ควัน – หลง: โจ๊ก อัครินทร์

“คือเอาง่ายๆ เขามองว่าไอ้นี่ต้องเป็นคนเหี้-แน่นอน ตั้งแต่สมัยผมเด็กๆ แล้ว พ่อแม่ของเด็กบ้านตรงข้ามก็ไม่อยากให้ลูกเขามาเป็นเพื่อนผม ไม่อยากให้คบกับผม บ้านตรงข้ามผมเขาจะมีลูกสาวหนึ่งคน ลูกชายหนึ่งคน ผมเป็นเพื่อนกับลูกชายเขา พ่อแม่เขาก็จะเห็นความเหี้-ของเราตลอด พ่อแม่เขาก็จะพูดกับลูกเขาว่าอย่าไปยุ่งกับมันดีกว่า”

สำหรับอัครินทร์ การเป็นคนแปลกแยกเป็นสิ่งที่เขาคุ้นเคยดีมาตั้งแต่เด็กๆ เขาพยายามจะออกจากบ้านมาหางานทำเองตั้งแต่อายุ 14 ปี ลาออกจากโรงเรียนมัธยมกลางคัน และหนีออกจากบ้านเป็นเวลาเกือบ 2 ปีเพื่อใช้ชีวิตอย่างที่อยากจะใช้ เพราะเหตุผลว่าชื่นชอบชีวิตกลางคืน และไม่ชอบการเรียนหนังสือ

“ผมไปขายบุหรี่ตามผับแถวรัชดา แชร์ห้องอยู่กับเพื่อน ก็แชร์ค่าใช้จ่ายกัน”

ในเมื่อถูกมองว่าเป็นคนเลวทราม ไม่น่าเข้าใกล้ ไม่ได้ทำให้อัครินทร์เดือดร้อนใจ เขายอมรับว่าคนทั่วไปก็ต้องเป็นแบบนั้น ทุกคนก็ต้องหวังให้ลูกตัวเองอยู่ห่างไกลจากเพื่อนนิสัยเกเรเป็นธรรมดา แต่ถึงจะเข้าใจอย่างนี้ เขาก็ยังยืนยันที่จะใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง

นั่นก็คือการปล่อยให้ชีวิตพาสิ่งต่างๆ เข้ามาเอง ปล่อยให้ทุกอย่างไหลไปตามเส้นทางของมัน

แม้แต่อาชีพนักแสดง อัครินทร์ก็ไม่ได้เป็นคนเลือกด้วยตัวเองด้วยซ้ำ ในปี 2544 เขาเป็นนักแสดงดาวรุ่งที่แจ้งเกิดในบทตัวเอกของ Goal Club: เกมล้มโต๊ะ ภาพยนตร์วัยรุ่นว่าด้วยกลโกงล้มโต๊ะพนันที่เสี่ยงตายและเร้าใจ

เขากล่าวว่าเป็นโชคดีที่คาแรกเตอร์ของตัวเองตรงกับสิ่งที่ผู้กำกับตามหา และโชคยังดีอีกที่คนขี้อาย ทำตัวไม่ถูกอย่างเขาได้เล่นหนังเรื่องแรกร่วมกับคนในรุ่นราวคราวเดียวกัน ได้สนิทสนมจนเคมีตรงกัน จึงสามารถแสดงภาพยนตร์ได้อย่างไม่ขัดเขิน ถ้าเป็นหนังแนวอื่น หรือต้องแสดงร่วมกับคนอื่นๆ อัครินทร์เองก็ไม่มั่นใจว่าเขาจะทำงานนี้ได้ อันที่จริงแล้ว ตัวเขาเองเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อนอาจไม่เปิดปากคุยกับใครเลยด้วยซ้ำ

“เหมือนตอนหนีออกจากบ้าน แล้วไม่มีใครคบน่ะแหละ ก็ต้องไปคบเพื่อนนิสัยเหี้-ๆ เหมือนกัน พอมาเล่นหนังมันก็เจอคนเหี้-ๆ เหมือนกันอีก”

อัครินทร์มองว่าอาชีพนักแสดงของเขา ก็เหมือนกับการเป็นลูกจ้าง เขาไม่ได้สนใจในชื่อเสียง ความโด่งดัง ไม่ได้อยากก้าวไปเป็นนักแสดงอันดับหนึ่งของประเทศ สิ่งนี้สำหรับเขาแล้ว มันคืองานอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้คนจดจำเขาได้กลับไม่ใช่ฝีมือการแสดง แต่เป็นชีวิตส่วนตัวที่สังคมต่อว่าและตัดสินว่าไร้ความรับผิดชอบ เขาแต่งงานกับนักแสดงหญิงรุ่นพี่ แยกกันอยู่และมีลูกติดหนึ่งคน ไปเปิดเพลงที่เกาะเต่าอยู่ 5ปี และกลับมาใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง โดยไม่เคยทำงานประจำแม้แต่วันเดียว 

สิ่งที่เขาสนใจเป็นพิเศษคือปาร์ตี้และซีนดนตรี โลกอีกใบที่เขาใช้คำว่า Community หรือชุมชนที่เขาให้ความสำคัญ

