พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปิน นักออกแบบท่าเต้น และ ผู้ก่อตั้งพิเชษฐ กลั่นชื่น แด๊นซ์ คอมปะนี (Pichet Klunchun Dance Company) กำลังแสดงท่ารำที่เขาดัดแปลงขึ้นเองจากท่ารำไทยแม่บทใหญ่
หากติดตามผลงานการแสดงทุกชุดของพิเชษฐ กลั่นชื่น จะพบว่าท่ารำไทย และ การแสดงที่นำมาดัดแปลงทั้งหมดกลายเป็นประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมในวัฒนธรรมไทย
เขาจึงเลือกที่จะเสนอให้มีการรื้อระบบโครงสร้างวัฒนธรรมไทย และ ชุดความคิดเดิม เพื่อพาสังคมให้ขับเคลื่อนไปสู่อนาคตอย่างมีเหตุผล
หลังจากลาออกจากการเป็นครูนาฏศิลป์ พี่พิเชษฐจึงเริ่มทำงานกับนักเต้น และก่อตั้งคอมปะนีของตนเองที่โรงละครช้า
ง
“โรงละครช้าง” ที่ตั้งใจเขียนแบบนี้ เนื่องจากพี่พิเชษฐตั้งใจติดสติกเกอร์ ง. งู ให้ตกลงมาแบบนี้หน้าประตูโรงละคร เพื่อจะสื่อสารกับคนที่มาเยือนว่าทุกอย่างไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบ
เราถามพี่พิเชษฐว่า ถ้าพี่รำโดยใส่แค่หัวโขน กับ นุ่งแค่กางเกงชั้นใน พี่คิดว่าคนอื่นจะมองพี่ว่ายังไงคะ ?
“ไม่ต้องรอใครเลยฮะ คนไทยกันเองจะจัดการเลยฮะ แต่ก็มีคนไทยบางส่วนที่เห็นด้วย กับการให้รำท่าอื่น” พี่พิเชษฐตอบมาด้วยน้ำเสียงเรียบเฉย เนื่องจากครั้งแรกที่พี่พิเชษฐเริ่มประยุกต์ท่ารำไทยเมื่อ 30 ปีก่อน ได้เกิดกระแสการวิจารณ์จากกลุ่มอนุรักษ์ แล้วประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องที่พี่พิเชษฐใช้ชีวิตอยู่กับมันมาตลอดชีวิตการทำงาน
นอกจากงานแสดง ช่วงนี้พี่พิเชษฐเริ่มหันไปสร้างงานศิลปะนามธรรม (Abstract Art) ที่ใช้อธิบายท่าเต้น พี่พิเชษฐบอกกับเราว่านักเต้นในคอมปะนีจะดูออกว่ามันคือรหัสของท่าเต้นที่เป็นผลงานชิ้นเอกของเขาในชุด The Intermission of No. 60
“พอสร้างงานปุ๊บ เราจะไปมองว่าตรงนี้ให้ความหมายอะไร ความโกรธไหม หรือความรักไหม หรือว่าให้ช่องว่างระหว่างบุคคลหรือว่าให้ความรักระหว่างบุคคล มันจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ
ส่วนงานที่ผมทำเป็น dance วันนี้ ไม่ใช่การเล่าเรื่องแบบระบบตัวละคร ทำให้ผมไม่มีเรื่องของตัวละครพวกนี้อยู่ในหัว แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ผมเปิดเพลงที่เป็นรำไทยแบบประเพณีรำ ผมจะกลายเป็นตัวละครนั้นเลย ผมจะเป็นทศกัณฐ์ ผมจะมีความรักกับเรื่องกับสถานการณ์นั้นเลย มันมีมิติหลายมิติพอทำงานมาถึงจุดนี้”
