รักษ์โลกไปไหน?

ถึงเดี๋ยวนี้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ aka บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจะดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจนส่งออกไปต่างประเทศได้ แต่จู่ ๆ ความนิยมของมันกลับหดหายจนสูญพันธุ์ไปจากวงการกับข้าวข้างทางในช่วงโควิดระบาด กินข้าวในร้านไม่ได้เสียอย่างนั้น

แล้วพวกมันหายไปไหนกัน? ทำไมเขาหันไปใช้พลาสติก? ทำไมบางร้านยังใช้โฟม? 

เทรนด์รัก(ษ์)โลกเลิกเป็นที่นิยมแล้วเหรอ?

อาจเป็นเพราะปกติชอบกินข้าวที่ร้านมากกว่า ผมเลยจำไม่ได้แล้วว่าครั้งล่าสุดที่เคยซื้ออาหารจากร้านข้างทางแบบห่อกลับบ้านคือเมื่อไหร่ จนการประกาศห้ามรับประทานอาหารในร้านทำให้ต้องหิ้วข้าวกลับมากิน มันทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าทุกอย่างมีเเพคเกจจิ้งซึ่งทำจากพลาสติกเต็มไปหมด

ด้วยความรู้สึกผิดกับจำนวนกล่องพลาสติกที่ใช้แล้วในถังขยะ ปนกับความสงสัยว่ามันต้องใช้เยอะกันขนาดนี้เลยเหรอ?

 ทำให้ผมอยากรู้ความเห็นหรือเหตุผลของพี่ ๆ เชฟข้างทางบ้าง

“เมื่อก่อนก็เคยใช้ห่อกระดาษเหมือนกัน แต่ว่ามันแพ็คนาน ทำไม่ทันคนสั่งและใช้เนื้อที่ห่อค่อนข้างเยอะ พอนั่งกินที่ร้านไม่ได้ทุกอย่างเลยต้องเร็วขึ้น พี่เคยซื้อกล่องชานอ้อยมาใช้นะ แต่บะหมี่มันติดกล่อง ลูกค้าเขาบ่นมาเราก็ไม่รู้จะทำยังไงเลยกลับมาใช้พลาสติกเหมือนเดิม” เจ้าของร้านบะหมีรถเข็นตอบไปก็เก็บร้านไปเพราะใกล้เวลาเคอร์ฟิวแล้ว 

“เราอยากรักษ์โลกนะ แต่ข้อจำกัดมันเยอะ แถมกล่องแบบที่อาหารไม่ติดมันก็ไม่มีให้ซื้อ แล้วด้วยความที่เป็นก๋วยเตี๋ยว ทุกอย่างมันเป็นน้ำ 

ถ้าใช้พวกกล่องย่อยสลายได้แบบกระดาษหรืออะไรพวกนี้พี่กลัวว่ามันจะแฉะจะยุ่ย ขนาดหลอดกระดาษที่ใช้กันตอนนี้ยังยุ่ยเลย”

“ขนาดตอนนี้ใส่กล่องพลาสติกก็ยังมีลูกค้าคอมเพลนเลยว่าหก ก็งงเหมือนกันว่ามันเป็นปัญหาที่ตัวกล่องหรืออะไร

พี่ไม่ได้ซีเรียสเรื่องราคากล่องนะ แต่ยังไม่มีกล่องที่เหมาะกับอาหารที่ทำน่ะ” พี่แม่ค้าขายกะเพราเจ้าประจำเล่าให้ฟังในขณะที่ผมเดินมารับข้าวที่มักจะแขวนไว้หน้าบ้าน

เอ้อ นึกขึ้นได้ว่าวันนี้ผมลืมพกถุงผ้ามาอีกแล้ว

จะว่าไปเรื่องปัญหาถุงพลาสติกในไทยก็เป็นปัญหาโลกแตกเหมือนกัน ทุกคนเหมือนจะลืมไปแล้วว่าเราเคยรณรงค์เลิกใช้ถุงผ้ากัน ถุงพลาสติกเลยกลับมาเป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้เป็นปกติ(อีกแล้ว)

ผมเองก็เพิ่งตระหนักได้จากจำนวนถุงพลาสติกที่สุมไว้รอใช้งานในห้องเหมือนกัน ในช่วงวิกฤตแบบนี้คงจะมีแต่การบริโภคถุงพลาสติกที่มากขึ้นเรื่อย ๆ

ไม่ได้พูดถึงว่าต้องย้อนไปใช้ปิ่นโตนะ แค่อยากให้เรากลับไปใช้ถุงผ้าเหมือนก่อนหน้านี้เอง

