คนพื้นราบส่วนใหญ่หลงรักและหลงใหลในเสน่ห์ภาพแช่แข็งอันงดงามของบ้านป่าที่ติดอยู่ในความทรงจำ แม้ความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นซะทุกอย่าง แต่จะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยพวกเขาก็ยังมองว่าวิถีบ้านป่านั้นเรียบง่ายสวยงามตามแบบฉบับดั้งเดิมโบราณ จนบางครั้งอาจลืมไปว่าคนบ้านป่าชาวดอยก็เหมือนคนอื่น ๆ ทั่วไปที่ต้องการสิ่งที่ดีกว่าให้ชีวิต และไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
เราคนบ้านป่าพยายามดิ้นรนถีบตัวเองไปข้างหน้าเพื่อตามหาสิ่งที่พอจะทำให้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง เพราะพวกเราส่วนใหญ่ไม่รู้หรอกว่าตัวเองมีสิทธิ์อะไร ควรได้รับการปฏิบัติดูแลเอาใจใส่อย่างไร อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งแล้วที่เคยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโลกนี้มีหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลประชาชนด้วย แต่จะโทษว่าผมไม่สนใจก็คงไม่ได้ เพราะมันแทบไม่มีให้เห็นเลย
ผมก็ไม่รู้ว่านี่มันความผิดของผมที่อยู่ไกล หรือเป็นคุณที่มองข้าม หรือว่าผีป่าผีเขาบังตาให้เราไม่เห็นกัน
มาถึงวันนี้ วันที่โตขึ้นมาหน่อย ผมรู้อะไรเพิ่มมากขึ้นแต่ก็ยังไม่หมดอยู่ดี ก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมการดูแลคนบ้านป่าต้องต่างจากคนพื้นราบ ก็ยังไม่เจอคำตอบที่พอใจอยู่ดี ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเรามันคนส่วนน้อยไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน เรามันดึกดำบรรพ์ล้าหลังไม่ฉลาด เรามันไม่มีความสามารถสร้างประโยชน์ให้ชาติบ้านเมืองไม่ได้ หรืออะไรอีกก็ยังไม่รู้ แต่ที่รู้รู้อย่างน้อยเราก็เป็นหนึ่งในชีวิตที่มีความรู้สึกเหมือนคนทั่วไป ก็น่าจะได้รับการเหลียวแลเอาใจใส่บ้าง
ว่ากันมาถึงตอนนี้ก็ทำให้หวนนึกถึงบรรยากาศในห้องประชุมหมู่บ้านเมื่อเดือนก่อนที่ผู้นำชุมชนนำสารความห่วงใยจากเบื้องบนมาประกาศว่า “…เวลาอยู่บ้านหรือเข้าเมืองให้พวกเราบ้านป่าชาวดอยสวมใส่ชุดชาติพันธุ์ที่เราถักทอกันเองด้วยนะ มันเป็นวัฒนธรรมอันดีงามต้องอนุรักษ์สืบต่อกันไปและจะได้ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง…”
เป็นข้อความไม่ยาวนัก แต่สะกิดใจผมแรงมาก หลายคำถามวนไปวนมาในความคิดผม และรู้สึกมั่นใจว่าสายตาที่เขามองเรากับคำพูดที่เขาบอกเรานั้นมันต่างกันอย่างคนละโลก ถ้าคิดไม่ออกว่าผมหมายถึงอะไรก็ลองนึกถึงภาพปฏิกิริยาของชนชั้นกลางคนเมืองส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ฟังชาติพันธุ์บ้านดอยกับซุปตาร์เกาหลีพูดภาษาไทยด้วยสำเนียงของตัวเองดู คงเดาได้ไม่ยากใช่ไหมว่าใครจะเกิดใครจะตาย เพราะสุดท้ายคนอยู่ชายขอบก็จะถูกผลักออกอยู่ดี แม้จะมีตัวหนังสือบอกว่าทุกคนบนโลกมีสิทธิเท่าเทียมกันก็ตาม
มากกว่านี้สารความห่วงใยข้างต้นยังแทรกข้อความมาให้เห็นอีกว่า ไม่ใส่ชุดชาติพันธุ์เท่ากับลืมรากเหง้า และเปลี่ยนแปลงตัวเองเท่ากับไม่รักษาวัฒนธรรม มันทำให้เกิดคำถามว่าคนบ้านป่าชาวดอยต้องแช่แข็งตัวเองอยู่ที่เดิมงั้นหรือ ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งทอผ้าใส่เอง ก้มหน้าปลูกข้าวเองกินเอง ไปทุกที่ด้วยแรงขาตัวเอง หรือทำทุกอย่างด้วยแรงมือของตัวเอง โดยที่ทุกอย่างนี้เป็นไปเพียงเพื่อรักษาภาพฝันอันงดงามของคนอื่นหาใช่ความจริงของชีวิตไม่ ถ้าเป็นอย่างนี้คงเป็นเรื่องเศร้าไม่น้อยเลยทีเดียว
นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายข้อความที่เคยได้ยิน และผมมักมีคำเถียงดัง ๆ ในใจกลับไป
