เราจะไม่ได้สนุกกับแอลกอฮอล์ได้เหมือนเดิมอีกแล้วเหรอ ?
ห้ามถ่ายรูปกับโลโก้ เครื่องดื่ม? แล้วจะอวดเพื่อนกันยังไงอ่ะ ? การมาของร่าง พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันพรุ่งนี้จะเป็นตัวตัดสิน โดยร่าง พรบ. ใหม่มีบทลงโทษกว่าข้อหาเดิม
ร้านอาหารหรือผู้ประกอบที่ดูเหมื่อนจะถูกซ้ำเติม ตอกย้ำความลำบากจากวิกฤติโควิด-19 เข้าไปอีก
ท่ามกลางวิกฤตที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะผ่านพ้น
จังหวะการออกกฎหมาย และ เงื่อนไขในการค้าขาย มันสะท้อนอะไรสำหรับคนเหล่านี้ ?
“ตอนนี้ร้านก็คือปิดมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคมค่ะ เพราะว่ารัฐทำล็อคดาวน์ที่ไม่ใช่ล็อคดาวน์ ก็คือสั่งให้ห้ามนั่งทานในร้านอาหาร ซึ่งต่อให้เราปรับตัวมันก็ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของร้าน เราเลยตัดสินใจปิดก่อนเพราะทำไปมันก็ไม่คุ้มอ่ะ พยายามลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด”
“การที่เราจะขายอะไรซักอย่างมันต้องมาจากการเตรียมวัตถุดิบมาเป็นเวลานานแล้วก็วางแผนเป็นระบบ กว่าจะส่งให้ร้านมันมีขั้นตอนของมันเยอะแยะ แล้วอยู่ดี ๆ พอถึงเมืองไทยพร้อมขายแล้วร้านดันโดนสั่งปิดทุกคนเลยงงและตั้งตัวไม่ได้ ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันยากมาก
“ยิ่งมีกฏหมายมาควบคุมการขายแอลกอฮอล์อีก ห้ามขายออนไลน์ ห้ามโพสต์ ห้ามประชาสัมพันธ์และโฆษณาทั้ง ๆ ที่มันเป็นสินค้าถูกกฏหมายนะ เราเสียภาษีแต่ทำไมเราไม่มีช่องทางในการขายเลย แล้วเขาก็ไม่ได้หาวิธีแก้ปัญหาให้เราเลย มันก็น่าเสียใจอ่ะ คือเราทำงานถูกต้องแต่เขาไม่อำนวยความสะดวกให้เราเลย ปิดกั้นเราทุกอย่าง”
“ช่วงนี้ก็ตามสภาพ ตามสถานการณ์เลยค่ะ เพราะว่าด้วยความที่เราเป็นบาร์เลยทำอะไรไม่ค่อยได้ (หัวเราะ) ธุรกิจที่เราทำมันไม่ได้เกิดมาเพื่อขายอาหารอ่ะค่ะ เราก็มีความถนัดเฉพาะทาง ซึ่งตรงนี้มันเลยค่อนข้างจะหนักเพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนไปขายของอย่างอื่นได้
“ยิ่งรอบนี้อัตราการติดมันง่ายและสูงกว่ารอบที่แล้วเยอะ ลูกค้าทุกคนรู้สึกว่ามันเป็นความเสี่ยงหมดก็เลยตัดสินใจว่าอย่าเพิ่งเปิดร้านเลยดีกว่า
“พนักงานเราก็ยังจ้างเขาอยู่ เพียงแต่ว่าให้ย้ายไปทำอีกทีหนึ่งก็คือโฮสเทลที่อยู่ใกล้ ๆ กัน แต่ก็อย่างที่รู้นั่นแหละว่าตอนนี้นักท่องเที่ยวมันก็ไม่มีอยู่แล้ว ก็ยังเลี้ยงลูกน้อง จ่ายเงินรายเดือนปกติ ส่วนค่าเช่าก็ยังจ่ายราคาเดิมนะคะ (หัวเราะ)”
