ทำไมเราถึงต้องโกรธแค้นกัน แซะกัน ด่ากันเสีย ๆ หาย ๆ เพียงแค่เห็นต่างกัน เช่นในเรื่องกินมะม่วงบนเวทีได้หรือไม่? หลายคนคงเคยมีประสบการณ์กับการวิจารณ์ ถูกวิจารณ์ หรือ โต้แย้งแสดงความคิดเห็นต่อกันในโลกออนไลน์รายวัน
แต่เราคงยังบอกไม่ได้ว่าวัฒนธรรมการวิจารณ์อย่างแท้จริงนั้นเกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย โดยเฉพาะใน Social Media ที่ดูจะหนักไปอีกในทุกวันนี้
บทความนี้เราอยากชวนทุกคนไปทำความเข้าใจคำว่า “การวิจารณ์” ร่วมพูดคุยกับ ‘พี่คุ่น’ หรือคุณปราบดา หยุ่น นักเขียนวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ ผู้ที่มีประสบการณ์ทั้งในฐานะเป็นผู้วิจารณ์และผู้ถูกวิจารณ์
สงสัยกันไหมคะว่าทำไม “สังคมไทยไม่มีวัฒนธรรมการวิจารณ์” สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราสงสัยมานาน แม้จะรู้ว่าบริบทและเหตุผลต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดประโยคที่ว่า “สังคมไทยไม่มีวัฒนธรรมการวิจารณ์” นั้นมาจากอะไร แต่ก็ยังยากที่จะอธิบายให้เข้าใจง่ายโดยไม่ต้องพิมพ์เป็นเรียงความ! แต่มีคำตอบหนึ่งของพี่คุ่น ที่ตอบได้สั้นเข้าใจง่ายและเห็นภาพสะท้อนอะไรอีกหลาย ๆ อย่างในคำตอบเดียว
พี่คุ่นบอกกับเราว่า สังคมไทยยังไม่เข้าใจคำว่าวิจารณ์มากนัก บางครั้งแม้แต่คำว่า “วิจารณ์” บางคนยังน่าจะคิดว่าแปลว่า “ด่า” อีกทั้งยังไม่ทันที่จะมีวัฒนธรรมในการวิจารณ์ที่แท้จริงก็ถูก Social Media มากินพื้นที่ไปซะแล้ว ก็เลยยิ่งไม่มีกันเข้าไปใหญ่…
ถึงแม้ว่าจะมีสื่อใหม่ ๆ มากมายให้เราใช้แสดงความคิดเห็น ก็ยังมีลักษณะของการแสดงความคิดเห็นแบบไม่อยากที่จะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองแสดงออก เช่น ไม่ใช้ชื่อจริง หรือเป็นการพูดแบบไม่มีเหตุมีผลรองรับ เป็นการวิจารณ์ตามอารมณ์ การวิจารณ์ที่ใช้เหตุผลจริง ๆ หรือใช้ตรรกะโดยไม่เอาอารมณ์เข้าไปเกี่ยวข้องก็มีไม่เยอะเท่าไหร่เท่าที่เราเห็นในพื้นที่สาธารณะ
คำอธิบายเหล่านี้เป็นเพียงคำตอบสั้น ๆ ที่เรามองว่ามันสามารถอธิบายได้สั้นได้ใจความมากที่สุด แต่มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งในคำอธิบายของพี่คุ่น จะมีองค์ประกอบอะไรอีกบ้างที่ทำให้สังคมไทยไม่มี “วัฒนธรรมการวิจารณ์อย่างแท้จริง”
“ถ้าถามว่าพื้นที่ของการวิจารณ์ในสังคมไทยมีไหมมันก็มีนะครับ แต่ว่ามันยังถูกจำกัดด้วยทัศนคติแบบจารีตนิยมอยู่”
เช่นถ้าวิจารณ์ผู้นำ วิจารณ์ผู้มีอำนาจ วิจารณ์กรอบจารีตประเพณีไทยอย่างหนักหน่วงหน่อย ก็จะถูกคนด้วยกันด่ากลับ มีคนที่ปกป้องวิธีคิดแบบห้ามวิจารณ์อยู่เยอะพอสมควรเหมือนกัน จารีตนิยมของไทยวางกรอบไว้ว่า คนวิจารณ์คือคนที่ก้าวร้าว เป็นการลบหลู่ คือมันมีการจัดนิยามของคำว่าความดีไว้อย่างชัดเจนในจารีตของไทย ทำให้ภาพของคนที่วิจารณ์หรือคนที่พูดอะไรตรงไปตรงมามาก ๆ จะถูกเพ่งเล็ง หรือถูกนิยามว่าเป็นคนไม่ดีไปก่อน
