กลับบ้านปีใหม่ไป แต่เดี๋ยวก็ต้องกลับมา (กทม.)

สิ้นสุดกันไปอีกปี เราเห็นคนกลับบ้านต่างจังหวัดกัน… แต่เดี๋ยวพวกเขาก็คงกลับมาแหละ… เหมือนเดิม… เรื่องราวเล่าซ้ำๆ ทุกช่วงหยุดเทศกาลปีใหม่ แล้วภาพจำเหล่านี้บอกอะไรเราล่ะ 

หลายคนยังจำเป็นต้องห่างบ้านมาอยู่กรุงเทพฯ และกลับได้แค่ช่วงเทศกาล?​ ทำไมทำไมการงานความเจริญถึงกระจุกอยู่ในกรุงเทพมหานคร? เราอยากอยู่และก้าวหน้ากันในเมืองหลวงเท่านั้น? 

ปีใหม่ปี 2565 นี้ เราอยากชวนทุกคนมาคุยถึงสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้น ใน และ นอก กรุงเทพมหานคร เพื่อเปลี่ยนภาพจำ ตามหาทางออกให้เราได้อยู่ใกล้ครอบครัว ใกล้สิ่งที่เรารักมาขึ้

ลองไปดูเรื่องราวของคนที่กำลังเดินทางกลับภูมิลำเนากันนะ

ภาพ: วัชรวิชญ์ ภู่ดอก

“ธันวาอีกคราว กับลมเหนือมันหนาวสิ้นดี

ธันวาทุกปี อยากจะหนีกลับคืนบ้านเรา”

ฉันนึกถึงเพลงนี้ตลอด 3 ชั่วโมงที่เดินเช่นอยู่ในสถานีขนส่งหมอชิต

เพลง “กลับบ้านไม่ได้” ผลงานของศิลปินโฟล์กซองกำเมืองอย่างอ้ายจรัล มโนเพ็ชร อยู่ในอัลบัมศิลปินป่า ที่วางแผงครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 (ตั้งแต่ปีที่ฉันเกิดเชียวล่ะ) 

เนื้อเพลงเล่าถึงคนทำงานเมืองหลวงที่หวังใจจะได้กลับบ้านในช่วงหยุดยาวสิ้นปี น่าแปลกใจที่ผ่านไปแล้วเกือบ 30 ปี ที่สถานีขนส่งแห่งนี้ ฉันยังเห็นชาวต่างจังหวัดที่รอจะกลับบ้านไม่ต่างจากเดิม

จะว่าเพลงนั้น Timeless ก็คงเป็นส่วนหนึ่ง แต่ถ้าจะบอกว่าเมืองหลวงยังเป็นแหล่งเงินแหล่งงานของคนต่างจังหวัดอยู่เหมือนเดิม ฉันก็คิดว่าฉันพูดไม่ผิดเหมือนกัน

คุณ “กลับบ้าน” ครั้งล่าสุดเมื่อไหร่กันบ้างคะ?

ฉันเป็นคนเชียงใหม่ เกิดที่เชียงใหม่ โตที่เชียงใหม่ เรียนที่เชียงใหม่ และ “พยายาม” หางานทำที่เชียงใหม่ แต่จนแล้วจนรอดอาชีพในฝันก็พาฉันเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองหลวงซะได้ ทั้ง ๆ ที่สมัยเรียน กรุงเทพฯ ไม่ได้มีความหมายอื่นใดกับฉันเลยนอกจากการมาต่อรถเพื่อไปเที่ยวจังหวัดอื่นเท่านั้น

พูดกันตามตรง ฉันอาจจะดูเป็นคนใจร้ายอยู่ซักหน่อย แต่ฉันไม่เคยหลงรักกรุงเทพฯ เลยค่ะ (ถ้าให้คุณลองคิดในมุมของฉัน คนที่โตมาในเมืองต๊ะต่อนยอนอย่างเชียงใหม่ ไปไหนด้วยรถเครื่อง เติมน้ำมันอาทิตย์ละร้อยสองร้อย มาเจอค่าแท็กซี่ในกรุงเทพฯ เข้า คุณก็คงจะทำใจรักกรุงเทพฯ ไม่ลงเหมือนกัน) ฉันเคยพูดไว้สมัยเรียนจบใหม่ ๆ ว่าหัวเด็ดตีนขาดยังไงก็จะไม่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เป็นอันขาด

