คนหูหนวก: สิทธิมนุษยชนที่ไม่มีใครได้ยิน

“คนหูหนวกใช้ชีวิตยังไง?” “การได้ยินสำหรับคนหูหนวกคืออะไร?”

เราชวน “เฟิร์ส” ธัญชนก จิตตกุล นักแสดงจากซีรี่ส์สงครามนางงามและผู้ครองมงกุฎ Miss Deaf Thailand ปี 2013 มาคุยในฐานะในฐานะผู้พิการทางการได้ยิน ถึงสิ่งที่คนหูหนวกต้องเจอในโลกความเป็นจริง

ในประเทศที่สร้างเงื่อนไขให้ ‘ขัด’ ต่อหลัก สิทธิมนุษยชน และ ความสะดวก ในการใช้ชีวิตของประชาชนถือเป็นเรื่องมาตรฐาน สิ่งที่พลเมืองหูหนวกหนึ่งคนต้องเจอและหลายคนมองข้ามจะดูเหมือนจะไม่ได้ถูกแก้ไขในเร็ว ๆ นี้

ภาพ: วัชรวิชญ์ ภู่ดอก

คุณเคยแยกได้ไหมว่าคนที่เดินสวนกับเราบนถนนคนไหนคือคนหูหนวก เราแยกไม่ออก

เช่นเดียวกันกับเฟิร์สที่ถ้าเราหาร้านอะไรสักอย่างในสยามไม่เจอแล้วเธอยืนอยู่ใกล้ ๆ เราก็คงไปถามทางกับเธอ กว่าจะรู้ว่าเธอเป็นคนหูหนวกก็ต้องรอให้เธอตอบคำถามด้วยภาษามือก่อนนั่นแหละ

ถึงตอนนั้นเองเราก็ต้องเผชิญหน้ากับกำแพงภาษาที่ต่อให้เราจะพยายามฟังและจับสีหน้าท่าทางของเธอมากเท่าไร เราก็ไม่มีทางเข้าใจว่าเธอกำลังสื่อสารว่าอะไร ตอบคำถามว่าอย่างไรหากไม่มีล่ามคอยแปลเป็นภาษาไทยให้ฟัง

ภาษามือเองก็คือภาษาหนึ่งที่มีคำศัพท์ที่ใช้แค่ในคนบางกลุ่ม มีภาษาถิ่นของตัวเอง การสื่อสารด้วยภาษามือจึงไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเข้าใจกันตรงกันทุกคำ

สำหรับคนหูหนวกแล้วภาษาไทยจึงเป็นภาษาที่สอง เช่นเดียวกับที่เราเรียนภาษาอังกฤษ บางคนฟังออกเขียนได้ บางคนเข้าใจแค่ประโยคง่าย ๆ และบางคนก็อ่านแทบจะไม่ออกเลยก็มี

เฟิร์สหูตึงตั้งแต่กำเนิด คือได้ยินเสียงแต่ฟังไม่เป็นคำและแยกไม่ออกว่าเสียงที่ได้ยินคือเสียงอะไร การใส่เครื่องช่วยฟังช่วยให้ได้ยินชัดขึ้น แต่ก็ไม่ได้ยินชัดอย่างที่คนหูดีอย่างเราได้ยินกัน

ในโลกที่เต็มไปด้วยเสียง แม้แต่คนหูดีอย่างเรายังรู้สึกหงุดหงิดกับเสียงรอบข้างอย่างรถยนตร์ที่วิ่งผ่านไปมา เสียงรถไฟฟ้าเคลื่อนกระทบราง คนหูหนวกเองก็ต้องทนอยู่กับสิ่งแปลกปลอมที่ดังแว่ว ๆ ในหูโดยที่แยกไม่ออกว่าเสียงไหนมากจากอะไร

แล้วอย่างนี้เฟิร์สชอบฟังเพลงไหม?

‘คือการฟังเพลงมันช่วยให้เราหลับง่ายขึ้นค่ะ มันหลับยากบางทีเราก็หงุดหงิด แต่พอเราฟังเพลงมันรู้สึกว่าช่วยให้เราหลับได้ง่ายขึ้น’ เธอรับรู้จังหวะของเพลงจากแรงสั่นสะเทือนที่มาจากเบสอันนี้ก็พอคาดเดาได้ แต่ข้อมูลใหม่กว่าที่ล่ามเล่าให้ฉันฟังคือคนหูหนวก คนหูตึงก็มีความแตกต่างกัน คนหูตึงเองก็มีหลายแบบ คนหูตึงที่ได้ยินเสียงในย่านความถี่ต่ำ คนหูตึงที่จะได้ยินเสียงในย่านความถี่สูง

คนปกติอย่างเราก็มองพวกเขาว่าหูหนวกเหมือนกันไปทั้งหมด ทั้งที่จริงแล้วแม้แต่ในสังคมคนหูหนวกเองก็มีความหลากหลายเหมือนคนปกติเรานี่แหละ

ในกฎหมายกำหนดให้มีบริการล่ามภาษามือแค่ร้อยละ 5 ของรายการข่าว** ตรงนี้ทำให้เราลำบากในการรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ไหม?

