The Debut The Series: อวสานการคิดต่าง

(มุมมองย้อนกลับไปวิเคราะ #แบนเดอะเดบิวต์อวสานไอดอล)


“ทัวร์ลง” แสดงถึงอะไร? เราไม่พร้อมสําหรับการเล่าเรื่อง – ไม่ว่าจะเป็น เรื่องจริงหรือเรื่องแต่งก็ตามเหรอ?
ซีรีส์นี่หยิบยืมวัฒนธรรม Idols มาสร้างหนังสอบสวนสืบสวนการฆาตกรรม แต่กลับโดนแฟน ๆ ของวงการไอดอลไทยตามมาทัวร์ลงเกิด #แบนเดอะเดบิวต์อวสานไอดอล กันไป

แม้ว่าตัวศิลปะจะอิงความจริงหรือดัดแปลงเผื่อวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา บางครั้งในสังคมยุคใหม่ พอใครลองสร้างผลงานออกมาจริง ๆ บางครั้งสังคมกลับไม่ยอมรับ และตอบโต้ทั้งต่อหนังและช่องทางส่วนตัวของทีมงานผลิต  

การรักและเทิดทูนอะไรบางอย่างอยู่ตลอดเวลาจนไม่สามารถรับคําวิจารณ์ได้ จึงเกิดการ ‘ล่า’ และ ‘คุกคาม’ ผู้ที่เห็นต่าง — แล้วเมื่อไหร่ล่ะที่เราจะเลิกดราม่า ไม่งั้นเราอาจจะจะไม่มีวันมีหนังหรือซีรีย์แบบ Crash Landing On You, Once Upon a Time in Hollywood, หรือ Crazy Rich Asian ได้เลยรึเปล่า 

เรามาฟังมุมมองจากผู้กํากับที่เจอเหตุการณ์จากสาวกวัฒนธรรมไอดอล ดูผลกระทบ ทางจิตใจ และ อนาคตของวงการบันเทิงไทยกัน

หวังว่ามันจะไม่ใช่ อวสานการคิดต่าง – โลกที่ทุกคนโยงทุกอย่างเข้าหากันนะ…

กระแส #banthedebuttheseries ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

จาก Trailer ของซีรีส์ The Debut… อวสานไอดอล ที่เป็นภาพวงไอดอลที่สดใสน่ารักสวยงามเต้นอยู่บนเวที ตัดสลับกับเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ เช่น บูลลี เรื่องเพศ การใช้ความรุนแรง ของมีคม การมัดเชือกชิบาริ 

ดราม่าก็ว่าด้วยแฟนคลับวงไอดอลในโลกแห่งความจริงบอกว่าซีรีส์ไปลอกชุด กิจกรรม และวัฒนธรรม มาจากวงไอดอลวงหนึ่ง แถมเนื้อหายังเป็นเรื่องรุนแรงทั้งนั้นเลย ทั้งเรื่องเพศ ฉากโป๊เปลือย การบูลลี่ ซึ่งก็เป็นที่ไม่พอใจในกลุ่มแฟนคลับวงไอดอล (หมายถึงแฟนคลับวงในโลกแห่งความจริงน่ะ)

ว่าซีรีส์เรื่องนี้จะทำให้คนเข้าใจวงไอดอลผิดด้วยภาพลักษณ์ที่คล้ายกัน 

จนเราก็อดสงสัยไม่ได้ว่ายังมีคนบางกลุ่มที่แยกเรื่องจริงกับเรื่องแต่งไม่ออกจริง ๆ เหรอ?

โดยที่กลุ่มแฟนคลับมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ไม่เห็นด้วยมีมากกว่า ซึ่งหลังจากซีรีส์ได้ออนแอร์จริง ๆ กระแสกลับเป็นตรงกันข้าม

เท้าความกันก่อนเผื่อใครยังไม่รู้ The Debut… อวสานไอดอล คือซีรีส์จากบริษัท Kantana Motion Pictures บนแอป WeTV แนวฆาตกรรมสืบสวนที่เล่าใน Theme วงไอดอลที่ชื่อ ‘Newtype’ โดยเล่าผ่านตัวนางเอก ‘เฟม’ ที่สมัครออดิชั่นเข้าวงไปเพื่อสืบสาเหตุการตายของ ‘ฟาน’ น้องสาวของตัวเองที่ออดิชั่นติดและเป็นสมาชิกวงมาก่อน