ฉันโชคดีที่ยังได้ทำงานที่รัก – ซึ่งหมายถึงการทำนิตยสาร อยู่ช่วงสั้น ๆ ในบ้านเกิดของตัวเอง แม้ว่าจะเริ่มต้นด้วยฐานเงินเดือนแบบแบบเต่าถุยที่ 12,000 บาท (ใช่ค่ะ ได้แค่นั้นจริง ๆ) แต่ด้วยความที่บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ แท็กซี่ไม่ต้องนั่ง ฉันก็ยังพอจะอยู่ได้แบบเดือนชนเดือน ได้แบบไม่ขัดสนเท่าไหร่นัก

สุดท้ายนิตยสารปิดตัวค่ะ เลยเป็นอันว่าต้องกลืนน้ำลายตัวเอง เก็บกระเป๋าเข้ากรุงเทพมาตามระเบียบ เลยเพิ่งจะมีโอกาสได้รับรู้ความรู้สึกของคน “อยากกลับบ้าน” มาตั้งแต่บัดนั้น

คนอยากกลับบ้านไม่ได้มีแต่ฉันคนเดียวนะคะ อย่างน้อยฉันก็ยังมี “อ้ายเชา” และ “ปี้ดา” ที่คิดว่าอยากจะ “ปิ๊กบ้าน” (กลับบ้าน) ด้วยเหมือนกัน

อ้ายเชา (พี่เชา) หนุ่มใหญ่วัย 52 และ ปี้ดา (พี่ดา) ภรรยาวัย 44 โบกมือลาเมืองน่านบ้านเกิดเขามาตั้งหลักหาเงินในเมืองกรุงได้หลายปีดีดัก พอได้เริ่มอู้กำเมืองด้วยกัน หัวอกคนเมืองไกลบ้านก็จูนกันติดทันที

อ้ายเชาทำงานในไซต์ก่อสร้าง เนื้องานตอนนี้อยู่ที่คลองเตย เป็นไปได้ว่าอ้ายเชากำลังเป็นอีกคนที่ทุ่มแรงก่อสร้างคอนโตหรือตึกใหญ่สักที่ที่ตัวเองไม่มีโอกาสได้เข้าอยู่ ส่วนปี้ดาติดตามมาทำงานที่ร้านซักรีด นานทีปีหนจึงจะได้กลับบ้านที่ อ.ท่าวังผา จ.น่าน ปีใหม่นี้อ้ายเชาและปี้ดาได้กลับบ้าน พร้อมกับของฝากเป็นผ้าห่มผ้านวมและเสื้อกันหนาว 1 กระสอบใหญ่

“บริษัทหยุดปีใหม่ให้ถึงวันที่ 3 แต่เฮาลางานอยู่ต่อแหม 2 วัน วันที่ 5 แลง ๆ (เย็น ๆ) ก่อปิ๊ก”

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้หมอชิตพลุกพล่านทุกช่วงเทศกาลก็คงเป็นเรื่องนี้ พนักงานประจำ มนุษย์เงินเดือนทุกคนคงรู้ดีว่าวันลาพักร้อนในแต่ละปีจำกัดจำเขี่ยขนาดไหน ท่าไม้ตายที่จะทำให้ได้อยู่กับบ้าน กับครอบครัวแบบที่ทันได้หายเหนื่อยก็คือการโปะวันลาเข้าไปหลังหยุดยาวอย่างที่อ้ายเชาทำ

อ้ายเชาบอกว่าไซต์ก่อสร้างที่นาน หรือที่จังหวัดใหญ่ ๆ ใกล้บ้านอย่างเชียงใหม่ก็มีเหมือนกัน แต่ค่าแรงเทียบกันไม่ได้กับงานในกรุงเทพฯ  การตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ จึงไม่ใช่เรื่องที่ใช้เวลาคิดนานนัก