ถ้ารวมตั้งแต่รอบแรกก็น่าจะใกล้ ๆ 260 วันแล้วครับที่ปิดไป ปรับตัวแล้วแต่ก็ขายยากทุกอย่างเพราะว่าสถานการณ์ตอนนี้ ก็มีแต่ ๆ เพื่อนที่ช่วยซื้อกัน ที่เปิดไปก็เพื่อให้พนักงานที่ยังอยู่กับเราสามคนเนี่ยยังมีงานทำอยู่บ้าง
“คนเหล่านี้อาจจะชอบให้บ้านเมืองดูมีศีลธรรมดีงาม เรียบร้อยสุภาพ อยู่ในจารีตประเพณีที่เขาเชื่อมาหกสิบเจ็ดสิบปี ซึ่งในบริบทสังคมโลกตอนนี้มันเปลี่ยนไปมากแล้ว แทนที่จะมาห้ามเหล้าเบียร์ทำไมไม่ไปเลือกที่จะบังคับใช้กฏหมายลงโทษร้านที่ให้เด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ใช้บริการหรือขายเหล้าเบียร์ให้ หรือคนที่บริโภคแล้วทำความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน เช่นเมาแล้วขับ บังคับใช้กับคนพวกนี้สิ ให้เขาเห็นว่าการกินที่เกินลิมิตมันส่งผลเสียยังไง ไม่งั้นก็ให้เหล้าเบียร์ผิดกฏหมาย ไม่ต้องมีภาษีตรงนี้ไปเลย”
“ผมว่าสังคมตอบเองได้ครับว่าอาชีพที่พวกเราทำอยู่มันคืออะไร คำถามต่อไปคือคุณลองนึกภาพวันที่ไม่มีเสียงดนตรี ไม่มีการสังสรรค์ ไม่มีความบันเทิง คุณว่ามันจะเป็นโลกที่น่าอยู่มั้ย? นี่คือสิ่งที่รัฐกำลังทำกับพวกเราอยู่
มันไม่ใช่แค่เรื่องเหล้า เบียร์ สถานบันเทิง แต่มันคือเรื่องนักดนตรี ศิลปิน รวมไปถึงศิลปะทุกอย่าง ทีวี หนัง โดนหมด แล้วมันสำคัญมั้ยล่ะ? ถ้าสังคมเห็นว่าสำคัญแล้วสังคมทำอะไรอยู่ทำไมถึงไม่ช่วยเรา? หรือเขาอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่ามันสำคัญเพราะก่อนหน้านี้เขา take it for granted มาตลอด”
“ตอนแรก ๆ เรายินดีที่จะปิดนะ เพราะว่ารอบนี้โควิดมันมาใกล้ตัวมาก มันอยู่ในกลุ่มของคนที่ใช้ชีวิตกลางคืนหรือสถานบันเทิงจริง ๆ เข้าใจว่าร้านเหล้ามันก็มีความสุ่มเสี่ยงไม่น้อยแหละ แต่พอปิดไปมันไม่มีมาตรการอะไรมารองรับเลยอ่ะ เขาให้เราเอาตัวรอดกันเอง”
“ครั้งก่อนหน้านี้เรายังมีทำนู่นทำนี่บ้าง อย่างโควิดรอบแรกก็ยังมีไลฟ์ให้นักดนตรีมาเล่น ครั้งที่สองมีจัดตลาดนัด แต่ครั้งนี้ไม่ได้ทำอะไรเลย มันรู้สึกแบบ… มันหมดแรงแล้วอ่ะ ไฟทุกอย่างมันมอดมาก เลิกคิดเลิกหวังว่าจะได้เปิดไปแล้ว
“ตัวร้านหรือพนักงานก็ยังอยู่หมดแต่ตอนนี้เราก็เริ่มดูแลไม่ไหว เงินเราก็ร่อยหรอจนแทบจะหมดแล้ว สถานการณ์ตอนนี้มันจะไปกู้หรือระดมทุนมันก็ค่อนข้างยากแล้วความเสี่ยงก็สูง ตอนแรกเราคิดว่าสถานการณ์มันจะดีขึ้นตอนเดือนสิงหา แต่พอประกาศห้ามนั่งในร้านอาหารไป
ล่าสุดเราก็คิดไม่ออกเลย ยิ่งตื่นมาดูตัวเลขผู้ติดเชื้อทุกวันจนตอนนี้หมดหวังไปแล้วอ่ะ คนไทยทั้งหมดมันยังไม่ดูแล อีกไม่นานคนที่อยู่รอดคงจะเหลือแต่นายทุนใหญ่ ๆ ที่เขาดูแลกันอยู่อ่ะ”