“ดูรู้ไหมว่ามันผิด ที่ทำมาทั้งหมดไม่ถูกต้องเลย” พี่พิเชษฐหันมาถามทันทีที่รำจบ
ขอยอมรับกับพี่พิเชษฐตรง ๆ ว่าดูไม่ออกเลยว่ามันผิดตรงไหน รู้แค่ว่ามันเป็นท่ารำที่ดูแข็งแรง และ อ่อนช้อย จะว่าไปเราไม่เคยเห็นการรำที่ไหนที่แล้วดูสง่างามขนาดนี้
พี่พิเชษฐพยายามอธิบายต่อว่าท่ารำไทยที่ถูกต้อง คือการที่ร่างกายเคลื่อนไหวไปพร้อม ๆ กัน มือข้างขวา และ ข้างซ้ายจะต้องเคลื่อนไหวเหมือนกัน เราจึงเริ่มสังเกตอีกครั้ง และ ได้เข้าใจว่าพี่พิเชษฐกำลังฝ่ากฎท่ารำไทยเดิม เพื่อสร้างท่ารำขึ้นมาใหม่ แล้วพยายามพิสูจน์ให้เราเห็นว่าทำแบบนี้ก็ไม่ผิด และ สวยงามอีกต่างหาก
“มันเป็นระบบที่เชื่อมโยงอยู่กับวัฒนธรรมประจำชีวิตของเรา ในวิธีการเคลื่อนไหวของนาฏศิลป์ไทย คือคุณแยกออกไปเป็นปัจเจกไปไม่ได้ คือคุณจะต้องมีลุงป้าน้าอา มีเด็กผู้ใหญ่ มี generation มีการเอื้อหนุนกันไปมา
นี่คือวิธีการที่เรียกมันว่าระบบที่เป็น syncronics เมื่อไหร่ที่คุณรำแบบมือไปไม่พร้อมกัน คุณผิดเพราะว่าคุณกำลังจะสร้างตัวเองไปเป็น independence
อีกระบบนึงคือ ระบบเส้นโค้งแบบไม่พาตัวเอง หรือไม่พาโครงสร้างการเคลื่อนไหวเข้าสู่จุดศูนย์กลางของตัว พอมันไม่เข้าไปอยู่ศูนย์กลางของตัวแล้วแยกตัวออกเปนอิสระ มันไปมีผลกระทบกับหลักการที่เราเรียกว่า ทำทุกอย่างต้องเอื้อกับหลักการหลัก คือ วัฒนธรรมหลักต้องเอื้อกันกับ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ คือการเข้าไปสู่จุดศูนย์กลางของอำนาจทั้งหมด เมื่อไม่ทำตามสิ่งนั้นมันจะผิด”
พี่พิเชษฐรู้สึกอย่างไรว่าวัฒนธรรมถูกตั้งคำถามไม่ได้ ?
“ผมคิดว่าคำถามนี้เราเริ่มต้นที่ว่าเรารู้สึกกับวัฒนธรรมเมื่อไหร่ก่อน ผมคิดว่าวันที่ผมถูกปฏิเสธจากองค์กรหลักในด้านวัฒนธรรม คือผมมาจากสายนาฏศิลป์ไทย ผมเป็นคนรักษ์ไทย พอผมถูกผลักไม่ให้เข้าพวกกับสายอนุรักษ์ ถูกปฏิเสธจากการเป็นอาจารย์สอนในสายนาฏศิลป์ พอถูกปฏิเสธได้ก็เหมือนถูกผลักมาอยู่ข้างนอก
พอถูกผลักมาอยู่ข้างนอก เราได้เข้ามาสู่กระบวนการการฝึกฝน พอเราฝึกฝนแล้วเนี่ย ในนาฏศิลป์ไทยมันจะมีเหมือนกติกาบางอย่างที่เค้าเรียกว่าท่ารำ เรียกว่าเพลงหน้าพาทย์ คือท่ารำเพลงหน้าพาทย์ จะมีกำหนดที่ปลูกฝังไว้ทางวัฒนธรรมไว้เลยว่า เพลงนี้มันถูกสร้างมาสำหรับเทพเจ้า
แล้วเวลาที่คุณรำคุณเปรียบเสมือนเทพเจ้า คุณจะต้องรำไม่ผิด คุณจะต้องเปิดเพลงที่ใช้รำเพลงนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ คุณห้ามปิดระหว่างตรงกลางแม้กระทั่งคุณจำท่ารำไม่ได้คุณก็ต้องปล่อยให้เพลงรันไปจนจบ