“อยู่บนดอยอะไฟฟ้าก็ไม่มี สัญญาณก็ใช้ไม่ได้ พวกเทคโนโลยี โน้ตบุ๊ค โทรศัพท์มันไม่จำเป็นหรอก แถมสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์อีก…” อาจใช่ในมุมหนึ่ง แต่ไม่ใช่ในมุมผม เพราะทุกวันนี้ก็ใช้โน้ตบุ๊คทำงานอยู่นะ ใช้ในบ้านป่านี่แหละ
“อยู่แบบเดิมน่ะดีจะตาย ไม่รู้หรือว่าคนในเมืองเขาอิจฉา” เขารู้ได้อย่างไรว่าดี เคยใช้ชีวิตแบบนี้จริง ๆ หรือเปล่า แล้วสถานะพื้นฐานล่ะเท่ากันไหม
“แค่บ้านป่าบ้านดอย ทำไมต้องเก็บค่าที่จอดรถด้วย ไม่เห็นเป็นเหมือนเมื่อก่อนเลย” อ่าว! ก็นี่มันไม่ใช่เมื่อก่อนไงแล้วอีกอย่างไม่คิดจะถามเขาเลยหรือว่าทำไมต้องเก็บค่าบริการ จะได้เข้าใจไม่มาบ่นลอย ๆ
“ที่นี่สโลไลฟ์ดีนะ ชอบจัง อยากเก็บใส่กระเป๋า” คงเป็นเพราะคุณเห็นที่นี่เป็นสิ่งของสินะ
“ดีจังเลย คนบนดอยนี่อยู่ง่ายกินง่าย น้ำพริกถ้วยเดียวก็อิ่มกันทั้งบ้าน” ไม่ได้อยู่ง่ายกินง่ายนะครับ แต่ผมต้องอยู่ให้ได้ และไม่ได้ชอบกินน้ำพริกด้วย แต่มันไม่มีหมูกระทะชาบูในตัวเลือกนี่นา
“อยู่ในป่าก็อยู่ไป จะเรียกร้องอะไรนักหนา ถ้าอยากได้อยากมีก็มาในเมืองสิ ที่ที่คนปรกติเขาอยู่กัน” โอ้! ผมต้องเนรเทศตัวเองไปในเมืองหรือนี่ ถึงจะได้เป็นคนปรกติ
“…ก็ไปอยู่ในหลืบในป่าทำไมล่ะ ทำไมไม่มาอยู่ในเมือง” เลือกเกิดได้ซะที่ไหนละครับ ละถ้าให้ผมไปอยู่ตอนนี้ผมคงตามคุณไม่ทันหรอกครับ ผมโง่จะตายคุณว่าอย่างงั้น พูดภาษาก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่เป็น
“คนดอยการศึกษาน้อย” ก็ใช่นะ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดหรอก อันที่จริงการศึกษาน้อยก็ไม่ได้แปลว่าความรู้จะน้อยตามด้วยนะ ก็เอาตัวรอดได้อยู่
“พวกเรามาเพื่อช่วยพี่น้องบนดอย…” สถาปนาตนเองเป็นพระโพธิสัตว์ซะงั้น ไม่ใช่ไม่อยากให้มานะ แต่เราน่าจะทำความรู้จักกันก่อนไหม ความหวังดีที่คุณใส่กระเป๋าเสื้อมาจะได้ผลิดอกออกผลบ้าง
และอีกบลา บลา บลา
ไม่ว่าอุดมการณ์เพ้อฝันในสายตาคนข้างนอกจะงดงามและมองว่าบ้านป่าซื่อบื้อขนาดไหน ผมก็รู้ดีว่าความจริงนั้นเป็นอย่างไร ผมรู้ดีว่าผมมีสิทธิ์อะไร ผมรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร เพียงแต่เสียดายที่เสียงของผมนั้นมันดังไม่พอ ไม่พอให้มีแสงไฟฟ้ากลางหมู่บ้าน ไม่พอให้มีถนนดี ๆ พาดผ่าน ไม่พอให้คุณได้ยินและหันมองว่าผมนั้นยืนอยู่ตรงนี้
เรารู้ดีว่าวิถีวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งมีค่า แต่เราก็ไม่อยากเป็นเหมือนสิ่งของที่ถูกแช่แข็งตั้งโชว์ในพิพิธภัณฑ์ เราต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และคิดว่าความต้องการของเรานั้นก็ไม่ได้ไร้สาระ เพราะคนอื่น ๆ เขาก็ต้องการไม่ต่างจากนี้
มันเป็นเรื่องไม่น่ารักนักที่อยู่ดี ๆ ใครก็ไม่รู้มาบอกว่าควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งที่ไม่รู้จักเราจริง ๆ เลย มิหนำซ้ำพูดเสร็จก็กลับบ้านจากเราไปอีก ไม่ได้อยู่เคียงข้างกันเลย ไม่ได้ร่วมรับรู้รสชาติชีวิตอันขมขื่นของเราเลย แต่ทำไมมีความกล้ามาตัดสินเราว่าควรทำอะไรอย่างไร
โลกนี้ไม่มีใครอยากย่ำอยู่ที่เดิมทุกวัน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บ้านป่าวันนี้จะต้องการอะไรที่ไม่เหมือนร้อยปีที่แล้ว คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็ควรให้การสนับสนุนให้เท่ากับคนพื้นราบทั่วไป เผื่อช่วยลดช่องว่างอันกว้างระหว่างสังคมที่สั่งสมมานานนี้ได้บ้าง เพราะเราก็มีสิทธิ์อยู่อย่างถูกต้องชัดเจน และมีมานานตั้งแต่ครั้งแรกที่ลืมตาดูโลกแล้ว
ผมกับคุณ เราอาจไม่เหมือนกัน แต่เราก็เหมือนกันนั่นแหละ