รู้ๆ กันอยู่หลายอาชีพต้องพึ่งพา human connection เพื่อจะทำงานได้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ตอนนี้ ‘ฟิตเนสเทรนเนอร์’ ต้องเข้าสู่ระบบ social distancing – เขาทำอย่างไรกัน?
ก่อนไปเราคิดว่า ‘มันต้องเจอคนจริง ๆ สิ ถึงจะคุยกันรู้เรื่อง!’ ไม่เคยคิดเลยว่าคนเป็นเทรนเนอร์ต้องเริ่มถ่ายรูป อัดคลิป ตอบไลน์ ไม่ต่างอะไรกับแม่ค้าไอจี
เรามาดูชีวิตของเทรนเนอร์กันว่าการสอนออกกำลังกายคนเดียวมันจะว้าเหว่ขนาดไหน
หนึ่งปีที่ผ่านมาฟิตเนสถูกมองเป็นกิจการเสี่ยงกลุ่มแรก ๆ ของประเทศ ตั้งแต่เริ่มโควิดมา กิจการนี้ก็ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดมาตลอด เราเห็น ‘เทรนเนอร์หัวไข่’ เจ้าของยิม Studio Aloha ต้องปรับตัวโดยการสอนฟิตเนสออนไลน์เต็มเวลา ส่วนยิมนี้ก็อนุญาตให้คนภายนอกมาออกกำลังกายได้โดยจองแบบ private booking
“ที่ไทย หวยออกที่ยิมทุกรอบ”
“ยิมไม่ควรปิด ถ้ากิจการทั้งหมดไม่ได้ปิด 100% โควิดมันก็ไม่มีทางลด เพราะถ้าดูจาก ต่างประเทศ ยิมจะปิดก็ต่อเมื่อ ล๊อคดาวน์ 100% เพราะคนที่มายิม เค้าดูแลตัวเองและยิมก็มีมาตราการป้องกันอยู่แล้ว”
เราเห็นว่าพอ lockdown ยิมก็ไม่มีลูกค้า เทรนเนอร์ก็ต้องอยู่บ้าน แต่จะทำไงได้ในเมื่อการออกกำลังกายมันส่ง delivery แทนก็ไม่ได้นิหน่า
พอมีโควิดลูกค้าของที่นี่ก็หายไป 90 % เพราะคนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากเอาเงินมาใช้จ่ายฟุ่มเฟือยกับการออกกำลังกาย
“ปกติคนที่เค้าสมัครมาเรียนกับพี่จะเป็นพนักงานกินเงินเดือน ตอนนี้ก็มีแค่กลุ่มผู้บริหารระดับสูง คนที่เป็นเจ้านายตัวเองเท่านั้นที่ยังเรียนกับพี่อยู่
พอมีโควิดเค้าจะประสบปัญหาด้านการเงินทันที ก็มีลูกค้าเก่าไลน์มาบอกเหมือนกันว่าอยากเทรนกับพี่แต่ตอนนี้ยังไม่พร้อม เราเข้าใจนะว่าการจ่ายเงินมาเทรนมันเป็นเรื่องรองจากเรื่องอื่น ๆ พอมีโควิดคนเค้าก็ต้องเอาเงินไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าอะไรก่อน
เราก็เข้าใจ ก็ไม่เป็นไร ไว้สถานการณ์มันปกติเมื่อไหร่ก็ค่อยกลับมาเทรนด้วยกันอีกก็ได้”
“อันนี้ท่าท้องบน พี่เอาขาวางไว้ตรงนี้” “…… ไม่ต้องเอาตัวขึ้นมาไว้แบบนี้”
“พี่ดูผมนะ ….. หนีบศอกเอาไว้แบบนี้ … ”
เราดูคลิปที่พี่ไข่ส่งไปสอนลูกค้าผ่านไลน์ เราเริ่มเห็นว่าการสอนแบบนี้มันก็ดูทุลักทุเลอยู่ พี่เค้าต้องพยายามพูดสั้น ๆ ง่าย ๆ ให้คนเข้าใจภายในไม่กี่นาที ทั้ง ๆ ที่มันมีความกังวลเรื่องการวางแขนขาให้ถูกด้วย แล้วบางทีกว่าจะเข้าใจกันก็เหนื่อยกันทั้งคู่เพราะต้องคอยส่ง voice clip ไม่ก็โทรตามไปอธิบายเพิ่ม
ส่วนคนอีกฝั่งก็อัดคลิปตัวเองซิทอัพแล้วส่งคลิปกลับมาให้เช็ค ตลอดสัมภาษณ์พี่ไข่ก็จะคอยดูมือถือตลอดเพื่อพิมพ์ตอบลูกค้า
