เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตหนังสือ คือการนอนหนาวและไม่มีใครหยิบจับ… ทำไมเราไม่ลองช่วยกันรวมมาทำพื้นที่แชร์กันล่ะ
แต่ถึงอยากมีหนังสือดี ๆ มานอนเหงากับเราที่บ้าน ก็ไม่มีเงินซื้อมานอนเล่นที่บ้านทุกเล่ม บรรยากาศห้องสมุดเก่า ๆ ก็ไม่ค่อยชวนให้ขยับตัวจากบ้านไปซักเท่าไร ห้องสมุดที่บรรยากาศดีก็มีค่าสมาชิกแพง ทุกปัญหาเหล่านี้คือสิ่งที่นักอ่านหลายคนต้องเผชิญ โดยเฉพาะนักอ่านวัยเรียน จนถึงวัย First Jobber จะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ดี
คำถามคือ แล้วทำไมหนังสือในเมืองไทยจึงมีราคาที่แพงและเข้าถึงยาก? ทำไมจึงไม่มีห้องสมุดที่มีหนังสือดี ๆ บรรยากาศดี ๆ ที่ประชาชนสามารถเข้าใช้งานได้โดยไม่ต้องเสียค่าสมาชิกหรือค่ายืมหนังสือ?
วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับห้องสมุด The Reading Room และ พี่เกี๊ยวเจ้าของห้องสมุด ผู้มีแนวคิดในการทำห้องสมุดไม่แสวงหาผลกำไร ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาการอ่านในเมืองไทย
ที่นี่ The Reading Room สวรรค์ของนักอ่านในวันที่เงินหมด! ห้องสมุดที่คุณสามารถเข้ามาเลือกยืมหนังสือคุณภาพดีได้แบบฟรี ๆ โดยไม่มีค่ายืมและค่าสมาชิกใด ๆ ทั้งยังมีพื้นที่ให้นั่งอ่านหนังสือได้แบบสบาย ๆ ในบรรยากาศที่เป็นกันเองมากกว่าห้องสมุดทั่วไป จึงให้ความรู้สึกราวกับนั่งอ่านหนังสือในคาเฟ่ลับที่เต็มไปด้วยหนังสือน่าอ่านคุณภาพดี และให้ความรู้สึกเงียบสงบสบายใจเหมือนไปอ่านหนังสือห้องเพื่อนในขณะเดียวกัน
คุณสามารถเดินเข้า-ออกได้โดยไม่ต้องมีบัตร เลือกนั่งอ่าน นอนอ่าน หรือยืนอ่านหนังสือตามมุมต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ เนื่องจากคนไม่เยอะ อีกทั้งยังสามารถสอบถามพูดคุยกับพี่เกี๊ยวเจ้าของห้องสมุดได้อย่างเป็นกันเอง
The Reading Room ประกอบไปด้วยหนังสือด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ สังคมการเมือง และวรรณกรรม โดยส่วนมากจะเป็นหนังสือศิลปะแขนงต่าง ๆ มีหนังสือคุณภาพดีน่าอ่านให้เลือกละลานตาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มากกว่า 2,000 เล่ม
The Reading Room ก่อตั้งโดยพี่เกี๊ยว(นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน) นักอ่าน นักแปล และนักวิจารณ์ศิลปะ ผู้หลงรักการอ่านที่ต้องการสร้าง “ห้องสมุดส่วนตัวที่พร้อมเปิดต้อนรับทุกคนแบบฟรี ๆ”
แนวคิดในการเปิด The Reading Room มาจากการที่พี่เกี๊ยวพบปัญหาว่าเมืองไทยนั้นไม่มีหนังสือดี ๆ มากพอให้ค้นคว้า รวมถึงห้องสมุดดี ๆ ที่มีหนังสือคุณภาพดีก็มีอยู่ไม่กี่แห่ง ในเมื่อตัวเธอเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือ และเก็บหนังสืออยู่แล้ว นั่นทำให้เธอมีหนังสือดี ๆ เยอะ เธอจึงสร้างพื้นที่ในการอ่านแห่งนี้ขึ้นมาเพื่อแบ่งปันหนังสือของตัวเองให้คนอื่นได้อ่าน
เราเป็นคนต่างจังหวัดที่มีประสบการณ์ไม่ดีกับห้องสมุดไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดโรงเรียน หรือห้องสมุดประชาชนนั้นล้วนมีแต่หนังสือเก่าที่ไม่ได้คุณภาพ ไม่อัปเดต และไม่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะห้องสมุดโรงเรียนที่ส่วนมากล้วนมีแต่หนังสือเรียน นอกจากนั้นแล้วยังมีบรรยากาศที่ไม่น่าอ่านอีกด้วย
“โห กรุงเทพว่าแย่แล้วต่างจังหวัดยิ่งแย่กว่า” พี่เกี๊ยวพูดตอบรับก่อนที่จะเล่าต่อว่าห้องสมุดในกรุงเทพฯ ก็ยังคงเจอปัญหาเดียวกันคือ หนังสือไม่อัปเดต ไม่มีความหลากหลาย อีกหนึ่งความสำคัญของห้องสมุดคือ หนังสือควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้เข้ากับยุคสมัย
