ถ้า ‘ท่าน’ สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ‘หูฉลาม’คงไม่อยู่ในเมนู…
ภาพ: ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

คงเคยได้ยินสำนวน ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ ที่หมายถึงเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่ดันทำให้เกิดเรื่องขึ้นมากันใช่ไหม?

 

กรณีของเมนู ‘หูฉลาม’ ในงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลที่เหล่านายกและลูกน้องกินกันอย่างชื่นมื่นก่อนหน้าวันสิ่งแวดล้อมไทยเพียงวันเดียว กลายเป็นประเด็นให้คนพูดถึงอย่างหนาหูบนโลกโซเซียลก็คงไม่ต่างอะไรกัน

ข่าวจากข่าวสด
ในขณะที่ทุกคนกำลังพยายามให้คนอื่นเลิกกินเพื่อจะได้หยุดการล่าฉลามมาป้อนอุตสาหกรรมอาหาร แม้แต่ประเทศจีนยังออกกฎห้ามงานเลี้ยงของข้าราชการมีอาหารจานนี้อยู่ในเมนู ทางรัฐบาลไทยกลับไม่แคร์ว่าใครจะคิดอย่างไร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่สนใจใยดีประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นหัวข้อสำคัญในเวทีโลกอยู่ทุกวันนี้

ที่ตลกคือ ‘ท่านนายก’ (คนปัจจุบัน) เคยพูดไว้ตอนเปิดงานสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2559 Go Wild for Life ไว้ว่า “…ที่แก้ไม่ได้คือหูฉลาม หลายคนติดใจความอร่อยแต่ถ้าเห็นตอนถูกเชือดจะกินไม่ลง กินแล้วได้อะไรขึ้นมาไม่เข้าใจ ตนเคยกินก่อนหน้านี้ แต่ตอนนี้เบาลง ทั้งเบื่อและสงสาร”

ไม่รู้ว่าท่านลืมหรือเปล่า? แต่นาทีนี้คำพูดคงไม่สำคัญเท่าการกระทำที่แสดงออกมา

อาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในสเตตัสบนหน้าเฟสบุ๊คได้อย่างตรงใจใครหลายคน

“น่าจะบอกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า
“รัฐบาลนี้ไม่ได้ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม”
เข้าใจดีว่า ระดับผู้บริหารไม่รู้หรอกว่า ระดับปฏิบัติจะจัดอาหารอะไรมาให้

ฝ่ายปฏิบัติก็ไม่ได้สนใจว่า วงการสิ่งแวดล้อมบ้านเราเขารณรงค์เรื่องหูฉลามกันอย่างไร เพราะระดับนโยบายไม่เคยสนใจที่จะแสดงตัวตนออกมาให้เห็นว่า ต้องใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านสิ่งแวดล้อม

จะมาอ้างว่า ไม่รู้ งานเยอะ งานยุ่ง เรื่องของเด็กๆ ก็คงไม่สมเหตุผล แค่ส่งสัญญานนิดเดียวว่ารัฐบาลนี้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม … ระดับปฏิบัติก็รู้แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร

ดูอย่างโครงการเสนอพื้นที่อนุรักษ์ทางฝั่งอันดามันให้เป็นมรดกโลก ฝ่ายปฏิบัติแสดงข้อมูลให้เห็นว่ามีคุณค่าพอจะเป็นมรดกโลก และประชาชนก็เห็นด้วย
แต่พอฝ่ายเศรษฐกิจทักแบบไม่เป็นทางการว่า เดี๋ยวมันจะทำให้โครงการท่าเรือน้ำลึกเกิดไม่ได้ ฝ่ายปฏิบัติก็ยอมตัดพื้นที่อันดามันตอนล่างทั้งหมดออกจากรายการที่จะนำเสนอมรดกโลก ไม่มีใครกล้าหือ ไม่มีใครกล้าเสนอเข้าไป

และมันก็แสดงให้เห็นได้จากหลายกิจกรรม หลายโครงการ หลายนโยบายที่ไม่แคร์สิ่งแวดล้อม
ไม่ว่าเราจะชี้ให้เห็นผลเสียของการสร้างกำแพงกันคลื่นอย่างไร
ไม่ว่าเราจะแสดงให้เห็นว่า ปากบารา มีความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร
ไม่ว่าจะมีเสียงคัดค้านเรื่องการสร้างทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา
ไม่ว่าจะบอกเล่าถึงโครงการฝายขยะในป่าอนุรักษ์
และสารพัดโครงการที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
เขาไม่เคยสนใจเรื่องแบบนี้

เราจึงได้เห็นเรื่องราวที่ไม่แคร์สิ่งแวดล้อมอยู่เป็นประจำ”

อย่างที่เป็นมาเสมอ และยังคงเห็นอยู่จนทุกวันนี้

Loading next article...