ผู้ลี้ภัย ผลิ(ต)จากความรุนแรง

ชายแดนไทย-พม่า หลายคนกำลังกลายเป็น ผู้ลี้ภัย หรือ refugee

ผู้ลี้ภัย หรือ refugee เป็นคำเรียกง่าย ๆ ที่เหมารวมผู้ที่เลือกที่จะเดินทางออกจากภูมิลำเนาตัวเองเนื่องจากสงคราม ความรุนแรง หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่น ๆ 

ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องราวของคนเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ไม่ไกล ไม่ถึง 500-1,000 กิโลฯจากกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงเรา ไม่ว่าเราจะมองเป็นเรื่องการเมือง เรื่องชนกลุ่มน้อย 

น้องคนนึงเดินทางไปกับผู้ลี้ภัย (refugee) แถบแม่น้ำสาละวิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปตามหา ‘ความจริง’ ที่ใกล้กว่าที่คิด

ความเป็นจริงก็คือนี่คือผลลัพท์ของการใช้ความรุนแรงต่อมนุษย์ด้วยกัน

ชาวบ้านทั้งเด็ก สตรี และคนชราหนีออกจากบ้านเข้าป่า และมุ่งไปตามชายแดนเพื่อหาที่ปลอดภัย

ผมเป็นคนกะเหรี่ยงที่อยู่และเติบโตใกล้ชายแดน ผมกำลังเดินทางไปในที่แห่งหนึ่งใกล้บ้าน ที่ไม่ใช่หมู่บ้านแต่มีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะอยากเห็น “ความจริง” จากข่าวที่ได้ยินว่าตอนนี้มีคนพลัดถิ่นและมีการโจมตีชาวบ้านในละแวก

  หลังออกจากตัวอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนตั้งแต่เช้ามืดด้วยรถยนต์ เปลี่ยนมาเป็นมอไซค์ แล้วตบท้ายด้วยการเดินเท้า ข้ามน้ำข้ามภูเขากว่าสิบสองชั่วโมง  และแล้วผมก็มายืนอยู่บนเส้นแบ่งเขตแดนไทยพม่าตรงข้ามบ้านแมหนึถ่า

            “สวัสดีค่ะ บ้านพี่อยู่ที่ไหน” แก๊งเด็กชายหญิงราวสิบคนเข้ามาทักผม 

            “บ้านพี่อยู่นี่” ผมชี้เปลที่ผูกระหว่างไม้สองต้น

            “อ๋อ… บ้านพี่ก็โดนถล่มเหมือนกันหรอ?”

            “……”

            พวกเธอหัวเราะกับการไร้คำตอบของผม จากนั้นก็ตั้งคำถามนู่นนี่  และเมื่อแสงน้อยลงก็พากันเดินกลับเข้า “บ้าน” ของตัวเอง  

            บ้านที่ไม่มีผนังกันแดดลมฝน มีแค่หลังคาจากผ้าใบสีฟ้าขาว ส่วนพื้นด้านล่างปูด้วยเสื่อ เศษกล่องกระดาษบ้าง หรือใบไม้ ไม่ก็พื้นดินธรรมดาผสมเม็ดทรายละเอียด

รอยเถ้าถ่านสีดำของบ้านที่ถูกโจมตีโดยการทิ้งบอมบ์ลูกแรกจากกองทัพทหารพม่าในวันที่ 27 มีนาคม 2564 ตรงนี้มีคนตายและบาดเจ็บหลายราย

อ้อ! ก่อนหน้านี้ที่ผมเงียบน่ะไม่ใช่เพราะตอบไม่ได้หรอกนะ แต่เป็นเพราะกำลังอึ้งกับข้อสันนิษฐานที่ดันตรงกับความจริงเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน…ผมกับเขา เราไม่ต่างกัน

            ค่ำคืนของที่นี่แตกต่างจากที่อื่น แทนที่จะสร้างแสงสว่างดับความมืดแต่ทุกคนกลับพร้อมใจกันทำให้กลางคืนมืดมากที่สุด ขนาดอ่านหนังสือยังต้องมีการนำผ้าปิดซ้อนหน้าไฟฉายเลย เพื่อกรองแสงให้เหลือน้อยที่สุดเพราะว่าทุกคนต่างหวาดกลัวและกังวลว่าจะตกเป็นเป้าของเครื่องบินทิ้งบอมบ์เหมือนที่เก่าที่จากมาในรัฐกะเหรี่ยง             