เรานั่งอยู่ในห้องประชุมเล็ก ๆ ที่ถูกใช้ถ่ายเป็นห้องประชุมของวง Newtype ตรงหน้าเราคือสองผู้กำกับซีรีส์เรื่องนี้ ‘ปัน’ และ ‘แป๋ว’ ทั้งคู่มาในอริยาบถสบาย ๆ หลังจากเพิ่งผ่านดราม่ากันมาสด ๆ ร้อน ๆ หลังจากที่เพิ่งโดนทัวร์ลงไปช่วงต้นเดือนมีนาคม 

เราไล่อ่านคอมเม้นจาก # ตอนเตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์ ส่วนใหญ่ก็จะมีใจความประมาณนี้:

“ซีรี่ย์นี่ ออกแนวบูลลี่ไอดอลวงbnk48 ชัดๆ เอาคาแรคเตอร์เม็มเบอร์ของวงbnk48 มาบูลลี่ใส่ความเกินจริงข้ึนไปให้คนหมั่นไส้” — คอมเมนต์หมายเลข 1

“คนเขียนบท/ผู้กำกับนี่มีอคติอะไรกับผู้หญิงแบ๊วๆรึเปล่าอะ ตั้งแต่อวสานโลกสวยแล้ว ทำหนังสนองนี้ดพวก Toxic ที่มีความสุขกับการได้ Hate speech ใส่คนแบบที่ตัวเองเกลียด ป่วยก็ไปหาหมอนะ” — คอมเมนต์หมายเลข 2

ตอนนี้ดราม่าสงบลงแล้ว มีคนที่ดู Trailer แล้วไม่คิดจะกลับไปดูซีรีส์เรื่องนี้อีก มีคนที่ลองเปิดใจดู คนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีคนที่ด่าตัวงาน มีคนชมตัวงาน มีคนที่ด่าดารา มีคนชมดารา มีคนด่าทีมงาน มีคนชมทีมงาน แต่สิ่งที่สำคัญคือทุกวันนี้พวกเราเปิดใจให้กับเรื่องแต่งแค่ไหน… 

…หรือความรักมันทำให้คนตาบอดจริง ๆ

“อันนี้เราคุยกับนักแสดงบางคนที่เค้าภูมิใจกับงานชิ้นนี้มาก เค้าอยากให้ทุกคนได้ดู แต่การที่เค้าจะลงรูปหนึ่งรูปบอกว่าเค้าเล่นซีรีส์เรื่องนี้… มันเป็นสิ่งที่เค้าก็กลัวอีกว่าจะโดนทัวร์ลง” — พี่แป๋วบอกเรา ซึ่งมันเป็นเรื่องเศร้าที่ใครบางคนแค่งานชิ้นที่เค้าภูมิใจ เค้ายังเอาไปอวดคนอื่นไม่ได้เลย ตลกร้ายชะมัด

นอกจากทัวร์จะลงในตัวผลงานแล้ว ทัวร์ยังลามมาถึง Facebook ส่วนตัวของผู้กำกับอีกด้วย พี่แป๋วเล่าว่าตัวเองโดนประจาร แถมยังโดนขุดเรื่องราวและข้อมูลเก่า ๆ เพื่อเอามาด่าตามระเบียบ

“คือเราโดนด่าบ่อยมากที่เราทำหนังแนวนี้ เป็นคนไม่ดี โรคจิต วิปริต คิดในแง่ลบ ทำไมถึงทำแนวนี้ แต่สำหรับเรามันไม่ใช่ด้านลบไง เราดูแล้วเรารู้สึกว่าเป็นการวิพากษ์ การพูดถึง… ก็สนุกนะ

สิ่งที่สะท้อนมามันก็เป็นเเค่เรื่องที่ฉันมีสิทธิ์ที่จะทำอะไรก็ได้ แล้วคุณก็มีสิทธิ์ที่จะด่าเราก็ได้เหมือนกัน เราก็เข้าใจกับมันได้เท่านั้นเอง แต่การที่เอาหน้า Facebook ของเราไปด่า พยายามที่จะไปขุดเรื่องของเรา นั่นมันคนละเรื่อง” 