ชุมชนที่เขาพูดถึงคือผู้คนที่มาพูดคุย พบปะ สังสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดกันในยามค่ำคืน ชุมชนของคนทำงานหลากหลายสายทั้งงานวาดภาพ คนทำงานโฆษณา นักออกแบบ คนในสายงานแฟชันที่มาพบกันที่ย่านเอกมัย อัครินทร์เข้าสู่ชุมชนนี้ด้วยการรู้จักผู้คน ส่วนหนึ่งผ่านอาชีพนักแสดง อีกส่วนหนึ่งคือความรักชอบการเที่ยวเตร่ยามค่ำคืน นั่นอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เขาแตกต่างจากนักแสดงอีกหลายคนในวงการบันเทิงไทย ช่องทางโซเชียลมีเดียของเขาไม่ได้มีไว้เรียกยอดไลก์ ไม่ได้มีไว้สร้างข่าวให้แฟนคลับพูดถึง รูปภาพและวิดีโอที่เขาโพสต์เต็มไปด้วยแมว ทะเล และผู้คนที่ได้พานพบ

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ตาของอัครินทร์ดูจะเป็นประกายวิบวับ แต่ทันทีที่ถามถึงความเปลี่ยนแปลงของย่านนี้ อัครินทร์ดูสลดลงนิดหนึ่ง

“คือเอาง่ายๆ เขามองว่าไอ้นี่ต้องเป็นคนเหี้-แน่นอน ตั้งแต่สมัยผมเด็กๆ แล้ว พ่อแม่ของเด็กบ้านตรงข้ามก็ไม่อยากให้ลูกเขามาเป็นเพื่อนผม ไม่อยากให้คบกับผม"
“เมื่อก่อนเอกมัยไม่มีอะไรมาก ไม่มีด่านด้วยซ้ำ บ้านผมอยู่สำโรงก็ขับรถมาเที่ยวเอกมัย ผมรักร้านที่มีลักษณะเฉพาะตัวเป็นของตัวเองอย่าง tuba ร้านขายเฟอร์นิเจอร์สไตล์วินเทจที่เปิดเพลงเก่า Zudrangma records / Studio Lam ร้านขายแผ่นเสียง/บาร์ที่สร้างวัฒนธรรมเพลงลูกทุ่ง หมอลำ และเพลงนอกกระแสอื่นๆ มันไม่ได้มีตัวเลือกของผับบาร์เยอะแยะอย่างทุกวันนี้ แล้วก็ไม่ได้มีร้านที่เป็นวัฒนธรรมไทยมากๆ แบบ Super Thai Culture ไม่มีร้านอย่าง Casette ที่ตั้งใจเอาเพลงเก่าๆ มาเปิด ยุคก่อน แต่ละร้านก็จะมีคาแรกเตอร์ เดี๋ยวนี้ร้านที่เปิดเพลงซ้ำๆ กันมีเยอะมาก” 

“เรื่องนี้ทำให้ผมไหลไปสู่การเป็นคนเปิดเพลงราวๆ พ.ศ. 2560 จริงๆ ผมเปิดเพลงมาตั้งแต่ตอนที่ผมไปอยู่เกาะเต่า ตอนนั้นผมก็ไม่ได้ทำจริงจัง แต่ผมอยากฟังเพลงที่มันไม่ซ้ำเหมือนที่เขาเปิดๆ กัน ถ้ามันมีคนที่มาที่ร้าน แล้วรู้ว่าเอ๊ะ เพลงที่เปิดไปเมื่อกี้ อาทิตย์ที่แล้ว มันก็เพิ่งมีคนเปิดไปนี่หว่า มันก็จะเซ็ง อันนี้ก็จะทำให้ผมคิดว่ามันเป็นโจทย์สำหรับเรา เราก็ไม่ต้องทำเหมือนเขาสิ เราก็หาอย่างอื่นที่น่าสนใจมาเปิด”

พร้อมๆ กับที่สนใจเรื่องเพลง อัครินทร์ก็เริ่มสนใจลวดลายงานสักด้วย เขาใช้เวลาหัดสักตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้เป็นเวลา 2 ปี และอย่างที่คงเดาได้ไม่ยาก เขาไม่รีรอที่จะทะยานไปหาสิ่งที่รักด้วยการเตรียมพร้อมที่จะเปิดร้านสักเป็นของตัวเอง เขาพูดอย่างชัดเจนว่าสำหรับเขา การใช้ชีวิตอยู่ที่ระหว่างทางลาออกจากโรงเรียน ขายบุหรี่ เล่นหนัง ไปอยู่เกาะเต่า ปาร์ตี้ เป็นคนเปิดเพลง เปิดร้านสัก

เราทบทวนสิ่งที่เขาทำมาพร้อมกับถามสิ่งที่สงสัยว่าเขาคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ถือเป็นสิทธิพิเศษหรือไม่ เมื่อเทียบกับคนอีกมากมายที่สถานะทางสังคมหรือเศรษฐกิจไม่เอื้อให้เลือกทางเดินชีวิตที่ไร้กังวล และต้องทำงานประจำด้วยความจำเป็น

“มันก็เป็นสิทธิพิเศษอยู่แล้ว เพราะผมเป็นคนเลือกเอง อย่างในกรณีเหล่านั้น หลายๆ คนเขาไม่มีทางเลือก แต่ถ้าผมยังเป็นตัวเองอย่างที่เป็นอยู่ ผมก็บอกเลยว่าผมไม่มีทางทำงานประจำอย่างแน่นอน”

Loading next article...