จะจัดงานแสดงดนตรีหรือความคิดสร้างสรรค์ในที่สาธารณะ (public space) ยากขนาดไหนในกรุงเทพมหานคร?
Bangkok Street Noise กลุ่มคนที่แปลงพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ทางดนตรี – หรือว่าจริง ๆ แล้วการขาดพื้นที่สาธารณะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ถดถอย
เรามีทางเลือกมากแค่ไหน นอกจากการเดินห้างสรรพสินค้าในเวลาว่าง ลองมาฟังประสบการณ์ของพี่ ๆ กลุ่มนี้ดูกัน
บ่ายวันอาทิตย์ริมทางรถไฟสถานีมักกะสัน เราไปชมงานดนตรี Bangkok Street Noise คอนเสิร์ตสาย experimental ที่จะมีนักดนตรีอิสระเวียนมาแสดงงานเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่บ่ายสามจนถึงสามทุ่ม
ปกติเราจะเคยได้ยินแต่คอนเทนต์ ‘บาร์ลับ’ ไม่ก็ ‘ร้านลับ’ กันใช่ไหม วันนี้เราจะลองพาไปชม ‘คอนเสิร์ตลับ’ กันบ้าง
งานนี้ไม่เก็บค่าเข้าชม และจัดมาแล้วกว่า 20 ครั้งตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2021 (บอกแล้วว่าลับจริง จัดมา 20 ครั้ง ยังไม่ค่อยมีคนรู้เลย) เราจึงขออนุญาตพี่ป๊อก วรรณฤทธิ์พงศ์ประยูร (สมาชิกวง Stylish Nonsense) และ ไมเคิล ฮันนีโคมบ์ (Michael Honeycomb/ นักดนตรี) สองผู้จัดงานมาดูเบื้องหลังการจัดงานคอนเสิร์ตพวกเขากันหน่อย
อย่างแรกที่น่าสังเกตคือเรื่องสถานที่จัดงานที่แปลกตาสุด ๆ เหตุผลที่ผู้จัดเลือกจัดงานตามที่ลับในกรุงเทพแบบนี้ ก็เพราะเค้ามีจุดประสงค์อยากให้การเล่นดนตรีเป็นเรื่องธรรมดา และเข้าถึงชุมชนได้ง่าย แต่ก็ไม่อยากให้เด่นเกินไปเพราะเดี๋ยวจะโดนไล่ซะก่อน (คนจัดงานแอบบอกมาว่าทุกที่ ที่เค้าไป เค้าไม่เคยขออนุญาตจากทางการเลย)
“ถ้ามองงานพี่เป็นกิจกรรม ๆ นึง เหมือนกีฬา extreme ก็ถือว่าบ้านเรามีที่สาธารณะให้ทำกิจกรรมเยอะนะ คือพี่ก็มองว่ากิจกรรมแบบพี่เป็นกิจกรรมธรรมดานะ พื้นที่มันก็มีเยอะ
อย่างที่เลือกจัดตรงริมทางรถไฟ เราตั้งใจเลือกให้เป็นสถานที่สาธารณะ เพราะเราตั้งใจจะสื่อสารกับคนทั่วไปว่าการเล่นดนตรีเป็นเรื่องธรรมดา มันไม่มีอะไรเสียหายตรงไหน” พี่ป๊อกอธิบายให้ฟัง
จะว่าไปก็ธรรมดาจริง ๆ คนไม่กี่คน ลำโพงขนาดมาตรฐาน กล้องมือถือ อุปกรณ์ไลฟ์สดที่เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็มีกัน ระหว่างไมเคิลยกหินไปถ่วงขาตั้งไมค์กันลมพัด เค้าเล่าให้เราฟังว่าเค้าทำทุกอย่างตั้งแต่เป็นแอดมินเพจ ยันติดตั้งเครื่องเสียง และแสดงดนตรีเองด้วย
เรามองทีมงานไม่ถึงสิบคน ทะยอยขนของลงเตรียมติดตั้งอุปกรณ์เครื่องเสียงกันอย่างรวดเร็ว
ไมเคิลบอกกับเราว่าครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งที่ 3-4 แล้วที่ได้มาจัดงานที่นี่ เลยไม่ค่อยกังวลอะไรมากเท่าไหร่ เรามองว่ามันกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของทุกคนไปซะแล้วสิ
ที่ตั้งของงานตั้งอยู่ในซอยเล็ก ๆ ขนานกับสี่แยกอโศก เราแอบมองพี่ป๊อกเดินเซ็ตอัปงานตลอดบ่าย พวกเราถูกห้อมล้อมไปด้วยอาคารสำนักงาน คอนโด สถานบันเทิง และสถานีรถไฟฟ้า เรามองว่ากรุงเทพมีแต่ความศิวิไลซ์ด้านการค้า แต่ยังห่างไกลจากดนตรีและศิลปะเหลือเกิน
ทุกวันนี้การขอจัดงานดนตรีในที่สาธารณะยังถูกเพ่งเล็งเยอะ ได้ยินว่าการทำเรื่องขอจัดงานยังยากอยู่ และส่วนใหญ่ก็จะไม่ถูกอนุมัติ
“การเล่นในสวนสาธารณะต้องขออนุญาตครับ ยังค่อนข้างยาก เค้าจะยอมให้จัดงานใหญ่ ๆ งานท่องเที่ยวไทยสี่ภาคอะไรแบบนี้
ส่วนใหญ่ไม่ให้จัดเพราะเค้าจะกลัวว่าสวนจะพัง พี่ก็รู้สึกว่ามันยังเป็นเรื่องที่เข้าใจยากอยู่
เลยอยากให้คนที่จะคอมเมนต์เรื่องนี้ เป็นเรื่องของคนจริง ๆ ที่เค้าใช้ชีวิตผ่านไปผ่านมาแถวนั้นดีกว่า พอถามผู้ใหญ่ เค้าก็ไม่กล้าตัดสินใจจริง ๆ หรอก”
เห็นว่างานที่จัดได้ในที่สาธารณะส่วนใหญ่จะเป็นงานสายกีฬาอย่าง งานเดิน-วิ่งมาราธอน ปั่นจักรยาน ที่ต้องเป็นงานใหญ่ระดับจังหวัด ระดับกรุงเทพ (หรือว่างานคอนเสิร์ตงานช้างสุรินทร์ ที่ได้ข่าวว่า มัน-แน่น-มาก เมื่อสิ้นปีที่แล้ว) …
จะว่าไปก็จริงแฮะ เราไม่ค่อยเห็นใครยกเครื่องดนตรีมาจัดคอนเสิร์ตกันข้างนอกแบบนี้เท่าไหร่ ถ้าคนจัดไม่ใช่องค์กรใหญ่ เราก็คงไม่มีโอกาสได้มีงานดนตรีกันหรอเนี่ย
ที่ผ่านมากระแสตอบรับจากงานค่อนข้างดี เราสังเกตว่าฐานคนฟังเริ่มขยายใหญ่ขึ้น พี่ป๊อกเลยเสริมว่าจากช่วงแรกคนมาไม่กี่สิบคน ทุกวันนี้มีผู้ชมวันละประมาณ 80 คนได้แล้ว ที่สำคัญกระแสตอบรับจากชุมชนก็ดีอีกด้วย อย่างงานวันนี้ก็ได้รับความสนใจจากคนผ่านไปผ่านมาเหมือนกันนะ
มีคนใหม่ ๆ เข้ามาเที่ยวที่งานบ้างไหมคะ ?
“มีที่สะพานพุทธครับ ก็แบบเจ้าที่แรงมากเลย มันเป็นจุดที่คนเดินผ่านเยอะครับ ตรงนั้นมีคนเข้ามาถามเยอะเลยครับ หลายรุ่นเลยครับ
มีคนปั่นจักรยานผ่านมาแถวนั้นเค้าก็หยุดรถมาฟัง ผมว่าเค้าคงเป็นคนชอบฟังเพลงอยู่แล้ว พอมีอะไรแบบนี้เค้าก็เลยสนใจ… ”
“… แล้วก็มีคนแก่ ถ้าเป็นผู้ใหญ่เค้าพยายามช่วยเรานะ แนะนำเราให้ไปขออนุญาต เค้าก็ชอบ เค้าสนใจครับ อยากให้มี เค้าอยากให้เรามาเล่นบ่อย ๆ เค้าอยากให้มีกิจกรรมนี้บ่อย ๆ
แล้วเราก็บอกเค้าว่าเราไม่ได้ขออนุญาตเป็นทางการ เราขอแค่ยามครับ เค้าก็ยอมให้มาเล่นแค่ช่วงเวลานึง” พี่ป๊อกตอบ
เมื่อรถไฟก็เคลื่อนขบวนมาจอดติดกับเวทีคอนเสิร์ต เรากับคนแปลกหน้าก็ได้มีปฎิสัมพันธ์ด้วยกันเป็นครั้งแรก เราเห็นคนบนรถไฟชะโงกหน้าออกมาดูพร้อมโบกมือทักทาย ส่วนพวกเราก็ยิ้มให้และโบกมือทักทายกันกลับ
ถ้าไม่มีดนตรี ป่านนี้เราคงไม่มีวันได้มอบรอยยิ้มให้คนแปลกหน้ากันหรอก
ดีเจเริ่มบรรเลงบีท lo-fi บีตแรกด้วยเครื่อง beatmaker วันนี้การแสดงแรกเป็น Live DJ Set บรรเลงท่ามกลางเสียงถนนและรถไฟ
เราถามพี่ป๊อกว่าเห็นด้วยไหมว่าการขาดพื้นที่สาธารณะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ถดถอย
“จริงครับ ดนตรีมันควรจะเล่นที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ จริง ๆ พื้นที่ใหม่ ๆ ก้จะช่วยสร้างความคิดสร้างสรรค์นะ
ครั้งที่แล้วไปเล่นที่ใต้ทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา น้องนักดนตรีเค้าเดินไปฉี่แล้วได้ยินเสียงนึงที่ลอดออกมาจากมุมนั้น เค้าว่ามันเพราะดี เค้าก็ชอบครับ ชอบเพราะเค้าเจอซาวด์ใหม่ ๆ การจัดงานข้างนอก ผมว่ามันช่วยเรื่องความคิดสร้างสรรค์มากนะ
ถ้าอยู่แต่ในห้องอัด เราจะไม่ได้ยินเสียงอะไรพวกนี้” พี่ป๊อกกล่าว
อย่างงานวันนี้เราชอบเสียงรถไฟแทรกบนพื้นหลังของเพลงนะ
“ใช่ครับ ผมก็ชอบเหมือนกัน” พี่ป๊อกเห็นด้วย
การแสดงที่เกิดจากการทดลอง กำลังถูกพัฒนาให้เป็นซาวด์เฉพาะของตัวเอง วันนี้เราได้ฟังดนตรีขิมเล่นคลอกับเพลง Post-Rock เป็นครั้งแรกในชีวิต
หลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่าจริง ๆ แล้ว ดนตรี Experimental คืออะไร ?
“คือการทดลอง ก่อนจะมาเป็นชื่อแนว อย่างแนว Pop ยังเกิดจากการทดลองมาก่อน
ตอนนี้การทดลองมันมากขึ้นแล้วเพราะเรามีแนวเพลงเยอะมากขึ้น
อย่างตอนนี้แนว Pop หรือ Electronic music ก็มีเยอะแล้ว อย่าง Experimental มันจะไปไกลกว่านั้นแล้วเพราะมันเป็นเรื่องของการทดลอง อย่างเมื่อกี้ที่เราได้ยินเสียง BTS อันนั้นก็คือ Experiment อย่างนึงละ”
สำหรับนักดนตรีสาย Experimental เค้าจะมองว่าเสียงที่ได้จากธรรมชาติ ก็คือเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งเหมือนกัน อย่างเพลงของวง Aphex Twins ทำเพลงตั้งแต่ปี 1985 เค้าจะชื่อดังเรื่องเอาเสียงจี่ ๆ เหมือนอ๊อกเหล็กมาประยุกต์ในเพลงบ่อย ๆ เค้าเรียกกันว่าเป็นเพลงสาย Ambient ที่ล้ำมากในยุคนั้น จนถึงวันนี้ชาวเน็ตเมืองนอกยังทำมีมแซวอยู่เลยว่าเป็นวงอ๊อกเหล็ก (เคยคิดเหมือนกันว่าถ้าแม่เดินผ่านมาได้ยินเค้าคงแปลกใจว่าลูกเราฟังอะไรอยู่นะ)
เพราะ Experimental มันไม่มีรูปแบบ
“ใช่ครับ จริง ๆ แล้ว พี่จะบอกว่าการทดลองก็คือวิธีการนึงในการครีเอท ไม่ว่าจะอยู่ในสายดนตรีไหน ก็ต้องใช้วิธีการเหล่านี้ในการหาซาวด์ใหม่ ๆ”
การเป็นศิลปินในประเทศนี้ยังต้องทำเป็นงานอดิเรก ในต่างประเทศนักดนตรี คนจัดงาน และ อาชีพทางศิลปะ มีรายและช่องทางดีกว่านี้จริง ๆ ถ้าต้องให้เล่าทั้งหมดก็คงไม่จบในคอลัมน์นี้
“ตลาดที่ไทยก็ยังไม่ค่อยกว้าง อย่างร้านฟังเพลงก็ยังไม่ค่อยกว้าง มีแนวเดียว เลยต้องเเย่งกันเล่นอีก ใช้เพลงเดียวกันเล่น” พี่ป๊อกอธิบาย
เป็นนักดนตรีมันเจ็บปวดไหม ?
“ตอนนี้ก็พยายามเปลี่ยนบริบทให้กับคนในสังคมว่าการเล่นดนตรีแบบนี้มันเป็นเรื่องปกตินะ
อย่างวง Quartet ที่มีนักไวโอลินมาเล่น ปกติเค้าก็เล่นในมหาลัย พอเค้ามาขอแจมมันก็น่าสนใจดี เอาดนตรีคลาสสิกมาเล่นบนถนน ไม่งั้นตลาดดนตรีคลาสสิกมันก็จะตันอยู่แต่ในสถานศึกษา” พี่ป๊อกเสริมต่อ
ไมเคิลถูกชวนให้เอาเครื่อง Modular Synthesizer เครื่องสายไฟพัลวันที่เห็นอยู่ตรงนั้นคือเครื่องดนตรีที่ไมเคิลหลงรักมาก เสียงที่ออกมาเป็นเสียงสังเคราะห์ มันมีสเน่ห์ตรงที่เราต้องเขียนโค้ดลงในซอฟต์แวร์ก่อน ถึงจะมีเสียงส่งมาตามสายไฟพวกนั้น โอเคพูดไปแล้วจะงงกว่าเดิม เอาเป็นว่าเจ้าเครื่องนี้มันอยู่เบื้องหลังเพลงสายอิเล็กทรอนิกส์มานานแล้วตั้งแต่ยุค 70s
ขึ้นไปแจมกับวงดนตรีแบบ String Quartet (วงดนตรีที่ประกอบไปด้วยคนสี่คนเล่นเครื่องดนตรีชนิดสาย) ครั้งนี้คือครั้งแรกสำหรับทุกคนที่ได้ฟังเสียงคลอบรรยากาศแบบอีเล็กทรอนิกส์คู่กับวงเครื่องสายแบบคลาสสิก
อย่างที่พี่ป๊อกบอกว่าทุกอย่างคือการทดลอง สถานที่แห่งนี้เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงดนตรีใหม่ ๆ ได้
เพราะอย่างงี้ทางทีมงานเลยไม่ค่อยสนใจจัดงานตามร้านใช่ไหม ?
“ส่วนตัวเรามองว่าเป็นเรื่องพาณิชย์มากกว่าครับ ก็อาจจะไม่ตรงกับจุดประสงค์ของงานเราเท่าไหร่
จริง ๆ ทางห้างก็อาจจะมีสนใจวงดนตรีที่มาเล่นงานเราบ้างครับ ถ้าเป็นยังงั้นก็อยากให้ห้างเค้าจ้างศิลปินไปเล่นนะ
ถ้าเราพาเค้าไปเล่นแบบนี้เราก็รู้ว่าอยากให้ทางการค้าเค้ามาซัปพอร์ตคนดนตรีบ้าง”
งานดนตรี = เสียงดัง และ วุ่นวาย การขยายซีนดนตรีมันเต็มไปด้วยการถูกผู้ใหญ่ห้าม
“พี่รู้สึกว่าดนตรีจะโดนตำรวจเล่นงานตลอดเลย แล้วแต่เค้าจะมองเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสียงดัง กินเหล้า ยาเสพติด แต่มันก็เป็นวิถีของตำรวจที่นี่อะครับที่เค้าอาจจะคุมพื้นที่แถวนั้นอยู่”
อย่างการแสดงงานสาย Noise แบบนี้มีปัญหาเยอะไหมคะ ?
“คนส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าแบบนี้ไม่ฟังที่บ้านแน่ ๆ ผมก็บอกว่าใช่ครับ ก็จริง ๆ ให้มาฟังที่งานนี่แหละ”
เสียงตะโกนแผดราวกับลำโพงจะแตกจากศิลปินท่านนี้ เรียกร้องความสนใจจากคนทั้งงาน เราคิดว่าถ้าตำรวจได้ยินงานนี้คงโดนปิดไปแล้วแน่นอน
สำหรับเรามันคือความคิดสร้างสรรค์ นี่คือสิ่งที่บ่งบอกตัวตน และสิ่งที่ศิลปินอยากถ่ายทอด แล้วทำไมการเป็นตัวของตัวเองมันถึงต้องถูกห้ามนะ ?
สุดท้ายแล้วพี่ป๊อกอยากเห็นงานนี้เป็นยังไงในอนาคตคะ ?
“อยากให้คนอื่น ๆ ลองทำแบบนี้เหมือนกัน
ถ้าทุกคนลองทำกันเองแถวบ้านตัวเอง แถวสวน ให้มันเป็นกิจกรรม common ธรรมดา ทีนี้เราก็ไม่กังวลเรื่องตำรวจแล้ว
ก็อาจจะมีเรื่องช่วงเวลา ถ้าดึกกว่านี้ก็ไป venue จริง ๆ ไปเลย สมมติถ้ายังสนุกอยู่ก็เข้าไปต่อกันที่ร้าน ทีนี้ก็ไปซัปพอร์ตกันจริง ๆ เสียงดังกันได้เลย”
ฟังคำพูดของพี่ป๊อกแล้วทำให้เรารู้สึกว่าคนรักดนตรีเค้าอยากเห็นสังคมเดินไปข้างหน้าอย่างอิสระและสร้างสรรค์ การจัดคอนเสิร์ตสำหรับพี่ป๊อกคือข้อความสำคัญที่เป็นมากกว่างานดนตรี มันหมายความถึงการสร้าง community เพื่อรวมคนเอาไว้ด้วยกัน มากกว่าจะทำเพื่อชื่อเสียงเงินทอง
เราจากกันพร้อมรอยยิ้มและความอิ่มอกอิ่มใจ ทุกคนเก็บข้าวของและช่วยกันทิ้งขยะ ดูแลพื้นที่ให้เรียบร้อยดังเดิม
“พี่ไปก่อนนะครับ ลูกสาวต้องนอนเร็วครับ” พี่ป๊อกมาบอกลาพวกเรา พร้อมขับรถออกไปกับลูกสาวที่สนุกกับการมาเที่ยวในงานกับเราตั้งแต่เริ่มจนจบ
ในเมื่อความเป็นสาธารณะหมายถึงพื้นที่ส่วนรวม ใครก็ตามเค้าก็มีสิทธิ์ที่จะใช้พื้นที่นั้นได้อย่างอิสระโดยไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน สำหรับใครหลาย ๆ คนที่นี่ เค้ามองว่าดนตรีคือชีวิต การมีพื้นที่ที่ให้อิสระมันสามารถเติมเต็มความว่างเปล่าในจิตใจใครหลาย ๆ คนได้ แล้วเราก็เชื่อว่าทุก ๆ คนในเมืองก็อยากเห็นกรุงเทพเต็มไปด้วยพลังงานดี ๆ และความคิดสร้างสรรค์