ผมคิดว่าเราถูกปลูกฝังมานานในลักษณะของการต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ต้องให้ความเคารพ แม้กระทั่งหนังสือเรายังต้องกราบไหว้ คือมันมีกฎมากมายในสังคมไทยที่ปลูกฝังให้เด็กรู้สึกว่า การตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องผิด เป็นเรื่องของคนที่ก้าวร้าว ของคนที่ต้องการสร้างความแตกแยก ซึ่งเราก็ยังเห็นอยู่ทุกวันนี้เวลาที่ผู้นำพูดถึงการวิพากษ์วิจารณ์ก็มักจะพูดว่ามันเป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม ซึ่งมันเป็นมุมมองแบบจารีตนิยมมาก ผมคิดว่ามันก็ยังฝังลึกอยู่ในความเป็นสังคมไทยของเราอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีสื่อใหม่ ๆ มากมายให้เราใช้แสดงความคิดเห็นแล้วก็ตาม
ส่วนตัวเราเห็นด้วยมาก ๆ กับคำตอบนี้ของพี่คุ่น เรียกได้ว่าน่าจะเป็นสิ่งที่คนที่โตมาในเมืองไทยอัดอั้นและใจเข้าดี ถึงการมีอยู่ของกรอบจารีตประเพณีของไทย ที่มีการแบ่งลำดับชั้นกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น เด็กผู้ – ใหญ่, นิสิต – อาจารย์, เจ้านาย – ลูกน้อง และอื่น ๆ อีกมากมาย… เหมือนเป็นคำสาปในสังคมว่าเด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ มิหนำซ้ำบางสังคมผู้ใหญ่นั้นถูกต้องเสมอ!
กลุ่มหนึ่งเชื่อว่าตนมีอำนาจ เป็นผู้ให้ความรู้ ส่วนอีกกลุ่มก็เชื่อว่าตัวเองไม่มีอำนาจ ไม่มีปากเสียงอะไร ทำให้เด็กไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเพราะกลัว ทำให้ไม่กล้าพูดในสิ่งที่คิด และไม่กล้าทำในสิ่งที่อยากทำ นี่คือจุดที่เรามองว่ามันทำให้เด็กไทยส่วนมากมีความคิดความอ่านเป็นตัวของตัวเองน้อย ทำให้สังคมในการวิจารณ์อย่างแท้จริงไม่เกิดขึ้นสักทีในสังคมไทย แม้ว่าเราจะอยู่ในปี 2022 แล้วก็ตาม…
“การโตมาในสังคมไทยมันทำให้เรารู้สึกว่าไม่กล้าที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สังคมไทยไม่คิดว่าการแสดงออกในที่สาธารณะเป็นการแลกเปลี่ยน แต่เห็นทุกอย่างเป็นเรื่องของการถูกโจมตีเชิงส่วนตัวหมดเลย”
เวลาที่ผมเขียนหนังสือแล้วผมวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็ตาม มันกลายเป็นว่าเราวิจารณ์เพราะเราไม่ชอบบุคคล มันเป็นความเข้าใจที่ผิดของวัฒนธรรมการวิจารณ์ สมมติว่าเราวิจารณ์หนังวิจารณ์หนังสือ การวิจารณ์ที่ดีคือเราไม่ได้โจมตีตัวบุคคลที่ผลิตงานนั้น ๆ ออกมา แงต่ว่าเรากำลังพูดถึงรายละเอียดต่าง ๆ ในงาน หรือว่าสิ่งที่งานนำเสนอ หรือว่าทัศนคติที่มันอยู่ในงานนั้น