“ไค่ปิ๊กไปอยู่บ้านเหมือนกัน แต่ภาระยังมีอยู่” เมื่อฉันถามว่าวางแผนจะย้ายกลับบ้านเมื่อไหร่ ปี้ดาก็ตอบอย่างนั้น

“ลูกสาวมีสองคน คนใหญ่ยะก๋านแล้ว (ทำงานแล้ว) อยู่ที่กรุงเทพฯ นี่แหละ ส่วนคนหน้อยยังเฮียนอยู่ม.6 ยังต้องจ่ายแหมหลายปี๋”

ฉันอาจจะคิดโรแมนติกไปเองฝ่ายเดียวโดยไม่จำเป็น แต่แววตาของปี้ดายามพูดถึงลูก ๆ นั้นแช่มชื่น คล้ายกับว่านี่คือความภาคภูมิใจและคือเหตุผลที่ทุกคนยอมเหนื่อย

ปี้ดาและอ้ายเชาคิดตรงกันว่า วันใดวันหนึ่งก็คงจะย้ายถิ่นฐานกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองน่านบ้านเกิดแน่ ๆ ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับทุนรอนที่พอจะเก็บได้ เพราะกลับไปอยู่บ้านวันใดก็คงต้องเริ่มอาชีพใหม่เป็นเกษตรกร เพราะงานที่พอจะเป็นไปได้ในบ้านเกิดคงมีอยู่เท่านั้น และถ้าพูดกันอย่างไม่ฝันหวาน การเป็นเกษตรกรบนพื้นที่ของตัวเองก็ใช่ว่าจะใช้ทุนน้อย ๆ

“น้องบ่าได้ปิ๊กบ้านก๊ะ” ปี้ดาใจดีถามฉันบ้าง

“บ่าได้ปิ๊กเจ้า” 

อู้กับปี้ดาและอ้ายเชาออกรสจนเวลาคล้อยเข้าถึงบ่ายสี่ เห็นได้ชัดว่าคนหนาตาขึ้น ร้านสะดวกซื้อคนแน่นเหมือนแจกฟรี และพื้นบางส่วนก็เริ่มมีคนทยอยเข้าไปนั่งรอ เพราะเก้าอี้ไม่ได้มีไว้รองรับคนมากขนาดนั้น และการนั่งเบียด ๆ ใกล้ ๆ กันกับคนแปลกหน้าก็ไม่ใช่เรื่องสู้ดีนักในยุคโรคระบาด

การเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลว่ายากแล้ว เมื่อซ้ำเติมด้วย Covid-19 ไปอีก ความลำบากนั้นจึงยิ่งทวีคูณ

ฉันโชคดีที่เชียงใหม่มีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และโชคดีที่ในมหาวิทยาลัยเหล่านั้นมีสาขาที่ฉันสนใจอยู่ด้วย คนมักน้อยอย่างฉันจึงเลือกเรียนใกล้บ้าน และจบออกมามีวุฒิการศึกษาติดตัวได้แบบไม่ขี้ริ้วขี้เหร่ แต่กับ “ต้า” ไม่ใช่แบบนั้น

ต้า เป็นนักศึกษาครูชั้นปีสุดท้ายจากรั้ว มศว วิชาเอกจิตวิทยาและการแนะแนว การย้ายเข้ากรุงเทพฯ ทำให้ต้าได้เรียนสิ่งที่อยากเรียน และได้ฝึกงานในสถานที่ดี ๆ อย่างโรงเรียนทอสี 

ปีใหม่นี้ต้าเก็บกระเป๋ากลับไปเยี่ยมบ้านที่จังหวัดชัยภูมิ

“บางเทศกาลก็กลับ บางเทศกาลก็ไม่ได้กลับครับ ช่วงนี้ช็อตก็เลยต้องกลับ” ต้าพูดติดตลก

