“ทุบตึกทิ้ง” คือการ “ทำลายอาคารสถานที่ต่างๆ ทิ้ง”
หลายคนคงไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว (ใครจะไปเคยทุบตึกหรือสั่งทุบตึกอะ)
แต่เราจะรู้กันได้ยังไงว่า “ที่ๆ เราอาศัยอยู่มันใกล้ถล่มแค่ไหน”ทีมทุบตึกมืออาชีพบอกเราว่ามีเยอะกว่าที่คิดเพราะสร้างไม่ถูกวิธี และยิ่งมีตึกไม่ได้มาตรฐานเยอะแค่ไหน ‘ศักดาทุบตึก’ ก็ยิ่งมีงานเยอะขึ้นแค่นั้น!
นี่คือเรื่องราวของ “ปลายทางของตึก” และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการ “ทุบตึก”
[End Of The Line | ปลายทางของ… ] เป็นซีรีส์ที่จะพาพวกเราไปพบปลายทางของสิ่งธรรมดา ๆ รอบตัวเรา แต่เมื่อเราไม่เห็น ‘ปลายทาง’ ของสิ่งเหล่านี้ เราอาจจะลืมอะไรบางอย่างไปได้
‘ผู้เสียชีวิตจากตึกถล่มในรัฐฟลอริด้า เพิ่มขึ้นมาเป็น 16 ราย’ ขึ้นมาบนหน้า feed เราวันก่อน ทำให้เราสงสัยว่า – “เฮ้ย 2021 แล้ว… ยังมีตึกแบบไม่ถูกมาตราฐานอยู่ในอเมริกาอีกเหรอวะ แล้วบ้านเราล่ะ?”
พาดหัวข่าวทั้งเก่าและใหม่ในอินเทอร์เน็ตมักมีข้อความแบบนี้เข้ามาให้ผ่านตาอยู่ตลอด เห็นได้ชัดว่าหลายคนยังคงมองข้ามเรื่องอายุการใช้งานของอาคารต่าง ๆ ไปอยู่ ไม่ว่าจะทั้งไทยหรือในอเมริกา
‘วันนี้ไม่ถล่ม พรุ่งนี้ก็คงไม่เป็นไร’ ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะบางทีรอยร้าวหรืออาการที่แสดงออกมาว่าตึกเสื่อมสภาพแล้วมันสังเกตดูได้ยาก เพราะภายนอกก็ดูแข็งแรงดี กำแพงร้าวก็จริง แต่มันยังไม่พังนี่นา
เราถึงอยากลองคุยกับพี่ศักดา – เจ้าของศักดาทุบตึกที่เห็นป้ายบ่อย ๆ ดูว่าข้างในอาคารพวกนี้มันเป็นยังไงกันแน่
“อย่างพวกตึกที่เราไปกินก๋วยเตี๋ยว ซื้อบุหร่งบุหรี่ พวกทรงโบราณเก่า ๆ อย่างแถวเอกชัย บางบอนน่ะ ต้องระวัง มันร้าาาาาาาวววววว หมดเลย”
พี่ศักดาบอกกับเราขณะที่ยืนอยู่ข้างไซต์งานทุบตึก 4 ชั้นที่ไฟไหม้ทิ้งที่ตอนนี้วุ่นวายและเสียงดังจนต้องเงี่ยหูฟัง
มันทำให้นึกถึงพาดหัวข่าวจากเคสเก่า ๆ ที่เคยดังในเมืองไทย
‘ย้อนเหตุโศกนาฎกรรม ปี 2548 ไฟไหม้ตึกถล่มพังครืน กลางกรุง เจ้าหน้าที่พลีชีพ’
‘ตึกเก่าอายุกว่า 30 ปีหลังตลาดประชานิเวศน์ ถล่มราบ รถพัง 7 คัน ผู้อาศัยหนีตาย 07/09/59’
ภาพตรงหน้าเราคือรถแบคโฮคันใหญ่กำลังบิดแขนเอาปลายหัวเจาะดันกำแพงตึกตรงหน้าพังลงมา ฝุ่นจากปูนก็ขึ้นมาฟุ้งกระจายเต็มพื้นที่ กำแพงปูนและพื้นก็กลายเป็นช่องโหว่เหลือแต่เหล็กเส้นในพริบตา ทำให้อากาศที่ร้อนอยู่แล้วร้อนและเหนียวขึ้นไปอีก