สำหรับพี่ไข่การสอนฟิตเนสผ่านไลน์กลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ช่วงแรกที่สอน พี่ไข่ต้องเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้าใหม่หมด เพราะแต่ละคนก็มี lifestyle และ สะรีระที่ต่างกัน พี่ไข่เลยต้องใช้หลายวิธีเพื่ออธิบายให้แต่ละคนเข้าใจ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย พี่ไข่มองว่ามันสอนออนไลน์ไม่ได้
“เราเป็นมนุษย์อะ เราเป็นสัตว์สังคม ยังไงก็ต้องเจอกัน ออนไลน์มันเอาไว้ประชุมอะ ถ้าสำหรับคนออกกำลัง ก็เรื่องกินกับเรื่องพักผ่อนที่คุยออนไลน์ได้ แต่เรื่องจัดท่ายังไงก็ต้องต่อหน้า”
พี่ไข่เดินไปหยิบดัมเบลล์มาคู่หนึ่งแล้วสาธิตให้เราดูท่าประจำที่พอจะสอนยกเวทออนไลน์ได้มันทำยังไง
วันนี้มีพี่เทรนเนอร์อีกคนมาช่วยกดอัดคลิปให้ หรือบางวันพี่ไข่ก็ให้ภรรยาช่วยถ่าย พี่ไข่พูดไปทำไปให้ดูพร้อมกัน
หรือบางคนจะพยายามออกกำลังกายตาม Youtube ก็ไม่ดีเท่ามีคนดูให้ตัวต่อตัว ลูกค้าก็จะเข้าใจท่ามากขึ้นถ้าได้เริ่มฝึกกับเทรนเนอร์ เพราะการเล่นฟิตเนสมันคือการโฟกัสท่า อีกอย่างเทรนเนอร์จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บให้ด้วย
“คนที่ไม่เคยเล่นเลย หัดเองที่บ้านได้ ก็ทำได้แหละแต่ว่าจะเป็นช้ากว่า เดี๋ยวนี้มีช่องสอนอะไรเยอะแยะ ถ้าถามว่าเล่นได้ไหม เล่นได้ แต่ว่าจะทำถูกรึเปล่าอันนี้ไม่รู้ จริง ๆ นอกจากนี้มันมีเรื่องปรับเบาะอะไรด้วยที่มันเพิ่มเข้ามา”
เขาเปรียบเทียบว่ามันเหมือนกับการหัดเล่นสเก็ตบอร์ด ดูทาง Youtube ก็ทำได้ประมาณหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วเราก็ยังต้องการใครสักคนมาช่วยดูแบบใกล้ชิดอยู่ดี
“จริง ๆ ก็อยากสอนที่นี่มากกว่า คุยกันในไลน์มันยุ่งยากอะ”
พี่ไข่เปิดแชทคุยเรื่องอาหารกับลูกค้าให้ดูผ่านไลน์ เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเรื่องอาหารมันจุกจิกขนาดนี้ แต่ในความเป็นจริง มนุษย์เราก็มีความอยากอาหารที่ไม่ซ้ำกันสักวัน ไม่มีทางที่จะ ‘eat clean’ ทุกวันได้หรอก แล้วการคุมอาหารแบบนี้ก็อยู่ในเพกเกจการสอนออนไลน์ของพี่ไข่ไปโดยปริยาย
จากปกติพี่ไข่จะแค่ลองแหย่ถามลูกค้าที่ยิมเล่น ๆ ว่าวันนี้แอบไปกินอะไรมาบ้าง กลายเป็นว่าทุกวันนี้พี่แกก็ต้องคอยตอบคำถามเรื่องกินบ่อยขึ้นเฉยเลย พี่ไข่เล่าเรื่องตลกให้ฟังว่า
“วันนึง ลูกค้าเคยส่งมาถามทางไลน์เนี่ยแหละ ว่าพี่ไข่ วันนี้กินอาหารญี่ปุ่นได้ไหม”
“เราก็บอกได้” พอลูกค้าส่งรูปมา ก็มีสั่งเทมปุระ ซูชิ ….. แล้วก็ฟัวกราส์
“แต่เค้าไปแดกฟัวกราส์ ! ไอ้เหี้* ฟัวกราส์มันไม่ใช่อาหารญี่ปุ่น !” พี่ไข่ส่ายหน้า ถอนหายใจแรง แล้วลุกไปจากโซฟาทันที แล้วเดินไปจิบน้ำ