จากการเดินทอดน่องไปตามแผงลอยที่คนเดินกันขวักไขว่ถึงแม้จะมีฝนตกพรำ ๆ 

ตลอดเวลามันก็อดสงสัยไม่ได้ว่าถ้าข้าวแกง หรืออาหารรถเข็นอื่น ๆ เปลี่ยนสภาพหีบห่อจากถุงที่เราคุ้นชินเป็นอย่างอื่นมันจะมีหน้าตาเป็นยังไงกันนะ จะไม่ต้องปวดมือกับยางรัดแกงสุดจะแน่น หรือจะเห็นเนื้อแกงเนื้ออาหารที่ชัดเจนแบบนี้รึเปล่า

ช่วงนี้ต้องซื้อกล่องเพิ่มขึ้นครับพี่ สั่งเพิ่มขึ้นประมาณเท่านึงเพราะนั่งทานที่ร้านไม่ได้เลย เมื่อก่อนกล่องโฟมแถวนึงนี่มันประมาณ 42 บาท แต่ตอนนี้ราคามันจะแตะ 50 บาทต่อแถว” ร้านข้าวที่ผมกินประจำอธิบาย

“พอช่วงนี้นั่งทานที่ร้านไม่ได้ก็ต้องเบิ้ลจำนวนเป็นสองแถวก็ร้อยนึงพอดี แถวนึงมีประมาณ 98 กล่องครับ อันนี้ยังไม่รวมพวกกล่องกับถุงพลาสติกใส่น้ำจิ้มที่ต้องซื้อเพิ่มขึ้นอีก

กล่องพวกนั้น(บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก) มันต้นทุนสูงกว่าครับพี่ ถ้าเทียบกันอันนั้นราคาร้อยกว่าบาทแต่ได้ประมาณห้าสิบกล่องต่อแถว ปริมาณมันต่างกันครึ่งต่อครึ่งเลยครับ 

แล้วด้วยช่วงนี้ที่ราคาวัตถุดิบขึ้นเราเซฟอันไหนได้เราก็อยากจะเซฟอันนั้น ถ้าสามารถควบคุมราคาของพวกบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกให้ลดลงมาได้หน่อยมันก็น่าจะช่วยให้คนหันไปใช้ได้เยอะนะ”

“มันแพงน่ะหนุ่ม พวกกล่องรักษ์โลกนี่มันแพงกว่าเยอะ แล้วทีนี้บางครั้งลูกค้าชอบมาขอกล่องเราฟรี ๆ น่ะ จะไปคิดเงินเขาเพิ่มก็ไม่ได้” คุณป้าร้านหมูทอดร้านประจำอีกเช่นกันเล่าให้ฟัง

“เมื่อก่อนตอนที่ป้าขายข้าวไปด้วยก็ใช้กล่องที่เป็นเยื่อไผ่นะ แต่ตอนนี้ป้าแก่แล้ว ทำไม่ทันเลยขายแต่หมูทอด แล้วกล่องพวกนั้นต้องไปซื้อที่ห้างด้วยนะ มันไม่ได้มีขายทั่วไป แต่กับกล่องกับซองพลาสติกพวกนี้เราสั่งกับร้านได้เลยเพราะเขาเอาเข้ามา ถ้ากล่องรักษ์โลกมันถูกและหาซื้อง่ายป้าก็จะเปลี่ยนไปใช้นะ มันจะได้สบายใจต่อลูกค้าด้วย ย่อยสลายได้ลดโลกร้อนด้วย”

คุณป้าคิดว่าอะไรเหรอครับ ที่ทำให้มันไม่เป็นที่นิยม?

“ป้าคิดว่ามันหาซื้อยากนะ การไปซื้อกล่องพวกนั้นถึงห้างมันเป็นอะไรที่ยากสำหรับคนแก่แบบป้า ป้าก็ได้แต่ซื้อจากร้านที่อยู่ใกล้นี่แหละ ตอนนี้มันก็เลยต้องจำยอมใช้ไปก่อน”

“กล่องพวกนั้นมันก็ดีอ่ะนะแต่ต้นทุนมันสูง เราค้าขายมันทำกำไรยาก ที่ใช้กล่องโฟมมันก็เพื่อความสะดวก ต้นทุนมันถูกกว่าเยอะ” แม่ค้ารัานผัดไทย หอยทอดอธิบายให้ผมฟัง

“พูดตรง ๆ ว่าที่ใช้โฟมเพราะมันประหยัดต้นทุนด้วย กล่องชานอ้อยหรือพวกกล่องย่อยสลายได้มันดีอ่ะแต่มันแพงไง แล้วเราขายราคาแบบพื้น ๆ ราคาชาวบ้านจับต้องได้น่ะ”

“อย่างน้อยถ้าเปลี่ยนมาใช้พลาสติกล่ะครับ?” ผมถามไปเพราะอดเสียวไส้ไม่ได้เวลาเห็นผัดไทร้อน ๆ ถูกวางบนกล่องโฟม ถึงจะมีกระดาษมารองก็ตาม