ไม่ทันไรฝุ่นก็ถูกกลบด้วยสายน้ำที่ฉีดดับมองเหลือบขึ้นไปด้านบนนิดนึงก็เห็นคนงานคนหนึ่งกำลังใช้หัวตัดตัดเหล็กเส้นให้หลุดขาดออกมาจากตัวตึกเพื่อเตรียมเก็บไปขายต่อไป
“ตึกแถวเก่า ๆ นี่ น่ากลัว เพราะหลังนี้ก็ร้าว หลังนู้นก็ร้าว คานก็พัง” – พี่ศักดาบอกเรา และยังเสริมอีกว่าที่จริงมันต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่ตอนจะสร้างเลย อย่างตอนที่ถมที่ ถ้าสร้างเลยโดยที่ไม่ได้รอให้พื้นมันเซ็ตตัวก่อนพื้นมันจะไม่แข็งแรง
“พวกขายก็อยากขาย พวกสร้างก็อยากสร้าง นายทุนบางคนเค้าถมที่ไม่เท่าไหร่ก็สร้างแล้ว แต่การถมดินมันต้องรอให้ดินแน่น พอสร้างปุ๊บ คราวนี้ทรุดหมด ถ้าใช้เข็มตีปุ๊บนี่ร้าวหมดเลย”
จากประสบการณ์เรา มีเพื่อนหลายคนที่ซื้อบ้านไปแล้วไม่กี่ปีบ้านก็พังเหมือนกันนะ จะพูดว่าตาดีได้ตาร้ายเสียก็ไม่ถูก เพราะหลาย ๆ อย่างเราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้เลย
ส่วนเราก็คงยังไม่ต้องเครียดเรื่องนี้เพราะตอนนี้ยังไม่มีเงิน ฮ่า ๆๆๆ
“แล้วมันมีวิธีการดูมั้ยพี่ หรือมันดูไม่ออกเลย ต้องลุ้นเอา ?”
“ตอนเค้าสร้างใหม่ ๆ มันก็ดูดีหมดอะ พอนาน ๆ ไป คราวนี้มันก็ดึงกันไง คราวนี้ตึกมันเอียง เพราะตอกเข็มไม่สนิท ตีเข็มไม่ดี มันก็ทรุดก็เอียง พอเอียง ๆ แล้วเหล็กตึกแถวมันก็ดึงกันไปไง ก็ทำอะไรไม่ได้ มันเป็นตึกแถว”
ส่วนถ้าจะสร้างบ้านพี่ศักดาบอกว่าก่อนอื่นต้องดูตั้งแต่ที่เลยเพราะบางที่เขาใช้อิฐหักไปถม มันทำให้ตอกเสาเข็มไม่ค่อยได้ แถมปลูกต้นไม้ก็ไม่ได้ ควรจ้างแบคโฮไปขุดขึ้นมาดูเพื่อความชัวร์ก่อนว่าข้างใต้มีอะไรบ้าง เพราะบางทีเราอาจเจอเศษอิฐ คาน หรือเจอปูนทุบตึก
อีกหนึ่งความรู้ใหม่ของเราคือที่จริงแล้วพวกตึกหรือบ้านทั่ว ๆ ไป (ไม่นับพวกห้างใหญ่หรือพวกตึกใหญ่ ๆ อย่างใบหยก) มันก็มีการเสื่อมอายุการใช้งานเหมือนกัน
ตึกส่วนมากจะเริ่มเสื่อมสภาพตอนอายุได้ซัก 30 ปี ซึ่งถ้าใครมีงบก็ควรทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่… จะว่าไปอาจเป็นเราที่ไม่ได้ใส่ใจเอง เพราะตอนนี้บ้านอายุเกือบ 30 ปีที่เรากลับไปนอนทุกวันก็มีรอยร้าวตั้งนานแล้ว… หวาดเสียวเหมือนกันแฮะ
