สาวแล้วผิดตรงไหน?: รู้เท่าทันปิตาธิปไตยในสังคมเกย์

“แล้วยังไงหรอ? ถึงเราจะแมนหรือเราจะสาวแล้วมันยังจะต้องมีอะไรที่ต้องตีตราอีกหรอ
ว่าต้องเป็นเพศในเพศอีกทีอย่างงั้นหรอ? เรารู้สึกว่ามันไม่จำเป็น”
พัดชา – ชนุดม สุขสถิตย์ ศิลปินนักร้องจากค่าย Red Clay

คำตอบของพัดชาชวนเราคิดถึง คำจำกัดความต่าง ที่นำมาด้วยบุคลิกภาพทางเพศ​ เช่นคำว่า ‘แมน’ หรือ ‘สาว’ ว่าจริงๆ แล้วคนที่ใช้คำศัพท์เหล่านี้ต้องการอะไรกันแน่?​

คำพวกนี้สะท้อนมุมมองตายตัวของเพศสภาพในสังคมเรา หากลองคิดตามดีๆ การจำกัดความหมายพวกนี้กำลังตีกรอบให้บริบทของคนที่มีบุคลิคเหล่านี้อย่างไรบ้าง เราลองไปคุยกับพัดชากันดูนะ

ภาพ: พบธรรม ยิ่งไพบูลย์สุข

“ไม่ชอบคนนี้เพราะเขาสาวเกินไป”, “เขาหล่อนะ แต่เขาสาวมาก”, “ภาพนิ่งหล่อมาก ชอบมาก แต่พอเห็นในคลิปแล้วสาวมากกก เลิกชอบเลย” หรือ “นิ่ง ๆ ขรึม ๆ เท่ ๆ แมน ๆ แบบเธอเนี่ย มันเป็น Rare Item มากนะรู้ยัง” (??!) 

ชุดความคิดประมาณนี้เป็นสิ่งที่เรา (ผู้เขียน) ได้ยินมาตลอดในฐานะของคนคนนึงที่อยู่ใน gay community ทั้งประสบการณ์ส่วนตัวและเรื่องราวของคนรอบข้าง เป็นสิ่งที่ได้ยินได้เห็นทีไรก็รู้สึกงงทุกที

และมันก็ทำให้เราตั้งคำถามง่าย ๆ ว่า “สาวแล้วไงวะ?” ทำไมเมื่อใครสักคนวิ่งเข้าใกล้ความเป็นผู้หญิงมากกว่ามักจะถูกมองในแง่ลบ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อใครอีกคนวิ่งเข้าหาความเป็นผู้ชายมากกว่ากลับถูกมองในแง่ตรงกันข้ามอย่างอัตโนมัติ เหมือนมีใครสักคนเซ็ทมาให้แล้วว่าเราต้องคิดกับคนที่มีบุคลิกแบบนั้น แบบนี้ยังไง

ทำไมโลกต้องหมุนรอบความเป็นแมนขนาดนั้น!

แล้วมันมีอะไรมากกว่านั้นไหม ภายใต้วิธีคิดที่ดูเผิน ๆ ก็เหมือนกับเป็นแค่มุกขำขันธรรมดา ไม่ได้สลักสำคัญอะไร แต่ลึก ๆ แล้วเราเชื่อว่ามันไม่ได้มีแค่นั้น

เราเคยชำระสะสางวิธีคิดแบบนี้ ค่านิยมแบบนี้ดูบ้างกันหรือยังว่ามันมีที่มาที่ไปยังไง แล้วมันกดทับใครบ้างไหม แม้กระทั่งตัวของเราเอง

หัวข้อนี้ไม่ใช่หัวข้อวิชาการ หรืออยากจะเรียกร้องความยุติธรรมอะไร แต่เป็นหัวข้อที่เราแค่อยากจะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดอีกครั้ง ทั้งที่มันไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร(เลย) เนื่องจากเห็นว่าในบทสนทนาใน gay community หลายครั้ง เราสัมผัสได้ถึงความตะขิดตะขวงใจที่ gay community มีต่อเกย์ที่มีความสาว และมีแนวโน้มเชิดชูเกย์ที่มีความแมนแบบออกนอกหน้า 