แต่ในไทยถ้าเราวิจารณ์หนังว่ามีข้อบกพร่องอย่างนั้นอย่างนี้ เราจะถูกมองว่าเราโจมตีคนสร้างผลงาน เพราะสังคมไทยนิยมนับญาติกัน พอเราพูดอะไรที่เป็นการวิจารณ์ ทุกคนก็ทำให้เป็นเรื่องส่วนตัวว่าเรากำลังด่าเขาหรือด้อยค่าเขา
มีใครสงสัยไหมคะว่า ทำไมสังคมจึงควรมีพื้นที่ในการวิจารณ์ ความสำคัญของพื้นที่ในการวิจารณ์คืออะไร? เราลองมาฟังมุมมองของพี่คุ่นกันค่ะ
เราต้องยอมรับความเป็นจริงที่ว่าสังคมก็เปรียบเหมือนมนุษย์คนหนึ่ง ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ไม่มีใครรู้ไปหมดทุกอย่าง ไม่มีใครถูกต้องหมดทุกเรื่อง ฉะนั้นคำว่าวิพากษ์วิจารณ์ในแง่หนึ่งมันก็คือการเรียนรู้หรือยอมรับที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองได้ ถ้าเรายอมรับว่าเรามีจุดบกพร่องตรงไหนก็ควรจะแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น “สังคมก็เหมือนกัน สังคมไหนที่ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะวิจารณ์อะไรก็ตาม ก็เป็นสังคมที่เดินซ้ำอยู่บนความผิดพลาด ในบางกรณีอาจจะเดินถอยหลังด้วยซ้ำ”
มันก็จะไม่มีการแก้ไขปรับปรุง หรือก้าวขึ้นไปในสเต็ปที่มันดีขึ้น เพราะฉะนั้นโดยพื้นฐานผมเชื่อว่าสังคมต้องมีพื้นที่ในการวิพากษ์วิจารณ์ และควรที่จะวิจารณ์ได้ทุกเรื่องโดยไม่มีข้อจำกัด “เมื่อเทียบกับสังคมที่มีเสรีมากกว่านั้นมันยังเป็นจุดที่เราไปไม่ถึง” ซึ่งไม่มีใครบอกได้หรอกว่าถ้าเราไปถึงจุดนั้นได้แล้วเราจะเป็นสังคมที่ดีขึ้นไหม ในฐานะคนที่อยู่ฝั่งที่เชื่อในการวิพากษ์วิจารณ์เสรี ผมเชื่อว่ามันจะดีขึ้นแน่นอน แต่คนที่เป็นจารีตนิยมมากเป็นพิเศษอาจจะมองว่ามันจะยิ่งสร้างความแตกแยกขัดแย้งให้สังคม
การที่สังคมถูกควบคุมด้วยทัศนคติอะไรบางอย่างให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือในสังคมที่เป็นเผด็จการ การไม่ให้วิจารณ์ ก็จะทำให้สังคมสงบสุขมากกว่า วิธีมองแบบนั้นมันจึงทำให้หลาย ๆ อย่างมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทำให้ตรรกะผิดเพี้ยน การที่คุณเซ็ตทัศนคติอันนึงขึ้นมาครอบทุกอย่างไว้มันไม่สามารถชี้ให้เห็นถึงจุดบกพร่องจุดผิดพลาด ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย ก็จะทำให้ความเป็นไปได้ของสังคมนั้น ๆ ที่จะดีขึ้นหรือพัฒนาขึ้นมันก็หมดไป
“พื้นที่ในการวิจารณ์มาพร้อมกับคุณภาพของสังคม ไม่มีสังคมไหนที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นสังคมที่ดีและน่าอยู่ได้จริง ๆ หากไม่มีพื้นที่สำหรับการวิจารณ์”