ต่อมความสงสัยเริ่มทำงาน เราถามพี่ศักดาว่าตึกสมัยก่อนกันสมัยนี้ใช้วัสดุต่างกันแค่ไหน
“… ตึกเก่าสมัยก่อนเนี่ยเหล็กมันจะเยอะกว่า แต่ทุกวันนี้ต้องเซฟกันเยอะ ถ้าคนไม่มาคุมจริง ๆ นี่บางทีเจอผู้รับเหมาใส่เหล็กน้อยกว่ามาตรฐาน สมัยก่อนมันเลยดีกว่า เพราะเค้าใส่เหล็กแบบไม่อั้นไง เหล็กมันถูก
คือช่างเขาไม่ค่อยมีนอกมีในเหมือนในยุคนี้ ถ้าเจ้าของไม่เฝ้า โฟร์แมนไม่เฝ้าก็น่ากลัว” – พี่ศักดาพูดท่ามกลางเสียงทุบตึกโป้งป้าง ๆ ที่ดังอยู่ใกล้ ๆ
การทุบตึกจะต้องเริ่มจากการเข้าไปสำรวจพื้นที่ อย่างถ้าเป็นตึกแถวก็จะต้องไปเจรจากับบ้านข้างเคียงและถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน เผื่อที่เมื่อเสร็จงานผู้รับเหมาจะต้องช่วยซ่อมแผลที่บ้านข้างเคียงได้รับผลกระทบจากการทุบตึกด้วย จากนั้นก็ขออนุญาตแนวรื้อถอน
แล้วค่อยทำแนวป้องกัน เพื่อกันไม่ให้ฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ สุดท้ายก็ทำพิธีไหว้ขอเจ้าที่แล้วถึงจะเริ่มได้… แต่ถ้าถามหมอปลา แกคงบอกให้เอา M.150 ไปไหว้คนขับแบคโฮดีกว่า ฮ่า ๆๆๆๆ
พูดถึงคนขับรถแบคโฮในการรื้อถอนบ้าน คนพวกนี้จะเป็นคนของบริษัทพี่ศักดาโดยเฉพาะ คือจะไปจ้างคนขับแบคโฮขุดดินมาทำงานแบบนี้ไม่ได้ เพราะจะใช้แนวคิดและทักษะคนละแบบ การสร้างอย่างถูกวิธีก็เรื่องนึง การทำลายอย่างถูกวิธีก็เป็นอีกเรื่องนึง แถมทุกคนจะต้องผ่านการทุบบ้านด้วยมือมาก่อนทั้งนั้น เพื่อที่จะได้รู้มุมและชำนาญในเรื่องโครงสร้างบ้านแบบต่าง ๆ
“เค้าต้องผ่านมาก่อน ต้องรู้อะ เหมือนเราตัดต้นไม้ต้นหนึ่ง จะให้เอียงล้มไปทางไหน ก็เหมือนกัน เหมือนพวกกรรมกรก่อสร้างจะให้เค้ามาทุบตึกแบบพวกผม เค้าก็ทำไม่เป็น อันนี้ต้องเป็นวิชาเฉพาะ” – พี่ศักดาอธิบาย
“อันดับแรกทุบพื้นก่อน อย่างตึก 4 ชั้นแบบที่นี่ ก็ทุบชั้น 2 ลงมาหาชั้น 1 ชั้น3 ลงมาหาชั้น 1 ชั้น 4 ลงมาหาชั้น1” เหตุผลที่ต้องทุบแบบนี้ก็เพราะว่าถ้าทุบจากชั้นบนลงมาชั้นล่าง ( ชั้น 4 ไป 3 ชั้น 3 ไป 2… ) มันจะทำให้ปูนนอนกองเยอะเกินไป ถ้าตึกไหนมันร้าวหรือเอียงอยู่แล้ว การที่ตึกต้องแบกน้ำหนักที่รวมอยู่ในจุดเดียวมาก ๆ ก็อาจทำให้ตึกถล่มได้
“ตึกนี้โดนไฟไหม้มาครับ มันโยก มันแข็งแรงน้อยลง ผนังนี่ถ้าเป็นอิฐแดงนี่แทบจะไม่ได้ทุบเลยแหละครับ เคาะนิดเดียวก็ถล่มแล้ว หลังนี้จริง ๆ ตอนขึ้นไปก็เริ่มโยกแล้วนะ”
“กลัวมั้ยครับพี่?”