‘มันเข้าถึงยากกว่า อย่างเราหลายๆทีก็อยากดูรายการอื่น ๆ แต่มันก็ไม่มีล่าม ถ้าอย่างข่าวด่วน เราก็ไม่เข้าใจว่ามันคืออะไรเพราะมันไม่มีล่าม ถ้าเทียบกับที่อเมริกาที่เขามีความเท่าเทียมมากกว่าระหว่างหูดี หูหนวก ถ้ามีข่าวด่วนเข้ามาเขาก็มีล่ามขึ้นมาให้ด้วยเลย’

แสดงว่าที่ต่างประเทศเขาพยายามสื่อสารกับคนหูหนวกมากกว่าที่ไทยมาก ๆ เลยใช่ไหม? ฉันถามต่อ
‘ใช่ค่ะ เพราะเฟิร์สเคยถามเพื่อนที่อยู่อเมริกา ญี่ปุ่น จีน คนต่างประเทศ เราถามเขาว่าชีวิตเป็นยังไงดีไหม เขาบอกว่าดีมากเลย เขาก็ถามเรากลับมาว่าทำไมของเราคนหูหนวกไม่เท่ากับคนหูดีเลย เราก็รู้สึกแย่นะว่าทำไมเราไม่ได้รับความเท่าเทียมอย่างที่ชาวต่างชาติเขาได้รับ’

มีเรื่องให้น้อยใจได้ทุกวันเลยนะคะประเทศนี้

เป็นเพราะกฎหมาย ที่ระบุว่าจะมีล่ามภาษามือให้เฉพาะรายการข่าวเท่านั้นเธอจึงต้องดูสื่อบันเทิงจากแพลตฟอร์มบนอินเทอร์เน็ตอย่างเน็ตฟลิกซ์และการดูหนังในโรงภาพยนตร์แทน ที่ผ่านมาเธอดูละครในทีวีทั้งที่ไม่เข้าใจเนื้อหามาตลอด และตัวเธอเองก็เพิ่งรู้ว่าหนังและละครมันมีซับไตเติลได้ก็เมื่อตอนอายุ 17-18 นี่เอง

อาจเป็นโชคดีของคนยุคเราที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทำให้เราได้รู้ว่ามันมีอะไรที่ดีกับเรามากกว่าสิ่งที่รัฐกำหนดไว้ให้

ถึงแม้จะมีข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตให้อ่านก็ไม่ได้หมายความว่าคนหูหนวกทุกคนจะเข้าถึงหรือเข้าใจข้อความเหล่านั้นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ล่ามภาษามือจึงเป็นคนสำคัญและเป็นที่เชื่อถืออย่างมากสำหรับพวกเขาเพราะนอกจากล่ามก็ไม่มีใครคุยกับพวกเขารู้เรื่องแล้ว แต่ใช่ว่าล่ามจะให้ข้อมูลที่ถูกต้องเสมอไป บางครั้ง Fake News ก็แพร่กระจายในหมู่คนหูหนวกเพราะล่ามไม่เช็คข้อมูลก่อนแปลก็มีเหมือนกัน

แล้วอย่างนี้เวลาคนหูหนวกป่วยแล้วอยากไปหาหมอต้องทำยังไง เขาจะบอกกล่าวให้หมอเข้าใจด้วยวิธีไหน

‘ต้องจองไว้ค่ะ’ เฟิร์สบอกผ่านภาษามือ เธอเคยไปหาหมอด้วยอาการท้องเสีย แต่เนื่องจากอยู่นอกเวลาการให้บริการของ TTRS จึงต้องสื่อสารผ่านการเขียน คุยกันไม่รู้เรื่องคนในโรงพยาบาลก็บ่ายเบี่ยงบอกให้จองคิวซึ่งต้องรอไปอีกสามวันจึงจะได้พบหมอ

อาการท้องเสียรอไปสามวันก็คงหายเอง แต่ถ้าเป็นอาการเจ็บป่วยที่อาจถึงขั้นชีวิตล่ะ พวกเขาต้องยังต้องรอคิวล่ามภาษามือไปอีกสามวันไหม?