เพื่อชวนคุยและตั้งคำถามกับประเด็นนี้ เพราะปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า ตราบใดที่สังคมรอบ ๆ ตัวในชีวิตจริงของเรา บางครั้งยังต้องเจอกับการบูชาความแมนอย่างบ้าคลั่งเกินเบอร์แบบนี้อยู่ ก็คงต้องมีใครสักคนบ่นถึงมันบ้างแหละ

นอกจากนี้เรายังชวน พัดชา – ชนุดม สุขสถิตย์ ศิลปินนักร้องจากค่าย Red Clay มาร่วมพูดคุย และเล่าถึงประสบการณ์สั้น ๆ เพื่อช่วยขับเน้นให้หัวข้อนี้ให้มีความชัดเจนมากขึ้นอีกด้วย

จากการแสดงออกถึงความเป็นตัวตนที่ชัดเจนที่เป็นธรรมชาติของพัดชา ทั้งจากผลงานและไลฟ์สไตล์ของเขา เราเลยคิดว่าพัดชาจะสามารถช่วยให้ประเด็นที่เราต้องการจะสื่อมีมิติและสนุกมากขึ้น เพื่อให้คนอ่านได้เดินทางผ่านการพูดคุยในประเด็นนี้ไปพร้อม ๆ กับเรา

“แล้วยังไงหรอ? ถึงเราจะแมนหรือเราจะสาวแล้วมันยังจะต้องมีอะไรที่ต้องตีตราอีกหรอ

ว่าต้องเป็นเพศในเพศอีกทีอย่างงั้นหรอ? เรารู้สึกว่ามันไม่จำเป็น”

พัดชาเปิดฉากในบทสนทนาระหว่างสัมภาษณ์เป็นประโยคอุ่นเครื่อง

เกย์ยุคบุกเบิกก่อนปลดจากแอกหนึ่งมาสู่แอกใหม่

เรามาเริ่มกันที่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้เห็นว่าตอนนี้สังคมเรากำลังอยู่จุดไหนของโลกกันดีกว่า 

ก่อนที่เกย์จะปลดแอกตัวเองออกมาสู่โลกในยุคปัจจุบัน ก่อนการเรียกร้องความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์มีศรีเท่าเทียมกัน ก่อนที่เราจะยังย้อนกลับไปเอากรอบค่านิยมเก่า ๆ มาใช้ครอบหัวตัวเองอีกครั้งอย่างที่บางคนยังเป็นในทุกวันนี้ เราเคยเชิดชูความเป็นชายแบบสุดขั้วมานานมากแล้ว

จริงอยู่ที่ในยุคกรีกโบราณนั้น ผู้ชายรักกับผู้ชาย หรือผู้ชายมีเซ็กส์กับผู้ชายเป็นเรื่องปกติ มากไปกว่านั้น ผู้ชายที่มีความสัมพันธ์กันถูกยกย่องว่าเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ด้วยซ้ำ 

เพราะในยุคนั้น ผู้ชาย = เป็นเลิศ เป็นความดีงาม ความบริสุทธิ์ ส่วนผู้หญิงมีคุณค่าไม่เทียบเท่า และเป็นแค่คนทำหน้าที่ขยายเผ่าพันธุ์เท่านั้น ความรักระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงไม่ได้รับการยอมรับเท่ากับระหว่างผู้ชายด้วยกัน

ก่อนเวลาผ่านเลยมาในยุควิกทอเรียน ยุคล่าอาณานิคมที่มาพร้อมกับการผลิตซ้ำค่านิยมสองเพศตรงข้ามสุดขั้วพร้อมกับชุดความเชื่อเรื่องเพศแบบชาวคริสต์โบราณ 