“ตอนแรกก็ไม่กลัว อย่าทักสิ ถ้าทักแล้วก็กลัว” – พี่แฮ็กคนทุบตึกคนหนึ่งบอกกับเราตอนตอนพักเหนื่อยจากการทุบตึกไฟไหม้ 4 ชั้น
จริง ๆ พื้นในไซต์รื้อถอนนี้มันเดินยากกว่าที่คิด เพราะพื้นเป็นเศษปูนกองสุมรวมกันผสมกับมีเหล็กเส้นแทงออกมา มันทำให้เราต้องมองและเกร็งขาทุกก้าวที่เดิน ต่างกับพี่ ๆ ที่เคยชินกับการเดินบนพื้นที่แบบนี้มาก เพราะพี่ ๆ เขาเดินได้เร็วเกือบเท่าเราเดินบนพื้นราบปกติ
แถมก่อนหน้าที่พี่เค้าจะปีนไปบนหลังคา เราพยายามจะปีนเหล็กเส้นตามพี่คนนี้ขึ้นไปถ่ายรูปที่ชั้น 2 ของบ้าน (ภาพที่แล้ว) พี่แกเห็นท่าเราไม่ไหวเลยเดินไปหยิบบันไดมาพาดให้
สงสัยที่ว่า “คนบุรีรัมย์เท้า(ตีน)เหนียวเหมือนตุ๊กแก” นี่ท่าจะจริงอย่างที่พี่ศักดาพูด เพราะคนงานในทีมส่วนใหญ่มาจากบุรีรัมย์ทั้งนั้น ฮ่า ๆๆๆๆ
พี่แฮ็กบอกว่าตัวเองเคยเจออุบัติเหตุเหมือนกัน คือจากคานสำเร็จรูปที่มักอยู่ในบ้านสมัยใหม่ เพราะด้วยความไม่รู้ว่าเป็นคานสำเร็จรูป คือทุบไปหน่อยนึงมันก็หลุดแล้วหล่นลงมา
“แต่อย่างตึกนี้เป็นตึกเก่า คานมันยังไม่เป็นแบบสำเร็จรูป นี่ดึงไปยังไม่ค่อยอยากจะมาเลยครับ”
หัวใจสำคัญคือทำให้ตัวตึกเบาก่อน จากนั้นค่อยเอารถแบคโฮเข้าทุบให้เสร็จ และขั้นตอนสุดท้ายคือขุดตอม่อออกและปรับหน้าดิน
หลังทุบในแต่ละวันเสร็จเศษเหล็กที่มีราคา ๆ ส่วนใหญ่มักจะถูกขายที่หน้างานเลย ส่วนเศษปูนยิบย่อยและชิ้นส่วนอื่น ๆ เช่น ไม้ เศษเหล็ก วงกบ ประตู หน้าต่าง และอื่น ๆ ตามที่คุณคิดออก จะถูกนำมาพักไว้ที่โรงงานเพื่อวางขายหรือรอประมูลต่อไป
แล้วมันมีอะไรที่ขายได้บ้างอะครับ ?”