“ที่บ้านก็แอบกังวลเรื่องทำงานต่อ เขาก็คิดว่าอยู่บ้านค่าครองชีพก็อาจจะถูกกว่าไหม แต่ถ้าเกิดทำงานต่อในกรุงเทพฯ  เงินเดือนอาจจะสูงกกว่าก็จริง แต่ค่าครองชีพมันก็แพงกว่า ส่วนมากเขาจะเป็นห่วงเรื่องการกินการอยู่ของเรามากกว่า ว่าเราจะได้อยู่ดีกินดีเหมือนที่อยู่กับเขาไหม”

แม้ฉันจะอายุยังไม่แตะเลข 3 แต่ก็เรียกน้อง ๆ รุ่นต้าว่าเด็กรุ่นใหม่ได้เต็มปาก และคนรุ่นใหม่อย่างต้าก็มีสายตาที่กว้างไกลกว่าฉันสมัยที่เรียนจบใหม่ ๆ แยะ (ไม่ได้จะเหมาว่าเด็กต่างจังหวัดทุกคนวิสัยทัศน์แคบนะคะ ฉันหมายถึงฉันคนเดียวนี่แหละ ฮ่า ๆ) เมื่อฉันถามต้าเรื่องแผนในอนาคตฉันจึงได้คำตอบฉะฉานน่าฟัง

“อยากเริ่มทำงานที่กรุงเทพครับ เพราะมองว่าเป้าหมายการเติบโตในสายงาน หรือแม้กระทั่งเรื่องค่าตอบแทน มันรู้สึกเป็นไปได้มากกว่า ถ้าเกิดอยู่บ้านก็กลัวว่าจะอยู่ไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีโอกาสได้เติบโตเป็นเศรษฐีสิบล้าน” – อารมณ์ขันของเด็กคนนี้ร้ายไม่เบา ทำเอาเพื่อนที่มาส่งต้าขึ้นรถต้องหันไปกลั้นขำ

ต้าเรียนคณะศึกษาศาสตร์ แต่ไม่ได้ปักหมุดไว้ว่าจะต้องบรรจุเข้ารับราชการเป็นครู หากแต่กลับมองเป็นยังอาชีพที่ใช้ทักษะด้านจิตวิทยาและการจัดการคนอย่าง HR แทน

เป้าหมายในชีวิตของต้าคงไม่ได้ต่างกับเด็ก ๆ นักศึกษาในยุคนี้ ในอดีตเราท่องกันว่า “สิบพ่อค้าไม่สู้พระยาเลี้ยง” หรือให้ตั้งใจเรียนจะได้โตไปเป็น “เจ้าคนนายคน” (ซึ่งหมายถึงเป็นข้าราชการ) แต่นักศึกษารุ่นใหม่ ๆ ในยุคนี้เทใจให้กับการทำธุรกิจมากกว่า

ข้าราชการเงินเดือนเริ่มไล่เลี่ยกันทั้งประเทศ การได้บรรจุอยู่ในเมืองใหญ่หรือเมืองเล็กจึงไม่ได้มีเรื่องเงินให้ต้องคิดมากนัก ในขณะที่การทำธุรกิจหรือการเป็นมนุษย์เงินเดือน กรุงเทพฯ คือหมุดหมายหนึ่งที่จะทำให้ฐานค่าตอบแทนเริ่มต้นได้ที่ 15,000 (ซึ่งก็ไม่พอกินพอใช้หรอก จากประสบการณ์ส่วนตัว)

แม้เงินเดือนเด็กจบใหม่จะเริ่มต้นราว ๆ 15,000 แต่ฉันก็ยังเอาใจช่วยให้ต้าได้เป็นเศรษฐีสิบล้านอย่างหวัง ในขณะเดียวกันก็คิดว่าการมีเพื่อนมาส่งขึ้นรถกลับบ้านนี่มันก็อาจจะโชคดีพอ ๆ กับการได้เป็นเศรษฐีสิบล้านก็ได้นะต้านะ