เราสู้จนมันหมดทุกอย่างแล้ว ทั้งกำลังใจ กำลังทรัพย์ ไม่ได้คิดว่าจะยอมตายนะ แต่คิดว่าดิ้นไปมันก็มีแต่ทำให้เราเจ็บ ตอนนี้พี่ก็มีแอบไปหามองอย่างอื่นทำแล้วเหมือนกัน ถ้าเราต้องมานั่งรอลุ้นกับรัฐบาลที่แม่งห่วยส้นตีนขนาดนี้”
“ตอนแรกก็ดู ๆ เรื่องอารยะขัดขืนอยู่นะ เพราะร้านเราเป็นร้านที่เน้นดนตรีสดอยู่แล้ว ถ้าเปิดได้มันก็จะเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้พนักงาน แต่ว่าสิ่งที่กังวลคือต้นทุนที่มันจะสูงขึ้นน่ะ
ยังไงคนก็ยังกลัวกับสถานการณ์ตอนนี้ มันจะมีคนกล้าออกมาใช้ชีวิต ออกมาจับจ่ายใช้สอยจริง ๆ เหรอ? มันไม่ใช่เรื่องโควิดอย่างเดียวแต่มันเป็นเรื่องเศรษฐกิจอีก แต่ละคนก็แทบจะไม่เหลือเงินกันแล้ว พี่เลยคิดว่ามันค่อนข้างเสี่ยงอ่ะ ไม่ใช่เราเห็นด้วยนะ แต่สำหรับตัวเรา ๆ ก็ต้องประเมินว่ามันไหวรึเปล่า ถ้าทำแล้วเจ็บอีกมันก็อาจจะจบเลยก็ได้”
“ใช้เงินเก็บตั้งแต่รัฐบาลสั่งปิดร้านตั้งแต่ปีที่แล้ว จนมาถึงทุกวันนี้ก็ใกล้จะหมดตัวแล้วครับ”
“ถึงเจ้าของที่จะลดราคาให้แล้ว แต่เราก็ยังต้องจ่ายค่าเช่าร้านอยู่ ยังดีที่เรามีหุ้นส่วนร้านอยู่ 4 คน ก็มาช่วยกันหารกันเพื่อรักษาสถานที่ไว้ครับ ร้านเราเป็นแค่บาร์ทางเลือกเล็ก ๆ ที่เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ มานั่งพูดคุยคลายเหงาระบายความในใจกันส่วนตัวพวกเราคุยกันว่ายังอยากสู้จนถึงที่สุดแต่ก็ไม่รู้ว่าสู้ต่อไปได้ถึงเมื่อไหร่ ทุกวันนี้ร้านเหล้าปิดหมดมาสามเดือนกว่าแล้ว ผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น”
“เราได้แต่ช่วยตัวเองกันไปครับ พยายามใช้เท่าที่จำเป็น เอาของสะสมส่วนตัวออกมาขายบ้าง เพื่อให้พอมีรายรับแต่ก็ไม่เพียงพออยู่ดี สุดท้ายก็ใช้เงินเก็บซึ่งก็ใกล้จะหมดแล้วเต็มที โดนสั่งปิดมาสามรอบแล้ว ได้แต่พยายามปล่อยเบลอไป ไม่อยากคิดมากเพราะแค่ทุกวันนี้ก็แย่พออยู่แล้ว ได้แต่หวังว่าสักวันรัฐบาลจะมีทางออกที่ดีให้กับเรา จะให้เว้นระยะห่าง จำกัดคนเข้า การจองล่วงหน้า พนักงานหรือผู้มาใช้บริการต้องได้รับวัคซีนเรียบร้อยแล้วอะไรก็ได้ แต่ผมว่าคงไม่ใช่ตอนนี้”
“คนกลางคืนเป็นกลุ่มที่ไม่เคยได้รับการเยียวยาเลย โดนสั่งปิดที่แรกแต่เปิดเป็นที่สุดท้าย
“ตอนนี้ผมมาทำงานให้ สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย แบบเต็มตัว ผมไปยื่นข้อเรียกร้องให้กับคนที่ทำงานอาชีพกลางคืน อาชีพอิสระ นักดนตรีตามผับบาร์ หรือเจ้าของ คนจัดอีเว้นท์ ออแกไนเซอร์