แต่วันนึงที่เราหลุดออกมาแล้วมาอยู่คนเดียว แล้วเรามายืนเฉย ๆ แล้วเราเปิดเพลงแล้วทำงาน แล้วเราก็ถามตัวเองว่าขณะที่เรากำลังจะทำผิด เรามีความรู้สึกว่าเรากำลังจะทำผิด แล้วมันก็มาย้อนถามตัวเองว่าใครบอกว่าผิด แล้วผิดแล้วมีผลอะไร ในเมื่อกูอยู่คนเดียว กูถูกผลักให้มาอยู่คนเดียว ไม่มีสังคม ไม่มีอำนาจใดมาตัดสิน แสดงว่าถูกผิดไม่มีแล้ว ผมเลยรับรู้ว่าความถูกผิดถูกตัดสินโดยคนที่อยู่ด้านหน้า มากกว่าวัฒนธรรม ตอนนั้นผมเลยมองเห็นว่า วัฒนธรรมมันถูกใช้”
ตลอดชีวิตทำงานในพิเชษฐ กลั่นชื่น แด๊นซ์ คอมปะนี คือการทำงานบนคำถามเชิงวัฒนธรรม เขาได้ค้นพบว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งสมมติ แล้วเรานำเอาวัฒนธรรมมาใช้เพื่อสร้างความเชื่อ และ สร้างความหวาดกลัวได้ในเวลาเดียวกัน
ดังนั้นการทำงานกับท่ารำแบบคุณพิเชษฐ คือการทำงานที่อยู่บนแก่นแท้ของท่ารำไทย ความงดงามของมันอยู่ที่ท่วงท่า ไม่ใช่ชุดที่สวมใส่ หรือ เรื่องราวที่ถูกเล่าขาน
กลายเป็นว่าวัฒนธรรมไทย มันฝังรากลึกเข้าไปอยู่ทุกจุดของสังคมไทย ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องท่ารำ หลายสิ่งทำไปเพราะความเชื่อล้วน ๆ อย่างเช่นการห้ามนั่งทับแบงก์ ห้ามเอาเท้าหันไปทางพระพุทธรูป หรือว่า การห้ามตั้งคำถามกับผู้ใหญ่
อย่างเช่นการที่พี่พิเชษฐเลือกที่จะใส่ถุงเท้าในการซ้อมรำ ด้วยเหตุผลเรื่องความสะดวกในการเคลื่อนไหว แต่จะว่าไปเราก็ยังไม่ชินตากับการเห็นท่ารำไทยในชุดอื่นที่ไม่ใช่ชุดไทย จึงไม่แปลกใจว่าทำไมถึงมีฝ่ายที่ไม่พอใจ เพราะทั้งหมดล้วนเกิดจากความไม่ชินตา และ ยังใช้หลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรมมาตัดสินว่าสิ่งใดถูก หรือ ผิด
อย่างเรื่องใส่ถุงเท้ารำไทย เรากลับพบว่าไม่มีโทษของการห้ามใส่ถุงเท้าในการรำไทย แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเห็นว่ามีใครเค้าทำกัน พนันได้ว่าหากใส่ไปรำไทยหน้าปากซอยตอนนี้ คงโดนคนมองด้วยสายตาแปลก ๆ แน่นอน
“ถุงเท้า ทำไมเราไม่ใส่ถุงเท้า? ทำไมผมใส่ถุงเท้า? จริง ๆ แล้วผม against มันโดยหลักการ จริง ๆ แล้วมันต้องไม่ใส่ถุงเท้า
สาเหตุที่ไม่ใส่ถุงเท้าเพราะในอดีตไม่มีถุงเท้า แต่ความสำคัญของมันคือเรื่องของการรับน้ำหนักของฝ่าเท้า แล้วรำไทย มันเป็นกระบวนการของการยืนแล้วก็ทรงตัว แล้วมันไม่ต้องหมุน เพราะฉะนั้นฝ่าเท้าของเราทั้งหมดต้องสัมผัสพื้นแล้วรับรู้กระบวนการในความรู้สึกได้
