‘แอปคลับเฮ้าส์ (Clubhouse)’ โซเชี่ยลมีเดียเกิดใหม่ ทำให้เรามีโอกาสได้พูดในสิ่งต้องห้าม
การเลือกเข้าแค่ห้องที่เราชอบ ฟังแต่คนที่เราอยากฟัง แต่การทำแบบนี้กำลังสร้าง Echo Chamber อันใหม่อยู่รึเปล่า ?
ยิ่งมีแอปมากเท่าไหร่ สังคมบนหน้าฟีดเริ่มแต่ข้อมูลเดิม ๆ
จะดีกว่าไหมถ้าเราเลือกตาม account ให้หลากหลาย เพื่อจะช่วยกันทำให้โลกโซเชียลน่าอยู่ขึ้น
เข้าแอปคลับเฮ้าส์ (Clubhouse) แล้วไม่รู้จะเข้าห้องไหนก่อนดี ? มีทั้งหมวดการสร้างธุรกิจ หุ้น การเมือง การศึกษา เซ็กส์ กัญชา บันเทิง หรือแม้แต่ปัญหาโลกแตกอย่างเรื่องความรัก หรือว่าห้อง ‘ที่เราเป็นกลางเพราะเรามี critical thinking ค่ะ’ หรือเรื่องเพศ ‘เปิดโลก 18+ ท่ายากจำเป็นไหม’
นอกจากมีการแบ่งหมวดแล้ว มันยังช่วยแบ่งคนออกเป็นกลุ่ม แน่นอนว่าเราจะเลือกเข้าแต่หมวดที่เราสนใจก่อนเนื่องจากเรามั่นใจว่าบรรยากาศในห้องนั้นจะทำให้เราสบายใจมากกว่า ว่าแต่มันผิดไหมถ้าเราจะเลือกฟังแค่เรื่องที่เราชอบ ?
เรากดออกจากห้องทุกครั้งที่ได้ยินเรื่องที่ฟังแล้วไม่เห็นด้วย เช่นเรื่องการเมืองที่ตรงข้ามกับรสนิยมตัวเอง ที่น่าสนใจคือผู้ใช้เลือกจะรวมกลุ่มกับคนที่คิดอะไรคล้าย ๆ กันอยู่ในห้องเดียวกันมากกว่า ส่วนแอปก็จะแนะนำให้เราตามแต่คนที่เราชอบเหมือนกับเวลาใช้อินสตาแกรม หรือว่าทวิตเตอร์
พฤติกรรมนี้กำลังแสดงให้เห็นการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลาย มันกำลังสร้างอคติในการรับข่าวสาร และแบ่งแยกคนออกเป็นกลุ่ม มันจะเพิ่มการเห็นข้อมูลด้านเดียวมากขึ้น และเป็นอันตรายมากเมื่อเราเริ่มไม่เชื่อข้อมูลชุดอื่นที่เราไม่ชอบ จะเรียกอีกอย่างว่ามันคือ Echo Chamber*
ถ้าเป็นเมื่อ 30 ปีก่อน ก็ดูข่าวแค่จากโทรทัศน์ ฟังวิทยุ และ หนังสือพิมพ์ เราไม่มีโอกาสแม้แต่จะเลือกติดตามใครเป็นพิเศษ
ถ้าจะฟังข่าวจากคุณสรยุทธ์ ก็ต้องเปิดช่องสามตอนหกโมงเช้า ก่อนเที่ยงมีละครเฮง เฮง เฮง
เราไม่มีทางได้ฟังเรื่องเพศ หรือเรื่องกัญชาในโทรทัศน์แน่นอน จะว่าไปเราก็เคยรับข้อมูลแบบเดียวกันกับทุกคนทางทีวีเหมือนกันนะ
แล้วมันผิดไหมถ้าจะตามแค่สิ่งที่เราชอบ ก็มันเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา ? เช่นการสร้างห้องใหม่อย่างห้อง ‘วิเคราะห์ วิพากษ์ พี่โทนี่แนะนำ SME’ สร้างขึ้นหลังจากจบการพูดคุยกับคุณทักษิณ (Tony Woodsome) มีผู้ใช้หลายท่านยกมือขึ้นเสนอความเห็นว่าไม่ประทับใจคำตอบของคุณ Tony จากห้องหลัก และมีผู้ใช้ท่านหนึ่งยกมือขึ้นแล้วแสดงความเห็นว่าขอกลับไปฟังช่องธุรกิจเดิมที่ตัวเองชอบฟังเป็นประจำดีกว่า
“ทุกคนอยากอยู่ใน Echo Chamber อยู่แล้ว เพราะมันคือบรรยากาศที่สบายใจ ไม่มีความคิดเห็นที่เรารู้สึกขัดหูขัดตามาคอยกวนใจ การอยู่ใน Echo Chamber ไม่ผิด แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องหมั่นตั้งคำถามกับกระแสความคิดเห็นในที่ ๆ เราอยู่ ใช้ตรรกะวิเคราะห์มันอยู่ตลอดเวลา อย่าปล่อยให้ความบิดเบี้ยวเข้าครอบงำ เชื่อคนนั้น เชื่อคนนี้ เพียงเพราะเขามีอุดมการณ์เดียวกับเรา” เพียวอธิบายให้เราฟังในฐานะทำงานในตำแหน่ง Content Writer ให้กับสื่อออนไลน์
