“… ก็เผา(ศพ)ครับ เราต้องรับผิดชอบเค้า เพราะถือว่าเป็นอาชีพเรา” ‘ลุงต๋อย’ หรือ ‘ผู้ควบคุมการเดินทางข้ามมิติ’
สัปเหร่อคนแรกที่ยอมเผาศพโควิดของฝั่งธนฯ บอกกับเราว่า แกไม่สามารถทิ้งงานและความรับผิดชอบตรงหน้าได้จริง ๆ แม้อุปกรณ์ ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับศพติดเชื้อจะแทบไม่มี
หลายคนคงเห็นข่าววัดต่าง ๆ เตาเผาพัง เมรุถล่มกันมาบ้าง ถ้าไม่นับเรื่องการบริหารงานที่ผิดพลาด เรื่องนี้ผิดที่คนตายเยอะ หรือผิดที่มีวัดรับศพโควิดน้อย?
เราเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดงานศพ โดยเฉพาะในยุคโควิด แต่มันก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะวันนี้แค่วันเดียวก็มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 17,000 คน และคนตายอีกกว่า 160 คน
เมื่อด่านหน้าแตก ศพทั้งหลายก็ถูกห่อด้วยพลาสติก 3 ชั้น ใส่โลงศพ และถูกลำเลียงไปยังวัดต่าง ๆ ที่เปิดรับ เราได้มีโอกาสพูดคุยและดูการทำงานของ ‘ลุงต๋อย’ A.K.A. ผู้ควบคุมการเดินทาง ข้ามมิติ (หรือถ้าชื่อเก่ากว่านั้นก็ ลุงต๋อย หายทุกร่าง, หายใจไม่ออก บอกคุณต๋อย)
เราจำได้ว่าตอนแรกที่เห็นข่าวคือพอศพพ้นจากโรงพยาบาลแล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าไปไหนต่อ หรือเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยากมาคุยกับลุงต๋อย
“ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่คิดเป็นทำเป็น มันก็ต้องคิดให้ได้ เราต้องวางแผนไว้เลยว่าถ้าทำไม่สำเร็จ มันจะมีคนตาย แล้วศพมันจะไปไหน”
ลุงต๋อยบอกว่าก่อนหน้านี้ทุกคน สนใจกันแต่ด่านหน้า ทั้ง ๆ ที่เจ้าหน้าทุกด่านควรจะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะด่านหลังสุดที่ดูเหมือนความช่วยเหลือจะมาไม่ถึงเท่าไหร่ ทั้งเครื่องป้องกัน และความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติต่อศพแบบนี้
ด้วยความที่เป็นโรคเกิดใหม่ ทำให้ช่วงแรกทุกคนเกิดอาการสับสนและสงสัย สรุปแล้วมันต้องเผายังไง? เผาแล้วเชื้อจะกระจายมั้ย? จัดเป็นช่วงที่มีข้อมูลใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวัน
เท่าที่รู้คือศพแรกของฝั่งธนฯ ถูกเผาโดยลุงต๋อยที่วัดสุทธาวาส (ใหม่ตาสุต) แห่งนี้ ซึ่งเป็นวัดเดียวในฝั่งธนฯที่ไม่เคยปฏิเสธศพ COVID เลย ไม่ว่าจะช่วงเวลาไหนก็ตาม