จนถึงตอนนี้พี่แป๋วดูไม่ได้เป็นอะไรมาก คงเพราะเหตุการณ์มันผ่านไปซักระยะนึงแล้ว

ทั้งคู่เล่าว่าได้รับโจทย์ในการทำหนังมาเป็น Theme วงไอดอล ก็ได้ทำการ Research ทั้งวงไทยและวงนอก แต่พอต้องทำวงไอดอลของไทยแล้วก็ต้องมาดูกันอีกว่าเมื่อพอพูดถึงไอดอลแล้วคนไทย (ส่วนใหญ่) จะรู้จักและเห็นภาพแบบไหน

“โดยรวมแล้วคือมันมีซีนไหนที่ควรจะมีและเอามาทำเป็นเหตุการณ์ที่มันดูน่าสนใจได้ เราก็เอามาใช้ ก็แค่นี้”  — พี่แป๋วอธิบายให้เราฟัง

ผมพยายามทำความเข้าใจในทั้งสองมุมมองนะ ทั้งจากพี่แป๋วและจากคอมเมนต์ (หมายเลข 3) ที่เราอ่านเจอมาอีกแหละ  “พวกคุณทีมงานทำหนังซีรี่ย์เรื่องนี้ พวกคุณกำลังดูถูก ความพยายามของน้องๆ ที่เป็นวงไอดอลที่แท้จริง อยู่นะ  พวกคุณนั่นแหละ ชั้นตำ่ จริงๆ” 

จากมุมมองของคนที่รัก เทินทูน และ หวงแหนความเพอร์เฟกต์ของนางฟ้าในอุดมคติของแฟน ๆ ในอีกมุมมันก็มีมุมมองสากลของคนทำศิลปะวงการบัญเทิงที่มันต้องมีพื้นที่ให้สามารถหยิบยกความเป็นจริงมาใช้ได้สิ ไม่ว่าในบริบทไหน การหาคำตอบเรื่องนี้เลยสำคัญ  เพราะเราจะได้เข้าใจกัน

ในโลกของความเป็นจริง การจะมี Sub culture อะไรเกิดขึ้น มันก็ต้องเกิดจากความสนใจของคนบางกลุ่ม ดังนั้นที่ต้อง Reference หลายอย่างจากในโลกความเป็นจริงมาก็เพราะมันทำให้ตัวหนังดูมีน้ำหนักมีมิติ มากกว่าที่จะสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาจากศูนย์ แล้วคนไม่เข้าใจว่านี่คืออะไร

“การคิดอะไรมันต้องมีรากฐานมาจากอะไรบางอย่างที่มีในสังคมจริง ๆ ไม่งั้นมันจะดูไม่มีความหมาย… สำหรับเรานะ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าพอทำออกมาแล้วมันก็คือสื่อซีรีส์ สื่อ Fiction ซึ่งมันก็คือ Fiction (เรื่องแต่ง)  ถูกมั้ย มันแค่มีรากที่ดึงมา เพื่อให้มันมีน้ำหนัก มันไม่ใช่ว่าเพ้อฝัน” — พี่ปันพูด

ซึ่งสำหรับเรานี่เป็นคำถาม ว่าสุดท้ายแล้วการทำงานศิลปะมีกรอบใช่ไหม แล้วกรอบที่ว่านี่อยู่ตรงไหน ถึงแม้ตัวเนื้อเรื่องจะเป็นเรื่องแต่ง แต่การ Reference จากหลาย ๆ แห่งในโลกแห่งความจริงยังเป็นไปได้อยู่หรือเปล่า?

เพราะในโลกนี้ก็ยังมีหนังแนว ‘Mockumentary’ หรือสารคดีปลอมอยู่ อย่างเช่น ‘This Is Spinal Tap’ ซึ่งตัวหนังทำออกมาแนว ‘สารคดี’ โดยการสร้างวงร็อกปลอม ๆ ที่ชื่อ ‘Spinal Tap’ เพื่อหยิบวงนี้มาเล่าเรื่องประชดและเสียดสีวงการเพลงร็อก ทำเอานักดนตรีร็อกถูกใจกันเป็นแถบ ซึ่งส่งผลให้วงปลอม ๆ อย่าง Spinal Tap ได้ออกอัลบั้ม (จริง ๆ ) ถึง 3 อัลบั้ม

พวกเราคาดหวังอะไรกับเรื่องสมมติ? 

