อยากชวนฟังเสียงของเจ้าของธุรกิจรอบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่นักศึกษาเรียนออนไลน์กัน
ห้วงยามของโรคระบาดหนักเบาไปตามวิสัย การปรับตัวดูจะกลายเป็นเรื่องปกติ พนักงานทำงานแบบ Work From Home ส่วนเด็ก ๆ ก็เรียนออนไลน์กันจนกลายเป็น New Normal…
แต่บางธุรกิจยังต้องพึ่งการสัญจรของ ‘ชุมชน’ ที่เกิดจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
ธุรกิจซักรีด ร้านถ่ายเอกสาร และร้านอาหาร ที่คอยอำนวยความสะดวกให้นิสิต นักศึกษา ครูอาจารย์และผู้คนรอบมหาวิทยาลัย นานวันเข้า มหาวิทยาลัยและร้านค้ารอบ ๆ ก็ข้องเกี่ยวกันจนกลายเป็นชุมชนขึ้นมา
แต่ทว่าในวันนี้ที่มหาวิทยาลัยย้ายไปบนโลกออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ธุรกิจในชุมชนรายล้อมรั้วมหาวิทยาลัยจึงได้รับผลกระทบ – มากบ้างน้อยบ้าง แต่ไม่มีใครรอดพ้น
สถานที่หนึ่ง ๆ เมื่ออยู่มานานวันเข้าก็ย่อมมีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง มีจังหวะจะโคนเป็นของตัวเอง และมีบุคลิกส่วนตัว คล้ายกับว่าสถานที่นั้นคือคนอีกคนหนึ่ง ย่านออฟฟิศคึกคักแข็งขัน ย่านตลาดจอแจและล่ำซำ ส่วนย่านสถานศึกษาก็สดชื่นและมีชีวิตด้วยพลังของคนหนุ่มสาว
แต่เมื่อ Covid-19 มาเยือน ไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม สถานที่เหล่านั้นต่างต้องปรับเนื้อตัวให้ปลอดภัยและไม่กลายเป็นแหล่งส่งต่อโรค ความสดชื่นของมหาวิทยาลัยถูกย้ายไปอยู่ใน Google Classroom และโปรแกรม Zoom พลังและความรู้ของคนหนุ่มสาวถูกบีบให้กลายเป็นดิจิทัล – แม้จะเป็นบุคลากรที่เกิดมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เราก็ยังได้ยินเสียงบ่นด้วยความทดท้อน่าใจหาย ว่าโลกแห่งการเรียนที่หดลงเหลือเป็นคลาสออนไลน์ก็สร้างความเหนื่อยหน่ายและไม่ส่งเสริมการเรียนรู้
ที่น่าใจหายยิ่งกว่านั้นคือพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัย
ฉันเดินเล่นรอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าคึกคักที่สุดของประเทศ พื้นที่บางส่วนยังคึกคักแม้เห็นได้ชัดว่าคนบางตาลง ห้างสรรพสินค้ายังมีรถวิ่งเข้าออก ร้านสะดวกซื้อยังส่งเสียงทักทาย แต่หอพักนักศึกษาเงียบเหงา ชนิดที่ว่าพอมีคนเดินลากเท้าหนักหน่อยก็ได้ยินเสียงไปทั่ว
อาจยังไม่นิ่งสนิท แต่ต้องยอมรับว่าเวิ้งว้างกว่าที่เคยเป็นมา
พี่อ้อ เจ้าของร้านซักรีดใต้หอยู (U-Center)
“อาจจะเป็นเพราะว่าเรายอมปิดร้านไปพักหนึ่งด้วย ถ้าเราไม่ปิดเราอาจจะไม่เสียขนาดนี้ แต่ตอนนี้พื้นที่ตรงนี้มันแดงมากเลย ที่บ้านก็กลัว เพราะเราก็มีครอบครัว มีลูก กลัวจะออกมาทำงานนอกบ้านแล้วเอาไปติดลูก ปิดตั้งแต่เมษาฯ จนมาพฤศจิกาฯ นี่เองที่กลับมาเปิด 8 เดือนเลยนะ”