เราชวนพี่คุ่นคุยถึงเรื่องที่ควรจะวิจารณ์ได้แต่วิจารณ์ไม่ได้ในสังคมไทยพี่คุ่นบอกว่า เป็นปัญหาที่น่าเสียดายในสังคมไทย ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์เราจะเห็นว่า ยุคหนึ่งในอดีต สังคมไทยค่อนข้างเปิดกว้างสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ แน่นอนคำว่าอดีตก็จำกัดอยู่ในชนชั้นสูงหน่อย แต่ว่าอย่างน้อยก็ยังวิจารณ์ได้ แม้กระทั่งสถาบันต่าง ๆ ที่ทุกวันนี้ห้ามแตะโดยสิ้นเชิงอย่างสถาบันกษัตริย์ เมื่อก่อนก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ได้บนเหตุผล ในระดับที่มากกว่าในปัจจุบันเยอะ ฉะนั้นในมุมนี้มันก็เหมือนกับสังคมเราล้าหลังในบางเรื่องไปยิ่งกว่าเดิม
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เรามองว่ามันไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะต้องเป็นแบบนั้น เพราะเหตุผลหลักที่ว่าทำไมสังคมควรจะมีการเปิดกว้างในการวิจารณ์ คือมันทำให้มีการตรวจสอบได้ว่าสิ่งที่เราวิจารณ์มันถูกต้องหรือเปล่า ยิ่งคนวิจารณ์เสรีได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีการเอาข้อเท็จจริงมาแย้งกันมากขึ้นเท่านั้น มันจะมีการคานกันเองโดยที่สุดท้ายแล้วผลประโยชน์จะเกิดแก่สังคมตรงที่ว่าข้อมูลที่ถูกต้องจะเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมมากขึ้น
สังคมไหนที่ประกาศว่าเป็นสังคมคนดี หรือผู้นำหรือพรรคการเมืองที่อ้างว่าเป็นกลุ่มคนดี การที่จะพิสูจน์ได้ว่าดีจริงไหมคือการที่ฝ่าคำวิพากษ์วิจารณ์ไปได้ แต่ในขณะเดียวกันสังคมที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์มันยิ่งสะท้อนความไม่โปร่งใสของสิ่งที่ถูกห้ามไม่ให้วิจารณ์ ยิ่งสร้างด้านลบให้กับสิ่งนั้น ฉะนั้นการเปิดกว้างยิ่งช่วยให้สิ่งที่คนพูดว่าดีได้พิสูจน์ตัวเองว่าดีจริงหรือเปล่า
“ในการวิจารณ์ หากจะวิจารณ์แค่เพื่อบอกว่าเราคิดว่าอะไรดีหรือไม่ดี มันไม่มีประโยชน์อะไรกับทั้งตัวเราและคนที่ฟังสิ่งที่เราพูด เพราะมันจบตรงนั้นแค่นั้น” พี่คุ่นเล่าทัศนคติในการวิจารณ์หนังของตนให้เราฟัง
ถ้าผมไม่ชอบอะไร หรือว่าคิดว่าอะไรไม่ดี โดยส่วนตัวจะไม่ค่อยวิจารณ์ เพราะรู้สึกว่ามันเสียเวลาที่จะให้เวลากับอะไรที่มันไม่มีค่าสำหรับเรา แต่ว่าถ้าเราคิดว่ามันมีจุดที่น่าพูดถึงแสดงว่าอย่างน้อยมันมีความ Productive บางอย่าง เป็นการเสริมทัศนคติหรือเพิ่มมุมมองใหม่ ๆ ให้กับทั้งตัวเราเอง และคนที่อ่านงานที่เราเขียน มากกว่าที่จะบอกให้คนรู้แค่ว่าเรารู้สึกยังไงกับสิ่งที่เราพูดถึงอยู่
ฉะนั้นถ้าเขียนงานวิจารณ์ก็มักจะเป็นการวิจารณ์แบบพูดเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นมากกว่า คิดตามแล้วได้อะไรเพิ่มเติมมากกว่าความคิดเห็นของเราคนเดียว พื้นฐานงานศิลปะมันเป็นเรื่องยากที่เราจะบอกคนอื่นว่าควรคิดยังไง เพราะมันควรถูกสัมผัสโดยแต่ละบุคคล ประสบการณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ข้อมูลในหัวไม่เท่ากัน ฉะนั้นมันยากที่จะแค่ตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดีสำหรับคนอื่น