“จะคนฝั่งโน้นหรือฝั่งนี้ก็ไว้ใจไม่ได้หรอก เพราะเขาก็ถือปืนเหมือนกันน่ะ เราก็ต้องป้องกันไว้ก่อน…” คุณลุงคนหนึ่งเล่าถึงความกังวลที่ว่าคนถืออำนาจสั่งการที่อยู่ข้างบนนั้นอาจจับมือกันทำร้ายพวกเขาเมื่อไหร่ก็ได้

ที่พักพิงชั่วคราวในป่าริมน้ำสาละวินฝั่งไทย ที่มีเพียงหลังคาจากผ้าใบพลาสติกสีฟ้าขาว (ผ้าใบมาจากการช่วยเหลือกันเองของประชาชน)

ผมนอนเปลมองขึ้นฟ้า  ตอนนี้อากาศเย็นและเงียบสงบกว่าตอนหัวค่ำ ผมมั่นใจว่าถ้าไม่รู้มาก่อนผมคงไม่มีทางคิดว่ามีผู้คนมากกว่าพันคนกำลังพักพิงอยู่ที่นี่  และคิดว่านี่เป็นป่าริมน้ำธรรมดาที่ข้างหนึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติสาละวิน อีกข้างเป็นอุทยานสันติภาพสาละวิน

            ในความมืดมีเสียงการพลัดพราก พลัดถิ่น และลี้ภัยหนีความรุนแรงของผู้คนในเขตหมื่อตรอ รัฐกะเหรี่ยงจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพพม่า 

ผมได้ยิน…เสียงตุ๊กแก เสียงแมลง เสียงคนอธิษฐาน เสียงเด็กทารกร้องไห้ เสียงแม่ดุลูกให้เงียบ เสียงกระซิบกระซาบ เสียงไอค๊อกแค๊ก เสียงคนเดินผ่าน เสียงคนชนปี๊บ แล้วตามมาด้วยเม็ดทรายกระเด็นเข้ามาในเปล

… ผมนอนฟังเสียงก่อนจะเผลอหลับไป มาสะดุ้งตื่นอีกทีตอนเช้ามืดด้วยเสียงของแม่กับลูก และอดที่ตั้งคำถามไม่ได้ว่า“ทำไมตื่นทำกับข้าวกันเช้าจัง นี่ยังไม่ตีสี่เลยนะเธอ” 

แม่กับลูกประกอบอาหารแต่เช้ามืดเพราะไม่สามารถนอนหลับพักผ่อนถึงเช้าได้ (การประกอบอาหารคือหนึ่งในไม่กี่กิจกรรมที่ผู้ลี้ภัยพลัดถิ่นพอจะทำได้)

  “มันนอนไม่หลับ นอนไม่หลับเลย” แม่ที่กำลังตักเกลือใส่หม้อแกงตอบผม พร้อมกับระบายปัญหาอย่างยาวเหยียดให้ฟังว่า ที่นี่อากาศร้อน อาหารน้อย ชีวิตไม่มั่นคง อยู่ไม่สบาย ต้องนอนกับดิน ต้องกินกับทราย ต้องอยู่แบบผิดที่ผิดทาง ทำให้ร่างกายและจิตใจไม่มีความสดใส  

            ต่างกับบ้านที่จากมาอย่างสิ้นเชิง ที่นั่นถึงแม้จะเป็นกลางดอยและมีบ้านเป็นเพียงกระท่อม แต่เราก็มีความสุขและสบายใจในที่ที่เป็นของเรา 

เธอรู้ไหมที่ที่เราจากมาน่ะอากาศดี มีน้ำสะอาด มีสัตว์เลี้ยงให้ดูแล มีไร่นาเลี้ยงชีวิต มีวัฒนธรรมประเพณีเลี้ยงจิตวิญญาณ  ถึงแม้จะหาเช้ากินค่ำแต่ก็ดีกว่านั่งรอความช่วยเหลือ  เพราะรู้สึกว่าศักดิ์ศรีเราก็ด้อยลงทุกวัน…

 “ถ้าที่นั่นดีกว่าจริง ทำไมต้องพาตัวเองมาลำบากที่นี่”