“ก็เป็นโครงหลังคา เหล็ก ประตูหน้าต่างที่ยังดูดี แล้วก็พี่ยังมีโรงไม้อยู่ที่อำเภอบางบาล จ.อยุธยา เราก็เอาไม้เก่าไปถอนตะปู แล้วเอาไปตกแต่งทำประตูหน้าต่าง ทำวงกบ ทำโต๊ะ เก้าอี้ ส่งตามร้านอาหาร แล้วแต่เค้าจะสั่ง หรืออย่างตรงนิมิตรใหม่ ใกล้ ๆ นี่ผมก็วางพวกวงกบประตู ส่วนเศษเหล็กเราก็ไปขายตามร้านซื้อของเก่า”
สภาพโรงงานที่นิมิตรใหม่คร่าว ๆ คือเป็นลานโล่ง ๆ ที่มีกองวัสดุอย่างเศษปูนและท่อนไม้เต็มไปหมด พร้อมกับรถแบคโฮที่คาดว่าคงมีไว้เตรียมตักขึ้นรถเมื่อมีใครมาขอซื้อ ถัดออกไปด้านหลังก็เป็นห้องที่ตีขึ้นมาใต้หลังคาเพื่อเอาไว้เก็บหลังคาบ้านและเศษเหล็ก
เอ๊ะ! นี่มันเสาบันไดรุ่นเดียวกับที่บ้านเราเลยนะเนี่ย สงสัยจะเป็นบ้านรุ่นราวคราวเดียวกัน บ้านเราก็วินเทจไม่เบาเหมือนกันแฮะ
ที่จริงไม้ตรงนี้รวมถึงตู้ ประตู วงกบ หลาย ๆ อันยังดูแข็งแรงและใช้ได้ดีอยู่เลย ถ้าเกิดว่ามีการนำกลับไปสร้างบ้านอีกครั้งหนึ่ง โดยที่เราไม่ต้องตัดต้นไม้เพิ่มก็น่าจะดีกับทรัพยากรเหมือนกัน
ที่สำคัญพี่ศักดายังมีร้านขายของจิปาถะที่เก็บมาจากการทุบบ้านด้วย ทุกอย่างมันคือ Mix & ไม่ Match ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะมันคงมาจากที่คนละที่ บ้านคนละหลัง
ของที่อยู่ตรงนี้จะผ่านการคัดมาแล้ว สภาพเป็นแบบมือ 2 ผสมฝุ่นมือ 1 ซึ่งถ้าใครอยากประหยัดเงินหน่อยก็มาเลือกซื้อไปได้
เท่าที่มองด้วยตาคร่าว ๆ เราคิดว่ามีทุกอย่างที่ใครจะอยากเอาไปสร้างหรือแต่งบ้าน
สำหรับเราบรรยากาศที่นี่คล้าย ๆ กับร้านขายเสื้อผ้ามือ 2 ในจตุจักรไปอีกแบบนะ เพียงแต่ตอนนี้เราไม่ได้กำลังจะสร้างบ้าน ก็เลยไม่ได้รู้สึกอยากรื้ออยากค้นดูเฟอร์นิเจอร์ปลดเกษียณตรงหน้าอะไรขนาดนั้น ฮ่า ๆๆ
“พี่ศักดาแกก็เก็บมาหมดแหละครับ อันนี้ก็ขวดน้ำในบ้าน แกเห็นมันวางไว้รกหูรกตา เลยเก็บมาขายด้วย” – ‘แต้ม’
หนึ่งในทีมงานบอกเพราะเห็นเราด้อม ๆ มอง ๆ ขวดพลาสติกเปล่าที่วางอยู่บนชั้นในมุมมุมหนึ่งก่อนจะพาเดินเข้ามาดูที่ห้องพักของตัวเองที่พี่ศักดาจัดไว้ให้อยู่
