Social Distancing ความเป็นไป (ไม่) ได้ที่ต่อให้เราจะตั้งการ์ดแค่ไหนก็ยังมีช่วงเวลาแห่งความแน่นขนัด
ทำไมหลายคนถึงโพสต์แล้วโพสต์อีก บ่นปากเปียกปากแฉะ เรื่องการขนส่งสาธารณะ?
เรา ‘ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ’ ก็อาจจะต้องการ์ดตกได้ในยามที่เราไม่มีทางเลือก การเว้นระยะห่างที่ไม่อาจซื้อได้ด้วยเงินค่าโดยสารอันน้อยนิด คนกลุ่มหนึ่งจึงต้องแลกความปลอดภัยทางด้านสุขภาพเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้
พวกเขาต้องเลือกว่าจะมีสุขภาพที่ไม่ติดโรคหรือมีเงินเพื่อใช้ชีวิตต่อไปในวันพรุ่งนี้
กลุ่มคนยืนกระจุกกันบนพื้นที่เล็ก ๆ ของโป๊ะระหว่างรอเรือโดยสารที่จะเข้ามาจอดเทียบท่า ก่อนที่จะเบียดตัวเข้าเป็นเหมือนมวลกลุ่มคน ดันผู้โดยสารคนแล้วคนเล่าลงเรือคลองแสนแสบ
พวกเขาต่างก็ต้องรีบช่วงชิงเวลาการจอดรับผู้โดยสารที่มีอยู่น้อยนิดยังคงเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ แม้ในยามที่เราต่างก็ต้องทำการเว้นระยะห่างตามมาตรการจากทางรัฐ ซึ่งเราคนปฏิบัติก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าคนบังคับใช้มาตรการนั้นเคยใช้บริการโดยสารขนส่งสาธารณะเหล่านี้บ้างหรือเปล่า
บนตู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ผู้โดยสารต่างเว้นระยะห่างตามสัญลักษณ์ที่ถูกกำหนดไว้ คนบางตา และพื้นที่การโดยสารที่มากกว่าขนส่งสาธารณะประเภทอื่นทำให้การเว้นระยะห่างเป็นไปได้ง่ายขึ้น
การเว้นระยะห่างเกิดขึ้นจริงได้ ในกรณีที่เราสามารถใช้เงินซื้อการเดินทางที่สะดวกสบาย และมีพื้นที่ในการบรรทุกจำนวนผู้โดยสารได้มากขึ้น แต่ถ้าเป็นคนที่มีทางเลือกน้อย หรือไม่มีเงินมากพอสำหรับการใช้บริการขึ้นขนส่งสาธารณะเหล่านั้นล่ะ พวกเขายังจะทำการเว้นระยะห่างได้อยู่ไหม
ช่วงสองเดือนที่ผ่านมาหลังจากการระบาดหนักเป็นครั้งที่สอง ทำให้หลายบริษัทเลือกที่จะให้พนักงานเวิร์กฟรอมโฮมหรือทำงานที่บ้าน ขนส่งมวลชน หรือแม้แต่ท้องถนนที่เคยมีรถติดอยู่จนเป็นประจำ จำนวนของรถบนถนนและคนบนขนส่งสาธารณะก็ดูบางลงถนัดตา
ในวันที่คนส่วนมากเลือกที่จะอยู่บ้านเพื่อป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงที่จะติดโรคระบาด ก็ยังมีคนอีกหลายกลุ่มก็เลือกการเวิร์คฟรอมโฮมไม่ได้
ยอดผู้ติดเชื้อสะสมหลังการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2563 จนถึงวันนี้ (28 มกราคม 2563) มีเพิ่มมากขึ้นมา 11,924 คน อาจเป็นเพราะมีการตรวจเชิงรุกเพิ่มมากขึ้นทั้งที่ควรจะทำมาตั้งแต่การตรวจเจอผู้ติดเชื้อครั้งแรก และก็ยังเป็นเรื่องน่าสงสัย ทั้งที่ประเทศไทยเคยผ่านการระบาดระลอกใหญ่มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่รัฐบาลก็ยังไม่สามารถออกมาตรการการเยียวยาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ๆ อยู่ดี
*
คิดเห็นยังไงกับมาตรการเว้นระยะห่างบนขนส่งสาธารณะ
“ในความรู้สึกผมนะ มันมีมาตรการ แต่มันก็ใช้อะไรไม่ได้”
ฉันเดินเข้าไปชวน ต้นตาล (นามสมมติ) ชายวัย 48 ปี ที่เห็นว่านั่งรอรถเมล์มาสักพักแล้ว คุยเรื่องมาตรการการเว้นระยะห่างห่าง
แล้วคิดว่ามันป้องกันโรคได้มั้ย?