รุ้ง สาวสวนยางจากจะยอง อายุยังไม่เต็ม 25 ปี และเป็นคุณแม่ใหม่หมาดยังไม่ถึงปี สิ้นปีอย่างนี้เธอเลือกจะพาลูกออกเดินทางด้วยเหมือนกัน แต่ไม่ใช่การเดินทางไปพักผ่อนครั้งคราว โชคดีที่ลูกสาว – น้องข้าวหอม อายุ 10 เดือน เป็นเด็กเลี้ยงง่าย การพาเด็กน้อยเดินทางครั้งนี้จึงไม่เหนื่อยเท่าไหร่นัก

“อยู่ในห้องตลอดเลยค่ะ นี่เพิ่งจะได้ออกห้อง ออกจากระยองครั้งแรก”

รุ้งไม่ใช่คนกรุงเทพฯ  และไม่ได้ทำงานในกรุงเทพฯ  วันนี้เธอใช้กรุงเทพเป็นทางผ่านเพื่อพาลูกสาวย้ายที่อยู่ จากระยองบ้านฝั่งแม่ ไปเป็นขอนแก่นบ้านฝั่งพ่อ นี่จึงเป็นการเดินทางยาว ๆ ครั้งแรกในชีวิตของข้าวหอม และเป็นการพบพ่อเป็นครั้งแรกด้วย

“ท้องได้ใหม่ ๆ ก็กลับบ้านไปอยู่กับแม่ที่ระยองเลยค่ะ เพราะแม่ไม่มีคนคอยดูแล แม่ขับรถไม่เป็น บ้านเราอยู่ในสวนยาง ในป่า ลำบากมากเลยถ้าออกไปข้างนอกเองไม่ได้” รุ้งเล่าให้ฟังพลางประคองข้าวหอมให้เดินเล่นอ้อแอ้อยู่ที่ฟู้ดคอร์ดในขนส่ง

“ตอนนี้แม่มีน้องสาวมาดูแลแล้ว ทางบ้านปู่บ้านย่าเขาก็อยากเจอหลาน อยากให้ไปอยู่ด้วย” 

ข้าวหอมตาใสแป๋วน่าชัง เด็กน้อยคงยังไม่เข้าใจนักว่าเกิดอะไรขึ้น และคงยังไม่รู้ตัวว่าเธอกำลังจะเปลี่ยนสถานะจากเด็กระยองไปเป็นเด็กขอนแก่น ทันทีเช้าวันพรุ่งนี้มาถึง

การได้คุยกับสาวสวนยางอย่างรุ้งกระตุกให้ฉันคิดว่า ฉันนี้ช่างเป็นมนุษย์ตีโพยตีพาย คิดว่าตัวเองอมทุกข์และยากลำบากอยู่ลำพัง ทั้งที่เกิดและเติบโตมาในเมืองใหญ่ แม้จะไม่ใช่ศูนย์กลางของอำนาจและเศรษฐกิจ แต่เชียงใหม่ก็เป็นหัวเมืองที่มีจังหวะจะโคนและการพัฒนาในแบบของตัวเอง ผิดกับรุ้งที่ไม่ได้เข้าถึงทรัพยากรหรือความรุ่งเรืองเฟื่องฟูของโลกทุนนิยมเข้มข้น แต่เธอเลือกที่จะทำงานและมีชีวิตไปตามครรลองและเงื่อนไข

รุ้งวางแผนว่าจะเริ่มต้นชีวิตที่ขอนแก่นด้วยอาชีพเกษตรกร บนแผ่นดินของบ้านสามี และไม่เคยคิดว่าอยากเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ  เธอไม่ชอบเป็นสาวโรงงาน ไม่อยากเป็นสาวห้าง และยืนยันว่าอาชีพเกษตรกรก็ไม่ได้แย่นักในวันที่เรี่ยวแรงยังพอมี