ในมุมมองของเรา เรามองว่าการวิจารณ์หรือการแสดงความคิดเห็นแบบตัดสินเพียงว่าอะไรดีหรือไม่ดี ผิดหรือถูกนั้นเป็นอีกจุดอ่อนหนึ่งเลยค่ะที่ทำให้สังคมไทยไม่มี “วัฒนธรรมการวิจารณ์อย่างแท้จริง”
ก่อนอื่นเลยเราต้องเข้าใจก่อนว่าการวิจารณ์ที่ดีคือการทำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังตระหนักว่าสิ่งที่เราพูดถึงนั้น มันไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
มันไม่ใช่คำตอบเดียว มันไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุด หรือถูกต้องเสมอไป เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถพูดได้ว่ามันดี หรือไม่ดี มันถูก หรือว่าผิด
การวิจารณ์คือการลงขันความเห็นที่เป็นประโยชน์ การวิจารณ์ช่วยให้เรารับรู้ว่าการมีเสียงความคิดความอ่านเป็นของตัวเองนั้นสำคัญ ลอจิกความคิดของตัวเราเองนั้นสำคัญ
นักเขียนหรือนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เพียงสะท้อนสังคมที่เห็นออกมาเท่านั้นเอง สุดท้ายแล้วเราต้องสามารถที่จะรับฟัง ตกตะกอน และตั้งคำถามกับเสียงของตัวเราเองให้ได้ นั่นจึงจะทำให้การวิจารณ์ช่วยยกระดับความคิดของผู้คนและสังคมได้
“ถ้าการเข้าไปอยู่ในวงการการวิจารณ์แล้วงานของเรากลายเป็นการสร้างศัตรูมันก็ไม่ใช่เรื่องสนุก”
เราเคยเขียนวิจารณ์หนัง เวลาวิจารณ์ด้านลบเกี่ยวกับหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนที่ทำหนังเรื่องนั้น ๆ มักจะคิดว่าเราไม่ชอบตัวเขา ตอนนั้นก็รู้สึกประหลาดใจมากกว่า เราไม่เข้าใจว่าคนที่ไม่รู้จักกันจะชอบหรือไม่ชอบกันจริง ๆ ได้ยังไง อาจจะเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้เมืองไทยไม่ค่อยมีนักวิจารณ์แบบตรงไปตรงมา เพราะไม่มีใครที่อยากจะมีปัญหาแบบนั้น ถ้าการเข้าไปอยู่ในวงการการวิจารณ์แล้วงานของเรากลายเป็นการสร้างศัตรูมันก็ไม่ใช่เรื่องสนุก พี่คุ่นเล่าประสบการณ์เศร้าใจในการเขียนงานวิจารณ์หนังให้เราฟัง
ประสบการณ์แบบที่พี่คุ่นเจอ เป็นประสบการณ์แบบเดียวกันที่นักวิจารณ์อีกหลากหลายสาขาเจออยู่บ่อยครั้ง บางคนเจอจนชินชา เราเองเคยได้ยินเสียงเศร้า ๆ ของนักวิจารณ์ที่ต้องเผชิญชะตากรรมนี้มามากมาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรม นักวิจารณ์ภาพยนตร์ หรือนักวิจารณ์ศิลปะ ที่ทุกคนล้วนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “นักวิจารณ์ในเมืองไทยกำลังจะสูญพันธุ์” การอยู่ในสังคมที่คนไม่ยอมรับความเห็นต่างและมีเสียงในการกล่าวว่าสูงนั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกอย่างเจ็บปวดว่า “สังคมไทยนั้นเปรียบดั่งหลุมฝังศพของนักวิจารณ์…”