ในขณะที่ประเทศโลกที่หนึ่งอย่างอเมริกาพยาบาลสามารถสื่อสารเป็นภาษามือได้อย่างทันท่วงทีเมื่อรู้ว่าผู้ป่วยนั้นเป็นคนพิการทางการได้ยิน

ตอนอยู่โรงเรียนเคยโดนบุลลี่หรือเปล่า? เราถามและเดาคำตอบเอาไว้ในใจว่าเธออาจจะเคยโดนกลั่นแกล้งในตอนที่อยู่โรงเรียนคนหูดี
แต่เปล่า

‘จริง ๆ แล้วโรงเรียนหูหนวกจะแกล้งมากกว่าค่ะ’ เป็นเพราะเฟิร์สไม่เคยเรียนภาษามือมาก่อน การไปเรียนในโรงเรียนคนหูหนวกในตอนนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเธอ แม้ว่าเธอจะพยายามในการสื่อสารแต่ก็ยังโดนครูดุและตี บางครั้งหนักถึงขั้นถุยน้ำลายใส่

ผิดคาดกลับกลายเป็นว่าคนหูหนวกถูกบูลลี่โดยครูในโรงเรียนคนหูหนวกเสียเอง ทั้งที่ครูควรจะเป็นที่พึ่งให้กับนักเรียนแท้ ๆ

แล้วครอบครัวล่ะเป็นยังไง เขาดูแลเราต่างจากน้องอีกสองคนที่เป็นคนหูดีไหม?

‘ต่างกันเลยค่ะ เพราะว่าเขาดูแลน้องดี อย่างน้องเราก็ได้เรียนมหาวิทยาลัย แต่เขาไม่ให้เฟิร์สเรียน’ ล่ามแปลสิ่งที่เธอสื่อสารตอบกลับมาผ่านภาษามือ ในขณะที่น้องของเธอได้เรียนมหาวิทยาลัย ตัวเธอเองกลับต้องหยุดเรียนตั้งแต่ชั้นม.หนึ่ง จนต้องดิ้นรนหางานส่งเสียตัวเองเรียนกศน. (การศึกษานอกระบบ) เพื่อที่จะได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยสวนดุสิตซึ่งมีสาขาคหกรรมที่มีล่ามภาษามือให้เพียงสาขาเดียวในมหาวิทยาลัย

แม้ว่าโรงเรียนคนหูหนวกจะใช้แบบเรียนเหมือนโรงเรียนปกติ แต่ความยากของเนื้อหาที่ใช้สอนกลับถูกลดลงให้ง่ายกว่าเด็กปกติซึ่งเรียนอยู่ชั้นเดียวกันสองปี กล่าวคือนักเรียนชั้นม.6 ในโรงเรียนคนหูหนวกจะได้เรียนเนื้อหาของนักเรียนชั้นม.4

แล้วอย่างนี้มันคือการบังคับให้ตัดโอกาสในการเรียนต่อมหาวิทยาลัยของคนหูหนวกจำนวนหนึ่งจากที่ก็แทบจะไม่มีอยู่แล้วหรือเปล่า

คนทั่วไปก็ปฏิบัติกับเธอแตกต่างจากคนปกติ การสื่อสารของหูคนหนวกในการรับบริการต่าง ๆ เช่นการสั่งอาหาร การซื้อตั๋วรถไฟฟ้า ดูเหมือนจะเป็นเรื่องชวนหงุดหงิดสำหรับผู้ให้บริการเหล่านั้นอยู่บ่อย ๆ

ทั้งที่ความจริงแล้วคนหูหนวกนั้นต้องใช้ความกล้าอย่างมากในการสื่อสารกับคนหูดี ทั้งต้องเขียนเพื่อบอกสิ่งที่พวกเขาต้องการ ทั้งเปิดแอป TTRS* ที่มีล่ามภาษามือคอยบริการแปลเป็นภาษาพูดให้คนหูดีฟัง แต่ก็ดูเหมือนว่าคนปกติจะไม่มีความพยายามที่จะทำความเข้าใจสิ่งที่คนหูหนวกต้องการจะสื่อสารเลย

คิดดูดี ๆ แล้วคนหูหนวกก็คงต้องหงุดหงิดกับเรื่องพวกนี้อยู่ทุกวันเหมือนกัน

คิดว่าตอนนี้คนในสังคมมีความรู้ความเข้าใจต่อคนหูหนวกมากแค่ไหน?