เด็กน้อยตาแป๋วยังคงวุ่นอยู่กับถุงขนม แม่ของเธอสะพายกระเป๋าขึ้นบ่า กระเป๋าแม่ใบหนึ่ง กระเป๋าลูกอีกใบหนึ่ง เตรียมเดินทางขึ้นบนชั้นสาม ชานชาลาสายอีสาน ไปหารถบัสที่จะพาเธอ “กลับบ้าน” หลังใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นกรุงเทพฯ 

เราโบกมือลาสองแม่ลูกที่ใช้กรุงเทพฯ เป็นทางผ่าน ส่งใจให้การเริ่มต้นใหม่ที่ขอนแก่นเต็มไปด้วยความสุขแบบพ่อแม่ลูก และหวังใจว่ารุ้งจะไม่ต้องกลืนน้ำลายตัวเองแบกกระเป๋าเข้ากรุงเทพเหมือนที่ฉันทำเมื่อสามปีก่อน เพราะนั้นจะหมายความว่ากรุงเทพฯ จะทำให้ข้าวหอมจะต้องห่างจากบุพการีอีกครั้ง – ไม่พ่อก็แม่ หรืออาจจะเป็นทั้งสองคน

“มันมีงาน แต่ว่าโอกาสที่เราจะเลือกงานที่ชอบ ที่อยากทำ มันมีน้อย”

พี่หวาน เป็นคนเชียงรายที่ย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพได้ 10 ปีแล้ว เธอทำงานด้านโลจิสติกระหว่างประเทศ และนั่นหมายถึงกรุงเทพเป็นจุดหมายที่ดีกว่าสำหรับสายงานอย่างเธอ

ฉันนึกถึงแม่สายที่นับว่าเป็นจุดขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย น่าสงสัยว่าจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นชุมทางของ 3 ประเทศ (ไทย – ลาว – เมียนมา) ไม่ได้เจริญและมีงานรองรับคนหนุ่มสาวในจังหวัดมากเท่าที่ควร

ฉันคงต้องให้ความยุติธรรมกับกรุงเทพฯ บ้างในบทความนี้ พอดิบพอดีกับการได้เจอพี่หวาน ผู้ชอบการใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ มากกว่าบ้านเกิดอย่างเชียงราย

“อยู่กรุงเทพฯ มา 10 ปีแล้ว มันก็ชินแล้วล่ะ เชียงรายช้า ส่วนใหญ่จะช้า ช้าไป (หัวเราะ) แต่เหมือนตัวเองจะเกิดผิดจังหวัด เราจะเร็วกว่าชาวบ้านเขาไปหน่อย” 

พี่หวานยังไม่มีแผนว่าจะย้ายกลับบ้าน อาชีพการงานและไลฟ์สไตล์ทำให้เธอพึงใจกับชีวิตในกรุงเทพฯ พอสมควร จริงอยู่ว่าจริตของกรุงเทพฯ ก็ย่อมจะตรงกับความต้องการของใครหลายคน (แต่ไม่ใช่ฉันแล้ว 1!) 

ฉันหมายถึงว่า ฉันเชื่อว่าไม่ได้มีแค่พี่หวานคนเดียวที่ชอบกรุงเทพฯ มากกว่าบ้านเกิด เพราะกรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่เมืองที่น่าเกลียดน่าชังไปทุกแง่ทุกมุม ที่นี่เป็นเมืองแห่งความตื่นตัว เป็นเมืองแห่งแสงสีและความทะเยอทะยาน เป็นเมืองแห่งชีวิตและเป็นเมืองแห่งความฝัน ในยามที่อากาศไม่เลวร้ายนัก และฉันไม่ได้มีนัดที่ต้องไปให้ทันเวลา การนั่งรถเมล์เล่นวนรอบเมืองก็เป็นกิจกรรมที่พอจะทำให้ฉันเผลอรักกรุงเทพฯ ได้บ้าง