แล้วการยืนด้วยฝ่าเท้ามันจะทำให้เราทรงตัวได้นานขึ้น แต่พอเป็นระบบฝรั่งมันเป็นระบบผ่าน space ไปเรื่อย ๆ ดังนั้นเราต้องการ material อะไรสักอย่างที่ช่วยให้เราเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น หรือว่า slide ได้เร็วขึ้น มันจึงเข้าสู่กระบวนการว่าทำไมต้องมีรองเท้า
ไม่มีรองเท้า เกิดอะไรขึ้น? สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกอธิบาย แต่ถูกอธิบายไปเป็นเรื่องอื่นว่า เป็นเรื่องว่าวัฒนธรรม เราถอดรองเท้า ไม่ใส่ถุงเท้าเข้าบ้าน”
การได้มาสังเกตการทำงานของพี่พิเชษฐที่โรงละครช้า
ง
ทำให้เรานึกย้อนไปถึงความรู้สึกสมัยเด็ก ที่เราโตมากับความกลัวในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความกลัวที่จะแสดงออกต่อหน้าผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ความกลัวที่ไม่กล้าหลุดกรอบไปจากสิ่งเดิมที่มีอยู่
การอนุรักษ์จึงเป็นสิ่งที่ปลอดภัย และ เหมาะสมที่สุดในสภาพสังคมไทย การทำในสิ่งเดิม การจดจำท่วงท่าเพื่อทำการแสดงแบบเดิม จึงเป็นการทำตามกฎ ที่วัฒนธรรมไทยได้สร้างไว้ แล้วใครก็ตามที่แสดงท่าทีว่าจะหลุดออกไปจากกรอบตรงนี้อาจต้องพบกับคำวิจารณ์
การทำงานศิลปะในสังคมไทยดูเหมือนจะยากกว่าที่เราคิด เพราะที่ผ่านมาเราก็คือหนึ่งคนที่ไม่กล้าที่จะแตกต่าง เพราะสังคมนี้มันเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรม
“ผมคิดว่ามันไม่มีกฎครับ แต่มันเป็นการประสบความสำเร็จ ที่เห็นมันจึงถูกกระทำอยู่เรื่อย ๆ แต่ใครเป็นคนตั้งกฎมันไม่มี
เพราะมันถูกโครงสร้างหลักปูเอาไว้ตั้งแต่ต้น คนเห็นก็ไม่รู้ตัวว่าเราถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมในระบบพื้นฐาน โดยไม่รู้ตัวเพราะมันเล่นกับสัญชาติญาณของมนุษย์ที่มัน deep ลึกลงไปข้างใน โดยที่เราไม่เคยรู้ตัวมาก่อนเลย”
จากที่คุยกันมาพี่พิเชษฐทำให้เราได้เข้าใจว่าปัจจุบันผู้ใช้วัฒนธรรมไทยกำลังมีปัญหา เราจึงถามพี่พิเชษฐว่าเราจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไรดี
พี่พิเชษฐเสนอให้มีการ “รื้อ” วัฒนธรรมเดิม เพื่ออนาคตดีที่ต่อคนรุ่นใหม่ และ สังคมที่กำลังพัฒนาไปข้างหน้า
การรื้อในความหมายของพี่พิเชษฐ หมายถึงการยืนหยัดที่จะรู้วัฒนธรรมเดิม และ หยิบใช้วัฒนธรรมนั้นสร้างขึ้นมาเป็นเรา แล้วประกอบสร้างเป็นสังคมใหม่เพื่อนำตัวเรา และ สังคมไปสู่อนาคตข้างหน้า
