง ก่อนจะเริ่มพูดประโยคถัดไป...

“ภาพนี้ถ่ายตอนตีสี่ครับ จริง ๆ ร้านที่นี่เปิดกันเช้ามาก เพราะหลายคนต้องออกไปทำงานเช้า เช่น แม่บ้านในกรมศุลฯ

อ๋อใช่ ผมเคยขายข้าวด้วยพี่ คือตอนผมขายผมขายไม่ได้เอากำไรมากมาย ผมขายแค่แบบว่าอย่างน้อยมีเงินกินของตัวเองแล้วก็ใครที่ไม่มีเงินซื้อกินผมก็ให้ตลอด ทุกครั้งอะ อย่างเช่นถ้ามีคนแก่ ๆ เค้าเดินผ่านแล้วเค้ามอง ผมก็เรียกเค้าแล้วก็เอาข้าวให้เค้า โดยที่ไม่เอาเงินเค้า เพราะว่าตอนผมเด็ก ๆ ผมก็ได้แต่มองอย่างเดียวเหมือนกัน ผมเลยคิดว่าตอนโตพอเราพอจะมีกินเราก็ต้องแบ่งให้คนอื่นที่เค้าลำบากด้วย”

เด็กหนุ่มชาวเมียนมาร์เล่าต่อ

ยิ่งคนเราเคยผ่านความลำบากมามากแค่ไหน ก็ยิ่งเข้าใจคนที่ลำบากคนอื่นมากขึ้นหรือเปล่า?
แต่เอาเข้าจริง ๆ ไม่ควรมีใครในสังคมที่จะต้องมาลำบากขนาดนี้ด้วยซ้ำ

“คือเค้าเป็นคนที่มีอายุแล้วนะพี่ ผมถามเค้าว่าทำไมถึงมานั่งเย็บผ้า มองเห็นหรือเปล่าครับ?
เค้าบอกว่าเค้าชอบ เค้าทำแล้วไม่เบื่อในชีวิตอะ คือคนที่นี่เค้าขยันจนชิน เพราะต้องหาเงินถีบตัวเองอยู่ตลอด เลยทำงานตั้งแต่เด็ก แล้วพออายุเยอะเข้าแต่ด้วยความขยัน แล้วไม่มีอะไรทำ ก็หางานอย่างอื่นทำ หาเงินให้ตัวเอง คือผมว่าภาพนี้มันสะท้อนความเป็นคลองเตยดี เพราะทำงานกันตั้งแต่เด็กจนแก่”

บุ๊คตัดบท เสริมขึ้นมาหลังจากเล่าให้เราฟังว่าไปถ่ายอะไรมาบ้าง

“ช่วงแรก ๆ ที่ผมไปสมัครงาน เค้าจะไม่รับเรา ทั้ง ๆ ที่บริษัทเราก็อยู่คลองเตย แต่เป็นเพราะว่าคนก่อน ๆ ที่เค้าเป็นคนคลองเตยเค้าทำไว้ไม่ดี แต่พอมาคุยกับหัวหน้างานแล้วเค้าบอกว่าจะมาเหมารวมไม่ได้ คลองเตยเค้ามีตั้งเป็นพันเป็นหมื่นคน คนเรามันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว อย่างลูกบ้านนั้นนะเค้าเรียนจบครู สอบเข้าไปเป็นครูได้ที่โรงเรียนแถวลาดพร้าว ก็มีคนมาถามว่า อ้าว มีคนคลองเตยจบปริญญาด้วยเหรอ ก็มีสิ เพียงแต่อัตราส่วนก็อาจจะน้อย

หลาย ๆ อย่างในคลองเตยมันก็ถูกปรับปรุงไปเยอะแล้ว แต่ตอนนี้ก็เหลือแค่การศึกษานี่แหละ หลาย ๆ คนก็ไม่ค่อยอยากจะเรียน อยากจะทำงานกันเลยมากกว่า แต่จริง ๆ การเรียนมันเป็นการเปิดโลกนะ ช่วงที่เราเป็นวัยรุ่น ช่วงที่เราไม่อยากเรียนนี่เราไม่รู้ตัวหรอก แต่พอเป็นช่วงที่เราเป็นผู้ใหญ่ ช่วงที่ต้องทำงานแล้ว เราก็รู้เลยว่าการศึกษามันเปิดโลกทัศน์จริง ๆ คุณสามารถที่จะขยับไปตรงนั้นตรงนี้ได้เลย แต่ที่คุณยังขยับไปไหนไม่ได้ก็เพราะว่าคุณมีความรู้อยู่แค่นี้ วุฒิคุณก็แค่นี้ แต่ประสบการณ์คุณคนอื่นเค้าก็ไม่รู้หรอก ก็วุฒิคุณมันไม่ได้ไง อยากให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ เรียนกันเยอะ ๆ เพราะมันก็มีข้อดีของมัน”