เราเดินเข้ามาในเพิงพักที่เป็นห้องขนาดประมาณ 4 x 4 เมตร ติดประตูเป็นโต๊ะเล็ก ๆ ด้านขวาเป็นเตียง มีขวดเบียร์ปักยากันยุงที่ขดเป็นก้นหอยวางอยู่ข้าง ๆ ด้านในสุดเป็นชั้นเก็บของ รอบห้องมีของวางพาดและวางที่พื้นกระจัดกระจายอยู่เป็นจุด ๆ
“อันนี้ขนมอะไรไม่รู้ ผมก็เรียกไม่ถูกครับ บางทีพี่ศักดาแกก็ชอบซื้อมาฝาก” – แต้มพูดพร้อมกับหยิบขนมปังยัดไส้ที่เหลือครึ่งก้อนในถูกพลาสติกที่ถูกพับปากถุงวางไว้บนโต๊ะใกล้ ๆ ประตูขึ้นมาให้เราดู
แต้มบอกว่าเวลาพี่ศักดาไปทำงานก็กินของเหมือน ๆ กับคนงาน แกชอบพูดตลกกับลูกน้องเพราะไม่อยากให้เครียดก่อนไปทำงาน บางทีก็มีคนโดนบ่นบ้างเพราะงอแงเรื่องงาน หรืออย่างเพลง ‘โดนหลอกไปทุบตึก’ เพลงซิงเกิลของพี่เค้าใน Youtube ก็เอาประสบการณ์จริงมาแต่ง
ก่อนจะเดินออกจากห้องเราทำท่าจะทักเรื่องหมวก แต่เหมือนแต้มรู้ทันเลยชิงเล่าก่อน “ผมชอบดูวันพีช ผมได้หมวกมาเลยเอามาทาสีให้เหมือนของลูฟี่ ดูมานานแล้วครับ อยากรู้ว่าตอนจบจะเป็นยังไง”
ฟังแล้วก็นึกถึงคำพูดของพี่ศักดาที่บอกว่า “ทำงานทุบตึกมันก็วุ่นวายเหมือนอย่างน้องเห็น… สารพัดนึก ถ้าตึก 5-6 ชั้น มันร่วงลงมาอยู่ชั้น 1 ชั้น 2 ได้
เราก็โล่งอกละ ไม่งั้นเราก็ต้องมานั่งคิดนอนคิด โอ๊ย มันจะเป็นยังไงมั้ย เป็นห่วงลูกน้อง” พี่ศักดาบอกเราแบบนี้ก่อนเปิดประตูขึ้นรถกระบะ ขับออกรถไปที่ไซต์งานต่อไปของวัน…
เราได้กลับไปที่ไซต์ทุบตึกในอีกไม่กี่วันให้หลัง ภาพที่เห็นคือไม่เหลือเค้าโครงของตึกสี่ชั้นไฟไหม้อีกต่อไปแล้ว ข้างหน้าเรามีแค่กองเศษปูนเศษเหล็ก และพื้นที่เป็นรูเว้าของฐานตอม่อ
“เป็นธรรมดานะ คนทำทุบตึกเวลาไปไหนเราก็จะคอยมองบ้านเก่า เห็นตึกเก่าก็ดีใจ โอ๊ยวันไหนจะได้ทุบ ๆ ขับรถไปด้วยกันเนี่ย จนแม่พี่ว่าเนี่ย โอ๊ย จ้องแต่จะทุบตึกเขาเนี่ย อะไรอย่างนี้”
นี่คือสิ่งที่พี่ศักดาบอกเราปนเสียงหัวเราะเมื่อครั้งก่อน ไม่รู้ว่าวันนี้พี่ศักดาจะขับรถไปเจอตึกเก่าที่ไหนมั้ย แต่แน่นอนว่าของแบบนี้ ยิ่งทิ้งก็ยิ่งเก่า ยิ่งปล่อยไว้ก็ยิ่งเสื่อมสภาพ เพราะตึกที่หมดอายุการใช้งานหรือไม่ได้มาตรฐานไม่รู้มันจะพังลงมาวันไหน ถ้าใครมีงบก็ทุบแล้วสร้างใหม่ดีกว่า (พี่ศักดาแกแนะนำมา ฮ่า ๆๆ)