“ไม่อะ เพราะว่ามันไม่ได้ห่างกันเมตรนึงจริง ๆ นี่ครับ”
เขาส่ายหน้า ก่อนจะบอกความคิดเห็นของเขาที่มีต่อมาตรการ Social Distancing บนขนส่งสาธารณะที่เขายังต้องโดยสารเพื่อเดินทางไปทำงานในทุก ๆ วัน
*หมายเหตุ บุคคลที่ปรากฏในภาพไม่ใช่คนเดียวกันกับคนให้สัมภาษณ์
อีกทางเลือกหนึ่งที่ (เหมือนว่าจะ) ช่วยให้เราเว้นระยะห่างระหว่างกันได้ คือการใช้บริการรถแท็กซี่ แต่นั่นก็ยังทำให้ฉันต้องตั้งคำถามในใจตัวเองอีกที ว่าแล้วสำหรับคนที่ไม่ได้มีรายได้มากพอที่จะสามารถโดยสารแท็กซี่เป็นประจำทุกวันนั้น ทางเลือกของพวกเขามีมากแค่ไหน
คิดว่าการที่ต้องขึ้นส่งสาธารณะเป็นการเอาตัวเองมาเสี่ยงการติดโรคไหม
“ถามว่าเสี่ยงมั้ยมันก็เสี่ยงถ้าเป็นรถเมล์เนาะ แต่ว่าถ้าเราดูแลตัวเองอย่างเช่นว่าลงรถแล้วเราก็อาจจะใช้เจล หรือไม่ก็ล้างมือทันที เพราะส่วนใหญ่ทุกวันนี้ก็ทำอย่างนี้ ล้างมือทันทีเลย อยู่ที่ทำงานก็ล้างมือ คือมันก็เลี่ยงไม่ได้ไง ความหมายคือเลี่ยงไม่ได้เพราะอยู่ในสังคมเมืองมันเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว”
แล้วการที่ต้องออกมาทำงานทุกวันคิดว่ามันคุ้มเสี่ยงมั้ย
“มันคุ้มเสี่ยงมั้ย มันเหมือนคล้าย ๆ ว่าเราทำงานอะเนาะ มันก็เลี่ยงไม่ได้อะ เสี่ยงมั้ยมันก็ต้องเสี่ยง มันก็เสี่ยงอยู่แล้วแหละ มันเลี่ยงไม่ได้”
กษมพร มาลาทอง พูดกับเมื่อฉันถามถึงความเสี่ยงที่เหมือนจะต้องเอาสุขภาพเข้าแลกกับรายได้
เคยระแวงคนที่อยู่ใกล้ ๆ บ้างมั้ย?
“ไม่เท่าไรนะ เพราะว่าส่วนใหญ่ทุกคนก็จะระแวงกันซะส่วนใหญ่เนาะ คือถ้าเราดูแลตัวเองมันก็ปกติ แต่ต้องดูเป็นคน ๆ ไปนะ คือถ้าเป็นคนที่ดูแบบว่าแปลกๆก็อาจจะมีระแวง แต่ถ้าเป็นคนทำงานก็จะปกติ” กษมพร มาลาทอง
ดูเหมือนว่าคนคงจะน่ากลัวน้อยกว่าสิ่งของที่เราต่างก็ไม่รู้ว่าเคยผ่านมือใครมาบ้าง แล้วเราก็ไม่มีทางรู้เลยว่าพื้นผิวของสิ่งเหล่านั้นที่เราจับถูกทำความสะอาดมากน้อยแค่ไหน
ผู้โดยสารบนรถเมล์ดูไม่มีท่าทีระแวงคนข้างๆแต่อย่างใด คงเป็นเพราะเราใช้ชีวิตกับนิวนอมอลจนมันกลายเป็นความธรรมดาที่อาจไม่กลับไปเป็นอย่างเดิมอีกแล้ว
แล้วมันคุ้มเสี่ยงมั้ยที่เรายังต้องออกมานั่งรถเมล์ไปทำงานในช่วงที่มีโรคระบาดแบบนี้?
“ไม่อะครับ เพราะว่าเสี่ยงมั้ยมันก็เสี่ยงอยู่อะนะ แต่มันจะทำไงได้ล่ะ เราก็ยังต้องทำงาน ไม่มีตัวเลือกแล้ว เพราะเราก็ไม่ได้มีรถส่วนตัว” ต้นตาลทิ้งท้ายกับฉันก่อนที่เขาจะขึ้นรถเมล์ไปยังจุดหมายของเขาที่ฉันก็ไม่มีทางรู้ว่ามันคือที่ไหน
การใช้รถส่วนตัวคงจะเป็นทางเลือกในการเดินทางไปไหนมาไหนที่ดีที่สุดของคนกรุงเทพในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของ โควิด – 19 แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ก็ยังมีคนกลุ่มใหญ่ที่อาจถูกหลงลืมว่าพวกเขาอาจไม่ได้มีเงินมากพอที่จะสร้างตัวเลือกในการเดินทางมากนัก
คนที่มีรายได้น้อยที่ยังต้องทำงานเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนรายวัน เช่น คนทำงานบริการ คนทำงานก่อสร้าง พ่อค้าแม่ขาย ไปจนถึงแรงงานข้ามชาติ อาจไม่เคยอยู่ในสมการการคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งมาตรการ Social Distancing
เป็นอีกครั้งที่ประชากรกลุ่มใหญ่ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยไปกว่าชนชั้นกลาง คนทำงานออฟฟิศและเหล่าพนักงานข้าราชการสังกัดกระทรวงต่าง ๆ ถูกรัฐมองข้ามการมีอยู่ของพวกเขา จนถึงตอนนี้รัฐก็ยังไม่มีเคยมาตรการที่จะเข้าไปช่วยเพิ่มทางเลือกให้พวกเขาเหล่านั้น เพื่อพวกเขาจะสามารถลดความเสี่ยงทางสุขภาพเลยแม้แต่น้อย
สุดท้ายแล้วเมื่อเกิดการระบาดในกลุ่มคนเหล่านั้น เรายังจะสามารถคาดโทษกับพวกเขาว่าเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของการระบาดของโรคติดต่อนี้ได้อยู่จริงหรือ