ท่ามกลางเสียงฝนตก และกลิ่นฝนปนกลิ่นอับของคลองเตย
ชายวัยกลางคนพูดกับผมด้วยน้ำเสียงชินชา ก่อนจะหันไปสบตาลูกตัวเอง (บุ๊ค) เมื่อพูดประโยคสุดท้าย

มาลองคิดดู ในมุมมองของชนชั้นกลาง ความเหลื่อมล้ำของสังคมแบบนี้ถูกซุกอยู่หลังฉากความความจนที่หลายคนพยายาม Romanticize หรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นวาทะกรรมคนจนก็มีความสุขต่าง ๆ หรือแม้แต่ภาพถ่ายที่มีองค์ประกอบประมาณว่าคนขี่ซาเล้งพาลูกออกมาทำงาน คุยกันยิ้มแย้ม ซึ่งจริง ๆ แล้วเด็กเหล่านั้นควรจะต้องกำลังเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนมากกว่า

“ย่าเกิดคลองเตยนี่แหละ เมื่อก่อนอยู่แถววัดเตยในนะ เพิ่งย้ายมาอยู่ชุมชนร่มเกล้าเมื่อช่วงพ.ศ.2518 เด็กคลองเตยแท้ ๆ เลย เมื่อก่อนเตยในกับร่มเกล้าตีกันบ่อย ถือดาบ ถือมีด วิ่งไล่กัน

ตอนเป็นเด็กย่ายังไม่รู้จักมาม่าเลยนะ ย่าไม่มีเงินซื้อกินหรอก ตอนเด็กไม่มีอะไรกินเท่าไหร่ มันจน สมัยย่าเด็ก ๆ ไม่รู้ว่ามีผัดกะเพราเกิดขึ้นหรือยังนะ แต่ย่าไม่เคยกินเลย สมัยนั้นถ้าได้กินไข่เจียวนี่คือสุดยอด ถือว่าเก่งแล้ว มีกินแล้ว

แล้วสมัยก่อนไข่ดี ๆ แม่ของย่าก็ไม่ซื้อเลยนะ ซื้อแต่ไข่แตก ๆ มาเจียวให้กิน แต่เราก็กินกันเอร็ดอร่อยอะเนาะ เพราะว่าเราก็ไม่มีกิน อาหารในฝันสมัยย่าเด็ก ๆ เลยนะ คือผัดพริกปลาดุก สมัยก่อนที่ย่าเด็ก ๆ แล้วแม่ของย่าทำผัดพริกปลาดุกให้กินนะ เราก็แบบอยากจะกินเนื้อปลาดุกซักคำ ตอนนั้นยังไม่ได้กินเลย แม่ของย่าบอกว่าเป็นเด็กอย่ากินเนื้อปลาดุกไม่ได้นะ ก้างมันจะติดคอ ให้กินมะเขือกับน้ำแกง เราก็ไม่รู้อะเนาะ เราก็ยังเด็กเราก็กินของเราไป จนโตมาถึงได้รู้ว่าหลอกกูนี่หว่า” (หัวเราะ)

ย่าของบุ๊คเล่าให้ฟังหลังจากผมพูดคุยกับน้อง ๆ จบ

“สมัยก่อนนู้นนะลูก ตอนย่าเด็ก ๆ ถนนมันเป็นทางไม้มาพาด ๆ ข้างล่างก็เป็นขี้โคลนบ้างเป็นน้ำบ้าง เละ ๆ เดินไปก็ตกท้องร่อง เมื่อก่อนถนนยังไม่เป็นปูนเลย ถ้าอยากให้ทางดีก็ต้องทำกันเอง ก็กว้างนะ ซัก 2 เมตร ได้ แล้วเมื่อก่อนมันไม่ได้เป็นบ้านทรงนี้หรอก เมื่อก่อนคือใครอยากปลูกยังไงก็ปลูก จะเป็นไม้อัดเป็นไม้ลังอะไรก็ว่าไป

แล้วเมื่อก่อนซอกซอยมันไม่ได้ยิงตรงเป็นระเบียบแบบนี้ จนมีไฟไหม้ที่คลองเตย ทางในนี้ก็เลยเป็นแบบนี้ เค้ามาบูรณะกันใหม่ช่วงปีพ.ศ.2537 หลังจากนั้นก็เลยกลายเป็นปูน”

“คนข้างในกับคนข้างนอกเนี่ย เค้าจะดูรู้นะ อย่างคนแปลกหน้าเข้ามาเราก็จะรู้ นี่ขนาดแถวนี้เราว่าดีแล้วนะ แต่ผมเคยพาหัวหน้าผมเข้ามาหาคนขับรถที่อยู่แถวโรงหมู ทางกว้างประมาณนี้แหละ ผมบอกเค้าว่านี่กว้างแล้วนะเมื่อก่อนแคบกว่านี้ คือนี่มันกว้างของผมแล้ว เพียงแต่ที่ที่เค้าอยู่มันกว้างกว่านี้