พี่ไข่ใจเย็นลงนิดนึงแล้วอธิบายต่อว่า อาหารญี่ปุ่นที่กินได้เนี่ยเค้าหมายถึง พวกสลัด ข้าวกับปลาย่าง
แล้วพูดลอย ๆ “มันคงเป็นความผิดกรูเองอะ ที่พิมพ์กลับไปไม่ละเอียด”
พี่ไข่ถอนหายใจแล้วขำตัวเองต่อเบา ๆ
ทุกวันนี้พี่ไข่ก็ต้อง work from home เหมือนกับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป แต่การ work from home ของเทรนเนอร์ก็ดูจะเหงามากกว่าเรา เพราะเค้าเคยชินกับการเม้าท์มอยกับลูกค้าเวลาเทรน พี่ไข่เพิ่งนึกได้แล้วหันมาขอโทษเราที่ชวนคุยอะไรเยอะแยะ พี่แกบอกว่าปกติจะชอบคุยเล่นกับลูกค้าเหมือนเพื่อน
“มีลูกค้าบางคนไม่เคยเจอหน้าจริง ๆ กันเลยก็มี แต่ก็อย่างที่บอกเค้าต้องเป็นคนมีเบสิกอยู่แล้วถึงจะทำแบบนี้ได้”
เราเห็นลูกค้าคนไทยของพี่ไข่ไลน์มาจากอเมริกา ช่วงล็อกดาวน์ไม่มีอะไรทำก็จะเทรนกันบ่อย ส่วนการแชทกันก็คุยแค่เรื่องจำเป็น บรรยากาศสนุกสนานแบบนี้ก็หายไปเลย
พี่ไข่เริ่มเล่าให้เราฟังว่าช่วงเวลาปกติถ้าไม่มีโควิด หลังเลิกงานลูกค้าประจำก็จะจองมาเทรนกับพี่ไข่แล้ว
“พี่มีลูกค้าที่ปกติเค้าจะงานยุ่งมาก เข้าใจว่าคงเป็นเพราะเค้าตำแหน่งใหญ่ เดาจากเวลาที่เค้าเล่าให้ฟัง เพราะเค้าต้องรับผิดชอบชีวิตคนเยอะ บางทีเค้าไม่รู้จะปรึกษาเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวกับใคร เค้าก็มาคุยกับพี่ พี่เทรนลูกค้าเหมือนเพื่อนมากกว่า พี่ไม่เคยถามว่าเค้าทำงานอะไร เค้าตำแหน่งสูงแค่ไหน”
“พี่คิดถึงการออกกำลังกายกับลูกค้าที่ยิมยัง ?”
“คิดสิ คิดตลอด” พี่ไข่ตอบแบบไม่ลังเล
“เพราะเราอยากสอนเค้าอีกหลายอย่าง อยู่ห่างกันแบบนี้พี่บอกเค้าได้ไม่หมดอะว่าต้องปรับตรงไหนบ้าง”
ทุกวันนี้เราก็เห็นพี่ไข่โพสต์รูปกับไลฟ์เฟสบุ๊คบ่อย ๆ เดาว่าคงว่างและเหงาไม่แพ้อาชีพอื่น ๆ ที่ปกติต้องเจอคนเยอะ นี่ก็ผ่านมาแล้วปีกว่า ที่พวกเราต้องพยายามหาทางรักษาระยะห่างกับทุกกิจกรรม
บางอย่างเราก็เริ่มปรับตัวได้บ้างแล้วอย่างการสั่งอาหารเดลิเวอรี่หรือว่าชอปปิ้งออนไลน์ แต่กับกิจกรรมที่ยังต้องพึ่งพาการเชื่อมต่อกับมนุษย์ แบบการเข้าฟิตเนสแบบนี้ เราก็ยังโหยหาการเจอมนุษย์อยู่ดี
เราว่าต่อให้โลกจะพยายามปรับทุกอย่างเป็น new normal เพื่อรักษาระยะห่าง เปลี่ยนกิจกรรมหลาย ๆ อย่างให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น แต่ของบางอย่างก็ยังจำเป็นต้องเจอกันอยู่ดี
การเจอพี่ไข่ในวันนี้ช่วยยืนยันว่าเราไม่ได้คิดเรื่องนี้ไปเองคนเดียว ยิ่งคุยกัน คำตอบของคำถามที่เรามีในใจก็ยิ่งชัด
ถ้าเลือกได้ เชื่อว่าทุกคนคงเลือกแบบเก่า เพราะนอกจากจะถนัดกว่าแล้ว ยังได้เห็นกันแบบตัวเป็นๆ ให้ใจชื้น
(ว่า) อย่างน้อยก็ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวบนโลก