ทำไมถึงต้องเคอร์ฟิว ในเมื่อไวรัสไม่เลือกเวลาหากิน?
ในเมืองที่ชีวิตแต่ละวันหมดไปกับการเดินทางอย่างกรุงเทพฯ การมีช่วงเวลาเคอร์ฟิวตอนสองทุ่มมันเร็วเกินกว่าที่คนจะปรับตัวทันรึเปล่า?
การล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวที่เราทำกันอยู่มันได้คุณภาพจริง ๆ เหรอ ในเมื่อยอดผู้ติดเชื้อแต่ละวันก็ยังสูง
เราเลยลองไปพูดคุยทบทวนกับนักระบาดวิทยาจริง ๆ และนี่ก็คือคำตอบของพวกเค้า
ดร.ฉัตรชัย นพวิชัย หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาโรคทางสมองและโรคติดเชื้อขั้นสูง
ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
“สำหรับในต่างประเทศนั้น การ social distance และเคอร์ฟิวถูกบังคับใช้อย่างเคร่งครัดถึงได้สามารถควบคุมการระบาดได้ นอกจากนี้ในประเทศอย่างเช่นเยอรมนี หรือ จีน ก็มีการตรวจหาเชื้อเชิงรุกเพื่อการคัดกรอง และแยกตัวอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย…”
ซึ่งเป็นสิ่งที่บ้านเราไม่ทำ หรือทำไม่ได้ เนื่องจากนโยบายทางสาธารณสุขที่ผิดพลาด และมาตรการที่หละหลวมครับ”
“ถ้าอย่างนั้นอะไรคือสิ่งที่เราควรทำและสิ่งที่เรายังไม่มีในการหยุดคลัสเตอร์ครับ?”
“สิ่งที่ควรทำคือการตรวจคัดกรองเชิงรุกควบคู่กับการล็อกดาวน์ครับ ส่วนสิ่งที่ไม่มีก็คือมาตรการที่เด็ดขาด ชัดเจน ฉลาด และทันเวลา
“… ซึ่งผมว่าตอนนี้มันไม่ทันแล้วล่ะ”
“การล็อกดาวน์หรือการมีเคอร์ฟิวมันเป็นสิ่งที่ต้องทำตั้งแต่การระบาดเกิดขึ้นในระยะแรกของแต่ละ phase โดยเฉพาะกับเชื้อที่สามารถแพร่กระจายได้รวดเร็ว เช่นโควิด-19 เพราะการควบคุมประชากรให้เกิดระยะห่างมากพอที่จะไม่ให้เกิดการติดต่อเป็นสิ่งสำคัญมาก การทำเพียงแค่รณรงค์หรือ social distance นั้นควรทำในระยะถัดมาที่เริ่มควบคุมการระบาดได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่เราทำอยู่ทุกวันนี้เป็นการทำแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เลยไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะว่าเริ่มทำในช่วงที่ไวรัสได้ระบาดมากเกินไปแล้ว และเป็นช่วงที่ประชาชนไม่สามารถทนการล็อกดาวน์ได้แล้วด้วย เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจ”
ศาสตราจารย์ ดร. นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
“เคอร์ฟิวมันเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนเพราะมันจะลดการสัมผัสของคน ในส่วนของตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อจากนี้ผมมองว่ามันจะขึ้นไปหมื่นห้า-สองหมื่นแล้วจะคงที่ จากนั้นจะค่อย ๆ ลดลง ถ้าเราไม่เคอร์ฟิวนี่คนอาจจะติดหลักแสน
วันก่อนนี่คนตายกลางถนนสามคนใช่มั้ย? วันนี้และวันต่อ ๆ ไปผมว่าก็จะมีอีกเพราะว่าเราไม่สามารถช่วยประชาชนได้ แต่ถ้าไม่เคอร์ฟิวเนี่ยคุณลองคิดดูว่าจะมีคนตายกลางถนนเยอะขนาดไหน?”
“แสดงว่าเคอร์ฟิวเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่เรามีตอนนี้เหรอครับ?”
