คนยุคใหม่ต้องให้ค่าสินสอดเท่าไหร่ดี ?
เชื่อไหมว่าปัญหาเรื่องการจ่ายสินสอดนี้เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของคนไทยยุคนี้ ถกเถียงกันจนถึงขั้นเลิกราเพราะเรื่องนี้มาแล้วก็หลายคู่ เป็นข่าวดังมาก็ไม่น้อย ทั้งคนทั่วไปและเซเล็บดาราไปจนถึงไฮโซเบอร์ใหญ่ทั้งหลาย

ต้องเข้าใจกันก่อนว่า ‘สินสอด’ นั้นเป็นธรรมเนียมในการแต่งงานมาแต่โบราณ เพราะสมัยก่อน ผู้หญิงจะแต่งเข้าบ้านผู้ชาย ทำให้ไม่มีโอกาสดูแลปรนนิบัติพ่อแม่เหมือนเดิม ยิ่งถ้าบ้านอยู่ไกลกันมาก การจะได้กลับมาเยี่ยมพ่อแม่ตัวเองบ่อยๆ แบบสมัยนี้ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ จึงต้องให้เงินพ่อแม่ฝ่ายหญิงไว้ใช้ตอนแก่ หรือในกรณีที่ผู้ชายมาสู่ขอแล้วเท แต่งงานแล้วเลิกรากันไป เงินสินสอดจะเป็นเหมือนหลักประกันว่าฝ่ายหญิงจะมีอยู่มีกินต่อไปได้

เรียกว่าอย่างน้อยก็มูฟออนในทางการเงินนั่นแหละ

เดิมค่าสินสอดเกิดจากการตกลงกันของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย อาจจะให้ผู้ใหญ่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสนอตัวเลขขึ้นมาก่อนก็ได้ แต่สมัยนี้บ่าวสาวจะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดค่าสินสอดมากขึ้น เพราะด้วยระบบเศรษฐกิจและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้สุดท้ายแล้วทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวนั่นแหละที่จะต้องเป็นคนหาเงินมาเป็นค่าสินสอดรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการจัดงานแต่งของตัวเอง

และด้วยความที่ชาวบ้านอย่างเราๆ ไม่ได้รวยกันขนาดนั้นนี่แหละ เรื่องสินสอดจึงกลายเป็นปัญหา เพราะเราไม่รู้ว่าจะคิดค่าสินสอดเท่าไหร่ดี ถ้าพูดแบบกำปั้นทุบดินก็คือ ให้คิดตามความ ‘เหมาะสม’

แล้วคำว่าเหมาะสมเนี่ยมันเท่าไหร่ล่ะ ?

นักศึกษาหลายคนคงเห็นพ้องต้องกันว่านี่เป็นปัญหาที่น่าสนใจ จึงหยิบมาเป็นหัวข้อในการทำวิทยานิพนธ์ มีอยู่หลายชิ้นที่น่าสนใจ เช่น ‘ถ้าฉันจะแต่งงาน ควรจะได้รับ/จ่ายสินสอดเท่าไร’ ของคุณภศุ ร่วมความคิด ที่ทำไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 หรือโปรแกรมช่วยคำนวณมูลค่าของสินสอดจากเว็บเสด-ถะ-สาด.com (www.setthasat.com)  บอกว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยในการเอามาคำนวณหาสินสอดคือ ระดับรายได้ การศึกษา ความรับผิดชอบที่มีต่อครอบครัว และลำดับการแต่งงานของคนในครอบครัวทั้งสองฝ่าย ได้ออกมาเป็นสมการดังนี้

มูลค่าสินสอด = (2.2205 x รายได้ต่อเดือน) + (8,986.92 x อายุ) + (174,818.6 หากเป็นคนกรุงเทพฯ) – (454,350.5 หากจบการศึกษาไม่เกินมัธยม/ปวช.) + (227,064.1 หากแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว) – (134,160.8 หากมีภาระต้องดูแลครอบครัวอยู่) + (1,890,610 หากเป็นผู้บริหารระดับสูง)

พูดง่ายๆ ยิ่งรายได้เยอะ การศึกษาสูง ภาระที่บ้านสูง แต่งงานเร็วกว่าพี่น้องคนอื่น ค่าสินสอดยิ่งสูงตาม!

Image credit: Shutterstock
แต่พูดแบบนี้มันก็ยังเป็นนามธรรมอยู่ดี ถ้าจบด็อกเตอร์มาจะตีเป็นเงินเท่าไหร่ล่ะ แล้วถ้าพ่วงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ด้วยจะต้องบวกเพิ่มไหม

เอาอย่างนี้ เอาตัวเลขชัดๆ เลยดีกว่า เว็บไซต์มันนี่ฮับ (www.moneyhub.in.th/article/bride-price/) ซึ่งอัพเดทไว้ล่าสุดเมื่อ ค.ศ. 2018 ลองทำสูตรคำนวณไว้ให้อย่างนี้

(เงินเดือนฝ่ายชาย) + (เงินเดือนฝ่ายหญิง) x (5 ถึง 10) = สินสอด

สมมติเงินเดือนเจ้าบ่าวเจ้าสาวรวมกันได้ 40,000 คูณด้วยค่ากลางอย่าง 7 จะเท่ากับค่าสินสอด 280,000 บาท