ห้องสมุดมหาลัยบางแห่งทำการปรับปรุงเพียงแค่บรรยากาศ คือมีการรีโนเวทห้องสมุด แต่ไม่ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหนังสือแต่อย่างใด การปรับปรุงในเรื่องของบรรยากาศนั้นช่วยให้เด็กมีที่ทำงาน มีที่นั่งคุยกันเพิ่มขึ้นเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้คนที่อยากอ่านหนังสือจริง ๆ อาจจะต้องหลบไปอยู่อีกมุมหนึ่งหรืออีกชั้นหนึ่งของห้องสมุดแทน…
“นักอ่านมีเยอะแต่พื้นที่ในการอ่านมีน้อย”
อีกหนึ่งปัญหาในเรื่องการเข้าถึงการอ่านของคนไทยที่พี่เกี๊ยวเล่าให้ฟังคือ นักอ่านมีเยอะแต่พื้นที่ในการอ่านนั้นมีน้อย คนไม่รู้จะหาพื้นที่ใดในการเลือกหาหนังสือมาอ่าน เนื่องจากที่ที่มีหนังสือดีนั้นมีน้อย ทั้งหนังสือในบ้านเรามีราคาแพง หนังสือดี ๆ มีไม่เยอะเท่าที่ควรจะมี ในส่วนของ E – book ที่ควรจะมีความหลากหลายก็ยังคงไม่หลากหลาย
สำหรับห้องสมุดในเมืองไทยก็ยังนับว่ามีน้อย หากเป็นห้องสมุดอ่านฟรีหนังสือก็จะยังไม่ค่อยได้คุณภาพ แต่หากเป็นห้องสมุดที่หนังสือมีคุณภาพก็ยังคงมีค่าสมาชิกที่แพงอยู่ เนื่องจากเป็นห้องสมุดที่มีหน่วยงานที่มีทุนเข้ามา Support
“ระบบการศึกษาของไทยไม่สนับสนุนให้คนรักการอ่าน”
เมื่อถามถึงความคิดเห็นเรื่องสังคมในการอ่านของเมืองไทย หรือปัญหาในการอ่านที่เกิดขึ้น จากประสบการณ์ที่พี่เกี๊ยวได้เห็นมาว่ามีอะไรบ้างนั้น
พี่เกี๊ยวเล่าให้เราฟังว่า ข้อเสียเรื่องการศึกษาของเมืองไทยคือไม่สนับสนุนให้คนรักการอ่านจริง ๆ หรือรักการหาความรู้ด้วยตัวเองอย่างแท้จริง ไม่สนับสนุนให้คนมีความสนใจนอกเหนือจากสายที่เรียน คนจึงสนใจแต่สิ่งที่อยู่ในสายงานของตัวเองหรือด้าน Entertainment ไปเลย คนก็จะทำแต่งานและไปเที่ยวเล่น ไม่ค่อยสนใจหาความรู้ด้านอื่นนอกเหนือจากสายที่เรียน คนที่มองว่าการการอ่านหรือการหาความรู้ในด้านอื่น ๆ เป็นการพัฒนาตัวเองจึงไม่ค่อยมี
สิ่งนี้คงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่พี่เกี๊ยวได้สร้าง Shared Space นี้ขึ้นมา เพื่อเป็นพื้นที่ในการหาความรู้นอกห้องเรียนนอกเหนือจากสายที่เรียน ที่นี่มีหนังสือหลากหลายที่อัปเดตตามยุคสมัยให้เลือกอ่านได้ตามใจชอบ ทั้งยังมีหนังสือต่างประเทศดี ๆ ที่ช่วยเปิดโลกของผู้อ่านได้มากยิ่งขึ้น ที่นี่จึงเหมาะมาก ๆ กับคนที่ต้องการอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ ให้ทันโลกทันยุคสมัย โดยเฉพาะคนสายอาร์ต
ในความเป็นจริงแล้วทุกวงการไม่ใช่เฉพาะสายอาร์ตควรมี Shared Space ดี ๆ ให้คนได้มาหาความรู้ ได้พูดคุยพบเจอผู้คนเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ อัปเดตข้อมูลและพัฒนาตัวเองแบบนี้อีกหลาย ๆ ที่
”หนังสือแพงเกินความจำเป็น”
อีกหนึ่งปัญหาที่เราได้แลกเปลี่ยนกับพี่เกี๊ยวคือ ค่าหนังสือที่แพง เมื่อเล่าให้พี่เกี๊ยวฟังว่าเรารู้จัก The Reading Room จากคำแนะนำของเพื่อน เนื่องจากเดือนที่แล้วซื้อหนังสือเยอะมากจนรู้สึกว่าควรหายืมหนังสือมาอ่านบ้างแล้ว ไม่อย่างนั้นเงินเก็บได้หมดแน่ เพื่อนจึงแนะนำให้รู้จักกับ The Reading Room พี่เกี๊ยวตอบกลับทันทีว่า “ราคาหนังสือในประเทศไทยถ้าเทียบกับค่าครองชีพคือแพงมาก” ยิ่งทำให้คนเข้าถึงหนังสือได้ยากมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนจนถึงวัย First Jobber ที่เงินเดินไม่ได้สูง การเข้าถึงหนังสือที่มีราคาแพงจึงเป็นเรื่องยาก
เรามองว่าสิ่งนี้คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ The Reading Room มีผู้ใช้บริการวัยเรียนจนถึงวัย First Jobber เยอะกว่าวัยอื่นๆ อาจจะด้วยเหตุผลในเรื่องของราคาหนังสือเหมือนกันกับเรา
เด็กสมัยนี้ชอบอ่านอะไร?