แน่นอนว่าผู้มีส่วนได้เสียกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมคือกลุ่มที่จะออกมาต่อต้านการรื้อ จึงไม่แปลกเลยที่มีทั้งกลุ่มคนที่สนับสนุนและต่อต้าน
ขณะที่ศิลปินอิสระอย่างพี่พิเชษฐ หรือ แม้แต่ตัวเราเองกลับมองว่าการดัดแปลงท่ารำมันไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากเราไม่มีส่วนได้เสียอะไร
“มันอยู่ที่ว่าถ้าผมเป็นอาจารย์ ผมเป็นข้าราชการ ผมไม่มีความจำเป็นต้องรื้อครับ เพราะว่า set ที่ถูกสร้างมาทั้งหมดมันประกอบแล้วสมบูรณ์แล้ว เพราะฉะนั้นผมทำตามสิทธิ์ ผมก็จะเป็นคนดี ผมเป็นนักอนุรักษ์ ผมไม่ต้องเสี่ยง ผมได้เงินเดือนทุกเดือนตามกติกาตามระบบข้าราชการ
แต่เมื่อไหร่ที่ผมพาตัวเองออกมาในฐานะศิลปิน หรือคนที่จะต้องมีชีวิตเองโดยที่ไม่มีใครดูแลรับผิดชอบ การรื้อเป็นสิ่งสำคัญ เรารื้อมันเพื่อท่เราจะได้เรียนรู้และสร้างสิ่งใหม่ พัฒนาสิ่งใหม่ และ สิ่งใหม่ที่เราสร้าง และ พัฒนาจะนำพามาซึ่ง income ให้กับชีวิตเราต่อไป”
เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นเราจึงไม่สามารถหลีกหนีกฎเกณฑ์การควบคุมทางสังคมได้ เราจะเห็นว่าปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น คือตัวอย่างของคนที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม และ สิ่งนี้ก็เข้าไปตรงกับศาสตร์ และ ศิลป์ที่พี่พิเชษฐ์กำลังตามหาอยู่ตลอดเวลา นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และ การเปลี่ยนแปลงทางมนุษย์
“สองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และ มนุษย์ อย่างที่เด็กออกมาเรียกร้องอยู่ทำเอาผมทำอะไรต่อไม่เป็น อย่างวันที่ไปอยู่หน้ากระทรวงศึกษา ผมพูดกับนักเต้นว่า เป็นเรื่องที่เราต้องคิดหนักเเล้วนะ
เด็กพวกนี้มันอยู่กับหลักการและเหตุผลทั้งหมด งานเรามันเพ้อเจ้อ ในอนาคตคงไม่มีคนดูงานพวกเราที่เพ้อเจ้อกันอยู่อย่างทุกวันนี้
ถ้าวันนึงคนพวกนี้หลุดเข้ามาดูสิ่งที่พวกเราทำ คนพวกนี้ก็คงจะสะบัดหน้าหนีใส่เรา แล้วเราจะบอกว่ายังไง คนที่เคยเจ๋ง จะอยู่ต่อไปยังไง จึงบอกว่า เฮ้ย…เด็กพวกนี้ทำปัญหาใหญ่นะ
นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่กลัวนะ ผมเองยังกลัวเลย ผมบอกทุกคนว่าอยู่ยากแล้วนะ เราต้องปรับตัวกับคนพวกนี้ให้ได้ ถ้าไม่ปรับนี่ตายไปแล้วนะ แล้วโชคดีที่เราปรับตัวให้เข้ากับ Number 60 ได้ เราถอดตัว diagram ถอดชุดความรู้ทั้งหมด เราอธิบายงานเราด้วยความรู้และเหตุผลทั้งหมด ไม่งั้นเราตายแล้วนะเนี่ย เราอยู่ไม่ได้แล้วนะ มันสำคัญจริง ๆ”