เสน่ห์อย่างนึงของเรื่องสมมติคือมันสามารถก้าวข้ามความเป็นไปไม่ได้หลายอย่างที่งานที่เนื้อเรื่องอิงจากเรื่องสร้าง หรือสร้างจากเรื่องจริงทำไม่ได้ ซึ่งนั่นทำให้เรื่องสมมติสนุกได้มากเหมือนกัน เพราะบางครั้งความจริงมันก็น่าเบื่อ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่คนดูต้องแยกแยะให้ออกว่าสื่อแบบไหนคือ Fiction หรือ Non-fiction

ทั้งคู่ (รวมทั้งเรา) ยังคิดว่าเราสามารถจะหยิบ Element ในโลกแห่งความจริงเข้ามาอยู่ในงานที่ไม่ใช่สารคดีได้ เพราะเราไม่ได้เจาะจงเป็นเฉพาะตัวบุคคล ถึงแม้ในงานของต่างประเทศจะเจาะจงเป็นตัวบุคคล มีการแซว จิกกัดกัน เพราะมีเสรีภาพในการพูดและทำของทุกคนมันเท่ากันอยู่แล้ว

“จะให้ Character ฉันไปทำอย่างอื่นแล้วมันดูไอดอลได้ไง?” — พี่แป๋วตอบ

สำหรับเราที่รู้จักวงไอดอลอยู่บ้าง หลังจากได้ดูซีรีส์เรื่องนี้จนถึงตอนปัจจุบัน เรากลับไม่ได้คิดว่าตัวเนื้อเรื่องมันจะสามารถโยงไปหาวงไหนได้ เพราะการเป็นไอดอลมันเป็นเพียงอาชีพของตัวละครในเรื่องเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วตัวเนื้อเรื่องเน้นเล่าไปยังชีวิตส่วนตัวที่อยู่เบื้องหลังฉากมากกว่า 

ถ้าพูดให้เห็นภาพคือผู้กำกับไม่ได้เอาใครที่หน้าเหมือนคนในวงจริง ๆ มาใช้ชื่อคนคนนั้นจริง ๆ แล้วเอามาเต้นเพลงของวงจริง ๆ เพื่อหาผลประโยชน์ซะหน่อย

มันมีบางช่วงระหว่างการคุยกับพี่ ๆ ผู้กำกับทำให้เรานึกไปถึงเวลาที่ เราอ่านมีมเยอะแยะทั่วไป มีคนที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ คนรวยที่มีชื่อในสังคม  หรือ ดาราต่าง ๆ ถูกเพื่อน ๆ เราในอินเทอร์เน็ตเอามาใช้และล้อเลียนสิ่งที่เค้าพูด มันก็อาจจะอิงความจริงและเป็นการลบหลู่กว่ามั้ยอะ แต่พวกเราก็ไม่ได้ติกัน

“การทำซีรีส์สิ่งสำคัญมันคือเนื้อเรื่อง มันไม่ใช่ Reference ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เราเอามาสร้างโลกข้างใน เรา Reference วงร็อก วงร็อกมันก็ใส่เสื้อวง ชุดดำ ทุกอย่างมันก็ต้องมี Reference เพื่อสร้างโลกแต่ละอย่างให้สมจริง คนดูจะได้อินกับวัฒนธรรม เพราะนี่เป็นโลกที่เราสร้างมาเพื่อ Relate กับความจริง เพื่อเล่าเนื้อเรื่องตัวละครที่ดำเนินไป”

“หรือถ้าเราไปหยิบชีวิตใครมาสร้าง เราก็ต้องเขียนว่าสร้างมาจากเรื่องจริงนะ”
พี่ปันพี่แป๋วบอกเรา

จากที่คุยกับทีมงานและผู้กำกับ ก็อดทำให้เรานึกถึงหนังญี่ปุ่นเรื่อง Back Street Girls – Goku Idols (2019) ที่เอาวัฒนธรรม ​Idol มาเล่าเรื่องสาว ๆ ที่เป็นยากูซ่าพร้อมกับผันตัวมาเป็นไอดอลไปพร้อม ๆ กัน ก็เป็นมุมตลกขบขันไปอีกแบบที่ไอดอลในเรื่องมา Act ท่าน่ารัก ๆ แล้วบอกว่า “We’re Yakuza Idols! We’re Goku Idols” หรือ ใน Trailer ก็บอกโต่ง ๆ เลยว่า ‘เราคือไอดอลยากุซ่าน้า! โกคุไอดอลจ้า!” แต่บ้านเรากลับทัวร์ลง… 