ตรงนี้นี่ถือว่ายังไม่แออัดขนาดนั้นนะ ถ้าจะแออัดจริง ๆ ต้องแถว 70 ไร่ หรือล็อค 1 2 3 แถวนั้นนี่จะยังดั้งเดิมอยู่ เนี่ยตัวสูง ๆ แบบนี้นะ เดินเข้าไปมืด ๆ มีหัวโขกบ้านอะ”

พ่อของบุ๊คเสริมต่อ

พอได้ฟังแล้วก็รู้สึกเข้าใจคนนอกจริง ๆ เพราะแม้แต่ในที่ที่ผมอยู่ แทบจะไม่มีทางเดินตรงไหนกว้างน้อยกว่า 2 เมตร เลย

ความหวังของคนคลองเตย…ก็คงคล้าย ๆ หลาย ๆ ชุมชนในเมืองไทย… มาแค่เดือนละสองครั้ง…
ทุกคนเงียบไปชั่วขณะหนึ่ง ก่อนจะมีเสียงของพ่อบุ๊คทำลายความเงียบลง

“ผมรู้สึกดีนะที่คนนอกเข้ามา หลัง ๆ คือหลายสื่อที่เข้ามาบอกผมว่าที่นี่มันผิดไปจากที่เค้าคิดไว้มาก ที่นี่มันก็เหมือนกับสถานที่ที่หนึ่งที่มีคนอยู่เยอะ มันก็แค่นั้นเอง

คือคนข้างนอกเค้าจะมองเราแย่ก่อน สมัยผมขายดอกไม้นี่เรียกแท็กซี่กว่าจะกลับบ้านได้ รอตั้งแต่ตีสามถึงตีสี่ครึ่งก็ยังเรียกแท็กซี่ไม่ได้ เพราะสมัยนั้นต้องนั่งแท็กซี่กลับอย่างเดียว แต่แท็กซี่ไม่กล้าเข้า”

“ย่าว่าสมัยนี้บรรยากาศดีกว่า น่าอยู่กว่านะ เพราะมันไม่ค่อยมีใครทะเลาะกัน เมื่อก่อนขี้เมาเยอะมาก ตีกัน ทะเลาะกันเล็ก ๆ น้อย ๆ อะเนอะ เดี๋ยวนี้บ้านก็ปลูกใหญ่เท่ากันเสมอกันหมดนะ เมื่อก่อนเป็นทางไม้แคบ ๆ แล้วคนก็ยังมากินเหล้าเล่นไฮโรกันตรงกลางทางเดินอีก เมื่อก่อนย่าเดินเหินลำบาก เป็นสลัมจริง ๆ เลยนะ แต่ตอนนี้ก็เป็นระเบียบขึ้น

ย่าเสริมต่อ

“เมื่อก่อนเดินทางเข้าออกยากนะ ย่าก็ไม่ค่อยมีเพื่อนฝูง เรามันคนจน โตมาก็ทำแต่งาน ๆ ๆ
สมัยก่อนเวลาย่าเดินเข้าออกก็ไม่กลัวนะ เพราะเราก็คนแถวนี้ บางทีทำงานดึก ๆ เราก็เดินเข้ามาเพราะเราชิน เราก็หาทางหลีกเลี่ยงอะไรของเราไปเอง เพราะเราก็เป็นผู้หญิงอะเนา

สมัยก่อนใต้ทางด่วนนี่ไฟยังไม่มีเลยนะ พวกคนติดยาอะไรพวกนี้ก็จะยืนแอบ ๆ แล้วโผล่มาเราก็ตกใจ เราก็แกล้งทักว่าแบบ อ้าว ยืนทำอะไรกัน? แต่เราไม่รู้จักนะ แต่ตอนนี้ไฟมันสว่างแล้ว ก็สะดวกขึ้น”

ย่าเล่าให้ผมฟังเป็นเรื่องสุดท้ายด้วยน้ำเสียงกันเองท่ามกลางเสียงฝนที่ไม่มีทีท่าจะหยุดลงก่อนผมจะบอกลาแล้วลุยฝนออกไปเพื่อกลับบ้าน

หลาย ๆ อย่างที่คลองเตยกำลังจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทัศนคติของผู้คน แต่จากที่ได้เข้าไปสัมผัสผมก็ยังเห็นช่องโหว่ของระบบอีกมาก

ภาพนี้คงจะสะท้อนความเป็นคลองเตยได้ดีที่สุด เพราะแม้แต่หลอดไฟใต้ทางด่วนที่เค้าบอกว่าสว่างแล้ว ผมกลับมองว่า มันยังมืดไปด้วยซ้ำ (ในสถานที่จริงที่มองด้วยตาเปล่า) ยังมีมุมมืด มุมอับ ให้เห็นอยู่ทั่วไป

ผมรู้สึกว่าปัญหาสังคมหลายอย่างกำลังถูกซุกเอาไว้ในความมืดใต้ทางด่วนที่เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญแห่งนี้ หลังจากนี้เวลาผมขับรถผ่านคลองเตยบนทางด่วน ผมคงจะไม่รู้สึกเหมือนเดิมอีกต่อไป

Loading next article...