พี่อ้อเล่าให้ฟังว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง นับตั้งแต่มี Covid เข้ามาในชีวิต
พี่อ้อเคยเป็นพนักงานโรงแรม และพบว่าตัวเองสนอกสนใจห้องซักรีดเป็นพิเศษแม้ไม่ใช่เนื้องานโดยตรง ยามว่างพี่อ้อมักแวะเวียนเข้าไปไถ่ถามเคล็ดลับของงานซักรีด นานวันเข้าเมื่อการงานที่ทำอยู่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง พี่อ้อจึงเลือกเป็นเจ้านายตัวเองด้วยการมาเปิดร้านซักรีดอยู่ไม่ไกลจากราชประสงค์ – ที่ทำงานเดิม
เมื่อร้านซักรีดอายุย่างเข้าปีที่ 10 Covid เจ้ากรรมก็มาทักทาย จุฬาลงกรณ์กลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สีแดง มหาวิทยาลัยจึงต้องโยกย้ายการเรียนไปสู่โลกออนไลน์ แต่ร้านซักรีดไม่สามารถย้ายตามเข้าไปด้วยได้จึงต้องพักไปชั่วคราว เมื่อกลับมาเปิดอีกครั้งราวผ้าจึงไม่แน่นหนาเท่าเมื่อก่อน
พี่อ้อพยายามปรับธุรกิจให้เข้ากับเงื่อนไขของยุค Quarantine โชคยังมีอยู่บ้างที่ลูกค้าประจำส่วนหนึ่งเหนียวแน่น แม้หน้าร้านปิดก็ยังโทรสื่อสาร นัดแนะให้รับส่งเสื้อผ้ากันได้หลายราย ‘ลูกค้าอุตส่าห์ช่วยเรา ไม่ทิ้งเรา เราก็ไม่อยากทิ้งลูกค้า’
แน่นอนว่าการส่งเสื้อผ้าเข้าร้านซักรีดเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันมาก เสื้อผ้าแบรนด์แนมราคาแพงเมื่อต้องไปอยู่ในมือคนอื่นชั่วคราว ไม่ว่าใครก็ต้องการความมั่นใจทั้งนั้น แต่ฉันไม่แน่ใจว่าเมื่อเราอยู่แต่บ้าน (ซึ่งไม่ได้ใกล้มหาวิทยาลัย) เราจะยังหอบเสื้อผ้ากลับมาซักรีดเพื่อหอบกลับบ้านไปใส่อีกไหม ร้านซักรีดส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้จึงปิดประตูเงียบสนิท เหลือที่เปิดบริการอยู่เพียงสองสามร้านเท่านั้น
ปัจจุบันพี่อ้อกลับมาเปิดร้านเป็นปกติแล้ว แม้นักศึกษายังไม่กลับมาเรียน และถึงรายได้จะไม่เท่าเดิม แต่พี่อ้อยังยืนยันว่าจะสู้ต่อกับร้านเล็ก ๆ ที่เป็นหยาดเหงื่อแรงงานของตัวเองนับสิบปี
“เราสละงานเพื่อมาตรงนี้โดยตรงเลย เราก็เลยไม่อยากเสียตรงนี้ เพราะเราทุ่มมาตรงนี้หมดแล้ว เงินที่ออกจากงานมา มาลงหมดแล้ว พอมาเจอ Covid เงินเก็บหมดเลย เพราะร้านไม่ทำรายได้ เราก็ต้องเอาออกมาใช้
“ช่วงแรก ๆ ก็คิดนะว่าเดี๋ยวก็น่าจะมาแล้ว แต่ตอนนี้ก็มีโอมิครอนเอย อะไรเอย เราก็เลยว่ามันจะยังไงดี ขอประคับประคองตรงนี้ไปแล้วกัน สู้ต่ออีกสักหน่อย ถ้าไม่ไหวก็ว่ากัน พี่ก็เคยทำขนมขายนะ ตอนที่ว่างน่ะ แต่ปรากฏว่า คนนั้นก็ขาย คนนี้ก็ขาย ขายเหมือนกันหมด ไม่มีคนซื้อ เพราะต่างคนต่างอยากเป็นคนขาย”
การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ท่ามกลางมรสุมการเงินและโรคระบาดไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่ได้มีแค่พี่อ้อคนเดียวที่อยากหารายได้เสริม ดังนั้นคำตอบที่ปลอดภัยที่สุดในตอนนี้คือการเก็บเนื้อเก็บตัวเข้าสู่ภาวะจำศีล นิ่งรอจนกว่าฤดูใหม่จะมาถึงนั่นเอง
พี่นิทรา พนักงานร้าน Rabbit 4 Print
ร้านถ่ายเอกสาร ปริ้นต์งาน เข้าเล่ม คือธุรกิจที่ยืนยงคู่ทุกมหาวิทยาลัย ด้วยการเรียนการสอนนั้นเมื่อทำบนกระดาษก็สร้างบรรยากาศในการเรียนที่ขึงขังกว่า ร้านปริ้นต์งานใกล้สถานศึกษาจึงได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจที่ไม่มีวันล้ม
แต่อะไร ๆ ก็อยู่บนความเสี่ยงในยุค Covid
“แรก ๆ นักศึกษาก็เยอะ แต่พอตอนนี้ก็คือไม่ค่อยเห็นเลยนะ ลดลงเยอะมาก แต่ก็บอกไม่ได้ชัดเจนหรอกว่าลดลงเยอะแค่ไหน เพราะตอนนี้เรามีออนไลน์ แล้วก็เป็นช่วงที่ร้านกำลังขยายตัวพอดีด้วย ไม่มีใครบอกได้ว่าตรงนี้จะยังไงต่อ เราก็เลยกระจายไปทางออนไลน์มากกว่า”
แม้พี่นิทราเข้ามาทำงานที่ร้านสาขานี้ได้ไม่นานก่อนจะเจอกับ Covid แต่เชื่อว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้เวลาพิสูจน์มากมายนัก เพื่อจะบอกว่าพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยเงียบเหงาลงเพียงใด
ธุรกิจนี้ไม่ได้มีแค่การถ่ายเอกสารบัตรประชาชน (เพราะนี้มันยุค Smart ID Card แล้ว – เห็นเขาว่าอย่างนั้น) โดยเฉพาะร้านขนาดค่อนข้างใหญ่ที่ตั้งเป้าให้บริการนักศึกษา การพิมพ์โปสเตอร์สี่สี พิมพ์ผลงานออกแบบ เข้าเล่มงานวิจัย ฯลฯ จึงเป็นเนื้องานหลัก และแน่นอนว่าเมื่อมันเป็นงานชิ้นใหญ่ ราคาแพง อย่างน้อยที่สุดเจ้าของงานก็ควรได้มาตรวจสอบคุณภาพและความถูกต้องกันถึงหน้าเครื่องปรินต์
พูดกันอย่างไม่ใจดี ธุรกิจพิมพ์งานและถ่ายเอกสารแบบออนไลน์จึงมีช่องโหว่ให้เบ้อเร่อ
“เมื่อก่อนจะว่าไปก็คึกคักดี ตอนมาใหม่ ๆ เด็กเยอะมาก แต่งชุดนักศึกษามา มาเล่น มาหยอกล้อกัน มันก็สนุกดี ดูแล้วชื่นใจ การมีลูกค้าเป็นนักศึกษามีข้อดีนะ คือเด็กเขามีไอเดียใหม่ ๆ มา เขาก็จะมาถามว่าทำได้ไหม เราก็ไม่รู้ ก็ลองดูไปพร้อมกัน เราก็จะได้ทำงานที่แปลกใหม่ ตอนนี้พวกเล่มวิทยานิพนธ์อะไรอย่างนี้ก็เริ่มกลับมาบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่ากลับมาน้อยนะ เพราะว่าจริง ๆ พวกเรื่องพิมพ์งานนี่เขาไปสั่งแถวบ้านเขาก็ได้ ใช่ไหม มันมีทั่วไปนะ”
เราคุยกันในร้านราวสิบห้านาที นอกจากพี่นิทราและพนักงานคนอื่น ๆ แล้ว ฉันนับลูกค้าที่เดินเข้าร้านมาได้ 1 คนถ้วน
“ยังมีความหวังอยู่นะ (หัวเราะ) แต่เราก็ไม่แน่ใจว่ามันจะไปได้แค่ไหนเนาะ คือคนที่เขาไม่อยากเสี่ยงจะเป็นอะไรเลยมันก็มี เรายังไม่อยากเป็นเลย ถ้าเป็นเราก็ไม่รู้ว่าต่อไปข้างหน้าร่างกายเราจะฟื้นตัวเหมือนเดิมไหม”