ไม่เพียงแต่นักวิจารณ์ บุคคลทั่วไปที่วิจารณ์สังคมหรือแสดงความคิดเห็นกับสิ่งใดก็ตามในเมืองไทย ก็มักจะเจอกับชะตากรรมเดียวกัน บางคนบอกว่าเมื่อเราเห็นต่างเพียงอ้าปากที่จะวิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นออกมาก็ถูกด่ากลับแล้ว! สิ่งเหล่านี้บางครั้งเป็นเหมือนคมมีดที่ฆ่าคำว่า “สังคมการวิจารณ์” ไม่ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
ขนาดนักวิจารณ์ยังหมดพื้นที่ ความหวังที่จะมีสังคมการวิจารณ์อย่างแท้จริงก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย… ประเด็นต่าง ๆ ที่เรานำมาพูดคุยในวันนี้ ไม่ใช่การกล่าวโทษ ไม่ใช่การชี้ผิดสังคม เพียงแต่อยากให้บทความนี้ช่วยสะท้อนสังคม สะท้อนรากเหง้า และปัญหาที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ เพื่อสร้างความเข้าใจ และแก้ไขมันไปด้วยกัน เพื่อให้สังคมเราพัฒนาไปถึงจุดที่ดีขึ้นได้ และหวังว่าวัฒนธรรมการวิจารณ์หรือการแสดงความคิดเห็นจะเกิดขึ้นจริงในสังคมไทยในไม่ช้า…
ยังไม่จบค่ะ สุดท้ายเราขอให้พี่คุ่นช่วยให้มุมมองในการแก้ปัญหาการวิจารณ์ของสังคมไทยที่อ่อนแอ ว่าเราควรเริ่มจากจุดไหน ไปฟังกันเลยค่ะ
ในสังคมแบบสังคมไทยผมคิดว่าเรายังมีความจำเป็นที่จะต้องมีบุคคลสาธารณะที่มีความกล้า มีความเป็นผู้นำกระแสที่ดีมากพอที่จะนำทางสังคมไปสู่ทางที่ดีขึ้น ฉะนั้นผมมองว่าในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งนึง ที่อาจจะช่วยสังคมไทยได้ คือการที่คนที่มีพื้นที่ในการออกเสียงในการชี้นำสังคม มีพลังในการนำคนหมู่มาก ออกมาแสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างตรงไปตรงมากันให้มากขึ้นโดยที่ไม่ต้องกลัวภาพลักษณ์ว่าจะไปกระทบชื่อเสียงของตัวเอง
คนที่มีชื่อเสียงในสังคมไทยส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าคำว่าคนจะสาธารณะจะต้องไม่มีจุดยืนอะไรเลย หรือไม่แสดงความคิดเห็นฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผมมองว่าจุดนี้แหละยิ่งทำให้การวิพากษ์วิจารณ์อ่อนแอในไทย เพราะว่ามันไม่มีตัวอย่างให้คนเห็นว่า
ถ้าเรามีเหตุมีผลเราเชื่อเราตกตะกอนในสิ่งที่เราคิดมาแล้วเราก็ควรกล้าที่จะพูดออกมา “การแสดงความคิดเห็นไม่ควรเป็นเรื่องที่กระทบชีวิตมากมายขนาดนั้น มันควรจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ทำให้คนได้มีบทสนทนามีการถกเถียงกันได้ในสังคม”
ผมไม่เห็นด้วยเวลาที่มีคนกล้าที่จะพูดอะไรบางอย่างแล้วทำให้ชีวิตด้านอื่นของเค้าพังทลายลงไปหมด เช่นออกมาพูดเรื่องนี้ก็ทำให้คนเลิกจ้างงาน มันเป็นเรื่องที่สะท้อนว่าพื้นที่การวิพากษ์วิจารณ์ในไทยมันอ่อนแอ