ลุงต๋อยเล่าว่าศพแรกที่เข้ามา มีหลายความรู้สึกปนอยู่ในใจ
… กลัวก็กลัว
… งงก็งง
แต่อยากช่วยมั้ย
ก็อยากช่วย
สุดท้ายเลยตัดสินใจไปคุยกับเจ้าอาวาสจนได้รับอนุญาตให้เผาศพได้
“ใครกลัวก็อยู่ข้างใน อยู่ในโบสถ์ซะ ไม่ต้องออกมา ปิดกระจกให้หมด ผมอยู่ที่นี่คนเดียวใส่เสื้อกันฝน รองเท้าแตะ แล้วถุงมือก็เป็นถุงมือปอกผลไม้” – ลุงต๋อยนิ่งไปชั่วครู่ ก่อนอธิบาย และอัดควันบุหรี่เข้าไปเต็มปอด แกบอกว่าชาวบ้านแถววัดทุกคนกลัวและห่วงแกหมด มีแค่แกคนเดียวที่ไม่กลัว (ซะอย่างนั้น)
ถึงลุงต๋อยจะไม่มีครอบครัวอย่างเป็นทางการ จะมีก็แต่ลูกบุญธรรม 2 คนและครอบครัวลูกบุญธรรมที่จังหวัดนครพนมคอยเป็นห่วงจากทางไกล ถึงขั้นที่ว่าช่วงโควิดระบาดแรก ๆ ลูก ๆ บอกว่าถ้าแกไม่ขึ้นมาอยู่ก็จะตีรถลงมารับ
“ถ้าพ่อตายโดยช่วยเค้าแล้วเนี่ย พ่อถือว่าพ่อมีความสุข ยามสบายพ่ออยู่กับพระที่นี่ แล้วพอลำบากโรคระบาดขนาดนี้จะให้พ่อหนีเหรอ? ไม่ใช่ เราต้องอยู่สู้กับมัน
ถ้าพ่อตายลูกก็ต้องทำตัวกันให้ดี ดูแลกันให้ดี ให้เป็นคนดีของสังคม อย่าไปเกเร ทุกคนมันต้องตายหมดแหละ แต่มันจะช้าจะเร็ว”
“ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรมา ผมก็เผา เราต้องรับผิดชอบเค้า เพราะถือว่าเป็นอาชีพเรา เราต้องส่งเค้าข้ามมิติให้สำเร็จทุกคน”
ก่อนหน้านี้เราเห็นข่าวชาวบ้านชุมชนอื่นประท้วงไม่ให้วัดเผาศพที่ตายจากโรค COVID-19 ทำให้รู้ว่าการสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ที่นี่เป็นตัวอย่างที่ดีว่าเมื่อทุกคนเห็นว่าคนที่รับผิดชอบไม่กลัว และไม่มีอันตราย ก็ค่อย ๆ กลายเป็นเสียงสนับสนุนและคอยเชียร์อยู่ห่าง ๆ แทน
“เค้าอยู่ในโรงบาลก็ไม่ได้เห็นลูกเต้า ตายไปก็ไม่ได้เจอ แถมเผาเสร็จลูกเต้าก็ไม่เอาอีก ทิ้งอีก ทั้ง ๆ ที่กระดูกน่ะเผาเสร็จเชื้อมันก็ตายหมดแล้ว ” – ลุงต๋อยเล่าถึงญาติของบางศพที่ยังกลัวไม่ยอมมารับขี้เถ้ากับกระดูก จนต้องเก็บใส่กล่องไว้ให้อยู่หลังเมรุ
“อย่างผมไม่มีครอบครัวจะตายก็ไม่เป็นไร แต่สัปเหร่อบางคนที่เค้ามีครอบครัว มีลูกมีเต้าล่ะ เค้าก็ต้องรักชีวิตเค้า เค้าถึงไม่เผา เค้าถึงกลัว”
เรื่องนี้เราเห็นด้วยกับลุงต๋อยมาก ๆ เพราะทุกคนมีสิทธิ์รักตัวกลัวตาย แต่ถ้าเค้ามีความรู้ความเข้าใจและอุปกรณ์ที่พร้อมมากกว่านี้ อาจจะมีวัดที่ยอมเปิดรับศพจากโรค COVID เยอะขึ้น
