เลิกพูดซักทีได้มั้ยว่า“กินอะไรก็ได้” !
เวลาเที่ยงกว่าๆ ผมยืนรอเพื่อนอยู่ในห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง พวกเรามักจะนัดกันเวลานี้เพราะจะได้กินมื้อเที่ยงกันก่อน และก็ไม่ผิดอย่างที่คาดเพราะประโยคแรกที่อีกฝ่ายพูดหลังมาถึงก็คือ “หิว” และนี่คือบทสนทนาที่มักเกิดขึ้นตามมา

ผม “จะกินอะไรล่ะ”

เพื่อน “อะไรก็ได้”

ผม “กินญี่ปุ่นมั้ย”

เพื่อน “เบื่อวันก่อนก็เพิ่งกิน”

ผม “งั้นกินปิ้งย่าง”

เพื่อน “ไม่เอาอะหัวเหม็น”

ผม “บุฟเฟ่ต์อาหารทะเล”

เพื่อน “กูแพ้กุ้ง”

ผม “งั้นไปกินศูนย์อาหาร”

เพื่อน “โห นานๆ มาห้างทีขอกินดีๆ หน่อยเถอะ”

ผม “งั้นมึงจะกินอะไรเลือกเลย”

เพื่อน “อะไรก็ได้ ตามใจมึงเลย”

หลังจากกลอกตาสามตลบราวกับหลุดมาจากซีรีย์เกาหลี ผมก็พาเพื่อนเดินสำรวจร้านอาหารรอบห้าง แต่จนแล้วจนรอดก็ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะกินอะไร ก่อนที่เพื่อนจะบ่นสำทับว่า “ห้างนี้ของกินน้อยว่ะ”

ผมได้แต่กลอกตาสามตลบอีกรอบ เพราะตั้งแต่ชั้นล่างยันบนสุดก็มีร้านอาหารรวมกัน 20-30 ร้านแล้ว

แบบนี้ยังเรียกน้อยอีกเหรอ!

Q: ส้มตำไหม ตำปูปลาร้ายั่วๆจ้า A: ไม่เอาอ่ะ ไม่ชอบกินผัก ไม่กินปลาร้าด้วย เหม็น
มันอาจจะฟังดูเกินจริง แต่เชื่อเถอะว่าหลายคนน่าจะเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาแล้ว มีเพื่อนประเภทที่ไม่รู้จะกินอะไร นึกไม่ออกบอกไม่ถูก ชอบพูดว่า “อะไรก็ได้” แล้วยังผลักภาระมาให้เราด้วยคำว่า “มึงเลือกเลย” อีกต่างหาก แต่พอเราเสนออะไรไปก็ไม่เอา

แถมปัญหามันจะหนักขึ้นไปอีก ถ้าจริงๆ แล้วคุณเองก็ ‘ไม่รู้’ ว่าตัวเองอยากกินอะไร ชื่อร้านที่คุณเหวี่ยงแหเสนอไปจึงเป็นการเสนอแบบแกนๆ หวังว่าจะฟลุกเพื่อนตอบตกลง และได้จุดแลนด์ดิ้งนั่งกินกันเสียที

คุณเคยนึกสงสัยไหมว่า กะอีแค่หาร้านอาหารนั่งกินเนี่ย ทำไมมันถึงลำบากลำบนนัก

หรือว่าจริงๆ แล้วยิ่งมีตัวเลือกเยอะ เราก็ยิ่งตัดสินใจยาก ยิ่งมีทางเลือกเยอะ เราก็ยิ่งหาข้ออ้างมาตัดตัวเลือกที่ไม่ต้องการทิ้งมากขึ้น

บางคนบอกว่าตัวเองอยู่ง่ายกินง่ายแค่ข้าวไข่เจียวก็อยู่ได้แล้ว แต่เชื่อผมเถอะว่าความง่ายนั้นไม่มีอยู่จริง เพราะเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีตัวเลือกมากๆ และเราถูกบังคับ(หรือมีสิทธิ)ให้เลือก เราจะหาเหตุผลมาตัดสิ่งที่ไม่อยากเลือกออกกันแทบทั้งนั้น

Q: กะเพราหมูสับไข่ดาวละกันงั้น ? A: อี๋ ไม่เอาอ่ะ อาหารสิ้นคิด
อันนี้อ้วนนะ อันนี้น้ำตาลเยอะ อันนี้กินบ่อยแล้ว อันนี้กินไม่เป็น อันนี้หนักไปอยากกินเบาๆ มากกว่า ร้านนี้แพงเปลืองเงิน ไม่อยากกินร้านนี้พนักงานพูดจาไม่ดี ทำไมไม่มีคนเลยอร่อยหรือเปล่าก็ไม่รู้ เรื่อยไปยันจัดร้านไม่สวยไม่ชวนกิน และอีกสารพัดเหตุผลที่เราจะคิดขึ้นมาได้

คนที่กินง่ายอยู่ง่ายจริงมันต้องเดินมาเจอร้านอะไรก็กินร้านนั้นได้เลยต่างหาก ซึ่งถ้าไม่หลอกตัวเองกันก็ไม่มีใครเป็นแบบนั้นจริงๆ หรอก ถึงยังไงเราก็ต้องตั้งเงื่อนไขอะไรบางอย่างมาเลือกอยู่ดี

ลองนึกดูนะว่าถ้าเรามีตัวเลือกแค่ร้านข้าวมันไก่กับร้านส้มตำ เราคงตัดสินใจได้ไม่ยากว่าจะกินอะไร ถ้ามากันหลายคนก็ง่ายหน่อยโหวตเลือกกันไปเลย หรือไม่อย่างนั้นแค่มีใครสักคนยืนกรานว่าจะกินร้านไหน คนอื่นๆ ซึ่งยังสองจิตสองใจก็มักจะยอมคล้อยตามเอง