“พลาสติกนี่พอใส่อาหารแล้วมันก็ดูน่ากินกว่าอ่ะนะ แต่มันมีหลายแบบทำให้ต้นทุนแพงกว่าเดิมอีก แม่ค้าบ้าน ๆ เขาก็ซื้อแบบประหยัดน่ะนะ ผัดไทยพี่ใส่กุ้งสี่ตัว บวกราคาเพิ่มสิบบาทก็แทบจะไม่มีกำไรอยู่แล้ว ถ้าจะให้เปลี่ยนไปใช้กล่องพลาสติกหรือชานอ้อยนี่จะล่อไปเท่าไหร่อีกล่ะน้องว่ามั้ย? น้องดูดิผัดไทธรรมดาพี่ขายสี่สิบ บวกกุ้งสดพี่ขายห้าสิบ ใส่กุ้งขนาดนี้มันจะมีกำไรมั้ยเนี่ย? กุ้งเนี่ยโลนึงไม่ต่ำกว่าสองร้อย”

ไม่แน่ใจว่าอันไหนจะคุ้มกว่ากัน ระหว่างซื้อกล่องพลาสติกมาใส่ กับใช้กล่องโฟมเหมือนเดิมบวกกระดาษและพลาสติกรองอีกที

“ส่วนมากคนจะมาซื้อพวกพลาสติกกันเพราะมันถูกกว่า เอาเข้าจริงราคาระหว่างพลาสติกกับของย่อยสลายได้มันต่างกันชิ้นละห้าสิบสตางค์เอง” เจ้าของร้านบรรจุภัณฑ์ในละแวกนี้อธิบายถึงธรรมชาติของลูกค้า

ส่วนอันย่อยสลายได้นี่เขาไม่ค่อยซื้อกันนอกจากจะมีข้อบังคับจากสถานที่ขาย เช่น ถ้าโรงเรียนบังคับว่าให้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เขาก็ต้องเปลี่ยนเลย ตอนนี้ดีขึ้นมาหน่อยตรงที่ร้านค้าสวนใหญ่เลิกใช้โฟมแล้วเพราะว่าลูกค้าตระหนักถึงความปลอดภัยร้านค้า แม่ค้าก็เลยหันมาใช้พลาสติก มันแพงกว่าโฟมแต่ถูกกว่าพวกชานอ้อยรักษ์โลกค่ะ”

“ส่วนใหญ่ความต้องการมาจากผู้ซื้อ?”

“ใช่ แต่เอาเข้าจริง ๆ คืออันไหนที่มันลดค่าใช้จ่ายเขาได้เขาก็ใช้อันนั้นแหละ เขาสนใจเรื่องราคามากกว่าเรื่องย่อยสลายได้มั้ย มันต้องมีการรณรงค์จากหน่วยงานใหญ่เหมือนตอนเปลี่ยนจากโฟมมาเป็นพลาสติก คือมันลดลงได้ถ้ามีนโยบายจากเบื้องบนลงมาว่าเออ ตอนนี้ขยะมันล้นโลกแล้ว แต่พี่ว่ากับประเทศไทยนี่ทำไม่ได้หรอก (หัวเราะ) พี่ว่าทำไม่ได้หรอกเพราะคนไทยไม่มีระเบียบวินัยขนาดนั้น”

ฟังเหตุผลจากบางร้านแล้วมันก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ “ความจำยอม”ทำให้คนเลือกไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตนี้ที่กระทบไปทุกส่วนตั้งแต่สิ่งแวดล้อมยันเป๋าตังพ่อค้าแม่ค้า จะให้ทำยังไงล่ะ? อยากรักษ์โลกแต่ก็ไม่อยากเข้าเนื้อ

ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น+เวลาขายน้อยลง+ต้องซื้อกลับบ้านเท่านั้น+ปัญหาการใช้งาน เลยกลายเป็นผลลัพท์ของคำถามที่ว่าทำไมบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกถึงหายไป เพราะด้วยราคาที่สูงกว่าและการค้าขายที่ต้องขายให้ได้มากที่สุดในเวลาอันสั้นทำให้พ่อค้าแม่ค้ากลับมาใช้พลาสติก

หรือว่าการที่จะโลกสวยในตอนนี้ มันต้องเริ่มต้นด้วยมือเราที่เป็นผู้บริโภคจริง ๆ  ในเมื่อให้ร้านเปลี่ยนกล่องอาหารมันยาก เราก็ต้องแทนที่เอากล่องของตัวเองไปให้เขาใส่อย่างนั้นเหรอ?

ปล. ถึงจะเป็นกล่องจากร้าน อย่างน้อยมื้อนี้ผมก็เอากระเป๋าผ้ามาเองแล้วนะ

Loading next article...