เอาจริงๆ สำหรับคนเงินเดือน 20,000 (ในกรณีที่ฝ่ายหญิงไม่ได้ช่วยออก) การจะหาเงิน 280,000 มาขอลูกสาวเขา แถมยังต้องมีเงินอีกส่วนเพื่อมาจัดงานแต่งด้วยเนี่ย ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลยนะ

ถ้ามองจากสมการที่ว่านี้ ควรไหมที่มนุษย์คนหนึ่งจะถูกตัดสินคุณค่าด้วยตัวเลข และการันตีด้วยประกาศนียบัตร ไม่ใช่ความรู้สึกที่เรามีต่อกันหรอกเหรอ?

แล้วอย่าลืมว่าโปรแกรมช่วยคำนวนนี้ได้ถูกคิดขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 2011 หรือเกือบสิบปีที่แล้ว ถ้าเป็นตอนนี้ก็ยิ่งต้องเพิ่มค่าเงินเฟ้อเข้าไปอีก

มาถึงตรงนี้คิดว่าหลายคนคงพอจะเห็นตัวเลขในใจแล้วว่า ถ้าตัวเองจะแต่งงานควรเตรียมค่าสินสอดเท่าไหร่ดี

ในยุคปัจจุบันที่สภาพสังคมและรูปแบบแนวคิดการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปมากขนาดนี้ สินสอดจะยังจำเป็นอยู่จริงๆ เหรอ

ผมเองก็อยากรู้นะว่าคนอื่นคิดยังไง เลยลองเลียบเคียงถามเพื่อนคนรอบตัวดูก็ได้ความเห็นที่น่าสนใจ

เพื่อนชื่อเอ (นามสมมติ) กำลังมีแผนจะแต่งงานกับแฟนที่คบมาเกือบสิบปี เธอให้ความเห็นเรื่องนี้ไว้ว่า

“คิดว่าไม่จำเป็น แต่ควรมีเพื่อให้ครบสมบูรณ์ตามธรรมเนียม ส่วนเรื่องจะเรียกเท่าไหร่นั้นเราปล่อยให้ผู้ใหญ่คิดกันไปเลย สมมติว่าเรียกมาแล้วแฟนมีไม่พอเราก็ช่วยหา เพราะเรารู้จักที่บ้านดี เผลอๆ เขาจะไม่เอายกให้เรากับแฟนด้วยซ้ำ ของแบบนี้มันอยู่ที่สังคมของพ่อแม่ด้วยแหละ อย่างเราไม่มีก็ได้ แต่ถ้าคิดถึงที่บ้านยังไงก็ต้องมีเพื่อสังคมหมู่บ้านเราเอง”

ส่วนน้องเอ็ม (นามสมมติ) รุ่นน้องที่แต่งงานมาแล้วสองปีบอกว่า

“ผมมองว่าสินสอดให้ได้ครับ ไม่คืนก็ได้ เพราะถือว่าตั้งใจจะให้ ตอนนั้นเอาของน้องชายที่แต่งก่อนปีนึงมาเป็นฐาน เพราะฝ่ายหญิงไม่ได้เรียกเลย ส่วนพ่อเขาบอกว่าเท่าไหร่ก็ได้ ผมก็เลยให้ตามที่ผมคิดว่าไม่น่าเกลียดเท่านั้นเอง แต่ถ้าถามความคิดผม ผมว่าไม่จำเป็นต้องมีนะ เพราะฝ่ายชายก็ถูกพ่อแม่เลี้ยงมาเหมือนฝ่ายหญิง แต่ผมก็ไม่ได้แอนตี้นะครับ”

และเมื่อถูกถามว่าการให้สินสอดนี้จะยังมีต่อไปไหม หรือค่อยๆ ลดเลือนหายไป ทั้งสองก็ตอบคล้ายกันว่าน่าจะยังมีอยู่เพราะมันเป็นธรรมเนียม เพียงแต่มันไม่ได้มีความจำเป็นอะไรตามแนวคิดแบบโบราณอีกแล้ว

ถ้าจะสรุปตามความคิดผมเอง จากคำตอบที่คนรอบตัวให้มา และจากหลายความเห็นที่เคยอ่านผ่านตาในโลกออนไลน์ ผมก็ว่าคนยุคนี้ไม่ได้เห็นความจำเป็นของสินสอดตามความหมายดั้งเดิมแล้วนะ แต่มองมันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่จะมีหรือไม่มี จะมากน้อยเท่าไหร่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับสังคมของแต่ละคนมากกว่า

บางทีคำตอบของคำถามที่ว่า สินสอดจำเป็นไหมในการแต่งงาน อาจจะอยู่ในบทสรุปของเรื่องนี้แหละ

มันอาจจะไม่จำเป็นมานานแล้วก็ได้…

แต่มีสักหน่อยพอเป็นพิธีก็ดี จริงไหม ?

ชีวิตจริงใครจะอยากมากัดก้อนเกลือกินกันบ้าง

 

Image Credit: Shutterstock
Loading next article...