พี่บ๊อบบี้ เจ้าของร้านอาหาร “อย่าลืมฉัน” จุฬา 50
ป้ายเซ้งกิจการทำให้ฉันต้องเลื่อนประตู ขอวิสาสะเข้ามาคุยกับร้าน ‘อย่าลืมฉัน’ ร้านอาหารสไตล์ Family Restuarant ที่มีต้นไม้เต็มร้าน แต่ไม่มีลูกค้า
พี่บ๊อบบี้เปิดร้านนี้มาราว 7 ปี อาหารของที่นี่เป็นอาหารที่ราคาสูงกว่าก๋วยเตี๋ยวและอาหารตามสั่ง แต่ก็ไม่ได้แพงจนจ่ายไม่ไหว จึงเหมาะกับการเป็นมื้อพิเศษของนักศึกษา พี่บ๊อบบี้เองก็ยินดีบริการในทุกโอกาส ใครอยากเลี้ยงรับปริญญา เลี้ยงสายรหัส จัดงานวันเกิด พื้นที่ชั้นสองก็เคยปิดให้มีปาร์ตี้ส่วนตัวได้บ่อย ๆ
แต่ไม่ใช่วันนี้ที่ร้านเงียบเชียบ – ไม่ใช่แค่คนบางตา แต่เงียบเชียบร้างไร้ผู้คน
“ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา คนทำงาน ร้าน โดนกันหมดครับ ต้องปรับตัวกันหมด ต้องประหยัด ๆ เราก็ได้รับผลกระทบ แล้วเรามีค่าเช่าที่ค่อนข้างสูงนะ ก็ไม่รู้จะทำยังไง เราเซฟสุด ๆ แล้ว เซฟด้วยการทำกันเอง ไม่มีลูกจ้างเลย ผมอยู่ข้างหน้า แฟนอยู่ข้างหลังเป็นแม่ครัว ก็ถือว่าหนักหนาสาหัสนะ เรียกได้ว่าทุกวันนี้กินบุญเก่า บุญใหม่ไม่ต้องพูดถึง มันไม่มีอยู่แล้ว”
บุญเก่าที่พี่บ๊อบบี้พูดถึงอาจจะหมายถึงเงินเก็บด้วยส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่สำคัญกว่าเห็นจะเป็นลูกค้าประจำของยุคก่อนที่ผูกพันกันมานาน เพราะพี่บ๊อบบี้คอยดูแลลูกค้าอยู่หน้าร้านมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เรียกว่าบางคนเห็นหน้ากันตั้งแต่ปีหนึ่งจนวันกินเลี้ยงรับปริญญา
รูปลูกค้าขณะเฮฮาสังสรรค์และมีความสุขกับอาหารยังติดอยู่ที่ร้าน คล้ายเป็น Hall of Frame ของ ‘อย่าลืมฉัน’ ที่บอกว่าเราจะไม่ลืมช่วงเวลาแสนสุขเหล่านั้น
ไม่ลืม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่จากไป
“ร้านเก่าแก่หายไปหลายร้านนะ ชาบู ข้าวหมูแดงเจ้าเก่าก็ออกไปตอนต่อสัญญารอบที่แล้ว ร้านโจ๊กร้านดังก็ต้นตำรับเลย ใช่ไหม ที่ย้ายออกไป
“มันถึงจังหวะแล้วแหละ เอาจริง ๆ ถ้าเราขายได้เราจะไปเหรอ ถ้าเราขายได้ พอจ่ายค่าเช่าได้ แล้วพอเหลือดำรงชีพสักหน่อย เราจะไปเหรอ ตอนนี้ตัดลูกน้องไปแล้ว เงินเดือนตัวเองก็ไม่ได้ แต่ก็ยังไม่มีอะไรเหลือเลย ไม่เหลือมา 2 ปีแล้ว
“คนไม่เคยทำก็พูดได้นะ ปรับตัวสิ ออนไลน์สิ คุณมาทำสิ มาทำดู มาเปิดร้าน จะได้รู้ว่านี่ปรับจนไม่รู้จะปรับยังไงแล้ว ลูกน้องก็หายไปแล้ว เข้าแอป เสีย GP ก็ทำแล้ว ขายต้นไม้ก็ขายแล้ว การปรับตัวครั้งสุดท้ายก็คือปรับตัวออกจากที่นี่ เพราะฝืนอยู่ไปก็ไม่ได้อะไรแล้ว”