            “ความตาย ใคร ๆ ก็กลัว…” 

            ผมไม่สงสัยกับคำตอบที่ได้รับเพราะถ้าเป็นผมก็คงหนีเหมือนกัน  ผมอยากลองชวนคุณจินตนาการดูว่าหากอยู่ดี ๆ ก็มีใครไม่รู้โยนระเบิดใส่ต่อหน้าต่อตา ตามมาด้วยไฟไหม้ คนตาย และเลือด 

แบบนี้คุณคงไม่คิดว่าการที่ผมหนีเป็นเรื่องแปลกหรอกนะ?  ชีวิตผม ผมก็รักเพราะยังมีอีกหลายอย่างที่ผมอยากทำ

            หลายคนอาจคิดว่าความรุนแรงนี้เพิ่งเกิดขึ้น  แต่ผมยืนยันด้วยหัวเลยว่าเปล่าเลย ความจริงมันเกิดขึ้นมานานแล้ว นี่เป็นแค่เรื่องเล็กน้อยที่เกิดซ้ำซาก ไม่มีอะไรใหม่

ลักษณะที่พักพิงชั่วคราวและการใช้ชีวิตของผู้ลี้ภัยพลัดถิ่น ที่ไม่มีอาชีพ ไม่มีกิจกรรม ไม่มีการเรียนการสอน และ ไม่มีใครดูแลรับผิดชอบ

 คนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวมานานกว่าเจ็ดสิบปี  ชีวิตต้องเจอกับความโหดร้ายซ้ำ ๆ วันดีคืนดีบ้านก็ถูกเผา ยุ้งฉางก็ถูกทำลาย ข้าวในไร่นาที่พร้อมเก็บเกี่ยวก็ถูกเผา

ใครแข็งแรงหน่อยก็ถูกจับไปใช้แรงงานและคอยเป็นด่านหน้าบังกระสุน ใครปากกล้าขาแข็งก็ถูกทำร้ายทรมานให้ถึงแก่ความตาย และใครที่เป็นหญิงก็ต้องระวังตัวเป็นพิเศษเพราะเธอจะถูกข่มขืนเมื่อไหร่ก็ได้

            ทุกอย่างที่เล่ามานี้ไม่มีอะไรเกินจริง และไม่ได้เพียงเกิดขึ้นแล้วจบลงเป็นช่วง ๆ แต่ยังทิ้งบาดแผลไว้ทั้งในจิตใจ ในร่างกาย ในทุกพื้นที่รอบตัว และรอยแผลก็หยั่งรากลงลึกเกินกว่าที่คนนอกจะคาดเดาได้ เด็กบางคนแค่แกล้งพูดว่า “พม่ามา” ก็ร้องไห้ยืนแข็งฉี่ราดแล้ว

ห้องเรียนที่เดะปูโหนะ(Day Pu Nho) เขตหมื่อตรอ(Mu Traw) ในรัฐกะเหรี่ยง ภายหลังถูกทิ้งบอมบ์ทางอากาศจากกองทัพทหารพม่า ในวันที่ 31 มีนาคม 2564

หลายคนที่ออกจากบ้านหลบหนีพักพิงชั่วคราวอยู่ในพื้นที่อื่นก็ใช่ว่าจะมีความสุขดีไปซะทุกอย่าง อีกทั้งยังถูกตัดสินว่าขี้เกียจ ไม่ทำมาหากิน เป็นภาระ เป็นตัวอันตราย และที่สำคัญจะถูกผลักดันกลับไปหาความตายเมื่อไหร่ก็ได้

สุดท้ายแล้วชีวิตที่เลือกไม่ได้กับชีวิตที่ถูกบังคับให้เลือกบทสรุปมันก็ไม่ต่างกัน  

            ผมคิดว่าก่อนหน้านี้ก็มีตัวอย่างปัญหาที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงไม่น้อยแล้วนะ  โดยเฉพาะพม่าที่ใช้ความรุนแรงกับพลเมืองตัวเองมาโดยตลอด จนผู้คนต้องอพยพหนีร้อนมาพึ่งเย็นในศูนย์พักพิงชั่วคราวบนแผ่นดินไทย ซึ่งเป็น “ชั่วคราว” ที่แปลว่ามากกว่า “สามสิบปี” ในปัจจุบัน