ยุคนี้นอกจากจะจองวัคซีน จองเตียงในโรงพยาบาล… จะจองเมรุเผาศพก็ยากพอ ๆ กัน เพราะเราไม่สามารถใช้เมรุตลอด 24 ชั่วโมงได้ เตาเผาก็ต้องพักให้คลายอุณหภูมิบ้าง ไม่งั้นไม่นานก็คงพัง เพราะศพ COVID ต้องใช้อุณหภูมิสูงถึง 1,000 องศา ในขณะที่ศพแบบอื่น ๆ ใช้อุณหภูมิแค่ 300-400 องศาเท่านั้น
ลุงต๋อยเล่าว่าวันที่พระถ่ายคลิปไปลงเนี่ยเพราะเห็นว่าแกไม่ไหวแล้ว เพราะญาติของศพที่เพิ่งเผาไป (ศพที่ 39) โทรมาบอกว่าที่บ้านมีติด COVID ตายตามไปอีกคน แต่ด้วยกำลังของแกและกำลังของเมรุในตอนนั้น ทำให้ต้องขอผัดไปเผาวันพรุ่งนี้แทน… เพราะเผาตั้งแต่เช้าไป 3-4 ศพจนไม่ได้กินข้าว เตาเผาก็ยังไม่ได้พัก
แต่โรงพยาบาลยืนยันว่าจะต้องนำศพออกเลย พักค้างคืนไว้ไม่ได้ ทำให้คนแถววงเวียนใหญ่ต้องไล่หาวัดที่พอจะรับไหวจนไปได้วัดแถวปทุม
“เราก็มานั่งคิด ไอ้ห่า เราช่วยเค้าไม่ได้ ร้องไห้เลย ร้องอยู่ข้างเมรุตรงนี้แหละ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น จากนี่ไปถึงตรงนั้น ผ่านเป็นเป็นร้อยวัด ทำไมไม่มีวัดไหนช่วยเค้าเลย”
บรรยากาศงานศพในยุค COVID ไม่มีเสียงพูดคุย ไม่มีบรรยากาศญาติ ๆ ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ไม่ได้มีพวงหรีดมากมาย ไม่มีการรดน้ำศพ ไม่มีการกราบศพ ไม่ได้มีแขกเป็นร้อยคน ไม่ได้มีการเลี้ยงอาหาร
ภาพตรงหน้าเราคือ ศาลาโล่ง ๆ มีแขกประมาณ 2-3 คน พระอีก 4 รูป สวดหน้าเมรุ และสัปเหร่ออีก 1 คน… ถ้าจะนับเราด้วยก็ตากล้องอีก 1 คนเท่านั้น
“เราไม่กลัวหรอก ศพเค้าก็ห่อมา 3 ชั้น ฉีดน้ำยาทุกอย่าง แต่ญาติเนี่ยเราไม่รู้ว่าคนไหนเป็น ไม่รู้เค้าตรวจมาครบยัง ความเสี่ยงสูง”
“มันเป็นการจากลาที่… เคว้ง… เหงา… ไม่ได้จับ ไม่ได้หอม แค่จะเห็นหน้าคุณยายเป็นครั้งสุดท้ายพี่ก็ทำไม่ได้” – พี่ต้อม หนึ่งในญาติของผู้เสียชีวิตบอกกับเรา
เราไม่ได้ถามอะไรต่อมากไปกว่านั้น เพราะดวงตาที่อยู่ใต้แมสก์ 2 ชั้นเริ่มมีน้ำซึมออกมา เราเห็นแกพยายามถ่างตาออกเพื่อไม่ร้องไห้…
ในการเผาศพ COVID นั้น ทางโรงพยาบาลจะนำโลงศพที่มีศพอยู่ในซอง 3 ชั้นมาส่ง ทางวัดต้องเปิดเครื่องพ่นแอลกอฮอล์ ส่วนเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลจะนำศพไปส่งถึงในเตา จากนั้นลุงต๋อยถึงจะปิดฝา ให้แขกจะวางดอกไม้จันทน์ที่ด้านหน้า ญาติจะถูกกันไม่ให้เข้าใกล้เตา