เราก็อยู่ใน Echo Chamber ของตัวเอง ที่เราหมุนมาเจอกันไม่ใช่เพราะโชคชะตาแต่เป็น algorithm มากกว่า เพราะฟังก์ชั่นของแอปจะเสนอแนะให้เราตามคนที่มีแนวโน้มที่เราจะถูกใจ
พอรู้แบบนี้ก็เข้าใจแล้วว่ามันคงเป็นเรื่องยากที่จะเห็นคนเชียร์รัฐบาลเข้ามาคุยในห้อง ‘ทีฆายุโกโหตุ ปวินปาร์ตี้ 13.00 น. เวลาไทย’ หรือการเห็นดาราหัวอนุรักษ์เข้ามาฟังห้อง ‘#ภาคีศิลปิน EP.5 Welcome ดารานกหวีดกลับใจ’
การชวนกันมารวมกลุ่มในคลับเฮ้าส์แสดงให้เห็นว่าแอปนี้เป็นช่องทางแห่งการแสดงตัวตน และมีไว้รวมคนที่มีความคิดคล้ายกันไว้ในกลุ่มเดียวกัน
ในปี 2021 มีคนไทยกว่า 50 ล้านคนใช้โซเชียลมีเดีย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ส่วนสถิติจากเพจเฟสบุ้กที่คนไทยติดตามข่าวสารมากสุดคือ Workpoint TV** ในขณะที่เราเลือกติดตามข่าวสารจาก The Standard The Matter และ BBC Thai เป็นหลัก
สถิตินี้กำลังบอกอะไรกับเรารึเปล่า ? คนส่วนใหญ่เค้าไม่ได้สนใจแบบเดียวกันกับที่เราสนใจนี่หน่า
วิธีการหนีออกจาก Echo Chamber คือการต่อสู้กับระบบ algorithm นั่นคือการกดไลค์คอนเทนต์ให้หลากหลาย เลือกตามสื่อที่น่าเชื่อถือเพื่อลดข่าวปลอม ลดการตาม account ที่นำเสนอแค่เนื้อหาไวรัล คอยสังเกตจำนวนคนที่เรากดติดตามอยู่บ่อย ๆ เน้นเลือกกลุ่มคนให้หลากหลาย เปลี่ยนการตั้งค่าในเฟสบุ้ก โดยตั้งปุ่ม Favourites และ ตั้งค่าการมองเห็นเพจและเพื่อนหลายแนวมากขึ้น
บางครั้งควรปิดมือถือแล้วออกไปหาสิ่งใหม่ข้างนอกบ้าง
ต่อให้ปิดมือถือไปยังไงก็ต้องกลับมาใช้อยู่ดี ไม่ว่าจะเพื่อการตลาด หรือว่าความบันเทิง มันถูกยึดโยงไว้บนโลกโซเชียลหมดแล้ว ปี 2021 คนไทยกว่า 94% เลือกใช้งานยูทูปมากที่สุด รองลงมาคือเฟสบุ้ก อินสตาแกรม ส่วน 57% ใช้ทวิตเตอร์***
ขณะที่คลับเฮ้าส์ยังเพิ่งเกิดมาได้ไม่นานและยังจำกัดไว้แค่ผู้ใช้มือถือในระบบ ios เนื้อหาในห้องคลับเฮ้าส์ยังมีความจำกัด ส่วนข้อดีของมันคือทำให้เราได้เปิดประสบการณ์สนทนากันในรูปแบบใหม่ แต่ต้องเตือนตัวเองไว้ว่าการเชื่อข้อมูลจากแหล่งข่าวเดียวจะยิ่งสร้าง echo chamber ให้ใหญ่ขึ้น
มนุษย์ โลกโซเชียลมีเดีย และ ชีวิตบนโลกแห่งความเป็นจริง จะอยู่ร่วมกันอย่างอย่างไรในอนาคต ?
เขียนเกือบจบแล้ว ก็เผลอพักไปหาอะไรอ่านเล่น ๆ ในเฟสบุ้ก ทวิตเตอร์ มือถือเราเต็มไปด้วยข่าวการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย เข้าไปหน้าอินสตาแกรมก็เจอแต่ร้านเสื้อผ้าแนวที่ซื้อประจำ กับภาพแมวเต็มไปหมด ส่วนคลับเฮ้าส์ล่าสุดก็แจ้งเตือนให้ฟังอาจารย์ปวิน
ด้วยความสงสัยเราขอดูมือถือเพื่อนเพราะอยากรู้ว่าคนอื่นชอบติดตามอะไร ?
‘สุนัข-นางแบบ-หุ้น’
‘ดารา-ชอปปิ้ง-ข่าว’
‘ฟิตเนส-คาเฟ่-แมว’
‘อาหาร-นักร้องเกาหลี-ท่องเที่ยว’
มันเกี่ยวกันแม้กระทั่งการหาแฟนในยุคปัจจุบัน เราคงฝันอยากเจอใครสักคนที่อยู่ใน echo chamber เดียวกับเราใช่ไหม ?
อ้างอิงจาก
*https://tinyurl.com/6x2mbhzn
** https://tinyurl.com/k5cwhscj
*** https://tinyurl.com/bw8xfytb