เมื่อผู้ใช้บริการของ The Reading Room ส่วนมากเป็นวัยเรียนจนถึงวัย First Jobber เราจึงถามพี่เกี๊ยวต่อว่าแล้วเด็ก ๆ ชอบอ่านอะไรกัน คำตอบที่ได้คือ หมวดที่ฮิตที่สุดจะเป็นวรรณกรรมแปล รองลงมาเป็นสังคมการเมือง เด็กสมัยนี้สนใจเกี่ยวกับเรื่องของสังคมการเมืองเยอะมาก พี่ว่านี่เป็นข้อดี เด็กสมัยนี้อ่านเยอะกว่าสมัยพี่เยอะ
เรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกมีความหวังขึ้นมาทันทีที่ได้รู้ว่าเด็กๆ ที่มาที่นี่สนใจอ่านวรรณกรรมแปลและสังคมการเมืองเป็นอันดับต้นๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมหรือสังคมการเมืองนั้น ล้วนบอกเล่าถ่ายทอดความเป็นคน สะท้อนสภาพสังคมหลากหลายแง่มุมที่เราอาจไม่เคยได้สัมผัสรับรู้ แน่นอนว่าการอ่าน ไม่ว่าเราจะอ่านอะไรประโยชน์ที่เราจะได้แน่ๆ คือเราจะมีโลกที่กว้างขึ้น แต่การอ่านวรรณกรรมหรือสังคมเมืองการมักจะพาเราไปได้ไกลมากกว่าโลกสังคมที่เราอยู่ และดูเหมือนดอกไม้ของเยาวชนกำลังจะบานในไม่ช้านี้
”ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาได้ก็คงจะดี”
ด้วยแนวคิดในการทำห้องสมุดไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งต้องใช้เงินทุนของตัวเองในการทำ อีกทั้งพี่เกี๊ยวยังดูแลเฝ้าร้านด้วยตัวเอง ซึ่งการดูแลห้องสมุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีความรับผิดชอบในการทำงานตรงนี้อย่างสม่ำเสมอ ต้องมี Quality Control มีระบบในการจัดการที่ดี และต้องมีความอดทนสูง
เราจึงสงสัยว่าอะไรที่ทำให้พี่เกี๊ยวยังคงเปิดห้องสมุดแห่งนี้อยู่ได้ถึง 12 ปี พี่เกี๊ยวบอกกับเราว่า เธอคิดเพียงแค่ว่าเธออยากเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา
“ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาได้ก็คงจะดี เลยไม่ได้คิดอะไรมาก เลิกกังวล เลิกบ่น เลิกคาดหวัง คิดแค่ว่าทำไปเรื่อย ๆ ไม่ไหวก็เลิก เคยคิดที่จะเลิกเหมือนกันแต่ก็ยังไม่มีใครทำอะไรแบบนี้ขึ้นมา เลยยังเลิกไม่ได้ อีกอย่างคือไม่รู้ว่าจะเอาหนังสือเหล่านี้ไปบริจาคให้ใครดี กังวลว่าเค้าจะดูแลหนังสือเราได้ดีไหม จะมีใครดูแลและเปิดพื้นที่ฟรี ๆ แบบนี้ขึ้นมาไหม แต่ก็ยังไม่มีใครทำพื้นที่แบบนี้ขึ้นมา พี่ก็เลยยังไม่เลิกทำไม่ได้”
คำตอบนี้ของพี่เกี๊ยวทำให้เรารู้สึกตื้นตัน ขอบคุณ และนับถือมาก ๆ ในแนวคิดของเธอ หวังว่าพื้นที่แห่งนี้จะช่วยเยียวยาหัวใจของนักอ่านรุ่นเยาว์ที่โหยหาตัวหนังสือแต่ไม่สามารถเข้าถึงมันได้มากพอเช่นเดียวกันกับเรา และช่วยสนองความต้องการของนักอ่านชาวไทยที่ต้องการอ่านหนังสือคุณภาพหรือหนังสือหายากที่ยากจะหาได้ในห้องสมุดทั่วไป ขอบคุณหัวใจของเธอคนนี้จริงๆค่ะ วันนี้เรารู้สึกมีความหวังและมีความสุขอย่างบอกไม่ถูกเลยล่ะ