The Dirtier, The Better l ใจนักเลง
“นักเลง ใจนักเลง อันธพาล สามอย่างนี้มันไม่เหมือนกันนะ เอามารวมกันไม่ได้”

คนที่ถูกคนอื่นจำกัดความว่าเป็น ‘นักเลง’ อย่างพี่โภชน์- สมโภชน์ วัยรุ่นชื่อดังในยุค 2499 เพื่อนกลุ่มเดียวกับจ๊อด ฮาวดี้ และอดีตนักเรียนช่างกลปทุมวัน บอกกับเราด้วยน้ำเสียงชัดเจนและหนักแน่น

“สองคำแรกสะกดแบบเดียวกัน แต่ความหมายคนละเรื่อง ‘ใจนักเลง’ คือคนใจถึง เรื่องไม่เป็นเรื่องนี่ไม่เก็บเอามาเป็นสาระ คนมาด่านิดๆหน่อยๆก็ไม่สนใจ ไม่ได้ไปเอาเรื่องเอาราวกับใคร ใจใหญ่ ไปกินข้าวก็เลี้ยง มึงไม่ต้อง กูจ่ายเอง แบบนี้พูดได้ว่าฉันเป็นคนใจนักเลง คนแบบนี้หายาก ฝรั่งยังไม่มี ต่างคนต่างกินแล้วแยกย้าย เพราะงั้นถึงไม่เจาะจงว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็ใจนักเลงได้ มีให้เห็นเยอะแยะไป แต่การเป็นนักเลงหรือเปล่านั้นต้องให้คนอื่นบอก

 

“ส่วนนักเลงกับอันธพาลนั้นต่างกัน ต้องแยกให้ออก อันธพาลนี่คนขี้พาล กินอะไรแล้วเขวี้ยงแก้วเหล้า โช้งเช้ง เบี้ยวเงิน หาเรื่องชกต่อย แต่คนที่เป็นนักเลงนี่เค้าไม่ทำแบบนั้น ส่วนใหญ่มีความนิ่ง เก็บความรู้สึกเอาไว้ได้ ไม่ชอบใจอะไรก็มองดูแล้วค่อยๆคิด ไม่มีใครรู้หรอกว่าคิดอะไร แต่ตัดสินใจเดี๋ยวนั้นแล้วลงมือเลย ยกตัวอย่างตอนพี่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆไปกินสุกี้ร้านดังแถวเพชรบุรี กินเหล้าไปหน่อยเดียว เพื่อนเขวี้ยงแก้วโวยวายอยู่นาน อันนี้เป็นอันธพาล ส่วนโต๊ะข้างๆนี่นั่งมองมันอยู่ตั้งนาน คงรำคาญเต็มที เขาไม่พูดพร่ำทำเพลง ควักปืนเปรี้ยงเดียวตายคาที่ อันนี้คือนักเลง เห็นภาพมั้ย?”

เขาหยุดคิดแค่ครู่หนึ่งแล้วเล่าต่อว่าทุกวันนี้ ‘นักเลง’ หายไป เพราะคนรุ่นใหม่มีวิธีคิดแตกต่างกัน ทั้งจากเทคโนโลยีและวิธีการใช้ชีวิต อย่างเช่นการทะเลาะบนหน้าเฟสบุ๊คหรือสื่อออนไลน์ต่างๆ เถียงกันไปมา ถ้าเป็นเขาจะบอกให้นัดออกมาเจอกันต่อหน้าเลยดีกว่า แต่ไม่ได้แปลว่าต้องมีเรื่องกัน เพราะการคุยแบบเห็นหน้านั้นบอกอะไรได้มากมายหลายอย่างกว่าการเห็นแค่ตัวหนังสือ จะได้รู้ว่าจริงใจแค่ไหน สุดท้ายแล้วอาจจะกลายมาเป็นเพื่อนกันก็ได้

 

“ท่าทางนี่บอกอะไรได้เยอะนะ อย่างไม่นานมานี้ พี่นั่งอยู่นั่งอยู่คนเดียว เห็นคนมองเรามาหลายทีแล้ว มองดูตาก็รู้ว่าไอ้นี่จะหาเรื่อง คนเรามองกันแบบผ่านๆแบบนี้ก็ไม่มีอะไรหรอก ก็เท่านั้นเอง แต่คนที่มองด้วยสายตาอีกอย่าง ความรู้สึกจะเป็นตัวบอกเราทันทีเลยว่า ไอ้นี่มันกวนตีน เราก็เลยเดินไปถามว่า คุณมองอะไรอ่ะ มันก็เดินถอยห่างไปของมันเอง อย่างนี้คือมันเลือกที่จะไม่สู้”