ทำให้ความเป็นชายในอุดมคติถูกตีกรอบอย่างเคร่งครัดมากขึ้น ผู้ชายต้องแข็งแกร่ง เป็นผู้นำ ห้ามอ่อนแอ และผู้หญิงต้องอ่อนน้อมอ่อนหวาน เป็นผู้ตาม ส่วนเรื่องความรักความสัมพันธ์ของเพศเดียวกันนั้นไม่ต้องพูดถึงเลย

จนมาถึงยุคปลดแอก สมัยที่เกย์ต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง เกิด Gay Liberation Movement ครั้งแรก และในยุคนั้นเองก็ใช่ว่าเกย์ที่เรียกร้องความเท่าเทียมจะปลดทุกแอกหมดแล้วจริง ๆ ยังคงเกิดการบูชาความแมนซ้ำซ้อนในหมู่เกย์ด้วยกันนี่แหละ ใครที่มีบุคลิก มีอัตลักษณ์ออกสาวเคยถูกต่อต้านอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งในขบวนการเรียกร้องความเท่าเทียมมาแล้ว ก่อนที่โลกจะตกตะกอนเรื่องเพศมากขึ้น

ความแมนมันถูกบูชามาอย่างยาวนานต่อเนื่อง และตกค้างฝังรากลึก โดยเปลี่ยนรูปเปลี่ยนฟอร์มมาตลอด

ในปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน

ที่หลายคนยี้ความเป็นสาว แต่ว้าวซ่ากับความเป็นแมน มันคือร่องรอยของความคิดความเชื่อที่อีกไม่นานก็ไม่ belong กับโลกยุคใหม่แล้ว หรือจริง ๆ ก็ไม่ belong มาสักพักแล้วแหละ

ตำแหน่งแห่งหนของเกย์ในสังคมปิตาธิปไตย

การที่เกย์บางคนคลั่งไคล้ความเป็นแมน และยี้ใส่ความสาว มันไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นอย่างที่เกริ่นไป มันคือการเอากรอบชาย-หญิงแบ่งเพศตามสรีระสองขั้วตรงข้ามมาสวมทับเพศวิถีและอัตลักษณ์ของตัวเองอีกที ว่าง่าย ๆ ก็คือ

ในกรอบความเป็นชาย-หญิง เขาก็มีอุดมคติของเขา เช่น ผู้ชายต้องมีลักษณะแบบนี้ 1.. 2.. 3.. 4 … ส่วนผู้หญิงในอุดมคติก็ถูกเซ็ทไว้เป็นรองผู้ชายอีกที

ในสังคมเกย์ที่อยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่ก็เช่นเดียวกัน เรามีเกย์ที่อยู่ในอุดมคติ ซึ่งหลายครั้งที่เห็นว่าถูกพูดถึงก็คือ เกย์แมน หรือบางคนเรียกว่าเกย์ไม่แสดงออก

ทำไมถึงต้องนิยามว่า แมน = ไม่แสดงออก, สาว = แสดงออกล่ะ ถ้าเชื่อว่าความเป็นเกย์ไม่ว่าจะแมนหรือจะสาวมันเป็นเรื่องปกติจริง ๆ 

ควรพูดว่าเกย์ทุกคนก็แสดงออกตามแนวทางของตัวเองป้ะ? การบอกว่าเกย์แมนคือเกย์ไม่แสดงออกก็เหมือนกับบอกว่า จริง ๆ เกย์ทุกคนก็ไม่แมนหรอก แต่ต้องทำตัวแมนเพื่อให้ได้รับการยอมรับ แล้วทำไมไม่ตั้งคำถามว่า ทำไมความแมนถึงได้รับการยอมรับมากกว่าความสาวล่ะ?

ทำไมเราไม่ยอมรับทั้งความแมนและความสาวว่าเป็นเรื่องปกติของความหลากหลายตั้งแต่แรกล่ะ เก็ตมะ?