“เรายื่นขอเสนอไปแปดข้อ ก่อนหน้านี้เคยมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้วรอบนึง ทุกพรรคมาหมดยกเว้นพลังประชารัฐ แต่ต้องยื่นหนังสือกันตรงหน้าทางเข้าที่โดนรถน้ำขวางอยู่ เพิ่งมีวันนี้ที่เค้าส่งตัวแทนมารับไปดู ส่วนตอนนี้เราก็กำลังเตรียมตัวที่จะเข้าไปประชุมกับกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจที่มาเชิญตัวแทนกลุ่มเราในวันพฤหัสบดีนี้ครับ
“ตอนนี้เราก็มีร่างพรบ.อีกร่างหนึ่งที่เป็นฉบับประชาชนให้ลงชื่อเหมือนกัน รวมรายชื่อคนเป็นหมื่นมาจัดทำเป็นปีกว่าจะเสร็จ พวกข้าราชการฝ่ายบริหารมาเห็นว่าเรามีร่างก็เลยออกร่างพรบ.ฉบับสุดโต่งมา
มันบอกว่ามันเป็นฝ่ายบริหารเลยมีสิทธิ์ออกได้เหมือนกัน ถ้าฝั่งคราฟเบียร์ไม่ไปเจอมาว่ามีเสนอร่างฉบับนี้นี่สงสัยคงรอจังหวะลักหลับเอาเข้าสภา”
“ความน่าเกลียดของเรื่องนี้คือพวกคนที่ทำงานในองค์กรของรัฐ ที่มีหน้าที่ออกมาต่อต้านแอลกอฮอล์ ทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียกับแอลกอฮอล์หมดเลย กลายเป็นว่าเราต้องเสียภาษีให้คนพวกนี้ให้เขามาออกกฏหมายเพื่อรีดไถให้สุด ให้พวกเรามีชีวิตได้ยากที่สุด
“ผมอยากให้คนรับรู้มากกว่าว่าเจ้าหน้าที่แม่งเลวแค่ไหนกับเรื่องของการมีค่าส่วนแบ่งจากค่าปรับ มีอำนาจที่สามารถเข้าไปยึดของ ๆ ใครก็ได้ มาตรา 34 นี่คือมาตราที่เป็นมาเฟียฟาสซิสต์ที่สุด มันทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเดินเข้าไปในร้านแล้วขอยึดของกลางทั้งหมดจนกว่าเจ้าของจะไปพิสูจน์ตัวเองว่าบริสุทธิ์ในชั้นศาล แล้วถ้าผมไม่อำนวยความสะดวกผมก็โดนปรับอีกสองหมื่น”
“ผมมองว่าเขาเอาศีลธรรมบังหน้าแล้วใช้แอลกอฮอล์เป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ล้วน ๆ เลยครับ ผมท้าให้เอาส่วนแบ่งค่าปรับออกไปเลยครับถ้าเค้าบริสุทธิ์ใจเป็นคนดีเต็มเปี่ยมไปด้วยศีลธรรมอย่างที่เค้าว่ากัน”
“ถ้าคุณคิดว่าแอลกอฮอล์แม่งวรนุชนะ คุณดูเจ้าหน้าที่พวกนี้ก่อน ผมไม่เคยเห็นกฏหมายประเทศไหนที่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจได้บ้าคลั่งขนาดนี้”
สารภาพจริง ๆ ว่าในบรรดาร้านที่สัมภาษณ์มาทั้งหมดนี้ผมเคยไปแค่ร้านเดียว พอนั่งเขียนบทความนี้เลยรู้สึกเสียดายเหมือนกันที่ตอนนี้เราไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตข้างนอกเท่าไหร่นักเมื่อมีโอกาส
ไม่รู้ว่าพอถึงตอนที่ทั้งโลกกลับมาสู่ภาวะปกติแล้วประเทศไทยจะเป็นยังไง เท่าที่คิดออกคือแค่ตอนนี้หลาย ๆ อย่างมันก็เปลี่ยนแปลงจนกลับมาเหมือนเดิมยากแล้วด้วยซ้ำ
ปล. ใครที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของร่างพรบ.ควบคุมแอลกอฮอล์ฉบับประชาชน สามารถเข้าไปลงชื่อและแสดงความเห็นกันได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้ครับ
https://bit.ly/3jWLXfo