หรืออย่างในเกาหลีใต้ก็มีการเอาประเทศคู่ปรับอย่างเกาหลีเหนือมาล้อเลียนทำหนังรักว่าเครื่องบินนักธุรกิจเกาหลีใต้ไปตก ทำให้นักธุรกิจสาวได้ตกหลุมรักกับทหารเกาหลีเหนือหนุ่ม เช่นเรื่อง Crash Landing on You 

แม้ว่าจะเป็นอะไรที่ภาพลักษ์ตัวละครคล้ายกัน เป็นการอิงวัฒนธรรมมาแต่งเสริมเป็นเรื่องเล่าต่าง ๆ ไม่ว่าจะมีดราม่าและปัญหาต่าง ๆ ที่ตัวละครเจอแค่ไหนในเรื่อง จากการคุยกับทีมงานทุกคน — ทุกคนเข้าใจว่าชิ้น

งานพวกนั้นเป็นแนว ตลก ล้อเลียน หรือแนวเสียดสีสังคม อยู่แล้ว ซึ่งเนื้อหาของ The Debut… อวสานไอดอล ก็เป็นการตั้งคำถามต่อสังคมเช่นกัน

คำว่า ‘ตีแผ่’ ที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ ถ้าคนที่ได้ดูซีรีส์เรื่องนี้ก็จะเข้าใจว่ามันคือการที่ตัวละครสมมติกำลัง ‘ตีแผ่’ วงการไอดอลสมมติที่อยู่ในโลกสมมติอยู่

“มันไม่ใช่สารคดีนะ Mood ก็ไม่ได้ Realistic เพราะแต่งสีซะเว่อขนาดนั้น มันไม่ใช่การสร้างมาจากเรื่องจริง ถ้าคุณคิดแบบนั้นแปลว่าคุณโดน Trailer เรื่องนี้หลอกแล้วนะ” — พี่แป๋วตอบเราอย่างกันเอง ก่อนจะหัวเราะคิกคักออกมา

เราได้เข้าไปดูคอมเมนต์ และฟังคลิปต่าง ๆ ที่แฟนคลับวงไอดอลในโลกแห่งความจริงทำขึ้นมา เพื่อพยายามทำความเข้าใจ แต่ดูเหมือนว่าเรื่องนี้คงจะไม่มีทางคุยกันได้รู้เรื่องเพราะทั้งสองฝ่ายต่างมองกันคนละมุม

“คุณคะ มันคือซีรีย์มันคือละคร สื่อภาพจำไอดอลดูแย่อะไรคะ แยกแยะหน่อยค่ะ มันคือเนื้อเรื่องของซีรี่ย์ค่า ไอดอลดีๆมีเยอะแยะ แต่ในซีรี่ย์นางจิกตบกันไงคะ แยกแยะหน่อย” — คอมเมนต์หมายเลข 4

“สำหรับพี่ ในความชอบที่เราเข้าใจอะครับ มันไม่จำเป็นหรือเปล่าที่จะต้องเล่าอะไรก็ตามแค่ด้านบวกออกมา?”

“ปกติแล้วอะเราค่อนข้างที่จะพูดทุกอย่างเกี่ยวกับวงการนั้น มันไม่ใช่ว่ามันจะเป็นความดีหรือความเลวอะ คือทุกคนมันเป็นมนุษย์” — พี่แป๋วตอบเราด้วยท่าทีขึงขังขึ้น

“เป็นสีเทา?”

“ใช่ ‘คิริน’ ตัวละครในเรื่องเรา เค้าเป็นแค่มนุษย์ที่มีความรักแล้วมีเซ็กซ์ เราไม่ได้บอกว่าใครผิดใครถูก อยู่ที่ว่าเป็นมุมมองของใคร มุมมองของคิรินก็คิดว่าฉันน่ะไม่ได้ทำผิด แต่มุมมองของแฟนคลับอย่าง ‘กล้า’ อะนั่งร้องไห้เพราะรู้สึกผิดหวังแล้วก็เสียใจ

เพราะเราเป็นมนุษย์ เราจะรู้สึกยังไงก็ได้เราจะรักใครก็ได้ จะมีเซ็กซ์ก็ได้ คิรินคิดที่จะมีเซ็กซ์กับผู้ชายอีกสิบคนก็ได้ในความรู้สึกของเรา ถ้าเค้าไม่ได้ไปทำผิดศีลธรรม ส่วนเรื่องกฎของวงเราไม่ได้บอกนะว่าสัญญามีหรือเปล่าในเรื่อง” — พี่แป๋วตอบเรา และดูเหมือนจะสนใจในคำถามนี้เป็นพิเศษ