พี่บ๊อบบี้ตัดสินใจว่าจะย้ายร้านในเร็ววันนี้ พร้อมฝากบอกลูกค้าประจำ ลูกค้าจากยุครุ่งเรืองว่า ‘อย่าลืมฉัน’ จะโยกย้ายไปที่ใหม่ที่สีลมซอย 13 พี่บ๊อบบี้คนเดิม รสมือแม่ครัวคนเดิม (แฟนพี่บ๊อบบี้) อร่อยเหมือนเดิมรับประกัน
พี่ตี๋เล็ก เจ้าของร้านร้านก๋วยเตี๋ยวตี๋ใหญ่ต้มยำ (ก๋วยเตี๋ยวกัญชา)
นิสิตจุฬาฯ เรียกที่นี่ว่า ‘ก๋วยเตี๋ยวกัญชา’ มาแต่ไหนแต่ไร
ใช่ว่าร้านจะนำวัตถุดิบที่เคยผิดกฏหมายมาปนปรุงอย่างโจ่งแจ้ง แต่เป็นเพราะลูกค้าประจำต่างซูฮกว่าอาหารร้านนี้อร่อยอย่างกับใส่กัญชา – เท่านั้น
ก๋วยเตี๋ยวกัญชาอยู่คู่จุฬาลงกรณ์มา 15 ปี แม้จะไม่ใช่ร้านเก่าร้อยปีแต่ก็นับเป็นเวลายาวนานพอที่ร้านจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง เดิมที่ร้านก๋วยเตี๋ยวดำเนินการโดยสองพี่น้อง คือพี่ตี๋ใหญ่ และพี่ตี๋เล็ก แต่ครั้นโรคระบาทเข้ามาระลอกแรก พี่ตี๋ใหญ่จึงเบนเข็มไปทำอาชีพอื่น
แต่พี่ตี๋เล็กยังมีความหวัง จึงรับช่วงร้านต่อแบบเต็มกำลัง การ ‘ปรับตัว’ ทำให้พี่ตี๋เล็กตัดสินใจย้ายร้านมาแล้ว 1 ครั้ง จากห้อง 2 คูหา เหลือเพียง 1 คูหา เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่กระนั้นสภาพคล่องทางการเงินก็ยังอยู่ในจุดที่เรียกว่าหืดขึ้นคอ เมื่อประกอบกับอุบัติเหตุในชีวิตอย่างความเจ็บป่วยของบุพการี และขโมยขโจรที่ฉวยโอกาสตอนกำลังจะย้ายร้าน สถานการณ์จึงย่ำแย่หนักเข้าขนาดที่ว่าต้องติดค้างค่าเช่ากับทางมหาวิทยาลัย
“รายได้ก็ลดลงมาเรื่อย ๆ จนเหลือวันหนึ่งไม่ถึง 700 บาท กับลูกน้อง 6 คน ตอนนั้นก็คิดว่าไม่ไหวแล้ว สถานการณ์ตอนนั้นก็ค่อนข้างแย่มาก เราก็ติดเงินทบมาเรื่อย ๆ คือมันลากยาวนะ มันไม่ได้แค่เดือนหรือสองเดือน จากที่เราติดนิดหน่อย ก็เลยไม่นิดแล้ว เพราะค่าเช่า ค่าใช้จ่าย มันก็ดำเนินมาเรื่อย ๆ ทีนี้ก็เลยกลายเป็นก้อนใหญ่ หลัง ๆ เราเริ่มไม่ไหวกับเงินก้อนนี้ เพราะยังไม่รู้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นยังไง กับค่าเช่าที่ยังเยอะอยู่ตอนนี้”
“เวลาพี่ทำงานพี่ก็จะชอบคุยเล่นกับลูกค้า เราก็ผูกพันกันนะ ทุกวันก็คิดว่าตื่นมาทำกับข้าวให้น้องกิน มันคงเป็นแบบนั้น พอรู้ว่าพี่กำลังลำบาก น้องก็เข้ามาช่วย อย่างนี้นักศึกษาก็พยายามทำโปรเจกต์ช่วย ได้เงินมาก้อนหนึ่งเหมือนกัน แต่พี่คิดว่าในอนาคต สถานการณ์มันก็ยังคงไม่ดีขึ้นกว่านี้ ก็เลยคิดว่าออกไปอยู่ข้างนอกดีกว่า”
เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลายคนอาจได้เห็นว่านิสิตจุฬาทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันต่างพากันติดแฮชแท็ก #saveก๋วยเตี๋ยวกัญชา การได้แวะเข้ามาคุยกับพี่ตี๋เล็กวันนี้จึงเฉลยที่มาที่ไป
