“เด็กสมัยนี้” ของผู้ใหญ่หลายคน จึงกลายเป็นคำที่ไม่ต่างอะไรกับประโยคที่ใช้เริ่มต้นการบ่นสารพัดเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องในที่ทำงาน เช่นเด็กสมัยนี้เปลี่ยนงานบ่อยยิ่งกว่าเปลี่ยนกางเกงใน บางคนเข้ามาทำงานยังไม่ทันได้รู้จักกัน รู้ตัวอีกที เอ๊ะ แกๆ น้องคนนั้นน่ะ ที่นั่งโต๊ะตรงข้ามแผนกของอีจอยน่ะหายไปไหนแล้ว อ๋อ … น้องเขาลาออกไปอาทิตย์ที่แล้ว นี่แกเพิ่งรู้เหรอ
บทสนทนาประมาณนี้เป็นเรื่องปกติมาก โดยเฉพาะหลายๆธุรกิจ เช่น เอเจนซี่โฆษณา หรือสตาร์ทอัพที่ต้องฉกชิงแย่งตัวคนทำงานกันให้วุ่น ฝ่ายบุคคลก็จะเหนื่อยกับการหาคนเข้ามาเติมในองค์กรให้เหมือนกับการเติมน้ำที่ก้นถังมีรูรั่วรูเบ้อเริ่ม
ในฐานะของมนุษย์เจนวายที่ทำงานในองค์กรทั้งเล็กและใหญ่มาเกินสิบปี เคยสัมภาษณ์คนเข้ามาทำงานนับครั้งไม่ถ้วน ได้คุยกับน้องๆยุคมิลเลนเนี่ยลเรื่องการย้ายงานจนพบว่า จริงๆเรื่องนี้เป็นเหรียญที่มีสองด้าน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเห็นด้านไหน
ด้านแรกคือ เด็กสมัยนี้มันก็ไม่ค่อยทนเหมือนรุ่นผมจริงๆนั่นแหละ แต่ที่เขาไม่ทน ไม่ใช่เพราะเขาเรื่องมาก หยิบหย่ง เหยียบขี้ไม่ไม่ฝ่อ (ซึ่งจริงๆก็เคยเจอมาเหมือนกัน แต่น้อยมากจนขอไม่พูดถึง) เขาไม่ทนเพราะว่ายุคนี้มันคือยุคที่โอกาสต่างๆมันไม่ได้หายากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว การตัดสินใจผิดพลาดครั้งนึง ไม่ได้หมายถึงชีวิตจะจบสิ้น กลายเป็นตราบาปไปตลอดชีวิต แต่อะไรที่มันไม่เวิร์ค หรือลองแล้วพบว่ามันไม่ใช่ทางของตัวเอง ก็แค่ลุกขึ้นมาบอกตัวเองว่า ไม่เป็นไร แล้วก็ไปลองทำอย่างอื่นแทน ไม่เห็นจะยากเลย
จากการสัมภาษณ์น้องๆที่เปลี่ยนงานกันรัวๆ หนึ่งในสาเหตุที่มักโผล่ขึ้นมาติดชาร์ตบิลบอร์ดอยู่หัวตารางตลอดเวลา ก็คือสภาพการทำงานขององค์กรเองนั่นแหละที่ไม่มีการปรับตัวให้เข้ากับแรงงานยุคใหม่ ผมจำได้ว่าในเว็บบอร์ดจะเห็นคนตั้งกระทู้เรื่องเจ้านายไม่อนุญาตให้ลาไปงานศพพ่อ หรือลาไปดูแลคนในครอบครัวที่ป่วยอยู่ ซึ่งคนรุ่นเก่าอาจรู้สึกว่ายังไงงานก็เป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่เด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้สึกเช่นนั้น ผมเคยได้คุยกับน้องคนนึงที่ลาออกเพราะโดนเจ้านายด่าด้วยคำหยาบคาย ซึ่งเราก็ถามตรงๆว่า การโดนด่านี่ทำให้เราตัดสินใจลาออกเลยใช่ไหม น้องตอบว่า ใช่พี่
เออว่ะ จริงของมัน
คำถามที่สำคัญของเรื่องนี้คือ ก่อนจะบ่นเรื่องเด็กสมัยนี้ก็คือ คน ‘สมัยเรา’ เข้าใจและสื่อสารกับเด็กสมัยนี้มากพอแล้วหรือยังล่ะ?