ซึ่งสำหรับเราการเล่าอะไรที่อ้างอิงสิ่งที่อยู่ในแวดวงที่ตัวเองรักไปในทางลบ ตั้งคำถาม หรือแสดงความเป็นมนุษย์ อาจจะยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมคนบางกลุ่มหรือเปล่า ถึงแม้จะเป็นเรื่องแต่งก็เถอะ แบบนี้ขอบเขตของงานศิลปะที่เป็นการตั้งคำถาม แขวะ ล้อเลียนหรืองาน Parody สามารถทำได้แค่ไหน? แถมงานชิ้นนี้ยังเป็นเรื่องแต่งอีกด้วย 

หรือในบางสังคมเราสามารถล้อและตั้งคำถามได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องที่ตัวเองรักกันนะ?

“เราก็ไม่ได้บอกว่ากฎนี้ถูกหรือผิดอะ ซึ่งในเรื่องมันก็เป็นการวิพากษ์กฎนี้ด้วย ในวงการไอดอลมันก็มีการถกเถียงกันอยู่เเล้วเรื่องกฎมันไปละเมิดตัวศิลปินหรือเปล่า 

เราไม่ได้สนใจที่จะเชิดชูหรือโจมตีบางอย่าง แต่สิ่งที่สนใจคือ Conflict และการตั้งคำถาม และการแสดงทุกด้านของทุกคนที่พูดถึง Conflict นั้น” — พี่ปันเสริมขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดีอยู่นาน

พี่ปันเล่าว่าซีรีส์เรื่องนี้แค่อยากแสดงให้เห็นเบื้องหลังเบื้องหลังของมนุษย์ ซึ่งแค่ยกวงการไอดอลที่ดูมีมิติที่สุดโต่งมาเป็น Subject เท่านั้น คือเป็นสิทธิ์ของคนที่จะเชื่อ เชิดชู หรือรัก ในด้านที่แสดงออกมาหน้าฉาก หรืออาจตั้งคำถามกับเบื้องหลังนอกฉาก ด้วยเหตุการณ์สมมติ ซึ่งการที่ใครจะดีจริง ๆ หรือไม่ดี ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ ดังนั้นการมองรอบด้านเลยสำคัญ 

บูลี่ ขี้ลอก ครบเครื่อง พร้อม รับ ทัวร์ ลง  จริงๆ” — คอมเมนต์หมายเลข 5

ทั้งคู่เล่าว่าในเรื่องมันมีมุมมองจากหลายมุม ทั้งมุมมองของคนในวง มุมมองของแฟนคลับ มุมมองของเจ้าของวง มุมมองของคนนอกที่เข้ามาในวงด้วยอคติ มุมมองของผู้ปกครองไอดอลในวง หรือมุมมองจากคนนอกอย่างคนในวงการดนตรีร็อก

“คือมันมีหลายเรื่องที่ทำไม่ได้ แต่มันไม่ควรจะเป็นเรื่องนี้ (วงไอดอล) ที่ทำไม่ได้” — พี่ปันพูดเรื่องตลกร้ายขึ้นมา

ถ้ายกตัวอย่างอีกคือมีตัวละครที่เป็นแม่ของสไมล์ แสดงโดยพี่ไก่ ที่เป็นนักแสดงเก่าอยู่แล้ว พี่ปันพี่แป๋วก็ขอรูปสมัยสาว ๆ แล้วใช้เป็นพร็อบ และตัดชุดมาใหม่ให้เหมือนกับในรูปเก่า โดยจะสื่อว่าแม่ของสไมล์เป็นดาราเก่าที่ยังติดอยู่ในอดีต แอบซ้อมบทละครคนเดียวตอนดึก ซึ่งไม่ได้มีใคร (รวมทั้งพี่ไก่) ติดอะไร เพราะทุกคนก็เข้าใจว่ามันคือ ‘เรื่องแต่ง’

ทั้งคู่ก็ต่างเห็นด้วยว่าเมื่อคุณอยู่ในสังคมไทย คุณก็ถูกตีกรอบมาตั้งแต่เริ่มอยู่แล้วแหละ ก็โชคร้ายหน่อยที่มาอยู่ในสังคมที่เล่าไม่ได้ทุกเรื่อง ซึ่งคนในวงการก็ระวังกันอยู่แล้ว แต่การมีดราม่าและการถกเถียง มันอาจจะเป็นการยกระดับและก้าวผ่านกรอบบางอย่างเพื่อไปสู่อีกระดับหนึ่งหรือเปล่า