ความคิดความเชื่อแบบนี้ จริง ๆ แล้วมันคือการปลดจากแอกหนึ่งมาสู่อีกแอกหนึ่ง ที่ดูเหมือนจะเป็นรูปแบบใหม่ แต่วิธีคิดเป็นแบบเดิมเลย คือ อะไรใกล้เคียงกับความเป็นชาย (ในอุดมคติ) จะได้รับการยอมรับมากกว่า

เปรียบเป็นภาพให้ชัด ๆ ก็คือ

ผู้ชายอยู่บนยอดพีรามิด ผู้หญิงและ gay community อยู่รองลงมาอีกที ส่วนในสังคมเกย์นั้นก็มีพีรามิดย่อยเป็นภาพจำลองของชาย-หญิงอีกที เกย์แมนอยู่บนสุด เกย์แมนน้อยหน่อยและเกย์สาวอยู่รองลงมาอีกที ซับซ้อนเข้าไปอีก

สาวไม่สาวก็แค่บุคลิก (อัตลักษณ์) ไม่มีแบบไหนดีเลิศกว่ากัน

“มันจะมีช่วงที่ออกเพลงกับชนุดมที่มีคำถามทำนองว่าเป็นตุ๊ดแล้วทำไมร้องเพลงร็อค 

เราเลยรู้สึกว่า แล้วยังไงล่ะ? เพลงร็อกมันมีไว้สำหรับผู้ชายอย่างเดียวหรอ? 

หรือถ้าเป็นเกย์ก็ต้องห้ามสาวอย่างงี้อะหรอ?

 …คือประเด็นอย่างงี้มันทำให้เรารู้สึกว่ามันกระทบในเรื่องของ การไม่ Respect กัน”

“เพศทุกเพศบนโลกใบนี้ มีสิทธิ์ที่จะหลากหลาย และความหลากหลายมีสิทธิ์ที่จะปกติอะ

 ปกติที่มันจะเป็นมนุษย์เฉย ๆ อะค่ะ”

 

พัดชาพูดถึงประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ความสาวใน gay community

ถ้าเราเข้าใจความหมายของคำว่าความหลากหลายทางเพศจริง ๆ เราจะเข้าใจว่ากรอบบทบาททางเพศในอุดมคติมันเป็นเพียงแค่เรื่องแฟนตาซีเพ้อฝัน ในความเป็นจริงมนุษย์ทุกคนมีความ Masculine และความ Feminine อยู่ในตัว ถ้าอ้างอิงจากการนิยามว่ามันคือความแข็งแกร่งและความอ่อนไหวนุ่มนวล หรือจริตการไม่แสดงออกทางอารมณ์มากนักกับการแสดงออกอย่างชัดเจน

ตัวเราเองก็มีความเชื่อส่วนตัวว่า ความเป็นมนุษย์โดยรวมนั้นมันมีความ Queer ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว ไม่ว่าคุณจะนิยามตัวเองว่าเป็นเพศอะไรก็ตาม

เราเลยคิดว่า ความสาว ความแมนมันก็เป็นเหมือนกับบุคลิกภายนอกแค่นั้น เหมือนกับเราเลือกหยิบเสื้อผ้ามาใส่ในแต่ละวัน บางวันบางเวลาเราอยากใส่เสื้อผ้ามีสีสัน บางวันบางเวลาเราอยากใส่เสื้อผ้าที่ดูขรึม หรือบางคนก็สะดวกใส่เสื้อผ้าแค่บางสีบางสไตล์ซ้ำ ๆ เหมือนเดิมเป็นประจำ

ความสาวและความแมนมันจึงมีความเกี่ยวข้องกับรสนิยมทางเพศและบทบาททางเพศน้อยมาก และแน่นอนว่า ความสาวและความแมน มันไม่มีสิ่งใดถูกผิดหรือดีเลิศมากกว่าไปกว่ากันทั้งนั้น

เราเลยไม่จำเป็นต้องคอนเซิร์นเรื่องบุคลิกภายนอกหรืออัตลักษณ์ (ของคนอื่น) มากจนเกินไป 