สมโภชน์ไม่เคยรู้สึกว่าการที่เขาก่อเหตุทะเลาะวิวาทเป็นเรื่องผิดหรือสร้างปัญหาให้สังคม เพราะสำหรับตัวเขาเองนั้นจะไม่ยุ่งกับคนที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่หาเรื่องกับคนที่ตั้งใจเรียน ส่วนใหญ่คือเรื่องระหว่างแก๊งค์ต่อแก๊งค์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องเต็มใจเท่านั้น

 

“เด็กช่างกลอย่างเรามีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องนักเลง แต่พี่ไม่ได้เรียกอย่างนั้นนะ แค่บอกว่าสถาบันเรามีเลือดนักสู้ พี่มักจะบอกน้องๆว่าถ้าไปเดินเที่ยวที่ไหนแล้วเห็นคู่อริยืนอยู่ ทางที่ดีที่สุดก็คือหลบไปซะ อย่าเข้าไปให้เค้าเห็น คิดซะว่าไม่มีเรื่องดีกว่ามีเรื่อง เดี๋ยวนี้มันมีกล้องอยู่เยอะแยะไปหมด การหลบไม่ใช่ว่าเราไม่สู้เค้า แต่เป็นการหลบเพื่อไม่ให้เกิดเรื่อง แต่ถ้าเขาเห็นเรา เราเห็นเขา น้องต้องตัดสินใจเองว่าจะทำยังไง เอาตาจ้องตากันไว้ก่อน มองกันก่อน จ้องตาให้รู้กันไป ถ้าต่างคนต่างไม่แน่ใจก็อาจจะจบที่เลิกกัน ถ้าไปแสดงอาการหงอ โอกาสที่เค้าจะตบหัวเอ็งก็มีมาก แต่ถ้าน้องหันหลัง พี่รับประกันเลยว่าลูกปืนวิ่งตามมาแน่ๆ เพราะเขารู้ว่าใจเราไม่ถึง แต่ถ้าเกิดเรื่องแล้ว เราก็ต้องหนีออกจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อมาตั้งหลักก่อน สำคัญว่าอย่าซัดทอดเพื่อนฝูงให้โดนไปด้วย

ระหว่างสัมภาษณ์ พี่โภชน์หันมาถามเราว่า เชื่อไหม? เขาเป็นคนเดียวที่ไม่เคยมีเรื่องกับใคร บาดแผลทุกรอยบนตัวนั้นมีที่มาจากเพื่อนทั้งนั้น

“ถ้าเรื่องเกิดจากพี่ พี่ต้องเคลียร์ตัวเองให้ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของเพื่อน เราก็ต้องช่วยเพื่อน เรื่องนี้เป็นมาตั้งแต่เด็กๆ”

“ถามว่าชอบไหม ไม่เคยชอบเลยนะ ไอ้ที่ยิงกันอะไรกัน พี่ไม่อยากให้ทำอย่างนั้น อยากให้ต่างคนต่างอยู่ แต่ก็ต้องเข้าใจพวกเขาด้วยเหมือนกันว่าเป็นวัยที่อารมณ์กำลังพุ่ง ลองมาคิดว่าถ้าเป็นเราในวัยนั้นก็คงเละเทะเหมือนกัน คนเราเนี่ย ถ้ารู้ตัวว่าอารมณ์ร้อนก็อยู่บ้าน ไม่ต้องออกไปไหน ไม่มีเรื่อง ตัวพี่เองหลังๆก็ไปแค่ตลาด พ่อค้าแม่ค้ารู้จักกัน จำได้หมด เพราะอยู่ตั้งแต่เด็ก ว่างมากเข้าก็ปลูกต้นไม้เล่นสนุกสนาน อยู่แบบนี้เมียก็ชอบ ไม่ออกจากบ้าน ไม่ไปมีเรื่องกับใคร

“ทุกวันนี้พี่ถึงบอกว่าใครชวนไปกินข้าวที่ไหนนี่ไม่ไปหรอก ไปกะเมียสองคน แล้วรู้อะไรไหม ลองทำไม่ถูกใจดูเข้าสิ จะรู้ว่าเขานี่แหละ ….. ที่สุดแล้ว”

Loading next article...