ทั้งคู่เล่าว่าในรอบสื่อที่เปิดให้คนดูซัก 1-2 ตอน ก็ไม่ได้มีใครรู้สึกว่าเป็นการโยงไปถึงวงใดวงหนึ่ง แต่กลับ กลายเป็นเสียงชมมากกว่า จนมีบางเพจไปเขียนชม จนเมื่อพอปล่อย Trailer ออกมา เมื่อมีกระแสแบนซีรีส์ เหล่าคนที่เขียนชมทั้งหลายกลับลบโพสต์ และคำชื่นชมก็กลายเป็นคำด่าทอแทน

“ถ้าเกลียดฉันไม่ทำไอดอลให้มันสวยหรูขนาดนี้หรอก ไอดอลเราสวยมากนะ นี่คนเกลียดเหรอถึงทำไอดอลสวยขนาดนี้ รายละเอียดทุกอย่างเราตั้งใจเจาะลึก ตั้งใจให้มันสวยอะ นักแสดงแต่งหน้านานเป็นชั่วโมงอะ 

ถ้าฉันเกลียดฉันคงทำให้ดูแย่ ชุดนี่คิดว่ากี่หมื่น ถามหน่อยชุดนึงอะกี่หมื่น ชุดที่มิวมิว…” — พี่แป๋วพูดพรางชี้ไปที่ชุดที่แขวนอยู่บนหุ่นลองเสื้อ แต่เราจะไม่ลงรายละเอียดมากเพราะกลัวจะเป็นการสปอยล์เนื้อเรื่อง

“แล้วเราก็ไฟต์ให้มันมีหลายชุด ให้มันเหมือนเป็นวงจริง ๆ” — พี่ปันเสริมขึ้นมา

“แล้วทำไมเราต้องทำให้มีถึงสามซิงเกิล คือฉันทำให้วงมันดูดีนะ” — พี่แป๋วพูด

คำพูดของพี่ปันพี่แป๋วมีความชัดเจนในความคิดของเขา จากที่เราคลุกคลีนั่งคุยกับเขาเราเห็นความตรงไปตรงมามุทะลุแบบฉบับ Stereotype ของผู้กำกับหลายคนที่เราเห็นจากเบื้องหลังหนังเรื่องอื่น ๆ 

จนเหมือนจะมีเสียงตะโกนพวกเขาในกองถ่ายว่า “คัต เฮ้ย เอาแบบนี้ดีกว่า! ขออีกเทค!” ก้องเข้ามาในหัวเราเลย ฮ่า ๆ ก็อาจจะเป็นการสู้เพื่อสิ่งที่เค้าอยากจะสื่ออยู่ในงาน บางมุมอาจฟังดูแรง แต่มันก็คืออาชีพที่เค้ารักกันจริง ๆ 

“เราทุ่มขนาดนี้ ให้ใจขนาดนี้ มาหาว่าเราเกลียดไอดอล เราคิดว่าใจร้ายกับเราเกินไป” — พี่แป๋วพูดทิ้งท้าย

มองอีกมุมการที่ผู้กำกับสร้างหนังออกมาแบบนี้อาจเป็นการย้ำเตือนได้ว่าการทำวงไอดอลในมุมหนึ่งก็เป็นธุรกิจ ถ้าภาพของไอดอลในซีรีส์เรื่องนี้มันไม่น่าพิศมัยสำหรับแฟนคลับไอดอลในโลกแห่งความจริง นั่นก็น่าจะเป็นผลดีมากกว่า เพราะมันสะท้อนให้ทุกคนรู้ว่าไอดอลแบบไหนที่สังคมเกลียด แบบไหนสังคมชอบ

จะดีกว่าไหมถ้าเราปล่อยให้เรื่องแต่งอยู่ส่วนเรื่องแต่ง ส่วนโลกแห่งความเป็นจริง 

เรามาช่วยกันจับตาดูวงการไอดอลของเราดีกว่า ว่าอย่าให้เรื่องจริงมันไปคล้ายเรื่องแต่ง เพราะนั่นคงจะเป็นเรื่องตลกร้ายที่สุด… 

อย่าลืมว่าทุกคนเป็นมนุษย์ ทุกคนมีสีเทา

Loading next article...