ถ้ากินข้าวมันไก่แล้วไม่อยากอ้วนก็บอกเขาไม่เอาหนังสิ

ถ้ากินส้มตำแต่ไม่ชอบเผ็ดก็บอกเขาใส่พริกแค่เม็ดเดียวสิ

ง่ายๆ แค่นี้เอง

Q: งั้นเป็นอาหารฝรั่ง สเต็กกับสลัดเลยเนอะ ? A: ไม่เอาได้ไหม เราไม่กินเนื้อ
จะเห็นว่าเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ตัวเลือกน้อยลง เงื่อนไขในใจเราก็จะน้อยลงตามไปด้วย เรารู้ว่าเพื่อนกินเผ็ดไม่ได้ เราก็จะอะลุ่มอล่วยยอมสั่งพริกเม็ดเดียวทั้งที่จริงเราอาจจะกินเผ็ดได้มากกว่านั้น เรารู้ว่าเพื่อนไม่กินเนื้อ บางครั้งเราก็อาจจะไม่สั่งอะไรที่มีเนื้อเลยเพื่อที่ทุกคนจะได้กินร่วมกันอย่างสบายใจ

แต่ชีวิตจริงคนเรามันไม่ได้ง่ายอย่างนั้นนะสิ เพราะเราดันอยู่ในประเทศที่มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ตลาดนัดน้อยใหญ่ ไปจนถึงแผงลอยข้างทาง ตั้งแต่อาหารตามสั่งจานละ 40-50 บาท ไปจนถึงบุฟเฟ่ต์หมูกระทะ และอาหารจานหรูระดับดาวมิชลิน เรียกได้ว่าประเทศไทยมีร้านอาหารทุกรูปแบบอยู่แทบจะทุกตรอกซอกซอยให้คุณเลือกกินได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ในเมื่อตัวเลือกมันเยอะขนาดนี้ แล้วเราจะใช้วิธีไหนมาเลือกอาหารที่จะกินดีล่ะ

Q: ญี่ปุ่นไหมล่ะ ซูชิ ซาซิมิ เนื้อปลาใครๆก็กินได้ A: ไม่คาวเหรอ? ของดิบๆ ระวังพยาธินะ
ความอยาก/ความชอบ : จะบอกว่าเป็นวิธีที่ง่ายและยากที่สุดก็ว่าได้ หลายครั้งที่เราตกอยู่ในสถานการณ์ ‘ไม่รู้จะกินอะไรดี’ และทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘อะไรก็ได้’ ขอเพียงมีใครสักคนยืนกรานฟันธงว่าอยากกินร้านนี้ ถ้าไม่มีเหตุผลคัดค้านสำคัญจริงๆ ทุกคนก็พร้อมจะเออออตามกันอยู่แล้ว

คำรีวิว : เหมือนจะเป็นวิธีที่ดีในการลองกินอะไรใหม่ๆ แต่ปัญหาคือถ้าเป็นสมัยก่อนที่มีแค่เชลล์ชวนชิมหรือแม่ช้อยนางรำ เรายังพอวางใจได้ในระดับหนึ่งว่าอาหารนั้นน่าจะอร่อยจริง แต่ในยุคนี้ที่มีกูรูนักชิมทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น มีป้ายการันตีความอร่อยมากมายหลายเจ้า ไปจนถึงเว็บไซต์ แฟนเพจ และแอปพลิเคชั่นรีวิวอาหารอยู่เต็มไปหมด ทำให้บางครั้งการเลือกไปกินตามคำรีวิวก็เป็นความเสี่ยงเหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าจะอร่อยจริงสมดังว่าหรือเปล่า

สุ่มเอา : ฟังดูเป็นวิธีสิ้นคิดเอามากๆ แต่เชื่อไหมว่ามีคนสร้างเว็บไซต์สุ่มอาหาร[1]ให้เราจริงๆ เสียด้วยนะ แปลว่าเรื่องนี้ต้องเป็นปัญหาระดับชาติเหมือนกัน ถ้ากดสุ่มครั้งแรกแล้วยังไม่เข้าตาก็ลองกดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอเมนูที่โดนใจก็แล้วกัน

โปรโมชั่น : ดูจะเป็นวิธีเลือกของกินที่เห็นผลเป็นรูปธรรมที่สุด จะมีอะไรจับต้องได้มากไปกว่าเรื่องเงินล่ะจริงไหมครับ ถ้าเป็นร้านที่ขายอาหารประเภทเดียวกันหรือมีระดับความอร่อยใกล้เคียงกัน แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ต้องเลือกร้านที่คุ้มค่าคุ้มราคาที่สุดอยู่แล้ว ฉะนั้นเปิดแอปฯ เช็กล่วงหน้าเลยว่าร้านไหนมีโปรโมชั่นเด็ดก็เลือกร้านนั้นไปเลย

หลังจากเดินทั่วห้างมาสองรอบ ในที่สุดผมกับเพื่อนก็หาร้านนั่งกันได้เสียที ซึ่งมันก็ตลกดีนะที่เรามาลงเอยกันร้านแรกที่พูดถึงนั่นแหละ สงสัยบางครั้งเมื่อความหิวมากขึ้น เงื่อนไขของเราก็ลดลงด้วยเช่นกัน

แล้วคุณล่ะ คิดหรือยังว่ามื้อหน้าจะกินอะไร

ไม่เอา “อะไรก็ได้” นะ

[1] https://random.thaiware.com/random-food-generator

Q: ถ้ายากขนาดนี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคนละถ้วยแล้วเอามานั่งกินใกล้ๆกันก็พอมั้ง? A: เราแพ้ผงชูรสล่ะ …..
Loading next article...