สาละวินกับการเดินทางที่ยาวนานของผู้ลี้ภัย/พลัดถิ่น

ผมพบว่ามีคนเกือบหนึ่งแสนคนจากศูนย์พักพิงชั่วคราวเก้าแห่งที่ได้รับการรับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แต่ผมมั่นใจว่าตัวเลขจริงต้องมากกว่านี้แน่นอน  เพราะแค่คนรอบตัวที่รู้จักก็ไม่น้อยแล้ว

หลายคนต้องอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ อย่างไร้สิทธิ์ไร้เสียง อยู่ตามซอกตึกมุมเมืองบ้าง อยู่ตามสันเขาชายแดนบ้าง กระจัดกระจายอยู่แทบทุกที่แหละ 

            สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าไม่ต่างกันเลยก็คือชะตากรรมที่คนกลุ่มนี้ต้องเจอ คนที่อยู่นอกศูนย์ฯ ต้องอยู่แบบไร้ตัวตน  ส่วนคนที่อยู่ในศูนย์ฯ ความหวังที่จะกลับบ้านเดิมก็ยากเพราะไม่มีความปลอดภัย จะอยู่ที่เดิมในไทยก็ไม่มีกฎหมายรองรับ หรือจะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศที่สามก็เหมือนจะเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะกำหนดโครงการฯ ใกล้สิ้นสุดลงทุกวัน

เด็กชายนั่งเล่นดินทรายขณะที่สายตามองน้ำสาละวินและแผ่นดินที่จากมา สงครามผลักให้เด็กจำนวนมากกลายเป็นผู้ลี้ภัย/พลัดถิ่นโดยไม่รู้ตัวตั้งแต่ยังไม่รู้ความ

 ในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง ผมกังวลมากว่าชีวิตที่ไม่สามารถต่อรองหรือเรียกร้องอะไรได้ของเพื่อนมนุษย์กลุ่มนี้จะเป็นยังไงต่อไป เพราะชีวิตการเดินทางของเขาเข้าใกล้วงจรการค้ามนุษย์อย่างไม่รู้ตัวขึ้นทุกที

ผมมั่นใจว่าวงจรนี้จะทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีกเป็นพวงแน่นอน  และที่สำคัญในวันนี้ปัญหาผู้ลี้ภัยเก่ายังคาราคาซังไม่ได้รับการแก้ไข ผู้ลี้ภัยใหม่ก็มีทีท่าว่าจะมากขึ้นเรื่อย ๆ 

โอ้!! นี่มันเกิดอะไรขึ้นกับโลกเรากันแน่???

“แอะกือกือ” เด็กหญิงวัยสองอาทิตย์เศษที่ลืมตาดูโลกในคืนฝนตกกลางป่า(28 มีนาคน 2564) ใต้หลังคาผ้าใบพลาสติกและผนังจากผ้าห่มบาง ๆ

ผมว่านี่เราก็เดินทางมาถึงปี 2021 แล้วนะ ทำไมยังคงมีการใช้ความรุนแรงอย่างไม่น่าให้อภัย

ทำไมยังต้องมีคนจำนวนมากต้องรับกรรมลี้ภัยพลัดถิ่น

ทำไมยังมีนักสู้เพื่อความเป็นธรรมอีกจำนวนมากถูกทำให้เป็นภัยความมั่นคงของชาติ

ทำไม…

มื้อเที่ยงของซอมูกรีทู เด็กชายวัยสามขวบกับจานข้าวสุกคลุกน้ำแกงและผักบุ้งแก่ที่เหี่ยวเฉาของเขา

  สำหรับตัวผมเองก็ตอบไม่ได้หรอกนะว่า “ทำไม” เพราะคิดว่าคำตอบอยู่ในมือ “คนถืออำนาจ” นู่นนน!! 

ใครสะดวกก็ฝากข้อความไปถามหน่อยละกัน และเพิ่มเติมด้วยว่า “ทำไมไม่รู้จักโต ทำไมไม่รู้จักปล่อยวาง” เมื่ออรุณมาถึงความมืดก็จะหาย ดอกไม้ก็จะผลิบาน เธอไม่สามารถอยู่ค้ำฟ้าได้หรอกนะ”

Special Thanks to ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา  for sharing their intimate personal account.

Loading next article...