แต่หากว่าเราอ้างว่ามันเป็นรสนิยม “ฉันชอบคนที่ดูแมน ๆ นี่” …มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เรื่องรสนิยมส่วนตัวไม่ใช่เรื่องถูกผิด ตราบใดที่เราไม่เอารสนิยมส่วนตัวของตัวเองเป็นมาตรวัดคนอื่น หรือเชิดชูอุดมคติบางอย่างมากจนเกินไป

มันน่าจะเป็นเรื่องที่ดีถ้าเรารู้เท่าทันว่าในทุกอุดมคตินั้นมีมายาคติซ่อนฝังอยู่ และการที่ใครก็ตามยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นจนเกินเหตุ โดยเฉพาะยึดถือกันเป็นวงกว้างในสังคม มันเป็นเรื่องง่ายมากที่คนเหล่านั้นจะกดทับตัวเอง และเป็นส่วนหนึ่งในการกดทับคนอื่นโดยที่เราไม่รู้ตัวบนความเชื่อเหล่านั้น

หลายคนรอบ ๆ ตัวของเราก็เลือกที่จะกดทับตัวเอง ดูอย่างเพื่อนบางคนของเรา ที่เขาเชื่อว่าถ้าเขาเป็นตัวเองมาก ๆ โดยมีบุคลิกที่ดูสาว จะไม่มีคนเข้าหา เขาจึงมีชีวิตอยู่ด้วยการไม่ได้เป็นตัวเองมากนัก เพราะกลัวว่าจะไม่มีใครชอบ

เราเลยปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าค่านิยมบางอย่างมันกดทับคนในสังคมได้มากกว่าที่ใคร ๆ คิด 

เมื่อใดก็ตามที่เราต้องมานั่งกังวลว่าการที่เราแสดงออกแบบเป็นตัวเอง 100% แล้วจะไม่มีคนมาชอบ เมื่อนั้นแหละที่เรากำลังกดทับตัวเอง แล้วเราจะไม่ตั้งคำถามถึงมันหน่อยเหรอ ว่ามันเกิดอะไรผิดปกติขึ้นรึเปล่า? ทำไมเราต้องดิ้นรนขนาดนั้น

ปิตาธิปไตยทำร้ายความหลากหลายทางเพศยังไงบ้าง?

“มันทำร้ายด้วยความเชื่อ 

สุดท้ายแล้วอะ บางคนที่ออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศของตัวเองต่าง ๆ จริง ๆ แล้ว

มันทำให้เราตั้งคำถามว่าคุณเชื่อจริงรึเปล่าว่าคุณอิสระกับการเป็นตัวเองแล้วจริง ๆ 

การที่บางคนเรียกร้องให้คนอื่นเคารพตัวเอง คุณเคารพตัวเองรึยัง? และการที่คุณไม่เคารพตัวเองและไม่เคารพคนอื่น กับการที่ยังคิดอยู่ว่าความ Masculine มันคือสิ่งที่ Strong ที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นผู้นำที่สุด 

ถ้าคุณยังคิดแบบนี้ การที่คุณจะออกมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพของตัวเอง 

มันกลายเป็นว่าคุณนั่นแหละที่ทำลายความเชื่อเรื่องสิ่งเหล่านั้น (ความเท่าเทียม) ไปแล้วด้วยตัวเองเลยนะ”

คือประโยคที่คุณพัดชาพูดทิ้งท้าย

ถ้าเชื่อใน Freedom จงโอบรับความสาว (ไม่ว่าตัวเราเองจะสาวหรือไม่)

พูดในฐานะของคนธรรมดาที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีปิตาธิปไตยที่เข้มข้นมากคนหนึ่ง หากเราเชื่อว่าคนทุกคนเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ และคนทุกคนควรค่าแก่การเลือกทางเดินชีวิตที่ตัวเองปรารถนา หากเราเชื่อในอิสรภาพจริง ๆ

จงโอบรับความสาวไว้ในวงโคจรรอบตัวของเราด้วย เพราะเป็นสาวมันไม่ได้ผิดตรงไหน 

สวัสดี

Loading next article...