‘คนไม่เข้าใจเยอะมาก ส่วนคนที่เข้าใจเราก็มีน้อยมากเหมือนกัน’ ยกตัวอย่างเช่นคำว่า ‘ใบ้’ กับคำว่า ‘คนหูหนวก’ ก็มีความหมายไม่เหมือนกัน สำหรับพวกเขาแล้วคนหูหนวกคือคนที่พร้อมจะเรียนรู้และใชีชีวิตในสังคมอย่างคนธรรมดาคนหนึ่ง ในขณะเดียวกัน คำว่าใบ้นั้นถือเป็นการไม่ให้เกียรติเพราะมันมีความหมายว่าเป็นคนไม่มีความรู้และไม่ได้รับการศึกษา

ตอนเด็ก ๆ เราจำได้ว่าในละครยังด่ามีไดอะล็อกที่ด่ากันด้วยคำว่า ‘ไอ้ใบ้’ ‘อีใบ้’ หรือ ‘เป็นใบ้เหรอ’ ด้วยน้ำเสียงร้าย ๆ อยู่เลย ที่ผ่านมาเราไม่เคยเข้าใจมาก่อนว่าสองคำนี้มีนัยยะแอบแฝงต่างกันยังไง รู้แต่ว่าคำว่าใบ้นั้นไม่น่าใช้เท่าไรและควรใช้คำว่าคนหูหนวกมากกว่า ความเข้าใจเล็ก ๆ พวกนี้ถ้ามันไม่ถูกรับฟังหรือถ่ายทอดออกไปความเข้าใจผิดเหล่านี้ก็จะยังดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ

คนหูหนวกหรือแม้แต่คนพิการทางด้านอื่น ๆ ก็คือคนที่สามารถพัฒนาศักยภาพต่อไปได้เหมือนคนปกติทั่วไป แต่สังคมไม่เคยคิดที่จะทำความเข้าใจและปิดกั้นพวกเขาอยู่เสมอ

‘มันก็เป็นการให้เกียรติ เป็นการให้โอกาสกับคนหูหนวก แล้วก็ทำให้คนได้เห็นถึงศักยภาพของคนหูหนวกด้วย’

เฟิร์สแสดงความเห็นถึงมูฟเมนต์สำคัญที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง Eternals ซึ่งมีตัวละครเป็นคนหูหนวก ตัวนักแสดงเองก็เป็นคนหูหนวกว่าปรากฏการณ์นี้คือใบเบิกทางที่จะทำให้คนหูหนวกอีกหลายต่อหลายคนได้รับโอกาสในการทำงานมากขึ้น ซึ่งฉันเองเชื่อว่าเหตุการณ์นี้จะไม่ได้ส่งผลกับแค่ในวงการแสดงเท่านั้น แต่รวมไปถึงวงอาชีพอื่น ๆ ด้วย

และเพราะตัวละครนี้เองก็ทำให้ยอดเสิร์ชการใช้ภาษามือในกูเกิ้ลเพิ่มขึ้น เพราะคนอยากจะทำความเข้าใจคนหูหนวกและอยากที่จะใช้ภาษามือได้เท่อย่าง ลอเรน ริดลอฟ

คิดว่าตอนนี้คนในสังคมมีความรู้ความเข้าใจต่อคนหูหนวกมากแค่ไหน?
‘คนไม่เข้าใจเยอะมาก ส่วนคนที่เข้าใจเราก็มีน้อยมากเหมือนกันเพราะมันไม่มีการสร้างความเข้าใจต่อคนในสังคมให้เข้าใจคนหูหนวกมากขึ้นเลย’

แม้ว่าใกล้จะสิ้นปี 2021 แล้ว แต่คนในสังคมก็ดูเหมือนจะไม่ได้เข้าใจ หรือพยายามทำความเข้าใจคนหูหนวกเลย จริง ๆ แล้วความเข้าใจมันสร้างกันได้นะ และถ้าถูกสร้างมาอย่างชาญฉลาดคนก็จะอยากเข้าใจมากขึ้น มากจนไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเอง อย่างตัวอย่างที่พูดถึงไปก่อนหน้านี้ไง

อ้างอิง

* https://www.ttrs.or.th/2021/03/23/ทำความรู้จัก-ttrs-number-ประจำตัว/

** ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หมวด ๑ ข้อ ๕ วรรค (๑) https://broadcast.nbtc.go.th/data/document/law/doc/th/590200000001.pdf?fbclid=IwAR2yDtiYAYyCGvQI5MGLP5KJ_wJRt4625qCptxdhDTLRYDaYXnzcqFh3ZP4

Loading next article...