“มันเป็นสิ่งที่จำเป็นน่ะ มันไม่วิธีอื่นในตอนนี้ครับ ประชาชนต้องอยู่นิ่ง ๆ เท่าที่จะทำได้ ทำอะไรให้น้อยแต่มีชีวิตรอดเพื่อที่ทุกอย่างจะดีขึ้น วัคซีนที่จะมาช่วงไตรมาสสี่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ตอนนี้มองไม่เห็นว่าจะมีวัคซีนอะไรที่จะช่วยได้”
ช่วงเวลาใกล้เคอร์ฟิวจะเป็นช่วงที่จะเห็นไรเดอร์ของแอพฯสั่งอาหารต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก เท่าที่ผมเห็นส่วนใหญ่พี่ ๆ เขาจะรอออเดอร์พิซซ่านะ
“แน่นอนว่าเคอร์ฟิวมันมีผลเสียอยู่แล้ว หลัก ๆ เลยคือมันมีผลต่อสภาวะจิตใจและด้านเศรษฐกิจนะ การที่มนุษย์ไม่ได้เข้าสังคมมันก็จะทำให้จิตใจเศร้าหมอง ข่าวร้าย ๆ ก็จะตามมา ถ้าเราปรับตัวกับข่าวร้าย ๆ พวกนี้ไม่ได้มันก็จะเข้าไปสู่ภาวะซึมเศร้าซึ่งในช่วงนี้จะพบได้มากครับ”
เรื่องทำมาหากินคงไม่ต้องพูดถึงเลย ภาคธุรกิจรายย่อย หรือแรงงานหาเช้ากินค่ำเนี่ยก็จะลำบากมาก ซึ่งรัฐบาลก็ต้องดูแล ถ้าปล่อยไว้แบบนี้พวกเขาจะตาย การที่ให้เยียวยากกลุ่มคนเหล่านี้เป็นเรื่องที่จำเป็น”
“อาจารย์มีความเห็นยังไงต่อสถานการณ์ตอนนี้บ้างครับ?”
“มันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นนะ แล้วมันก็ไม่มีกลไลอื่นในการแก้ไข คลื่นการติดเชื้อมันเข้ามาเร็วเกินกว่าที่สังคมจะปรับตัวได้ทันเราเลยต้องพยายามที่จะจำกัดมันให้ได้
เมื่อการบริการเรื่องขนส่งผู้ป่วยหรือการจัดหาเตียงในโรงพยาบาลไม่พอมันเลยเกิดกรณีผู้ป่วยที่ไม่ตายกลางถนนก็ตายในบ้าน เราไม่อยากให้เกิดสิ่งนั้นแต่มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้”
“ในมุมมองของอาจารย์ อาจารย์มองว่าคนไทยการ์ดตกมั้ยครับ?”
“สำหรับผมนะ ผมมองว่าคู่ต่อสู้ของเราอย่างสายพันธุ์เดลต้าเนี่ยมันมาเร็วและแรง ไม่ว่าเราจะตั้งการ์ดที่ไหนเราก็โดนซ้อมน่วมอยู่ดี
ประชาชนพยายามทำดีที่สุดแล้วแต่ว่าด้วยความจำกัดของวัคซีนที่มีไม่พอมันทำให้เราต้องอยู่ในสภาพแบบนี้แหละครับ”
เท่าที่สังเกตดู ถึงจะมีเคอร์ฟิวแต่ผู้คนก็ยังออกมาเดินตลาดจับจ่ายใช้สอยเหมือนเดิม ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพวกเขาเซฟตัวเองกันมากน้อยแค่ไหน หรือไม่มีทาง
“สถานการณ์ตอนนี้มันน่าหวั่นใจมากเลยสำหรับผม ตอนนี้ผมกับคนรู้จักหลาย ๆ คนก็ยังไม่ได้ฉีดเลยครับอาจารย์”
“มันเป็นนโยบายของรัฐบาลน่ะครับที่ให้ฉีดผู้สูงอายุก่อน นักวิชาการลงความเห็นว่าให้ฉีดคนกลุ่มนี้เพราะอีกหน่อยโรงพยาบาลจะรับคนไข้ไม่ไหวเนื่องจากผู้สูงอายุเวลาเจ็บป่วยจะเข้า ICU กลุ่มพวกคุณที่ยังหนุ่ม ๆ อยู่เลยโดนเทไปก่อน
วัคซีนมีจำกัดมันเลยมีทั้งคนได้และไม่ได้ การติดเชื้อเลยจะเยอะเพราะคนหนุ่มสาวมีโอกาสในการแพร่เชื้อมากกว่าคนแก่แถมกว่าจะฉีดวัคซีนได้ถึง 80-90% ก็อีกนาน เพราะฉะนั้นจะยังคงมีเคสคนตายอยู่ ตอนนี้ก็ต้องป้องกันตัวเองให้ดีแล้วกัน work from home ให้มากที่สุดครับ”
ในความรู้สึกผมที่เป็นประชาชนตัวเล็กตัวน้อย ผมมองว่าสองทุ่มเร็วเกินไปสำหรับชีวิตคนที่ต้องออกไปทำงานข้างนอก
มันควรมีเวลาให้กับการซื้อหาอาหารมาเก็บไว้ ควรมีเวลาให้กับการเดินทางที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่ได้เข้าถึงได้ทุกชนชั้น เราควรจะได้ใช้ชีวิตมากกว่านี้ก่อนที่จะต้องกลับเข้าไปอยู่ในที่พักอาศัยแบบเงียบ ๆ
เชื้อโรคเองก็คงไม่เลือกเวลาระบาด มันคงไม่มีชั่วโมงทำการเหมือนมนุษย์