จากนั้นจะจุดธูปไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และมีพระมาสวดหน้าเมรุ 4 รูป ระหว่างนี้ลุงต๋อยก็จะเปิดไฟเพื่ออุ่นเครื่อง
“พระที่นี่ไม่กลัว ลุย!” – ลุงต๋อยแกว่างั้น
เมื่อถวายของ กรวดน้ำเสร็จ พระก็จะลงมาวางดอกไม้จันทน์เพื่อเป็นการส่งวิญญาณให้ไปอย่างสงบ จากนั้นลุงต๋อยจึงบิดเร่งไฟและเผาต่อไปอีกเกือบสามชั่วโมง เสร็จแล้วถึงเปิดเตาเพื่อกวาดกระดูกกับขี้เถ้าที่เหลือลงมาในถัง พักไว้ให้คลายความเย็นหนึ่งคืน เช้ามืดของอีกวันจึงจะมาแยกกระดูกกับขี้เถ้าออก และจัดเรียงกระดูกเป็นรูปคน ให้ดูรู้ว่าอันไหนกระโหลก อันไหนกระดูกแขนกระดูกขา
“ไม่น่าเชื่อนะ ก่อนตายตัวใหญ่แค่ไหน แต่พอเผาแล้วก็เหลือตัวเท่านี้หมด เกิดมาตัวแค่ไหน ตายไปก็ตัวแค่นั้นแหละ”
จากนั้นก็รอให้ญาติมารับขี้เถ้ากับกระดูกโดยมีพระสวดก็เป็นอันจบพิธี
“น่าใจหายนะ ลุงเผามาตั้งแต่ COVID-19 ระบาดเเรก ๆ จากตอนนั้น 3-4 วันได้เผาศพ COVID ซักที ตอนนี้คือมีเข้ามาทุกวัน แถมล้นจนเผาไม่ทันด้วย”
สำหรับศพไหนที่ญาติมารับก็ดีไป แต่ก็มีบางศพที่ญาติกลัว เลยไม่ได้มารับ ลุงต๋อยแกก็ยังเก็บเศษขี้เถ้าและกระดูกแยกใส่กล่องและเขียนชื่อไว้ แกบอกว่าถ้าไม่มีญาติมารับจริง ๆ ก็คงเอาไปทำบุญรวมให้ทีเดียว
“เค้าอยู่ในโรงบาลเค้าก็ไม่ได้เห็นลูกเต้า ตายก็ไม่ได้เห็นลูกเต้า แถมเผาเสร็จลูกเต้าก็ไม่เอาอีก ทิ้งอีก” – ลุงต๋อยบอกเราหลังคืนเศษขี้เถ้าและกระดูกของศพเมื่อวานให้ญาติจนครบ ก่อนจะได้มีเวลาพักหายใจนิดหน่อย เพราะช่วงสายของวันศพก็เริ่มเข้ามาเหมือนเดิม
ถ้าหลายวัดเปิดรับศพ COVID มากขึ้น อาจทำให้ไม่ต้องมีการเผาข้ามเขต และทำให้ศพไม่ไปกระจุกอยู่แค่เพียงไม่กี่วัด ทำให้เมรุต้องทำงานหนักจนเจ๊งเหมือนในข่าว…
ยังดีว่าที่นี่ยังเปิดช่องว่างให้เตาพักบ้าง แต่ก็ไม่รู้จะยื้อไปได้นานแค่ไหน เพราะตอนนี้ทั้งคนทั้งเมรุก็เหนื่อยเต็มทน
เราเชื่อว่าถ้าวัดอื่น ๆ ไม่เปิดรับศพ COVID อีกไม่นานหลาย ๆ คงเกิดภาพเมรุร้าวและพังจนต้องทุบเหมือนกับที่วัดบางน้ำชน ถ้าถึงแล้วตอนนั้นพวกเราจะทำยังไง?
เอาศพมาวางบนกองไม้แล้วเผากันกลางแจ้งแบบที่อินเดียเหรอ?
ไม่ได้มีแต่เทวดาที่รู้หรอก คุณก็รู้เหมือนที่เรารู้แหละ