หากกิจกรรมในการชุมนุมในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2563 ไม่ได้มีแค่การฟังปราศรัยเพียงอย่างเดียว นี่ก็คงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ส่วนไหนของบริเวณที่จัดชุมนุม คุณก็จะไม่เดินไปเดินมาด้วยความรู้สึกที่ว่างเปล่าอย่างแน่นอน เพราะทุกที่ล้วนมี ‘คนเข้าร่วม’ ทั้งมาเพราะเห็นด้วย มาเพราะเห็นต่าง และก็มาเพราะต้องทำงาน ถ้าการเมืองคือทุกเรื่องรอบตัวเรา งั้นเราก็น่าจะเห็นการเมืองจากคนเข้าร่วมบ้างแหละ
และนี่ก็คือ ‘การเมืองเท่าที่สังเกตเห็นจากคนที่เข้าร่วมชุมนุม’ ในมุมมองของคนที่เพิ่งรู้ตัวว่าการเมืองอยู่ใกล้ตัวแค่นี้เอง
รู้ตัวอีกทีคือโดนล้อมไปด้วยผู้ชุมนุมจนเดินออกไปไหนแทบไม่ได้ แต่หลายคนก็ยินดีที่จะยืนอยู่ในความแออัดนี้โดยสมัครใจ
“เราคือประชาชน”
สมมติว่าบุคคลในรูปคือคนธรรมดาที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่ใช่ แอมมี่
ใช่, ที่ผู้ชุมนุมคนนี้มาชุมนุมด้วยความผ่อนคลายได้อย่างนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเขาอยู่ในสปอร์ตไลท์ คงยากที่จะเกิดการคุกคามหากเทียบกับคนธรรมดาที่ไม่เป็นที่รู้จัก
.
ลองคิดในทางกลับกัน
ไม่ผิดถ้าจะบอกว่าคนมีชื่อเสียงก็คือประชาชนคนหนึ่งที่มีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองเหมือนกับคนธรรมดาทั่วไป แต่ทำไมคนธรรมดาทั่วไปถึงต้องปกปิดตัวเองทุกครั้งที่ออกมาชุมนุม เพียงเพื่อให้รอดพ้นจากการถูกคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่กับใครก็ได้น่ะหรอ เราว่ามันไม่ยุติธรรม
“เอาไปรองนั่งได้นะครับ”
สองประโยคที่บังเอิญได้ยินตอนกำลังถ่ายรูปนี้
“เผยโฉมหน้าเผด็จการ”
ส่วนประโยคนี้เราคิดเอง
มีป้ายเป็นพร็อพ
มีคนถือป้ายกับตำรวจเป็นตัวแสดง
มีที่ชุมนุมเป็นเวที
และมีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นคนดู
โดยที่เนื้อเรื่องของละครสดเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์จริง
แต่เอ๋…….คนที่กลัวแม้กระทั่งกระดาษเปล่านี่เขาจะคิดเลยเถิดไปว่านี่คือคำใบ้หรือรหัสลับอะไรทำนองนั้นมั้ยนะ
ประเทศไทยเป็นของประชาชน
ประเทศไทยเป็นของประชาชน
ผู้ชุมนุมเดินผ่านไปผ่านมา มีทั้งคนที่สนใจอ่านป้ายและไม่ได้สนใจ แต่นั่นคงไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะคนที่เราอยากให้อ่านป้ายที่สุดคงไม่ใช่ผู้ชุมนุมด้วยกันเอง
ทุกการกดทับ ทำให้ดินแน่นขึ้น
ป้ายบางป้ายก็มีพลังได้แม้ไม่อยู่ในจุดที่สายตาจะมองเห็น
จะว่าไปก็เห็นแว้บ ๆ ว่ามีเด็กสเก็ตมาไถสเก็ตเก็บขยะด้วยนะ
ขอคารวะจากใจจริง
“เห็นใจพี่เถอะ พอดีนายพี่สั่งมา”
เราเชื่อว่าผู้ชุมนุมหลายคนก็เห็นใจตำรวจชั้นผู้น้อยที่ต้องออกมาปฏิบัติงานตามคำสั่งนายอย่างเคร่งครัดเช่นนี้ เหตุผลที่เราเชื่ออย่างนี้ก็เพราะหลายเวทีชุมนุมที่เราไปมา แกนนำมักพูดออกไมค์เพื่อบอกตำรวจทุกคนว่าที่เราออกมาต่อสู้อยู่ทุกวันนี้มันไม่ใช่เพื่อเรา(ประชาชน)เพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเรา(ประชาชน)ชนะ เงินเดือนตำรวจก็จะเพิ่มขึ้น ตำรวจจะมีเกียรติและศักดิ์ศรีมามากขึ้น และตำรวจก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นตามไปด้วย
นี่คือใจความสำคัญเท่าที่เราพอจะจับได้จากประโยคยาว ๆ ที่มีเสียงสะอื้นอย่างหนักคลอตลอดบทสนทนา