แต่การที่คน “จำเป็น” ต้องเข้ามาอยู่ในเมืองหลวงนั่นต่างหากที่น่าเศร้า

ฉันโบกมือลาพี่หวานและเดินหันหลังออกจากชานชาลาที่ฉันไม่ได้จำเป็นต้องมาตั้งแต่แรก การมาเดินเล่นที่ขนส่งหมอชิตให้วันที่ทุกคนมีเป้าหมายว่าจะเดินทางออกจากขนส่งก็เป็นความรู้สึกที่แปลกดี และแสงเย็นที่ฉาบย้อมคนรอกลับบ้านทุกคนให้เป็นสีเหลืองทองนั่นก็ทำให้ฉันเพ้อคิดไปเอง ว่านี่คือชั่วโมงแห่งความหวัง

หวังว่าจะได้กลับบ้าน

ยิ่งใกล้ค่ำ คนในขนส่งก็ยิ่งเยอะขึ้น เช่นเดียวกับพนักงานและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานแข็งขัน กล่องของว่างและขวดน้ำดื่มเรียงเป็นตั้ง ๆ เยอะกว่าปกติ คนกำลังหลั่งไหลออกจากกรุงเทพฯ  และคนกลุ่มเดียวกันนี้เองก็จะหลั่งไหลเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้งในอีกไม่กี่วันข้างหน้าเมื่อวันหยุดจบลง

หลังช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองและกลับบ้าน เราจะกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง บางคนกลับมาเพราะหลงรักที่นี่ ส่วนอีกบางคนกลับมา เพราะนี่คือทางเลือกเดียวที่จะทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น

อย่างที่ฉันบอก กรุงเทพไม่ใช่เมืองที่น่าเกลียดน่ากลัว แต่มันน่าเศร้าเมื่อกรุงเทพฯ เป็นชอยส์ข้อเดียวที่เราจะกาได้ หากเราต้องการมีชีวิตที่พอจะลืมตาอ้าปากไหว อย่างกับว่าอำนาจและเงินตราของประเทศไทยทั้งประเทศจะทำงานได้ดีเมื่ออยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น

เมื่อแรงงานหนุ่มสาววัยแข็งแรงต้องจำใจไหลบ่าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหาเงินและหาฝัน ปัญหาจึงไม่ได้จบอยู่ที่ว่ากรุงเทพฯ หนาแน่นเกินไป รถติดเกินไป หรือคนเยอะเกินไปเท่านั้น แต่มันยังหมายถึงความอ้างว้างของต่างจังหวัดที่ไม่มีธุรกิจใหญ่ ไม่มีคนหนุ่มสาวมากพอที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาเมืองให้เติบโตไปในทิศทางเดียวกับโลกกว้างอีกด้วย

ฉันไม่เถียงว่าคนหนุ่มสาวของทุกประเทศล้วนมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองกันทั้งนั้น แต่คุณก็คงเถียงฉันไม่ได้เหมือนกันว่าในบ้านเรา กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีการกระจุกตัวอย่างเข้มข้นเกินคำว่าน่ารัก และเมื่อคุณต้องปากกัดตีนถีบ บ้านต้องเช่าข้าวต้องซื้อ กรุงเทพก็จะยิ่งน่ารักน้อยลงไปอีกอย่างไม่ต้องสงสัย

ฉันเดินโต๋เต๋อยู่ในขนส่งเพียงชั่วแสงหมด คนก็ “ล้นทะลัก” เข้ามาในขนส่งหมอชิตจนฉันต้องขอจบภาระกิจเดินเล่นในขนส่งแต่เพียงเท่านี้ 

หวังว่าทุกคนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย เป็นสุข และที่หวังมากไปกว่านั้นก็คือว่าวันนี้เราจะสามารถเลือกทำงานที่รัก ในพื้นที่ที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเราได้มากกว่านี้ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องรอคอยการกลับบ้านนานทีปีหนอีกต่อไป

“ธันวาอีกคราว กับลมเหนือมันหนาวสิ้นดี

ธันวาทุกปี อยากจะหนีกลับคืนบ้านเรา

ฟ้าสวยสดใส ส่งดวงใจไปเยือนเพื่อนเก่า

ปลายปีเราอาจ มีโอกาสจะกลับไปหา

ถ้ายังมีสิทธิ์จะไป”

Loading next article...