ฉันไม่ใช่ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของรั้วจุฬา เป็นเพียงคนที่บังเอิญมาเดินเล่นดูความเป็นไปของย่านเท่านั้น จึงนึกไม่ออกว่าความผูกพันของพ่อครัว-พ่อค้า กับเด็ก ๆ นิสิตนั้นก่อร่างสร้างตัวจนเหนียวแน่นถึงขนาดนี้ได้อย่างไร
“เมนูที่ร้านพี่ก็ส่วนใหญ่มาจากน้อง ๆ นะ คือใครอยากกินอะไรแบบไหนพี่ทำให้หมด สั่งมาได้เลย พอคนหนึ่งกิน คนอื่น ๆ ก็สั่งตาม สั่งบ่อย ๆ พี่ก็ขึ้นป้าย ติดราคาให้เลย (หัวเราะ) มันเป็นแบบนั้นจริง ๆ แล้วการมีลูกค้าเป็นนักศึกษาเนี่ยดีมาก บางคนนี่กินมาตั้งแต่เป็นนักเรียนสาธิตเลย จนเรียนมหาลัย มีแฟน แต่งงาน แต่งงานยังเอาพี่ไปออกบูธเลย มันเป็นพี่เป็นน้องกันไปแล้ว
“แล้วพอรู้ว่าพี่ลำบาก พี่ไม่ไหว ต่างคนก็ต่างวิ่งเข้ามาช่วย มีโครงการมา มาช่วยทำงาน เพราะพี่ไม่มีลูกน้องแล้ว มาทำโปสเตอร์เมนูให้ เราซึ้งใจนะ แต่ทุกคนเข้าใจว่าสถานการณ์ภายภาคหน้ามันจะเป็นยังไง เขาก็เคารพการตัดสินใจกัน”
พูดอย่างสัตย์จริงคือ ฉันมาเยือนร้านก๋วยเตี๋ยวกัญชาในวันที่ร้านปิดไปเสียแล้ว ปิดไปจนกว่าการโยกย้ายไปที่ใหม่จะลุล่วง ฉันจึงนึกไม่ออกว่าบรรยากาศร้านก๋วยเตี๋ยวกัญชาของเหล่านิสิตนั้นเป็นอย่างไร ข้อนี้คงต้องให้ลูกค้าพี่ตี๋เล็กมาเล่ากันเอง
แต่สิ่งที่ฉันพอจะนึกออกก็คือ พื้นที่รอบมหาวิทยาลัยนั้นมีความเป็นชุมชนที่เหนียวแน่น มีรอยยิ้มและมีความอิ่มท้องอิ่มใจของมนุษย์ – ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ น่าเสียดายที่ความเป็นชุมชนเริ่มเข้าใกล้คำว่า ‘เคยเป็น’ มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องเงินหรือเรื่องโรคระบาดก็ตาม
ในขณะที่เรานั่งคุยกันอยู่ ก็ยังไม่วายมีลูกค้าเปิดประตูมาถาม ว่าร้านปิดถาวรแล้วหรือยัง
“ตรงนี้ปิดแล้วครับ เจอกันที่ใหม่เลย ไม่ไกล ๆ เดี๋ยวพี่แจ้งในเพจนะ”
สถานการณ์ของก๋วยเตี๋ยวกัญชาคลี่คลายลงแล้ว เมื่อได้ความช่วยเหลือจากลูกค้าที่พี่ตี๋เล็กเรียกว่าน้อง และเมื่อเกิดการตัดสินใจไม่ต่อสัญญาเช่าที่
บางร้านยังสู้ไหวก็ไปต่อ บางร้านเชื่อเรื่องการเริ่มต้นที่ตัวเอง พึ่งพาตัวเอง และเชื่อว่าเป็นความผิดพลาดของตัวเอง ส่วนอีกบางร้านปรับตัวครั้งสุดท้ายด้วยการย้ายออก
จริงอยู่ว่าการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านเป็นความธรรมดาของโลก แต่นั้นหมายความว่าความหล่นโรยของธุรกิจเล็ก ๆ และความเป็นชุมชนรอบรั้วมหาวิทยาลัยคือการเปลี่ยนผ่านที่กำหนดไม่ได้เลยหรือเปล่า – วันนี้ฉันไม่มีคำตอบให้คำถามนี้
เสียงก่อสร้างยังคงเซ็งแซ่ตลอดทั้งบ่าย แม้ผู้คนบางตาแต่ชุมชนรอบจุฬาฯ ยังคงใช้ชีวิตไปตามเงื่อนไข หลังเหตุการณ์ใหญ่ในชีวิต บุคลิกคนเราก็คงเปลี่ยนไปบ้าง บุคลิกของพื้นที่เก่าแก่อย่างรอบมหาวิทยาลัยก็คงเป็นเช่นเดียวกัน